มีประเด็นน่าสนใจจากวงประชุมที่ไม่ค่อยเป็นข่าวในส่วนกลางนัก คือ วงประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.
คณะกรรมการ กพต. ตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือที่รู้จักกันดีในนาม พ.ร.บ.ศอ.บต. ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดบทบาทให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขับเคลื่อนงานการพัฒนาในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
การประชุมมีขึ้นที่ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
เนื้อหาการประชุมไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก เนื่องจากสื่อมวลชนเฝ้ารอสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร หรือ “บิ๊กป้อม” เกี่ยวกับปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ และอนาคตของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกเขย่าเก้าอี้เลขาธิการพรรค
แต่เนื้อหาการประชุมเป็นไปอย่างน่าสนใจ และมีข้อมูลสำคัญหลายอย่าง
ประเด็นแรก ที่ประชุมได้รับทราบการถ่ายโอนภารกิจจัดจ้างวิทยากรผู้สอนภาษาไทยจาก ศอ.บต.ให้กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2566 หลังพบเด็กๆในวัยเรียนจำนวนมากยังไม่ได้เรียนหนังสือและมีปัญหาอ่านเขียนไม่ได้
ประเด็นที่ 2 ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายการช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จำนวนกว่า 10,000 คน และจะเร่งพัฒนาอีก 7,000 คนให้แล้วเสร็จในเดือน มี.ค.65 แยกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
- ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพในภูมิลำเนาเดิม
- ผู้ที่พร้อมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่
- ผู้ที่ประสงค์เข้าทำงานเกษตรสวนปาล์มในประเทศมาเลเซีย
ประเด็นที่ 3 การแก้ปัญหาการระบาดของโรคใบไม้ร่วงชนิดใหม่ในยางพารารวม 308,351 ไร่ การยางแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 331 ล้านบาท เร่งศึกษาแก้ปัญหาร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และพัฒนาอาชีพชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบในการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่นำร่องและพื้นที่ขยายผลอีก 22,000 ไร่ควบคู่กันไป
ประเด็นที่ 4 ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรอบการบูรณาการเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้ระบบ “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” มุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจน 5 มิติ
พร้อมทั้งอนุมัติหลักการโครงการขยายพื้นที่ปลูกไม้และไม้ผลเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเริ่มจากจัดที่ดินสาธารณะประโยชน์ “หนึ่งตำบล หนึ่งพื้นที่สาธารณะ” และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจต่อเนื่องกันไป
ประเด็นที่ 5 ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการและกรอบวงเงิน โครงการยกระดับการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบเบตง จังหวัดยะลา “Amazean Jungle Trial” เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาไปสู่ระดับนานาชาติ
ประเด็นที่ 6 เห็นชอบหลักการและกรอบงบประมาณโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินเรือและลดปัญหาผลกระทบความเสียหายจากน้ำท่วมต่อเนื่องที่ผ่านมา
ประเด็นที่ 7 อนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุน โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบระยะเร่งด่วน เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นกรณีเร่งด่วน
ประเด็นที่ 8 เห็นชอบการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซีย (9 ด่าน) เพื่อยกระดับการค้าชายแดนและความร่วมมือในมิติต่างๆ
พล.อ.ประวิตร กล่าวย้ำว่า การส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยเป็นนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญ โดยขอให้ ศอ.บต.ขยายผลเร่งด่วนในกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็กและโรงเรียนตาดีกา เพื่อโอกาสในการพัฒนาทักษะภาษาไทยและการนำไปใช้ดำเนินชีวิตในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรมร่วมกันได้อย่างเหมาะสม
พร้อมทั้งกำชับให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และ ศอ.บต. ใช้โอกาสนี้เข้าไปจัดระบบ ปรับปรุงระเบียบด้านแรงงานและอำนวยความสะดวกการทำงานในมาเลเซีย รองรับการเปิดประเทศในต้นเดือน พ.ย.
สำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น พล.อ.ประวิตร ขอให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญ และต้องส่งเสริมให้มีการจัดการแข่งขันในทุกปีต่อเนื่องกันไป ซึ่งจะมีผลในการพัฒนาพื้นที่ระยะยาว
ด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ได้เสนอต่อที่ประชุม กพต. ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบการบูรณาการเพื่อขจัดความยากจนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้ระบบ “ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” มุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจน 5 มิติ คือ มิติด้านสุขภาพ, มิติด้านความเป็นอยู่, มิติด้านการศึกษา, มิติด้านรายได้ และ มิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ให้ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล) และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายครัวเรือนยากจนและคนจนทุกมิติ
นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงและปัญหาเรือในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นอีกกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดฯตลอดช่วงที่ผ่านมา