แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ยะลา แนะแนวการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน พักผ่อนให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน สสจ.เตือนมีโรคประจำตัว หรือตั้งครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ต้องแจ้งแพทย์ก่อนรับการฉีด พร้อมเปิดตัวเลขวัคซีนโควิด ไม่พลาดหรือขานตอน?
วันจันทร์ที่ 7 มิ.ย.64 เป็นวันแรกที่ทุกจังหวัดเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังที่ได้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” โดยเป็นการฉีดวัคซีนหลัก “แอสตร้าเซนเนก้า” และเสริมโดยวัคซีนทางเลือก “ซิโนแวค”
ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนต้องมีการเตรียมความพร้อมตามคำแนะนำของแพทย์บางประการ เพื่อความปลอดภัย และลดผลข้างเคียงที่บางกรณีมีรายงานว่าร้ายแรงอยู่เหมือนกัน แม้จะมีจำนวนไม่มากนักก็ตาม
@@ พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ
พญ.ซุฮายลาห์ หะยีดาแม แพทย์ชำนาญการพิเศษ สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว แผนกเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อธิบายว่า การเตรียมตัวก่อนและหลังฉีด “วัคซีน” Covid-19 เพื่อให้การรับวีคซีนได้ประโยชน์สูงสุด ป้องกันและลดปัญหาไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
อันดับแรก คือ คนที่จะรับวัคซีนโควิด-19 จะต้องมั่นใจว่าตัวเราเองมีร่างกายที่แข็งแรง ต้องพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และก่อนที่จะมารับการฉีดวัคซีนนั้น อาจจะต้องงดกิจกรรมที่เป็นการทำงานหนัก เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อม
อันดันสอง ควรงดการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มประเภทนี้จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ แต่ควรดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ แทน
อันดับสาม หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องงดการออกแรงแขนข้างที่ฉีด ซึ่งกรณีนี้หมอจะแนะนำให้ฉีดข้างที่เราไม่ถนัด เพราะจะเป็นการดีกว่า
@@ กินยาคุม-รักษาโรคประจำตัวตามปกติ ไม่ต้องเว้น
ส่วนข้อกังวลใจของหลายคนเกี่ยวกับเรื่องของการกินยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้นั้น พญ.ซุฮายลาห์ กล่าวว่า ทางสูตินรีแพทย์ได้ออกประกาศมาก่อนหน้านี้แล้วว่า คนที่กินยาคุมกำเนิดสามารถกินยาต่อเนื่องได้ และสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันแต่อย่างใด
แต่ถ้าหากว่าใครกังวลว่า กินยาคุมกำเนิดแล้วจะมีผลข้างเคียง ก็สามารถหยุดกินยาในระระเวลา 14-28 วันก่อนที่จะเข้ารับวัคซีนก็ได้
พญ.ซุฮายลาห์ กล่าวย้ำด้วยว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นการสร้างเกราะป้องกันให้ร่างกายของเราเตรียมพร้อมที่จะสู้รบกับเชื้อโรค คือโควิด-19 ที่จะเข้ามาในร่างกาย ดังนั้นอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนรับวัคซีน และลดความกังวลใจ เนื่องจากผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิดนั้นมีน้อยมาก แต่ในขณะเดียวกันโอกาสที่เราจะเจอกับโรคโควิดอาจมีมากกว่าผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน
@@ อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ต้องแจ้งหมอก่อน
ด้าน นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า ข้อแนะนำในการเตรียมตัว เตรียมสุขภาพ เพื่อให้การรับวัคซีนได้ประโยชน์สูงสุด และป้องกันหรือลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวและมียาประจำที่ต้องรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน
นอกจากนั้น ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สบายๆ หากเจ็บป่วย มีไข้ ไม่สบาย ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ดื่มน้ำและงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนฉีด หากมียารักษาโรคประจำตัวก็ให้รับประทานได้เลย ถ้าใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ จุดลงทะเบียน
ส่วนกรณีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องห่างจากการฉีดวัคซีนอื่น 4 สัปดาห์ และเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้พร้อม เช่น บัตรประชาชน ข้อมูลการลงทะเบียน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว เดินทางไปถึงสถานที่ฉัดก่อนเวลานัด 30 นาที ใส่เสื้อผ้าหลวมสบาย เปิดหัวไหล่สะดวก ง่ายต่อการฉีดวัคซีน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่าง แนะนำให้ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด งดใช้หรือเกร็งแขนข้างที่ฉีด ปฏิบัติตามคำแนะของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
@@ ฉีดดีกว่าไม่ฉีด - ย้ำฉีดแล้วห้ามการ์ดตก
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวด้วยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็เหมือนกับวัคซีนอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้ผลในการป้องกัน 100% โดยประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 60-90% (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนและการตอบสนองของแต่ละบุคคล) แต่คุณสมบัติสำคัญของวัคซีนโควิด-19 ทุกตัว คือ สามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยหลังจากติดเชื้อได้ และลดอัตราการเสียชีวิตได้เกือบ 100% ซึ่งจะทำให้การต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง เตียงก็จะเหลือเพิ่มขึ้น และการสูญเสียชีวิตก็จะลดลงได้อย่างมาก
ที่สำคัญ แม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดต่อไปอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นผู้แพร่เชื้อแบบไม่มีอาการที่อาจจะเป็นต้นเหตุให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากเราได้
@@ เปิดตัวเลขวัคซีนรอฉีด - ลุ้นไม่พลาดหรือขาดตอน?
สำหรับปริมาณการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของไทย เริ่มตั้งแต่ 24 ก.พ.64 จำนวน 200,000 โดส, 22 มี.ค.64 จำนวน 800,000 โดส, 10 เม.ย.64 จำนวน 1,000,000 โดส, 24 เม.ย.64 จำนวน 500,000 โดส, 6 พ.ค.64 จำนวน 1,000,000 โดส, 14 พ.ค.64 จำนวน 500,000 โดส, 15 พ.ค.64 จำนวน 500,000 โดส และ 20 พ.ค.64 จำนวน 1,500,000 โดส
นอกจากนั้น ระหว่างเดือน มิ.ย.ถึง ก.ย.64 ยังมีแผนนำเข้าอีก 11,000,000 โดส รวมทั้งหมด 17 ล้านโดส และมีข่าวว่ารัฐบาลมีแผนนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกจนถึง 20 ล้านโดส
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข้ามาล็อตแรก 117,000 โดส จากเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.64 จากนั้นมีวัคซีนเข้ามาล็อตเล็ก 240,000 โดส ช่วงวันที่ 1-2 มิ.ย.64 และล็อตใหญ่ขึ้นเป็น 1,800,000 โดส ในวันที่ 3-4 มิ.ย.
โดยแผนการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งผลิตในประเทศไทย เดือน มิ.ย. 6,000,000 โดส เดือน ก.ค.-พ.ย.64 เดือนละ 10,000,000 โดส และเดือน ธ.ค.64 อีก 5,000,000 โดส รวมทั้งหมด 61 ล้านโดสขึ้นไป แต่ในช่วงแรกมีปัญหาอาจจัดส่งไม่ได้ตามแผน จึงต้องรอดูว่าภาพรวมของการจัดส่งและกระจายวัคซีน จะเป้นไปตามที่วางไว้ได้หรือไม่