พื้นที่อื่นของประเทศเตรียมเปิดเมือง เปิดการท่องเที่ยว ผ่อนคลายมาตรการ...
แต่ที่ชายแดนใต้กลับต้องเพิ่มการคุมเข้ม และมีแนวโน้มถูก “ล็อกดาวน์” อีกรอบ จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่ยังพุ่งสูงติดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย
พี่น้องที่ชายแดนใต้ ซึ่งต้องทุกข์ร้อนเพราะโรคระบาดมาเกือบ 2 ปี ถึงวันนี้ยังไม่ดีขึ้น
คนที่ไม่มีกิน ก็ไม่มีหนักกว่าเก่า คนที่ตกงานก็ยังไม่มีงานเหมือนเดิม ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นรายวัน วันละหลายพันคน (รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา) ทำให้เตียงในโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามเต็มหมด
ผู้ติดเชื้อในบ้านและในชุมชนมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด เพราะมีการสั่งปิดชุมชน หมู่บ้าน ที่พบผู้ติดเชื้อหรือเป็นคลัสเตอร์ใหม่
เหตุนี้จึงทำให้องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อลำเลียงความช่วยเหลือไปสู่พี่น้องในท้องที่ห่างไกล
@@ “ร่วมด้วยช่วยกัน” ระดมแจกของสัปดาห์เดียว 680 ครอบครัว
อย่าง “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชน ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน และผู้ใหญ่ใจดี ได้พากันลงพื้นที่เยี่ยมและให้กำลังใจชาวบ้านที่ติดเชื้อโควิด และรักษาตัวอยู่ที่บ้าน รวมถึงกลุ่มสัมผัสเสี่ยง
พื้นที่ที่ลงไปก็เช่น ต.ตาชี ต.ยะหา ต.ปะแต ต.กาตอง อ.ยะหา, ต.ตาเซะ เทศบาลเมืองยะลา, ต.โกตาบารู อ.รามัน, ต.กาบัง อ.กาบัง ทั้งหมดอยู่ใน จ.ยะลา
นอกจากนั้นยังมี ต.จะแหน ต.ธารคีรี ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย, ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา และ ต.คอลอตันหยง ต.บ่อทอง ต.นาเกตุ อ.หนองจิก, ต.โคกโพธิ์ ต.ป่าบอน อ.โคกโพธิ์ , ต.ราตาปันยัง ต.ตะโล๊ะกาโปร์ อ.ยะหริ่ง , ต.ปะโด อ.มายอ ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
กิจกรรมของกลุ่ม คือการนำข้าวสาร อาหารแห้ง ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้ ยาแก้คัน ยาพาราเซตามอล ยาเขียว และฟ้าทลายโจร ตลอดจนหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งนมผงเด็ก น้ำดื่ม และ ขนมเด็ก ไปแจกจ่ายตามที่ชาวบ้านร้องขอ ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาแจกจ่ายและเยี่ยมเยียนไปแล้วกว่า 680 ครอบครัว
ภาพรวมจากการลงพื้นที่ของกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันตลอดระยะเวลา 5 เดือน หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ระลอก 3 ทางกลุ่มได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา ทั้งหมด 14,867 คน
@@ ชาวบ้านต้องการนมผง กางเกงผ้าอ้อมเด็ก
น.ส.รอกีเยาะ อาบู ประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ เล่าว่า ชาวบ้านยังร้องขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และจำนวนเยอะมาก โดยจะขออาหาร ยา และล่าสุดกลุ่มแม่ๆ ที่กักตัวเริ่มขอนมผงเด็ก และกางเกงผ้าอ้อมสำหรับเด็กมากขึ้น เพราะการกักตัว 14 วัน นอกจากจะไม่สามารถออกไปหาซื้ออาหารได้แล้ว ทุกคนยังต้องขาดรายได้
“ปัจจุบันยังมีคนรอความช่วยเหลืออีกราวๆ 400 คน” รอกีเยาะ บอกถึงสถานการณ์ในพื้นที่ที่ยังมีผู้เดือดร้อนขอความช่วยเหลืออย่างไม่ขาดสาย
สำหรับเงินทุนที่ใช้ในการขับเคลื่อนช่วยเหลือพี่น้องชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีจากกรุงเทพฯ คือ นพ.ชัยวัฒน์ และ พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ นอกจากนั้นยังมีสื่อมวลชนหลายสำนักร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งลงขันทั้งเสนอข่าว รวมถึง พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นายกษิดิศ อาชวคุณ สมาชิกวุฒิสภา เจ้าอาวาสวัดเมืองยะลา นางบุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มเยาวชนบ้านบุญเต็ม ภาคเอกชน และบุคคลผู้มีจิตศรัทธาอีกจำนวนมาก
@@ จนท.อนามัย เผยสาเหตุชายแดนใต้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุด
เจ้าหน้าที่อนามัยในพื้นที่ อ.ยะหา เล่าสถานการณ์ว่า ตอนนี้ยอดติดเชื้อหนักมาก มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน แนวโน้มน่ากังวล ชาวบ้านยังใช้ชีวิตปกติ และยังมีการฉีดวัคซีนน้อยมาก ขณะที่โรงพยาบาลสนามก็ล้น จนต้องสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่ม และเปิดให้รักษาตัวที่บ้าน ในพื้นที่ยังมีคนที่ไม่ยอมรับการรักษา จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มียอดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
@@ แม่ลูกอ่อนตกงาน กระทบ 17 ชีวิต
แม่ลูกอ่อนรายหนึ่ง อาศัยอยู่ใน จ.ยะลา เล่าว่า ทำงานเก็บขยะ ปกติก็มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายอยู่แล้ว คนในครอบครัวต้องอาศัยอยู่รวมกันในบ้านเล็กๆ ถึง 17 คน ทั้งพ่อแม่ตัวเอง ลูกๆ และญาติ เมื่อต้องกักตัวยิ่งเดือดร้อน อยากขอให้คนที่มีจิตศรัทธาช่วยเหลือด้วย
“พวกเราต้องการข้าวสาร อาหารแห้ง นมผงให้ลูก และกางเกงผ้าอ้อม ขอให้ช่วยพวกเราด้วย ขอบคุณนักข่าวและกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ที่มาเยี่ยมพวกเรา ขอบคุณทุกคนที่ฝากอาหาร ยา และผ้าห้อมให้ลูกในเบื้องต้น ขอบคุณทุกคนที่จะช่วยเหลือพวกเรา”
@@ “พระสงฆ์ใต้” ช่วยผู้ประสบอุทกภัยลพบุรี-โคราช
อีกด้านหนึ่ง พระครูวิสุทธิวุฒิคุณ เจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์คณะสงฆ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยคณะสงฆ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และประชาชนจาก 2 จังหวัด จัดคาราวานธารน้ำใจ 20 คันรถ เดินทางไปแจกถุงยังชีพ และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ลพบุรี และนครราชสีมา โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการกระจายสิ่งของช่วยเหลือให้ถึงมือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย
จุดที่เดินทางไปก็เช่น วัดสระตาแวว วัดบ้านโคก ต.พุคา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนส่วนใหญ่พายเรือออกมารับของที่วัด โดยมี นางอรพิน จิระพันธุ์วาณิช นายก อบจ.ลพบุรี และคณะ พร้อมกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1 มาช่วยลำเลียงข้าวสาร อาหารแห้ง
สำหรับพื้นที่ หมู่ 2 หมู่ 3 และ หมู่ 4 ต.พุคา เป็นที่ลุ่มต่ำ ทำให้น้ำล้นทะลักจากคลองชัยนาม-ป่าสัก ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม มีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนมากถึง 488 ครัวเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,296 คน
คาราวานธารน้ำใจจากคณะสงฆ์และประชาชนสุราษฎร์ธานีและชุมพร ได้เดินทางต่อไปที่ จ.นครราชสีมา เพื่อแจกสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมเพิ่มเติม ถือเป็นกิจกรรมดีๆ ที่สะท้อนว่า “คนไทยไม่ทิ้งกัน”