พูดถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนนึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะระเบิด ซึ่งเกิดมานานเกือบ 17 ปีแล้ว ล่าสุดสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เดินหน้าศึกษา พร้อมทำวิจัยหาการปนเปื้อนสารระเบิดจากพื้นที่ปลายด้ามขวานให้เป็นค่ามาตรฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อลดการโต้แย้งข้อมูลในชั้นศาล หวังอำนวยความยุติธรรมระดับสูงสุด
แนวคิดนี้ถูกแปรเป็นโครงการที่ชื่อว่า "โครงการตรวจหาสารระเบิดจากผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับนโยบายจาก นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ศึกษาวิจัยการตรวจหาสารระเบิดจากกลุ่มผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นการทำในแง่วิชาการและงานวิจัย เพื่อใช้เป็นค่ามาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันและปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่อีกด้วย
ที่ผ่านมา สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีภารกิจรับผิดชอบในเชิงสนับสนุน ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมในคดีอาญาทั่วไป และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ร่วมในภารกิจการจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคล หรือ "ดีเอ็นเอ" ลายนิ้วมือแฝง การตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดและสารระเบิดจากผู้ต้องสงสัย
สำหรับการตรวจหาสารระเบิดนั้น พบว่ามีการตรวจหาสารระเบิดจากกลุ่มผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก แต่เกิดข้อต่อสู้จากผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา เกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจเก็บสารระเบิด ซึ่งที่ผ่านมาการตรวจหาสารระเบิดทางนิติวิทยาศาสตร์ จะตรวจหาสารระเบิดหลักๆ จำนวน 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ TNT, RDX, PETN และ Nitroglycerine
ขณะนี้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้เดินหน้าทำวิจัยเพื่อสร้างมาตรฐานการตรวจหาสารระเบิดจากผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแนวทางการวิจัย เริ่มจากลักษณะขั้นตอนการเก็บตัวอย่างในพื้นที่ต่างๆ เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของสารระเบิด จากนั้นจะวิเคราะห์ออกมาเป็นค่าเฉลี่ย และทำวิจัยเปรียบเทียบข้อมูล เพื่อกำหนดเป็นค่ามาตรฐานต่อไป
----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล
ขอบคุณ : ภาพจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์