ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐเพื่อสังหาร พลเอก กอเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลัง "คุดส์" ของอิหร่าน ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำสูงสุดทางทหารลำดับ 2 ของประเทศ ทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดขึ้นมาอีกคำรบ
โดยเฉพาะการประกาศล้างแค้นอย่างสาสมของอิหร่าน ผสานกับท่าทีไม่ยี่หระของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนทำให้เกิดกระแสตื่นกลัวว่าสถานการณ์นี้อาจบานปลายกลายเป็น "สงครามโลกครั้งที่สาม" ได้เลยทีเดียว
แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิม ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของไทยยังคงมั่นใจว่า โอกาสเกิดสงครามโลกครั้งที่สามยังมีน้อยมาก ส่วนปฏิบัติการตอบโต้จากอิหร่านน่าจะทำผ่านเครือข่ายกองกำลังติดอาวุธที่ตนให้การสนับสนุนมานาน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีปฏิบัติการทั้งบนดินและใต้ดินในหลายประเทศ
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟันธงว่า สงครามเต็มรูปแบบน่าจะยังไม่เกิด แต่การปะทะและเผชิญหน้าในอิรักจะเข้มข้นขึ้น เพราะทั้งอิหร่านและสหรัฐต่างต้องการเข้าไปช่วงชิงการมีอิทธิพลเหนืออิรัก ในฐานะที่อิรักมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง
อาจารย์ศราวุฒิ อธิบายประเด็นนี้ด้วยคำจำกัดความที่ว่า No peace No war หมายถึงการไม่มีสันติภาพ และไม่มีสงคราม ที่บอกว่าไม่มีสันติภาพ เพราะทั้งสองประเทศ คือทั้งสหรัฐและอิหร่านก็จะยังทำการโจมตีกันไปมาแบบนี้ โดยที่ไม่มีการพูดคุยเจรจาใดๆ แต่ในขณะเดียวกันก็จะไม่ก่อให้เกิดสงครามในภาพใหญ่กว่านี้ เพราะทั้งสองประเทศต่างเกรงว่าตนจะเสียผลประโยชน์ที่มีอยู่มากมายในตะวันออกกลาง
ขณะที่ทางสหรัฐเองก็กำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แน่นอนว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะไม่ยอมให้เกิดสงคราม เพราะจะกระทบต่อคะแนนนิยม เนื่องจากคนอเมริกันจำนวนมากไม่ต้องการสงคราม และไม่ต้องการให้สหรัฐมีบทบาทเป็น "ตำรวจโลก" จนเศรษฐกิจในบ้านตัวเองตกต่ำ ซึ่งประเด็นนี้เองที่ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา และได้เป็นประธานาธิบดีมาจวนจะครบ 4 ปี
ขณะเดียวกัน ในมุมมองของสหรัฐ เห็นว่าตนเองกำลังเสียประโยชน์ในดินแดนอิรัก ฉะนั้นการโจมตี พลเอกสุไลมานี จึงเรียกได้ว่าเป็น "ปฏิบัติการทวงคืนอิทธิพล" เนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์ของอิรักมีความเหมาะสมต่อการคุมเกมการเมืองและสร้างดุลยภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง อีกทั้งสหรัฐเองก็มีผลประโยชน์ในตะวันออกกลางจำนวนมหาศาล ทั้งฐานทัพและชาติพันธมิตรที่ล้วนเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ฉะนั้นปฏิบัติการทวงคืนอิทธิพลในอิรัก จึงเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองระหว่างประเทศของชาติคู่แข่งอย่างรัสเซีย และจีนด้วย แต่สหรัฐก็ไม่ต้องการให้มีสงครามขนาดใหญ่
ข้างฝ่ายอิหร่านเอง ก็รู้ตัวดีว่าเสียเปรียบสหรัฐในด้านการทหาร ประกอบกับสถานการณ์หลังกลุ่มไอเอสพ่ายแพ้สงคราม อิหร่านได้พยายามเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลในอิรักมากขึ้น โดยอิหร่านมีเป้าหมายในการเข้ามายึดพื้นที่อิรักเพื่อสร้าง "แลนด์ คอริดอร์" ซึ่งหมายถึง "ระเบียงภาคพื้นดิน" หรือเส้นทางอิทธิพลในตะวันออกกลาง โดยเส้นทางสายนี้เริ่มที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ไปยังแบกแดก เมืองหลวงของอิรัก ต่อไปยังดามัสกัส ของซีเรีย และเข้าสู่เลบานอน ซึ่งที่ผ่านมาอิหร่านสร้าง "แลนด์ คอริดอร์" หรือ "ระเบียงภาคพื้นดิน" เกือบสำเร็จแล้ว ขาดไปเพียงแค่อิรักที่สหรัฐมีอิทธิพลอยู่หลังโค่นระบอบซัดดัมเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นๆ ล้วนเป็นพันธมิตรของอิหร่าน
สำหรับการตอบโต้ของอิหร่าน อาจารย์ศราวุฒิ มองว่า ขณะนี้เริ่มเห็นการตอบโต้ของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ บ้างแล้ว จึงเชื่อว่าอิหร่านน่าจะใช้เครือข่ายกลุ่มติดอาวุธที่มีอยู่หลายกลุ่มมากในหลายประเทศ เป็นตัวแทนในการตอบโต้สหรัฐ และอาจจะมีลักษณะของการใช้ "ไซเบอร์ แอทแทค" ซึ่งเคยใช้มาหลายครั้งในการตอบโต้สหรัฐ แต่สงครามเต็มรูปแบบยังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอิหร่านเองไม่อยากเสี่ยงให้ประเทศของตัวเองกลางเป็นเป้าโจมตีจนประเทศพังเหมือนอิรักและซีเรีย ขณะที่สหรัฐก็ไม่ต้องการให้สงครามขยายตัว เพราะผลประโยชน์ของสหรัฐในตะวันออกกลางมีอยู่จำนวนมาก
อาจารย์ศราวุฒิ ฟันธงทิ้งท้ายว่า หากจะมีสงครามขนาดใหญ่ ทั้งสองฝ่ายคือสหรัฐและอิหร่านน่าจะคำนึงถึงความเสียหายใหญ่หลวงที่จะตามมา แต่การตอบโต้ของอิหร่านจะต้องมีแน่นอน โดยผ่านตัวแทนของอิหร่าน ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่อยู่ในอิรัก รวมถึงกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เช่น "ฮิซบุลเลาะห์" ในเลบานอน "ฮามาส" ในปาเลสไตน์ กลุ่มติดอาวุธชีอะห์ในซีเรีย เพราะ พลเอกสุไลมานี เองก็คือผู้ที่มีบทบาทในการประสานและมีอิทธิพลต่อกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้อย่างมาก
ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง มองคล้ายๆ กันว่า แนวโน้มที่สถานการณ์นี้จะลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซียยังเป็นไปได้น้อย สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจัยภายในที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของสหรัฐ และหลายฝ่ายก็พยายามฉวยโอกาสนี้เพื่อแทรกแซง โดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งทรัมป์เองก็ทราบดี และพยายามเฝ้าระวังอยู่
เหตุนี้เอง อาจารย์ปณิธาน จึงวิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อบรรยากาศความตึงเครียดโดยรวมของตะวันออกกลางและของโลก น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การลงทุน ส่วนในระยะกลางและระยะยาวจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูการตอบโต้ของอิหร่าน ตลอดจนการเฝ้าระวังของสหรัฐในระยะต่อไปก่อน ซึ่งขณะนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติของหลายประเทศก็ได้สั่งการให้เฝ้าระวังผลประโยชน์ของสหรัฐในประเทศของตน รวมไปถึงตัวบุคคลสำคัญและคนอเมริกันเพื่อไม่ให้เป็นเป้า แต่ก็เชื่อว่ากลุ่มติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรของอิหร่านจะพยายามหาทางตอบโต้กับสหรัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเป้าหมายอ่อนแอของสหรัฐที่มีอยู่ทั่วโลก เพราะอิหร่านน่าจะไม่เลือกใช้วิธีเผชิญหน้ากับสหรัฐโดยตรง
สำหรับประเทศไทย อาจารย์ปณิธาน มองว่า จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งเรื่องการเมืองและความรุนแรง เนื่องจากทั้งสหรัฐและอิหร่านเป็นมิตรที่ดีกับไทย แต่ผลกระทบอาจเกิดกับระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามต้องไม่ประมาท ต้องเน้นการเฝ้าระวังกลุ่มบุคคลต้องสงสัยในการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จนกว่าสถานการณ์โดยรวมจะคลี่คลาย
มุมวิเคราะห์ของนักวิชาการทั้ง 2 ราย แม้จะสอดคล้องกับการประเมินของฝ่ายความมั่นคงไทย แต่หน่วยงานความมั่นคงกังวลเรื่องการโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐในประเทศไทย เพราะเคยมีความพยายามของกลุ่มคนจากอิหร่านมาแล้วหลายครั้ง
โดยฝ่ายความมั่นคงไทยประเมินว่า การตอบโต้ล้างแค้นของอิหร่าน จะไม่กระทำในนามรัฐบาล แต่น่าจะเป็นปฏิบัติการของกองกำลังใต้ดิน หรือกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่อิหร่านให้การสนับสนุน เช่น กลุ่มฮามาส กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีเป้าหมายต่อต้านอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว และยังถูกสหรัฐขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายด้วย จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการ "ก่อการร้ายโดยรัฐ" แต่จะไม่ทำแบบเปิดหน้าตรงๆ ส่วนพื้นที่เป้าหมาย ต้องยอมรับว่าการจะเข้าไปทำในสหรัฐเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นอาจมีการโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐในประเทศอื่นๆ ซึ่งความน่ากลัวของอิหร่าน คือมีความเป็นมหาอำนาจในตัวเอง ไม่ต้องรอฟังสัญญาณจากใคร
ความยิ่งใหญ่ของอิหร่าน นอกจากด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประเทศใหญ่อันดับ 2 ของตะวันออกกลางแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลกด้วย
ขณะที่ความเกี่ยวข้องกับไทย มีกลุ่มคนจากอิหร่านเคยเข้ามาปฏิบัติการในไทยมาแล้วหลายครั้ง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2537 ชายชาวอิหร่านพยายามก่อเหตุระเบิดโจมตีสถานทูตอิสราเอล โดยใช้รถหกล้อขนาดใหญ่บรรทุกระเบิดที่่ทำจากปุ๋ยยูเรียและซีโฟร์ เรียกว่า "truck bomb" ขับมุ่งหน้าไปยังสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย แต่โชคดีที่รถเกิดเฉี่ยวชนกับรถมอเตอร์ไซค์แถวๆ ชิดลม ทำให้ชายชาวอิหร่านทิ้งรถหลบหนีไป
ต่อมาในปี 2555 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์พอดี เกิดระเบิดที่บ้านเช่าหลังภายในซอยย่านสุขุมวิท 71 เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นบ้านที่มีชายชาวอิหร่านเช่าเอาไว้ และมีการสะสมระเบิดเพื่อเตรียมก่อเหตุโจมตีบุคคลสำคัญของอิสราเอลที่มีกำหนดการเยือนประเทศไทย แต่การเก็บระเบิดหรือต่อวงจรอาจมีข้อผิดพลาด ทำให้เกิดระเบิดขึ้น ชายชาวอิหร่าน 4 คนกระจายกันหลบหนี และมีคนหนึ่งปาระเบิดใส่แท็กซี่ เพราะไม่ยอมจอดรับตนขึ้นรถ แต่ระเบิดไปติดสายไฟฟ้า ย้อนกลับมาระเบิดตัวเองขาขาด จึงถูกจับกุม ส่วนคนอื่นๆ หลบหนีไปได้
จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต บ่งชี้ว่า หากกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนต้องการเข้ามาปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐในประเทศไทย ย่อมสามารถทำได้ทันที จึงต้องมีการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มข้นมากขึ้น ทั้งมาตรการ รปภ. และคัดกรองคนเข้าเมือง