"กว่าจะมาเป็นการเพาะเห็ด เราทำเวทีประชาคมในชุมชน เสียงส่วนใหญ่อยากเพาะเห็ดเพื่อเพิ่มรายได้ ธันวาคมปีนี้ก็ครบ 1 ปีที่เรารวมกลุ่มกันเพาะเห็ด"
"เราจะทำให้เป็นวิสาหกิจชุมชน ให้มั่นคง เดินไปได้ ขยายกันไปตามกำลังคน นี่คือความตั้งใจของพวกเรา"
เป็นเสียงจาก "ก๊ะเซาะห์" และสมาชิกบางส่วนของกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ชุมชนยูโยด่านภาษี ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวโครงการเพาะเห็ดนางฟ้าของบรรดาแม่ๆ ในกลุ่ม
พวกเธอรวมตัวกันท่ามกลางสถานการณ์โควิดเดือน ธ.ค.ที่แล้ว ด้วยความเห็นร่วมกันในชุมชนว่า จะเพาะเห็ดนางฟ้าเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้
"ยูโยด่านภาษี" อาจเรียกว่าเป็นชุมชนคนจนเมืองก็ว่าได้ ที่นี่มีแม่เลี้ยงเดี่ยวและกลุ่มเปราะบางอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ หลากหลายอาชีพที่ยึดทำไว้เพื่อการดำรงชีพของครอบครัว แม้จะเคยพออยู่พอกิน แต่เมื่อถึงยุคโรคระบาด รายได้ทางเดียวทำให้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย หนทางในการหารายได้เพิ่มจึงกลายเป็นความจำเป็น แต่เรื่องเงินที่จะได้กลับมา จะมากหรือน้อยยังสำคัญน้อยกว่าการได้ลงมือทำแล้ว
ยามวิกฤติ ภาครัฐก็ไม่ได้ทอดทิ้ง เพราะจุดเริ่มต้นของการเพาะเห็ดชุดแรก ก็ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แม้แต่สถานที่จัดเวทีประชาคม ก็ยังทำกันที่ ศอ.บต.
วิธีการทำงานและแบ่งงานกันทำ ผ่านการติดและตกลงร่วมกันมาอย่างดี โดยในหนึ่งเดือนจะมีวันที่กลุ่มกำหนดเป็นวันที่ต้องมาทำงานร่วมกัน 4 วัน คือ วันที่ทุกคนมีเวลาว่างตรงกันในการผสมและบรรจุก้อนเห็ดนางฟ้า หรือวันพิเศษตามที่ลูกค้าออเดอร์กันมา
เปิดโครงการได้ไม่นาน ผู้คนในปัตตานีและใกล้เคียงก็ทำความรู้จักกับกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวยูโยด่านภาษีมากขึ้น จึงมีออเดอร์ก้อนเห็ดมากขึ้น ลูกค้านำไปเพาะต่อที่บ้าน เพียงรดน้ำเช้าเย็น เห็ดนางฟ้าก็จะเบ่งบานให้เก็บกินได้แล้ว
"ในเวลา 2 วันที่แม่ๆ ทำก้อนเห็ดกัน จะทำได้ราวๆ 900 ก้อน หรือตามออเดอร์ที่รับมา อาจหนักหน่อย ตรงต้องผสมส่วนผสมที่ต้องอาศัยแรงผู้ชายคลุกเคล้าให้เข้ากัน ผู้ชายในชุมชนก็จะมาช่วย ส่วนเวลาในการนึ่งก้อนเห็ด ราวๆ 4-6 ชั่วโมง อันนี้ ก๊ะเยาะห์ อดีตแม่ครัวต้มยำกุ้งจากมาเลย์ รับหน้าที่ดูแลได้แบบสบายๆ" สมาชิกคนหนึ่ง เล่า
เมื่อบรรจุก้อนเห็ดเสร็จ วางไว้ประมาณ 25 วัน เชื้อเห็ดจะเดินเต็มก้อน พร้อมเพาะในโรงเรือน หรือสถานที่มืดๆ ชื้นๆ จากนั้นก็พร้อมส่งต่อออเดอร์ก้อนเห็ดที่ลูกค้าสั่งกันเข้ามา
"ขายก้อนเห็ดก็จะได้เงินเร็ว เก็บเห็ดขายก็จะได้เงินเกือบทุกวัน ตามกำลังที่เห็ดออกดอก เช่น 500 ก้อน เมื่อเริ่มออกดอกจะเก็บได้วันละ 10 กิโลกรัม เก็บไปสัก 10 วัน ดอกเริ่มลดลง ก้อนเชื้อออกได้ประมาณ 3-4 เดือน พอหมดอายุก็นำไปทำปุ๋ยต่อ" ก๊ะยะห์ หรือ พัณวดี อาแว แกนนำกลุ่ม บอกเล่าเรื่องราวความร่วมมือร่วมใจในการเพาะเห็ดของพวกเธอที่สะสมทำกันมาได้หลายร้อยก้อนแล้ว
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด แม่ๆ กลุ่มนี้ที่มีอาชีพทำขนม ทำลูกชิ้น ขายของชำ เลี้ยงเด็ก ตัดหัวปลา ฯลฯ ไม่ได้เฝ้าเป็น "มือล่าง" ที่รอการสงเคราะห์ช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว พวกเธอพร้อมแสดงให้เห็นถึงการช่วยเหลือตนเอง พยายามเป็น "มือบน" ช่วยเหลือกันเองให้ได้มากที่สุด โดยการทำงานด้วยสองมือพร้อมหัวใจที่กล้าแกร่ง ด้วยอาชีพหลักและอาชีพเสริม นำผลกำไรที่ได้จากการขายเห็ด ทำเป็นถุงยังชีพแจกให้แก่สมาชิกแม่เลี้ยงเดี่ยว และคนที่ถูกกักตัวเพราะโควิดในชุมชนยูโยด่านภาษี
เรื่องราวของ "หญิงแกร่ง" แห่งยูโยด่านภาษี แต่ละคนทำเป็นพล็อตหนังหรือสารคดีได้สบายๆ...
"ก๊ะเนาะห์" แม่เลี้ยงเดี่ยวอีกคนในกลุ่มนี้ บอกว่า เธอต้องดูแลลูก 3 คน กำลังเรียนชั้น ม.4 และ ม.6 ส่วนอีกคนพิการ มีหลานเล็กๆ อีก 3 คน ก๊ะเนาะห์มีอาชีพรับจ้าง บางวันรับจ้างตัดหัวปลาให้โรงงานเอาไปทำลูกชิ้นปลาส่งร้านอาหาร ได้วันละ 100-120 บาท บางวันถ้ามีปลาบีลิสหรือปลากะตัก ก็จะรับจ้างผ่าซีกปลากะตัก ได้ถุงละ 30 บาท/วัน
"ก๊ะเซาะห์" เธอขับโชเล่ย์ได้ (รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง) ช่วยขับไปส่งผ้าอ้อมจากยูนิเซฟให้ผู้ป่วยเด็กที่ติดโควิดในโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลปัตตานี โดยรถโชเล่ย์ของกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวถูกใช้งานสารพัดอย่างในช่วงโควิด เช่น ขนไม้ฟืนไว้นึ่งก้อนเห็ดนางฟ้า บรรทุกเห็ดไปขายที่ตลาดสะพานปลา เป็นต้น
ไม่เว้นแม้แต่งานรับใช้ชุมชน อย่างใช้บรรทุกปลากะตักจากโรงงานมาให้ชาวบ้านในชุมชนได้แกะหัวปลา/ผ่าซีก ได้ถุงละ 30 บาท, ส่งถุงยังชีพ/ข้าวกล่องให้ผู้รับผลกระทบจากโควิดทั้งในและนอกชุมชน, ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
รถโชเล่ย์คนนนี้ เป็นรถที่ ดร.ฮาฟีส สาและ ผู้อำนวยการศูนย์สมุทรรัฐ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ได้รับการสนับสนุนจาก Australian Multicultural Foundation เพื่อสร้างงานและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ผู้รับผลกระทบ ผ่านทาง Civic Women ไปยังกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว
"ก๊ะเยาะห์ อดีตแม่ครัวร้านต้มยำกุ้งในมาเลย์ที่กลับมาใช้ชีวิตในชุมชนคนจนเมือง จ.ปัตตานี และร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม พร้อมแบ่งปันให้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดในชุมชน ให้สามารถก้าวข้ามสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
"ในอนาคตจะขยายโรงเพาะเห็ด อยากแปรรูปเห็ดให้หลากหลาย โดยจะมีวิทยาลัยชุมชนมาช่วยต่อยอดในการแปรรูป เราอยากทำให้เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มั่นคง เดินไปได้ไกล คือสิ่งที่เราตั้งใจ"
"คนเมืองแม้จะจนอย่างไรก็ยังจมไม่ลง บางทีงานที่ได้เงินช้าหรือได้น้อยก็ไม่เอา ทั้งที่ต้องซื้อทุกอย่างเอง เราคิดว่างานอะไรจะได้มากได้น้อยก็ดีกว่าอยู่เฉยๆ ขอแค่ความตั้งใจจะทำกันจริงๆ ก็จะพากลุ่มไปได้ไกล เพื่อคุณภาพชีวิตของพวกเราเอง" เป็นเสียงให้คำมั่นจากแกนนำกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ยูโยด่านภาษี