ในยุคโควิดแพร่ระบาด หลายคนคงเคยได้ยินข่าวคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามไปชุมนุมทางศาสนาในต่างประเทศ เมื่อกลับมาแล้วบางส่วนมีเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ติดมาด้วย
คนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่ากิจกรรมชุมนุมทางศาสนา หรือชุมนุมของผู้เผยแผ่ศาสนาที่กำลังเป็นข่าวอยู่นี้ พวกเขาไปทำอะไรกัน และเหตุใดจึงต้องไปรวมตัวกันจำนวนมากๆ ด้วย
ก่อนจะไปถึงการ "ชุมนุมทางศาสนา" ต้องรู้จักการ "ดะวะห์" ก่อน...
"ดะวะห์" คำๆ นี้หมายถึงการเผยแผ่ศาสนา การออกชักชวนให้มุสลิมช่วยกันทำความดี หักห้ามการทำชั่ว
คนที่ออกเผยแผ่ศาสนา และเดินทางไปชักชวนให้คนอื่นๆ ทำความดี ในทางอิสลามเรียกว่า "ดะวะห์" ถ้าไปกันหลายๆ คนก็เรียก "กลุ่มดะวะห์"
เรื่องนี้ไม่ใช่ภาคบังคับตามหลักศาสนา ใครจะทำก็ได้ เมื่อทำแล้วก็จะได้บุญ คนจำนวนหนึ่งเลือกทำในวัยเกษียณ อย่างเช่น คุณลุงชาวสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ที่ไปเสียชีวิตบนรถไฟ เมื่อเกษียณจากงานนายช่างวิศวกร ก็ออกเดินทางไปดะวะห์ คนมุสลิมจะมีความเชื่อและศรัทธาแบบนี้ แต่กลุ่มคนที่ยังเป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่ไปดะวะห์ก็มีเหมือนกัน
นิแอ สามะอาลี หนึ่งในสมาชิกดะวะห์ เล่าว่า จริงๆ แล้วแค่หนึ่งคำพูดความดีออกมา ก็ถือเป็นการดะวะห์แล้ว ฉะนั้นจึงมีคำกล่าวในเชิงหลักการที่ว่า การดะวะห์ต้องเริ่มจากการเชิญชวนตัวเองไปสู่ความดีก่อน ซึ่งคำว่าตัวเอง หรือตนเอง ก็คือ "ตับลีฆ" เหตุนี้จึงเป็นที่มาของ "ดะวะห์ตับลีฆ"
"การเรียนรู้ของตัวเราเอง และการสั่งสมความรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และชักชวนคนอื่น ต้องมีระดับชั้น กลุ่มดะวะห์ตับลีฆก็เช่นกัน ต้องมีระดับขั้นเพื่อเพิ่มการปลูกฝังความศัทธาและความแรงกล้าในการปฏิบัติกิจกรรมเผยแผ่ศาสนา" นิแอ กลาว
การทำดะวะห์ โดยมากมักจะทำเป็นกลุ่ม ราวๆ 7-12 คน และใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง โดย "กลุ่มดะวะห์" จะเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ แล้วใช้มัสยิดเป็นศูนย์รวมในการวางแผนลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้คน โดยมัสยิดที่เป็นศูนย์กลางแบบนี้ จะเรียกว่า "มัรกัส" (ศูนย์ดะวะห์) โดยศูนย์กลางมัรกัสใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
"อย่างที่บอก ดะวะห์ตับลีฆจะเริ่มจากตัวเองก่อน ก็จะใช้มัสยิดในชุมชนเป็นศูนย์กลาง ช่วงแรกอาจจะมีสาวกดะวะห์ 1-2 คน จากนั้นก็ค่อยๆ หาสมาชิ กจนได้เป็นกลุ่มดะวะห์ตับลีฆประจำมัสยิด โดยมีตารางปฏิบัติแต่ละวันคือ ประชุมทุกเย็นเรื่องดะวะห์, แบ่งเวลาวันละ 2 ชั่วโมงครึ่งเพื่อไปพบปะผู้คนในหมู่บ้าน, บรรยายในมัสยิดสัปดาห์ละหครั้ง หรือที่เรียกว่าโยร์ในหมู่บ้าน และทำประชาสัมพันธ์เพื่อหาประชาชนออกดะวะห์ 3 วัน"
"จากศูนย์กลางมัสยิดในชุมนุม ก็ขยายมาเป็นมัรกัส หรือศูนย์ดะวะห์ กิจกรรมก็จะมีการประชุมประเมินจำนวนคนดะวะห์ว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ประชุมพิจารณาส่งกลุ่มดะวะห์ออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสร้างงานดะวะห์ในแต่ละมัสยิดในชุมชน" นิแอ อธิบาย
จะเห็นว่าการดะวะห์ไม่ได้มีแค่ในประเทศ แต่ยังเดินทางไปต่างประเทศด้วย ฉะนั้นจึงมีกำหนดเวลาสำหรับการทำดะวะห์ ถ้าไปใกล้ๆ ในชุมชนของจังหวัดเดียวกัน หรือจังหวัดใกล้เคียง ก็ใช้เวลา 3 วัน ถ้าไปไกลหน่อย อาจจะข้ามประเทศ ก็ใช้เวลา 40 วัน และนานที่สุดคือ 4 เดือน
"การออกดะวะห์ 3 วัน สำหรับประชาชนฝึกหัด โดยให้ออกประจำทุกเดือน พอเข้าใจในดะวะห์ ก็เชิญชวนให้ออก 40 วัน ก็จะทำให้เข้าใจในงานดะวะห์มากขึ้น และขั้นสูงสุดเพื่อเป็นการดะวะห์ประชาชาติ นั่นก็คือออกดะวะห์ 4 เดือน ได้ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ" นิแอ บอก
ส่วนการไปดะวะห์ ที่มีข่าวไปรวมตัวกันที่อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศนั้น เรื่องนี้มีที่มาเชิงประวัติศาสตร์...
"สำหรับคนทำงานดะวะห์เพื่อประชาชาติ ต้นแบบอยู่ที่มัรกัสนิซามุดิน ประเทศอินเดีย มี เมาลานา ซาการียา อัลดะลาวี ชาวอินเดียเชื้อสายสาวกนบีมูฮำหมัด เป็นผู้ริเริ่มสร้างงานดะวะห์ตับลีฆ โดยเริ่มต้นจากตัวเอง และไปเชิญชวนคนขับรถรับจ้างมาออกดะวะห์ ทำมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเกือบจะ 100 ปีแล้ว และขยายไปยังมัรกัสไรวิน ประเทศปากีสถาน และมัรกัสบังกลาเทศ ทำให้ชาวดะวะห์ตั้งกฏว่าหากไม่ผ่าน 3 ประเทศนี้ จะไปประเทศแถวยุโรปไม่ได้ หรือที่เรียกว่าต้องผ่าน IPB เสียก่อน ซึ่งก็คืออินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ นั่นเอง" นืแอ เล่า
แน่นอนว่าการเดินทางไปดะวะห์ในพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้มีเฉพาะมุสลิมที่ไปจากประเทศไทยเท่านั้น แต่มีจากประเทศมุสลิมทั่วโลก ฉะนั้นจึงมีกิจกรรม "ชุมนุมของผู้เผยแผ่ศาสนา" เรียกว่า "โยร์" ซึ่งก็คือกาารไปรวมตัวกันของกลุ่มดะวะห์จากประเทศต่างๆ นั่นเอง กิจกรรมนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และอินเดีย งแต่ละที่ก็มีพี่น้องมุสลิมจากประเทศไทยไปร่วม
"ทุกปีที่ประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ จะมีการจัดโยร์ หมุนเวียนว่าประเทศไหนจะจัดได้บ้าง ขึ้นอยู่กับการประชุมที่มัรกัสนิซามุดิน ประเทศอินเดีย ว่าจะอนุมัติหรือไม่ เป้าหมายหลักของการจัดโยร์ หรือชุมนุม ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนออกดะวะห์เป็นจำนวนมากๆ"
"สุดท้ายการออกดะวะห์ ไม่ว่าจะ 3 วัน 40 วัน และ 4 เดือน เป้าหมายก็คือเพื่อให้ประชาชาติกลับหาสู่พระเจ้า เห็นความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และปฏิบัติตามบัญชาทุกประการของพระองค์ ขณะที่ในแง่ปัจเจก คนที่ไปทำดะวะห์ก็จะกลับมาสู่มัสยิดในชุมชนแต่ละพื้นที่ในบ้านของเรา เพื่อชักชวนให้ทุกคนร่วมทำความดี" นิแอ สรุป
----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เรื่องราวอีกด้านของ "เปาะยา" ถูกสังคมตีตราในกระแสผวาโควิด
คู่ชีวิต"เปาะยา"เสียใจสามีจากไปไม่ทันเห็นหน้า วอนอย่าซ้ำเติมกันอีกเลย