โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังกรณีของครูจูหลิง ปงกันมูล ครูสาวของโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์รุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส และได้มาเสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2550 ขณะที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมานานกว่า 8 เดือน
เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่ในความทรงจำของครอบครัวครูจูหลิง เพื่อนครูและประชาชนชาวไทยหลายคน รวมไปถึงยังมีการจัดงานรำลึกถึงครูจูหลิงอย่างต่อเนื่องในวันที่ 8 ม.ค.ของทุกปี
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้แทนมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษา “ครูจูหลิง ปงกันมูล” (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเชิดชูครูจูหลิง ปงกันมูล และคุรุวีรชนผู้ล่วงลับไปแล้วจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า นับเป็นเวลากว่า 14 ปี ของการสูญเสียบุคลากรทางการศึกษา ที่เปรียบไปด้วยจิตวิญญาณและความรักในอาชีพของความเป็นครู ครูจูหลิงต้องออกจากบ้านเกิดของตนจากพื้นที่ตอนเหนือสุดของประเทศไปสู่พื้นที่ตอนใต้ เพื่ออุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือเด็ก ๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับความรู้เทียบเท่ากับกับเด็กในภูมิภาคอื่น ๆ นับเป็นความเสียสละและสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นแม่พิมพ์ของชาติอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งรัดให้ส่วนราชการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่นายสูน และนางคำมี ปงกันมูล บิดา มารดา ของครูจูหลิง ปงกันมูล จำนวน 2,742,000 บาท ในส่วนรายที่เหลือรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังชื่นชมและให้กำลังใจต่อเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละและอดทน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแสดงความเสียใจต่อญาติของคุรุวีรชนผู้เสียชีวิตทุกคน
ย้อนเรื่องราวโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับครูจูหลิง ปงกันมูล ครูสาวแห่งโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ได้เกิดขึ้นในเช้าของวันที่ 19 พ.ค.49 หลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้นำกำลังเข้าปิดล้อมพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ ม.4 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยิงทหารเสียชีวิต 2 นาย ที่สถานีรถไฟลาโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 2 ราย คือ นายอับดุลการีม มาแต และ นายมูหะมะสะแปอิง มือลี ทั้งยึดอาวุธปืนพกสั้นได้ 1 กระบอก พร้อมนำตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนไปสอบสวนและถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากหมู่บ้านกูจิงลือปะ
ทำให้ในเที่ยงของวันเดียวกันนี้ ได้มีเสียงประกาศจากเครื่องขยายเสียงในหมู่บ้านกูจิงลือปะ ให้ผู้หญิงในหมู่บ้านไปรวมตัวกันที่หน้าโรงเรียนบ้านกูจิลือปะ ซึ่งมีผู้หญิงออกมารวมตัวกันเกือบร้อยคน เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ครูจูหลิง ปงกันมูล และครูสิรินาถ ถาวรสุข สอง ครูสาวชาวไทยพุทธกำลังนั่งทานอาหารอยู่ในร้านข้างมัสยิด จึงถูกกลุ่มหญิงชาวบ้านที่มารวมตัวกันกรูเข้าไปจับครูสาวทั้งสองคน แล้วนำตัวไปขังไว้ที่ห้องเก็บของภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ห่างจากโรงเรียน 300 เมตร
ในการจับตัวครูสาวทั้ง 2 รายแล้วนำไปขังเอาไว้ เพื่อต้องการต่อรองให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปในช่วงเช้า
แต่ระหว่างที่ครูจูหลิงและครูสิรินาถ ถูกขังอยู่นั้น มีผู้หญิงในหมู่บ้านอีกกลุ่มและบรรดาเพื่อนครู ได้พยายามเจรจาขอร้องให้ชาวบ้านปล่อยตัวครูสาวทั้งสองคน ก็ไม่เป็นผล แต่ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ใช้ผ้าคลุมปิดบังใบหน้า บุกเข้าไปทำร้ายครูสาวทั้ง 2 โดยใช้ไม้ทุบตีจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและสลบไป
ต่อมาผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน จึงช่วยครูสาวทั้งสองออกมาได้แล้วนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งครูสิรินาถได้รับบาดเจ็บแต่อาการเบากว่า ส่วนครูจูหลิงอาการสาหัส เนื่องจากถูกตีด้วยไม้เข้าที่ศีรษะ สมองกระทบกระเทือนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์
หลังจากที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 8 เดือน ในช่วงเย็นวันที่ 8 ม.ค.50 ครูจูหลิงก็ได้เสียชีวิตลง สร้างความเสียใจให้กับครอบครัว เพื่อนครูและประชาชนชาวไทยที่คอยส่งกำลังใจให้กับครูจูหลิง
ส่วนในทางคดีนั้น พ.ต.ท.เฉลิม ยิ่งคง ซึ่งเคยเป็นพนักงานสอบสวน และรับผิดชอบคดีในช่วงหลังเกิดเหตุ เคยให้สัมภาษณ์กับ “อิศรา” ว่า หลังเกิดเหตุมีผู้ถูกออกหมายจับทั้งหมด 58 ราย ได้เข้ามอบตัวและถูกควบคุมตัวได้ 27 ราย จึงได้ทำสำนวนส่งอัยการและอัยการ เข้าสู่กระบวนการของศาล จนปี 54 ได้มีการตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ
สำนวนคดีที่ส่งอัยการในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย ในขั้นตอนสืบพยานใช้เวลานานมาก จนสุดท้ายไม่มีพยานหลักฐาน โดยเฉพาะประจักษ์พยาน ทำให้ศาลยกฟ้อง จำได้มีเพียงคนเดียวที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน ในฐานะคนปลุกระดมพูดผ่านเครื่องขยายเสียง ส่วนรายอื่นๆที่ถูกออกหมายจับในคดีเดียวกัน ซึ่งถูกจับได้ภายหลัง ศาลก็ยกฟ้อง ขณะที่บางรายเสียชีวิตไปก่อน ก็ต้องจำหน่ายคดีไป
แต่ในคดีนี้ยังมีผู้ที่ถูกออกหมายจับที่ยังหลบหนีอยู่ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีหมายจับในคดีอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ทำให้ต้องหลบหนีการจับกุม หากถูกจับกุมได้ต้องนำมาดำเนินคดีตามกระบวนการเช่นเดียวกัน ซึ่งคดีนี้มีอายุความ 20 ปี
แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 14 ปี กับเหตุความรุนแรงที่ทำให้ครูจูหลิง ปงกันมูล เสียชีวิต แต่ถือว่าเป็นเหตุการณ์อุกอาจมาเกิดขึ้นกับครูผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกเหตุการณ์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของอีกหลายๆคน