"ทำอย่างไรให้กฎหมายพิเศษไม่พิเศษอีกต่อไป และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อมลายูมุสลิม"
เป็นคำกล่าวของ มูฮำหมัดอัณวัร หะยีเตะ ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ ที่กลายเป็นหัวข้อหลักของการเสวนาหัวข้อ "ทางออกกฎหมายพิเศษชายแดนภาคใต้" ที่มีเซเลบการเมืองในสายตาคนรุ่นใหม่อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เวทีนี้ถือว่าเป็นศูนย์รวมของตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ได้หลากหลายระดับหนึ่ง เพราะนอกจาก มูฮำหมัดอัณวัร และธนาธร แล้ว ยังมี มูฮำหมัดอารีฟีน จะปะกียา อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ รักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวไทยพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ อัญชณา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ นักสิทธิมนุษยชนที่เพิ่งลาออกจากคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ
วงเสวนาจัดกันที่สนามฟุตบอลฟาตอนี้สเตเดียม ค่ำคืนหนึ่งของปักษ์แรกเดือนกันยายน มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 200 คน
ประเด็นการหาทางเพื่อยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ยังคงถูกพูดถึงอย่างมากในพื้นที่ โดยเฉพาะหลังการเสียชีวิตของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ที่ถูกคุมตัวเข้าค่ายทหารได้เพียง 1 คืนก็กลายเป็นเจ้าชายนิทรา จากนั้นอีก 35 วันเขาก็สิ้นใจ
แม้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะให้น้ำหนักสาเหตุการเสียชีวิตไปที่โรคภัยไข้เจ็บที่ซุกซ่อนอยู่ของอับดุลเลาะเอง แต่คนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยดูจะยังค้างคาใจ และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เกิดขึ้นระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ซึ่งยังไม่มีการตั้งข้อหา
สุ้มเสียงจากเวทีเสวนานี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษกระทบกับคนในพื้นที่ และการใช้ต่อเนื่องยาวนาน 14-15 ปี ถือว่านานเกินไป และผลกระทบก็มากขึ้นเรื่อยๆ
รักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพฯ ให้ทัศนะในมุมมองของคนพุทธที่ฝ่ายความมั่นคงมักอ้างอิงเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนการคงไว้ซึ่งกฎหมายพิเศษว่า จริงๆ แล้วคนพุทธในพื้นที่ตกหล่นองค์ความรู้เรื่องกฎหมายพิเศษ มักมองว่าถ้าไม่ได้ทำความผิดจะกลัวทำไม คนที่กลัวคือคนที่ทำผิด แต่ขณะเดียวกันคนพุทธก็รู้สึกเบื่อกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เหมือนคนกลุ่มอื่นๆ เพราะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนแปลงไป เช่น การตรวจตราตามด่านตรวจที่มีเป็นจำนวนมาก
จากประสบการณ์ของรักชาติ เขาเห็นว่าภาคประชาชนทั้งพุทธและมุสลิมสามารถร่วมมือกันดูแลชุมชนของตนเองให้ปลอดภัยได้
"ในความเป็นจริงมีชุมชนที่คนพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันอีกหลายชุมชน เช่น ที่บ้านแบหอ อ.รามัน จ.ยะลา เขาอยู่ร่วมกันได้มานานจนถึงปัจจุบัน ช่วยเหลือดูแลกัน หากมีคนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชนก็จะช่วยกันเป็นหูเป็นตา" เขายกตัวอย่าง
ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ความรุนแรงหลายๆ ครั้งที่ตอกลิ่มความสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธกับมุสลิม แต่ผลพวงของเหตุการณ์รุนแรงอีกนั่นแหละที่ทำให้คนต่างศาสนาหันมาจับมือกัน
"อย่างเมื่อเกิดเหตุยิงพระ คนพุทธก็ร้อนระอุ เมื่อเวลาผ่านไปก็สงบลงบ้าง แต่ความหวาดระแวงในชุมชนจะสูงขึ้น และการเฝ้าระวังจะสูงมากเมื่อมีคนแปลกหน้าเข้าไป แต่เมื่อบางครั้งมีเยาวชนพุทธถูกควบคุมตัวในคดีความมั่นคง แล้วศูนย์ทนายความมุสลิมช่วยออกมาเมื่อพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่คนผิด เรื่องแบบนี้ก็ทำให้มุมมองของคนสองศาสนาเปลี่ยนไป"
รักชาติ มีข้อเสนอทางสายกลางสำหรับเรื่องกฎหมายพิเศษ
"หากกฎหมายพิเศษยังคงอยู่ ต้องมีการปรับให้เป็นปัจจุบัน และเลือกใช้เพียงกฎหมายเดียว เมื่อพื้นที่ดูแลกันเองได้ เจ้าหน้าที่ควรออกจากพื้นที่ ถ้ายังอยู่ถือว่าสวนกระแสกับการที่รัฐบอกว่าสถานการณ์ดีขึ้น ที่สำคัญภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพ การต่อสู้ของผู้คิดต่างต้องไม่ใช้ความรุนแรงและเคารพความคิดต่างของผู้อื่นด้วย"
ขณะที่ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า กฎอัยการศึกใช้ในภาวะสงคราม แต่พื้นชายแดนใต้ไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม กฎหมายพิเศษที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือสงบลง แต่กลับมีคนถูกควบคุมตัวด้วยคดีความมั่นคงเพิ่มขึ้นนับจำนวนเกือบ 10,000 คนแล้ว (นับรวมตลอดระยะเวลาที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษ)
"15 ปีมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกๆ 3 เดือน กฎหมายเหล่านี้ละเมิดสิทธิ์และกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะการจับกุมและควบคุมตัว ประชากรในพื้นที่ประมาณ 3 ล้านคน มีผู้ถูกควบคุมตัวคดีความมั่นคงเกือบหมื่นคน ส่งผลกับครอบครัว และยังถูกเลือกปฏิบัติเฉพาะมลายูมุสลิม เพราะรัฐเชื่อว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำเพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดน"
ในมุมมองของอัญชนา การอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ ไม่ได้กระทบกับวิถีชีวิตเฉพาะเรื่องการถูกจับกุมคุมขังโดยไม่ต้องข้อหา แต่สายตาที่ถูกมองมาจากภาครัฐคือความไม่ไว้วางใจ ตามมาด้วยมาตรการอื่นๆ ที่มีลักษณะละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เช่น ลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยการถ่ายภาพเจ้าของซิมที่เรียกว่า "สองแชะอัตลักษณ์" รวมไปถึงการพยายามเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ
"การมีทหารไม่จำเป็นต้องมีกฏหมายพิเศษ แต่ควรปฏิบัติภายใต้กฎหมายทั่วไป หากมีการใช้กฎหมายพิเศษก็ไม่ควรเกินขอบเขต เพราะอันตรายต่อสังคมโดยรวม และต้องป้องกันไม่ให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เวลาเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ ฉะนั้นจึงควรยกเลิกกฎหมายบางมาตราที่เอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่พ้นผิด และต้องกำจัดผู้ที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิ์ มีมาตรการที่ตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วมโดยรัฐไม่มาแทรกแซง"
อัญชนา สรุปแบบตรงไปตรงมาว่า ถ้าไม่แก้หรือยกเลิกกฎหมายพิเศษ ปัญหาที่ชายแดนใต้จะไม่มีทางจบ
"ผู้ออกกฎหมายมีความเชื่อว่าเอาอยู่ แต่จริงๆ แล้วเอาไม่อยู่ มีแต่ความล้มเหลว กฎหมายพิเศษทำให้ประชาชนหวาดกลัว ขัดกับวิถีการดำรงชีวิต ถ้าไม่แก้หรือยกเลิกปัญหาก็ไม่จบ วิธีเดียวคือลงชื่อว่าไม่ต้องการกฏหมายพิเศษ เพราะส่งผลให้ชีวิตไม่ปกติ แล้วเสนอผ่าน ส.ส.เพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ปัญหาบนความเป็นจริง"
มูฮำหมัดอัณวัร หะยีเตะ ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ ซึ่งเคยถูกควบคุมตัวโดยกฎหมายพิเศษ ปอกเปลือกประสบการณ์ที่ยังฝังอยู่ในความทรงจำ
"หากใครไม่เจอกับตัวเองจะไม่มีวันเข้าใจถึงความรู้สึกและผลกระทบที่ได้รับจากกฏหมายเหล่านี้ คุณจะไม่เข้าใจอำนาจการตรวจค้นจนกว่าจะถูกตรวจค้น จะไม่เข้าใจอำนาจการควบคุมตัวจนกว่าจะโดนควบคุมตัวและได้รับผลกระทบโดยตรง ตอนผมถูกควบคุมตัวเมื่อปี 48 เข้าใจว่าถูกควบคุมโดย ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) แต่จริงๆ แล้วคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"
โจทย์ของ มูฮำหมัดอัณวัร ก็ตรงไปตรงมาไม่ต่างกับอัญชนา
"ทำอย่างไรให้กฎหมายพิเศษไม่พิเศษอีกต่อไป และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อมลายูมุสลิม ใช้กฎหมายปกติเพื่อหาพยาน หาคนทำผิดให้ได้ ที่ผ่านมาคนที่อยู่ในเรือนจำไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ นอกจากนั้นต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้มีพื้นที่ทางการเมืองพูดเรื่องเอกราชได้ พูดเรื่องเอกราชในพื้นที่สาธารณะได้ ถ้าทำได้จะเท่ากับยอมรับคนในพื้นที่ แต่ตลอดมารัฐไม่เคยเปิดพื้นที่ให้ขบวนการมีพื้นที่ทางการเมืองเพื่อเกื้อหนุนกระบวนการสันติภาพอย่างที่คนในพื้นที่ต้องการ"
ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาของอำนาจรัฐกับสังคมว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร
ในทัศนะของธนาธร เขาคิดว่าทหารหรือกองทัพไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาและสร้างสันติสุขได้อย่างแท้จริง
"ทหารคือคู่ขัดแย้ง และยังลดช่องว่างตรงนี้ไม่ได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีความจริงใจ ผมไม่เห็นด้วยกับการปกครองพิเศษ แต่ควรเป็นเรื่องปกติของทุกจังหวัด คือการกระจายอำนาจจริง หากให้ผม 3 แสนกว่าล้านบาทตามงบประมาณที่มาสู่ชายแดนใต้ ป่านนี้พื้นที่คงเจริญไปแล้ว คนมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข ฉะนั้นต้องใช้มาตรการทางเศรษฐกิจแก้ปัญหาควบคู่กันไปด้วย"
บทสรุปของธนาธร อาจกล่าวได้ว่าเป็นบทสรุปของเวทีนี้ และอาจเป็นบทสรุปของปัญหาชายแดนใต้ ณ เวลานี้ด้วยก็เป็นได้
"หากไม่มีความเป็นธรรมก็สร้างสันติภาพไม่ได้ ผมอยากเห็นความเป็นธรรมในสังคม เชื่อว่าสันติภาพเป็นไปได้ อย่าให้คนเกลียดกันไปมากกว่านี้ การแก้ปัญหาต้องใช้ความจริงจัง และพัฒนาพื้นที่ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องในระยะยาว"