โควิดระบาดถี่ ก่อผลกระทบให้กับคนในพื้นที่ชายแดนใต้เยอะมาก เพราะผู้คนแถบนี้จำนวนไม่น้อยที่ยากจนและมีสถานการณ์ความไม่สงบคอยฉุดรั้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีวิกฤติระลอกใหม่เข้ามา ผลสะเทือนจึงยิ่งแรง
ความเดือดร้อนจากโควิดเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการแพร่ระบาด และหน่วยงานรัฐประกาศมาตรการรับมือ เพราะเมื่อห้างร้านปิด ทำให้บางคนตกงานทันที ไม่มีรายได้ทันที เพราะหาเช้ากินค่ำอยู่แล้ว จึงไม่มีเงินแม่แต่จะซื้อข้าวกินทันทีเหมือนกัน
ขณะที่การปิดหมู่บ้าน ชุมชน การห้ามเดินทางข้ามเขตจังหวัด ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพหลายๆ อย่าง
ยังดีที่มีกลุ่มองค์กรภาคประขาสังคมอย่าง “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” กับเครือข่ายพันธมิตร และ “กลุ่มลูกเหรียง” สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ “เปิดครัว” ปรุงอาหาร และทำอาหารปรุงสำเร็จออกแจกจ่ายตามหมู่บ้านและชุมชนที่เดือดร้อน โดยเฉพาะหมู่บ้านที่ถูกล็อกดาวน์ ปิดทางเข้า-ออก ทำให้ไปหาซื้ออาหารไม่ได้ โดยเฉพาะอาหารละศีลอด เนื่องจากเดือนนี้เป็นเดือนรอมฎอน
@@ พันธมิตรจับมือ “ร่วมด้วยช่วยกัน”
สำหรับ “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” มีพันธมิตรจับมือด้วยไม่น้อย เช่น กลุ่มรักษ์บ้านบูเกะโต๊ะบีแด หินล้านงามตาชี, ศูนย์ข่าวอิศรา, เนชั่นทีวี, ทีมข่าวสดยะลา, ประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา และ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น
โดยแหล่งทุนที่นำมาเปิดโรงครัว มาจากการที่สมาชิกกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ ช่วยกันทำขนมจีนขาย แล้วนำรายได้มาช่วยคนที่เดือดร้อนอีกทอดหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เปิดรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ร่วมบริจาคจำนวนไม่น้อย เช่น นพ.ชัยวัฒน์ เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนนักรบเสื้อขาวสู้ภัยโควิด-19 และภรรยา คือ คุณหมอสุรางคณา เตชะไพฑูรย์ นอกจากนั้นยังมี คุณ Saisumpan vivat, คุณ Mai mumu, คุณนิธิมา ลามะ และผู้ ไม่ประสงค์ออกนามอีกเป็นจำนวนมาก
โรงครัวของกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันแต่ละครั้ง มีเมนูอาหารแตกต่างกันไป เช่น ย่างไก่ 100 กิโลกรัม นำไปแจกจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ บางวันก็ทำอาหารปรุงสำเร็จ เช่น ผัดกระเพราไก่ราดข้าว จำนวน 300 ชุด หรือบางครั้งก็ซื้อข้าวสารอาหารแห้ง มาบรรจุเป็น “ถุงยังชีพ” ออกแจกจ่าย
ขณะเดียวกัน กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ยังมี “ศูนย์พัฒนาอาชีพ” สำหรับฝึกอาชีพให้กับชาวบ้าน เป็นการให้ความช่วยเหลือในระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนมีทักษะนำไปใช้หาเลี้ยงชีพต่อไป
@@ ขอบคุณผู้มีจิตศรัทธา ส่งคาราวานความช่วยเหลือทันท่วงที
รอกีเยาะ อาบู ประธานศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ กล่าวว่า เงินบริจาคมีทยอยเข้ามาเป็นระยะ เมื่อรวบรวมได้ รวมทั้งทุนของทางกลุ่มฯเอง ก็จะนำไปเปิดครัวทำอาหาร ย่างไก่ ตลอดจนซื้อผ้าถุง ผ้าโสร่งให้กับผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ หญิงหม้าย เด็กกำพร้า และเม่เลี้ยงเดี่ยว รวมทั้งถุงยังชีพ หากบางครอบครัวที่เดือดร้อนหนักมากๆ ก็จะมอบเป็นเงินด้วย พื้นที่ที่แจกก็จะกระจายไปทั้งสามจังหวัด และ 4 อำเภอของสงขลา เน้นพื้นที่ที่ถูกสั่งปิดชุมชน
“กิจกรรมดีๆ แบบนี้ พวกเราทำไม่ได้ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนร่วมบริจาค จึงอยากขอขอบคุณทุกท่านมากๆ ที่ช่วยให้เราสามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านได้ ทันต่อความเดือดร้อน ตอนนี้ เพราะชาวบ้านเดือดร้อนมาก เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมีจำกัด และชาวบ้านบางส่วนก็เข้าไม่ถึง หลายคนตกงานมาตั้งแต่โควิดรอบแรก ยังหางานทำไม่ได้ เจอโควิดรอบ 3 อีกแล้ว” รอกียะ กล่าว
@@ เลขาฯศอ.บต. ร่วมลงพื้นที่ - สนับสนุนเต็มกำลัง
กิจกรรมช่วยชาวบ้านแบบ “เข้าถึง” และตรงกับความต้องการนี้ ทำให้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งบริจาคเงินส่วนตัวช่วยสมทบทุน ให้เจ้าหน้าที่สนับสนุนข้อมูลและช่วยเหลือด้านต่างๆ ขณะที่ตัวเลขาธิการ ศอ.บต.เอง ก็ลงพื้นที่ร่วมกับกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ ด้วย
“ขอเป็นกำลังใจ และชื่นชมพี่น้องทุกคน กำนันผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. นายอำเภอทุกหน่วยงาน ทุกคนร่วมมือกันเต็มที่ อย่างวันก่อนได้ลงไปที่ ต.บาลอ (อ.รามัน จ.ยะลา) ซึ่งมีการปิดตำบลวันแรก ได้เห็นภาพที่ทุกคนช่วยกัน เขาบอกว่าเขายินดีที่จะทำ เพราะเขาจะได้เฝ้าระวัง ด้วย พอปิดพื้นที่เสร็จ ก็คิดว่าระยะเดียวก็จะดีขึ้น”
“ทุกคนมีบทเรียน มีประสบการณ์ และพร้อมที่จะร่วมมือกัน มีการจัดการพื้นที่กันเองอย่างเข็มแข็ง เป็นภาพที่หาดูยาก เป็นความร่วมไม้ร่วมมือของคนไม่ได้ร่ำรวย แต่รู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ พอได้เห็นแบบนี้ เราภาครัฐเองก็จะอยู่นิ่งไม่ได้ เชื่อว่าอีกไม่นานเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน” พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าว
@@ “กลุ่มลูกเหรียง” จาก “มือล่าง” สู่ “มือบน”
ทางด้าน สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ “กลุ่มลูกเหรียง” นำโดย วรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ นายกสมาคม” ได้เปิดบ้านลูกเหรียงให้น้องๆ เยาวชน ได้ร่วมกันประกอบอาหารปรุงสุก เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยเฉพาะหมู่บ้านที่ประกาศปิดทางเข้า-ออก เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
“แรกเริ่มได้ระดมทุนกันเอง หลังจากได้ออกช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว ก็มีปัจจัยภายนอกมาให้การสนับสนุน ทั้งการบริจาคเงิน และวัตถุดิบในการปรุงอาหารบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะโลกจะน่าอยู่มากขึ้นหากเรามีสังคมที่มีการแบ่งปัน” วรรณกนก กล่าว
ขณะที่ ซาหดัม แวยูโซ๊ะ ตัวแทนเยาวชนกลุ่มลูกเหรียง บอกว่า จริงๆ แล้วกลุ่มลูกเหรียงเอง เป็นกลุ่มเด็กๆ เยาวชนที่เติบโตจากการเป็นมือล่าง (ด้อยโอกาส รอความช่วยเหลือ) แต่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ใจดีหลายๆ ท่านมาโดยตลอด เมื่อเจอสถานการณ์ที่พี่น้องประชาชนตกอยู่ในความยากลำบาก จึงสอนให้น้องๆ เป็น “มือบน” คอยช่วยเหลือผู้อื่น เป็นหนึ่งเสียงหนึ่งมือที่คอยให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่จังหวัดยะลาต่อไป
@@ หลากหลายภาพชีวิตสุดลำเค็ญ ณ ปลายขวาน
สำหรับความรู้สึกของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือบ้านแล้วบ้านเล่า ครัวเรือนแล้วครัวเรือนเล่า...ที่ได้สะท้อนออกมา แม้ด้านหนึ่งจะทำให้เห็นว่าสังคมไทยเราไม่ทิ้งกัน แต่อีกด้านก็ทำให้เห็นภาพจริงของดินแดนแห่งนี้ที่มีผู้คนทุกข์ยากแสนสาหัสจำนวนไม่น้อยจริงๆ
แวแยน๊ะ รอนิง ซึ่งสามีเป็นผู้ป่วยติดเตียง จาก ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา :
ดีใจมากที่เราได้อาหารและถุงยังชีพ รวมทั้งผ้าถุงใส่รายอ ตอนนี้สามีป่วยติดเตียง มีแผลกดทับ ทำให้ฉันกลายเป็นเสาหลักของบ้าน รบภาระทั้งหมด กรีดยางได้วันละ 200 บาท ต้องเลี้ยงลูก 7 คน และยังต้องเลี้ยงหลานกำพร้าอีก 2 คนด้วย
ตอนนี้บ้านที่อยู่ไม่มีแม้แต่ประตู ไม่มีหน้าต่าง ต้องเอาผ้ามาปิดบังแสง แม้จะกลัวอันตราย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ฝนตกก็ถูกฝนสาด ก็ต้องพาลูกๆ หลานๆ และสามีไปอยู่ฝั่งที่ฝนสาดไม่ถึง ขอบคุณทุกคนมากที่ให้ความช่วยเหลือ ดีใจที่สุดที่มีอาหาร มีข้าวกิน เหมือนคนอื่นๆ
สะแปอิง อูเซ็ง วัย 69 ปี ตาบอด หูหนวก จาก ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี :
โควิดทำให้ผมต้องตกงาน พอตกงานก็เครียด อยู่ๆ ก็ปวดตาโดยไม่มีสาเหตุ ต่อมามีเลือดไหลออกมาเต็มไปหมด ไปหาหมอ หมอบอกว่าตาบอด แล้วเราก็มองไม่เห็นอีกเลย จากนั้นหูก็หนวก ตอนนี้อาการทรุดหนัก แรกๆ ไม่มีทีอยู่ ไม่มีลูกเมีย ตอนนี้โชคดีแล้วที่ หลานสาวเช่าบ้านให้อยู่ แต่ตัวหลานเดป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เขาก็ลำบากเหมือนกัน
วันนี้ดีใจที่กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ เอาอาหารมาให้ และยังมีสิ่งของจำเป็นอีกหลายอย่าง ขอบคุณทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือ
นาดีละ สาแม แม่เลี้ยงเดียวลูก 2 คน ชาวปัตตานี :
ฉันต้องดูแลลูก 2 คน และหลานอีกคนหนึ่ง วันนี้ไม่มีข้าวสารเลย จะหุงข้าวให้พวกเขาละศีลอดก็ไม่มี ถือว่ามาช่วยเราได้ทันเวลาจริงๆ ขอบคุณกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯที่เข้าใจคนเดือดร้อน ถ้าไม่มีข้าวสารและอาหารที่ทางกลุ่มเอามาให้ วันนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะเอาอะไรให้ลูกๆ กิน เพราะงานรับจ้างขายของที่ทำอยู่แทบไม่มี ตลาดก็ปิด เมื่อไม่มีงานให้เราทำก็ไม่มีงานเงินซื้อกับข้าว พอไม่มีเงิน ลูกๆ ก็ต้องอด เรื่องอดนี้มีตลอด ไม่อยากพูด โควิดรอบนี้สุดๆ ให้มีข้าวกินก็ถือว่าโชคดีที่สุดแล้วในแต่ละวัน
อ่อนอุมา สมฉไม จาก จ.ปัตตานี :
วันนี้มีเงินอยู่ 17 บาท ฉันกับสามีตั้งใจจะไปซื้อข้าวสาร มาต้มกินเปล่าๆ เพราะไม่มีเงินซื้อกับข้าว แต่ก็โชคดีมีข้าวสารและอาหารจากกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯมามอบให้ เรารอดแล้ววันนี้ เดิมเราก็ไม่มีกินอยู่แล้ว พอโควิดมา งานหายาก เรารับจ้างทั่วไป เมื่อมีโรคระบาด เมืองปิด ก็ไม่มีงานให้ทำเลย ต้องเก็บขยะขาย หาเงินได้พอกินไปวันๆ ก็ดีที่สุดแล้ว
นี่คือชีวิตจริง และความเดือดร้อนลำเค็ญที่เกิดขึ้นจริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนที่มีงบประมาณลงมามากมาย...แต่ชาวบ้านมากมายก็ยังแทบไม่มีจะกิน