ศอ.บต.ร่อนเอกสารชี้แจงความคืบหน้าโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯจะนะ อ้างรายงานผลการศึกษาทบทวนโครงการให้นายกฯแล้วตั้งแต่ มี.ค.64 หลังจากนี้เดินหน้าต่อโดยยึดมติ ครม. 3 ฉบับ อ้างเตรียมรับฟังความเห็นรอบด้านอยู่แล้ว เริ่ม ธ.ค.64 พอดีเป๊ะ ด้าน “ทักษิณ” โผล่จัดหนัก ศอ.บต. ชี้ไม่มีอำนาจทำเมกะโปรเจค แนะเปิดประมูล หยุดจิ้มเอกชนรายเดียวได้ประโยชน์
วันพุธที่ 8 ธ.ค.64 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้พิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกับ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากประชาชนใน “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ออกมารวมตัวเรียกร้องให้ทบทวนโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจะนะ จนเรื่องราวบานปลายเพราะมีตำรวจไปเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล
เอกสารข่าวของ ศอ.บต. ได้อธิบายไทม์ไลน์ของโครงการ โดยระบุว่า จุดเริ่มต้นมาจากข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ต่อรัฐบาลในปี 2559 โดย อ.จะนะ จะเป็นเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 ที่ขยายมาจาก โครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 เห็นชอบในหลักการให้ขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯ "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยปรับทิศทางการดำเนินงานให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และให้ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงาน
วันที่ 31 ต.ค.62 ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้มีมติเห็นชอบให้ประกาศพื้นที่ อ.จะนะ เมืองต้นแบบ "อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 9 ธ.ค.62 ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้รับข้อเสนอของตัวแทนผู้คัดค้านโครงการ ให้มีการทบทวนการดำเนินงานทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งกลไกพิจารณาทบทวนด้วย
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบฯ ในระยะต่อไป ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานสรุปผลการพิจารณาทบทวนการดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมา เมื่อเดือน มี.ค.64 แล้ว ได้มีบัญชามอบให้ ศอ.บต.พิจารณาการดำเนินการขยายโครงการฯ ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด (มติวันที่ 7 พ.ค.62 วันที่ 21 ม.ค.63 และวันที่ 18 ส.ค.63)
โดยในระยะต่อไป ศอ.บต. ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เป็นหน่วยงานหลักจัดนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งกำหนดกรอบข้อกำหนดการจ้าง (TOR) ที่ครอบคลุมทุกมิติการพัฒนาในเชิงพื้นที่ และข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกด้าน รวมทั้งการพัฒนาตามตัวแบบ BCG Model : Bio Economy, Circular Economy and Green Economy เน้นการวางแผนให้เกิดผลการพัฒนาที่ยั่งยืนของพื้นที่เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ในการศึกษาให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและทุกระดับ รวมทั้งมุ่งเน้นการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ธ.ค.64 เป็นต้นไป
@@ นายกฯ โต้ “ธรรมนัส” เอ็มโอยูไร้ผล ครม.ไม่ได้ลงนาม
ด้านความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาท้วงติงการทำข้อตกลง “บันทึกความเข้าใจ” หรือ MOU ระหว่าง “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ปีที่แล้ว จนชาวบ้านจะนะมาทวงสัญญาในปีนี้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าเป็นการทำข้อตกลงโดยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้รับรู้ด้วยนั้น
ปรากฏว่า ร.อ.ธรรมนัส ได้ออกมาชี้แจงอีกรอบ โดยบอกว่า การแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบฯจะนะ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และยังมีเอกสารที่นายกฯลงนามแต่งตั้ง ร.อ.ธรรมนัส ให้เป็นประธานการแก้ไขปัญหานี้ เป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 20/143 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ"สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงชลา"เมืองต้นแบบอุดสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาดต" เผยแพร่ในโลกออนไลน์ด้วย
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาพูดเรื่องนี้อีกครั้ง โดยบอกว่า “ต้องย้ำให้เข้าใจว่าการที่ให้ลงไปพื้นที่ครั้งที่แล้ว คือการไปหาข้อมูล ไม่ได้เป็นมติ ครม. ขอให้เข้าใจด้วย ครม.เพียงแต่รับทราบสิ่งที่ประชาชนต้องการ ซึ่งจะต้องใช้กฎหมาย และต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะโครงการยังไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ทุกอย่างต้องทำประชาพิจารณ์ให้ถูกต้อง ถ้าประชาชนเห็นชอบก็ทำได้ ถ้าไม่ได้ก็อยู่แบบเดิม รัฐบาลมีแต่นโยบาย แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประชาชนว่าโครงการจะทำได้หรือไม่ ใครที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ ก็ไปว่ากัน ทุกอย่างต้องดูกฎหมาย เรื่องจะนะขอให้จบเสียที”
นายกฯ ยืนยันด้วยว่า ครม.ไม่ได้รับทราบ และไม่ใช่การลงนาม MOU แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องมา เพราะการลงนาม MOU ต้องเข้า ครม. อนุมัติให้ความเห็นชอบ เหตุการณ์นี้ผ่านมาหลายเดือนแล้ว จำได้ว่าเป็นการรายงานเพื่อทราบ แนวทางและปัญหาอยู่ตรงไหนต้องไปติดตาม
@@ สั่งทบทวนปรับโซนสีผังเมือง สวนทางคำชี้แจง ศอ.บต.
ทั้งหมดยังติดเรื่องปัญหาการทำประชาพิจารณ์ และการปรับสีของพื้นที่ จะแก้เองไม่ได้ โดยจะต้องกลับไปเริ่มต้นที่ ศอ.บต. เพื่อทบทวนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่ประชาชนต้องการ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะเปลี่ยนสีโซนพื้นที่เองไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ขอให้ไปคิดเอาว่าอะไรเกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ เพราะเป็นผลประโยชน์โดยรวมของคนในพื้นที่ด้วย
อนึ่ง การแก้ไขผังเมืองเพื่อรองรับเขตอุตสาหกรรมใน อ.จะนะ ได้ถูกดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ย.63 โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา ให้เปลี่ยนแปลงผังเมืองอำเภอจะนะรวม 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน จาก "สีเขียว" เป็น "สีม่วง" เพื่อเปิดพื้นที่ให้ก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมได้
ขณะที่เอกสารข่าวของ ศอ.บต.ที่ออกมาในวันพุธที่ 8 ธ.ค.64 กลับระบุตอนหนึ่งว่า สำหรับการดำเนินงานของภาคเอกชนผู้สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ ซึ่งมีข้อเสนอโครงการลงทุนพัฒนาด้านต่างๆ นั้น เป็นการดำเนินการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตามกรอบกฎหมายการลงทุนโดยทั่วไป ซึ่งมีกระทรวง กรม และหน่วยงานรับผิดชอบกำกับดูแลในเรื่องสำคัญให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องผังเมืองโดยกระทรวงมหาดไทย และเรื่องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
@@ “ทักษิณ” โผล่จัดหนัก ศอ.บต. จี้หยุดจุ้น แนะเปิดประมูล
อีกด้านหนึ่ง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในชื่อ “พี่โทนี่ วู้ดซัม” ได้กล่าวถึงปัญหาของโครงการเมืองต้นแบบฯจะนะ ระหว่างร่วมเสวนาในคลับเฮาส์ที่จัดโดยกลุ่ม “CARE คิดเคลื่อนไทย” โดยได้วิพากษ์การทำงานของ ศอ.บต.อย่างรุนแรง
“เรื่องจะนะ มันเกิดจากกระบวนการเฮงซวยในระบบราชการอย่าง ศอ.บต. จริงๆ แล้ว ศอ.บต.ตั้งมาเพื่อทำงานคู่ขนานเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ ตอนนั้นที่ผมยุบ เพราะไม่ได้ประโยชน์ ข้าราชการได้เบี้ย 2 ขั้น ก็เลยยุบ ตอนหลังเขาตั้งใหม่ ทวีไปทำก็ทำได้ดี (หมายถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.) แต่ขณะนี้ดันไปให้อำนาจ ศอ.บต.ไปวางนโยบายภาคใต้ มีโรงไฟฟ้า คือ จะให้ ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพอีอีซีให้กับทางใต้ อยู่ๆก็ไปจิ้ม ซึ่งจุดนั้นเป็นพื้นที่สวยงาม สิ่งแวดล้อมก็จะเสีย จะไปเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวเป็นที่อุตสาหกรรม”
อดีตนายกฯทักษิณ ยังเสนอให้เปิดประมูลอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เลือกบริษัทเอกชนรายเดียวมาเซ็นสัญญา
“ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุด คือทำให้ถูกต้อง ศอ.บต.ไม่มีอำนาจทำอะไรพวกนี้ เรื่องนี้ต้องประมูลเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ให้บริษัทเดียวจิ้ม”
@@ “จะนะรักษ์ถิ่น” ชุมนุมต่อ ปักหลักหน้ายูเอ็น
ด้านความเคลื่อนไหวของ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” หลังได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 7 ธ.ค. ปรากฏว่าในวันพุธที่ 8 ธ.ค. ที่บริเวณประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล ทางเครือข่ายฯได้มีการอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2 หัวข้อ “เราจะไม่กลับบ้าน และจะอยู่รอจนกว่าจะได้รับคำตอบจากรัฐบาล”
โดยระหว่างนี้ ทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจะปักหลักอยู่ที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ประจำประเทศไทย ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ
1.เราไม่ต้องการสร้างเงื่อนไข เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เป็นข้ออ้างจับกุมและคุมขังพวกเราอีก
2.เราต้องการใช้พื้นที่หน้ายูเอ็น สื่อสารให้สังคม ทั้งภายในและภายนอกประเทศรับรู้ปัญหา
3.เพื่อเฝ้ารอแนวร่วมภาคใต้และภูมิภาคอื่นมาสมทบ