สองประเด็นที่พูดถึงกันมากหลังเกิดโศกนาฏกรรมกลางเมืองโคราช ก็คือ
หนึ่ง นี่คือปฏิบัติการของคนที่ถูกจัดประเภทว่าเป็น "โลนวูล์ฟ" หรือไม่ เพราะก่อเหตุเพียงคนเดียว ไม่มีผู้ช่วย วางแผนและปฏิบัติการเองทั้งหมด
สอง มาตรการรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองมีความจำเป็นต้องยกเครื่องทั้งระบบหรือไม่ เพราะปฏิบัติการของผู้ก่อการร้าย รวมไปถึง "โลนวูลฟ์" ในระยะหลังพุ่งเป้าไปที่ย่านชุมชนและย่านเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ ซึ่งมีประชาชนผู้บริสุทธิ์รวมตัวอยู่เป็นจำนวนมาก
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เคยกล่าวเอาไว้ว่า "สิ่งที่แตกต่างระหว่างกลุ่มก่อการร้ายหรือผู้มีความคิดสุดโต่งกับคนธรรมดาก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้มีระเบิดอยู่ในมือ แต่คนธรรมดาที่เดินถนนไม่มี ทำให้เราไม่สามารถแยกออกได้เลยว่าใครคือผู้ก่อการร้าย"
เหตุนี้เองการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับคนที่ก่อเหตุแบบนี้ได้ รวมไปถึงการสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยในเขตเมือง หรือพื้นที่สาธารณะ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสภาพการณ์ปัจจุบัน
ที่น่าตกใจก็คือ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ไปศึกษาองค์ความรู้ และสรุปบทเรียนจากต่างประเทศ แล้วพยายามนำมาเปิดหลักสูตรเพื่อถ่ายทอดให้กับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในประเทศไทยนานเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่กลับไม่มีคนสนใจ เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงระดับนี้เกิดขึ้นใน "สยามเมืองยิ้ม"
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและการป้องกันตัว ซึ่งสอนอยู่ในโรงเรียนเหล่า ให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุเหมือนกับที่ จ.นครราชสีมา เป็นลักษณะที่เรียกว่า active shooter ซึ่งหมายถึงมือปืนที่ยิงคนไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดการสังหารหมู่ โดยผู้ก่อเหตุลักษณะนี้จะรู้ดีว่าหากถูกจับกุม จะต้องได้รับโทษในอัตราสูงสุด ถึงขั้นประหารชีวิต ดังนั้นจุดจบของ active shooter คือ สู้จนตัวตาย หรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย
ผู้เชี่ยวชาญ อธิบายต่อว่า การก่อเหตุของ active shooter มีมูลเหตุอยู่ 3 ประการหลักๆ ด้วยกัน คือ 1. ต้องการแก้แค้น 2. มีปัญหาทางจิต และ 3. เป็นผู้ก่อการร้าย โดยเหตุการณ์สังหารหมู่โดย active shooter ครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับไฮสคูล รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เมื่อ 21 ปีก่อน
แต่หากพิจารณาเจาะจงเฉพาะผู้ก่อเหตุที่ จ.นครราชสีมา active shooter รายนี้น่าจะตัดสินใจก่อเหตุจาก 2 ปัจจัย คือ ต้องการแก้แค้น และมีสภาพป่วยทางจิต ซึ่งปัจจัยหลังต้องรอการตรวจสอบอย่างละเอียดจากนักจิตวิทยา แต่ความพิเศษของเหตุการณ์ที่โคราช คือตัวเหตุการณ์ถูกพัฒนาจากการไล่ยิงคนไปเรื่อยๆ เป็นการจับตัวประกัน เพราะผู้ก่อเหตุรู้ว่าหากไม่มีตัวประกัน ก็จะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อตัวเอง
สำหรับการรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติในลักษณะกราดยิงแบบไม่เลือกหน้าขึ้นมา ผู้เชี่ยวชาญ แนะว่า จำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องแยกให้ออกตั้งแต่แรกว่า ผู้ก่อเหตุกระทำการในลักษณะไหน เป็น active shooter คือไล่ยิงไปเรื่อยๆ หรือมีการจับตัวประกันด้วย แน่นอนว่าถ้าเป็น active shooter อย่างเดียว เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องหยุดยั้ง เพื่อไม่ให้คนร้ายได้ก่อเหตุต่อไป ซึ่งอาจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดได้ แต่ถ้ามีการจับตัวประกัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีวิธีการอีกแบบหนึ่ง
ส่วนในมุมของประชาชน ในฐานะผู้เผชิญหน้ากับความเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและการป้องกันตัว แจกแจงว่า มีแนวปฏิบัติอยู่ 3 แนวทาง คือ
1. run หมายถึงวิ่ง หรือหนีออกจากพื้นที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
2. hind คือถ้าหนีไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำต่อคือซ่อนตัว หาที่กำบังตนให้มิดชิด ล็อคประตู แล้วโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งบางสถานการณ์จำเป็นต้องปิดเครื่องมือสื่อสาร เพราะหากมีเสียงหรือแม้กระทั่งเปิดสั่น หรือไฟหน้าจอสว่าง อาจทำให้คนร้ายรู้ที่ซ่อนตัว
3. fight หรือ ต่อสู้ โดยแนวทางนี้ไม่อยากแนะนำให้ประชาชนทั่วไปทำ เนื่องจากคนร้ายส่วนใหญ่มักมีอาวุธ แต่ถ้าประเมินสถานการณ์แล้วว่าสามารถต่อสู้ หรือร่วมกันสู้กับคนอื่นๆได้ ก็ควรทำ ทว่าทางที่ดีที่สุดให้พยายามแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือจะดีกว่า
กรณีทางเลือกทางรอดของประชาชนตาดำๆ นี้ มีอดีตทหารรบพิเศษซึ่งผ่านการฝึกด้านต่อต้านก่อการร้าย กล่าวเสริมว่า วิธีการที่มีการแนะนำกันในโลกโซเชียลฯ ให้แกล้งตาย โดยนำเทคนิคนี้มาจากผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ "ผอ.กอล์ฟ" ยิงคน-ปล้นทองที่ จ.ลพบุรีนั้น ขอเตือนว่า การแกล้งตายใช้กับ active shooter ไม่ได้ เพราะนักฆ่าประเภทนี้จะยิงคนทุกคนที่ผ่านเข้ามาในสายตา แม้จะนอนนิ่งๆ หรืออาจจะเป็นศพไปแล้วก็จะยิงซ้ำเพื่อความแน่ใจ ฉะนั้นการหนี จึงน่าจะเหมาะสมที่สุด
ส่วนกรณีที่อยู่ในสถานการณ์ตกเป็นตัวประกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและการป้องกันตัว บอกว่า สิ่งแรกที่ประชาชนควรทำ คือ
1. คิดว่าถึงอย่างไรตัวเองก็ต้องรอด 2. ช่วง 15-45 นาทีแรกอย่าขัดขืน และให้ยอมเป็นตัวประกันไปก่อน เนื่องจากเป็นเวลาอันตราย เพราะคนร้ายมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาแล้ว เว้นแต่จะเจอคนร้ายระดับมืออาชีพที่วางแผนแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง
3. พยายามสร้างสัมพันธ์กับคนร้าย 4. ทำตามที่คนร้ายสั่ง 5. พยายามพูดคุยกับคนร้ายโดยใช้หัวข้อเรื่องครอบครัว เพื่อทำให้คนร้ายใจอ่อน หรือช่วยประวิงเวลาจนกว่าเจ้าหน้าที่เข้าทำการช่วยเหลือ โดยข้อ 5 ถือว่าสำคัญที่สุด
นอกจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือ ช่วงที่มีการบุกเข้าพื้นที่ที่มีการจับตัวประกัน อาจมีการป่าระเบิดแสงหรือเสียง ขอให้ประชาชนหมอบลงทันที แล้วยกมือไว้เหนือศีรษะ เพื่อแสดงตัวว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วค่อยๆ แจ้งเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการค้นตัวคล้ายทำกับคนร้าย ซึ่งอย่าตกใจ เพราะต้องแยกแยะว่าเป็นคนร้ายที่แฝงตัวมาหรือไม่
ทั้งหมดนี้คือ "คู่มือเอาชีวิตรอด" ในเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทั้งสังหารหมู่ในที่สาธารณะ หรือเมื่อเผชิญหน้ากับ active shooter รวมถึงสถานการณ์ถูกจับเป็นตัวประกัน
ได้เวลาที่ต้องเรียนรู้กันจริงจังแล้ว!