บทความล่าสุดของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ชิ้นนี้... พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
เพราะเนื้อหาอัดแน่นทั้งยุทธวิธี “ฆ่าอย่างเป็นระบบ” ของ BRN, การมีแนวร่วมในองค์กรการเมืองไทยเองที่ทำให้เกิด “การตายที่ไร้เสียง” และเปิดทางให้ BRN ใช้ความรุนแรงกดดันรัฐไทย ในขณะที่อีกด้านก็เร่งรัดให้เปิดโต๊ะพูดคุยเจรจา ซึ่งตนเองครองความได้เปรียบ
การอ่านทาง BRN เช่นว่านี้ เป็นการสังเคราะห์ผ่านการก่อความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าของกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ของไทย ซึ่งมีลักษณะ “ไม่เว้นวันหยุด ไม่เว้นชีวิตผู้บริสุทธิ์” และไม่เกรงถูกประณาม (เพราะมีตัวช่วย)
ขณะที่อีกด้าน อาจารย์สุรชาติ วิเคราะห์ในมุมที่ไม่ค่อยมีใครสังเกต ก็คือ ต้นเหตุของการเร่งการฆ่าของ BRN มาจากการความกลัวตกขบวนโต๊ะเจรจารอบใหม่หรือไม่ เพราะรอบนี้อาจไม่มี BRN บนโต๊ะเลยด้วยซ้ำ!
รีบเลื่อนสายตาไปอ่านโดยพลัน...
@@ กรณีล่าสุด @@
เช้าวันอังคารที่ 14 มกราคม เพิ่งผ่านปีใหม่ของปี 2568 มาเพียง 2 สัปดาห์เต็ม แต่สัญญาณร้ายจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูจะโถมเข้ามาไม่หยุด …
เช้าวันที่ 14 มกราคม 09:50 น. มีรายงานถึงการก่อเหตุวางระเบิดของกลุ่ม BRN ที่ ต.ศรีบรรพต อ. ศรีสาคร จ. นราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ขณะเดินทางออกไปซื้อของใช้ส่วนตัว เสียชีวิตทั้ง 2 นาย อันทำให้เกิดการตีความได้ว่า เหตุที่เกิดเป็นดังการเตรียมรับนายกฯ ที่จะลงพื้นที่ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ในวันที่ 16 มกราคม นี้อีกด้วย
ผู้เสียชีวิต คือ พ.ต.ท.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ และ ด.ต.โดม ช่วยเทวฤทธิ์ (บุตรชาย) พวกเราคงต้องขอสดุดีในฐานะของการเป็น “ครู” ในชนบทพื้นที่สงครามอย่างไม่ย่อท้อ และทำหน้าที่ของครูอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย และครูทั้ง 2 ยังเป็นศาสนิกชาวอิสลามที่ดีด้วย
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ปกติแล้วครู ตชด. มักไม่ค่อยตกเป็นเป้าของการสังหาร เนื่องจากโรงเรียน ตชด. มักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมือง แต่ก็เป็นฐานทางการศึกษาที่สำคัญในการช่วยเหลือให้การศึกษาแก่เด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษามากเช่นเด็กในเมือง หรือในพื้นที่ที่มีโรงเรียนในระบบ …
ภาพของ “ครูสุวิทย์” และ “ครูโดม” 2 พ่อลูกที่ห้อมล้อมด้วยเด็กๆ หญิงชายมุสลิม บ่งบอกถึงการทำหน้าที่ของ ครู ตชด. อย่างเต็มภาคภูมิ และทำหน้าที่ของความเป็น “ครูบ้านนอก” ที่เสียสละความสุขสบายส่วนตัว จนต้องแลกการทำหน้าที่ของความเป็นครูเช่นนี้ด้วยชีวิตของตนเองและบุตรชาย และการเป็นมุสลิมก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้แก่การลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมของ BRN (ทั้งระเบิดรถ และตามมายิงซ้ำอีก!)
การฆ่าคนที่ทำหน้าที่เพื่อสร้างประโยชน์ให้ชุมชนของ BRN นั้น ไม่ต้องกลัวภาวะ “เสียการเมือง” ในแบบของฝ่ายซ้าย เพราะพวกเขาเชื่อว่า “องค์กรแนวร่วมในระบบการเมืองไทย” จะทำหน้าที่ปกป้องการก่อการร้าย ดังเช่นที่ปรากฏเสมอมาว่า การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ คนพุทธ และชาวมุสลิมสายกลางเป็น “ความตายที่ไร้เสียง”
วันนี้ มือสังหารของกลุ่ม BRN ได้ปฏิบัติการทำลายครูทั้ง 2 ชีวิตแล้ว ซึ่งอธิบายในมิติทางสังคมได้ว่า ปฏิบัติการสังหารครู คือ ความต้องการที่จะตัดขาดพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ห่างไกลออกจากสังคมไทย ด้วยการไม่ให้มี “ครูชาวพุทธ” ซึ่งดูจะไม่แตกต่างจากกรณีการสังหารครูจูหลิงในอดีต และรวมทั้งการสังหารครูชาวพุทธหลายคนในพื้นที่ จนต้องมีการจัดตั้ง “ชุดคุ้มครองครู” ขึ้น
กลุ่ม BRN ไม่ต้องการให้เด็กเรียนรู้และมีการศึกษามาก ไม่ต่างจากการห้ามเรื่องการศึกษาของกลุ่มทาลีบันในอัฟกานิสถาน
ในอีกด้าน ครู ตชด. 2 นายนี้ ใช้ชีวิตเป็นครูในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ชุดคุ้มครองครูของพ่อลูกคู่นี้คือ เด็กและผู้ปกครองชาวมุสลิมที่มีโอกาสได้รับการศึกษาจากครูต่างหาก ไม่ใช่ชุดคุ้มครองติดอาวุธ แต่สำหรับ BRN แล้ว ครูที่สอนเด็กๆ มุสลิมคือ ภัยคุกคามที่พวกเขาต้องทำลายทิ้ง ไม่ต่างจากกรณีของครูท่านอื่นๆ ที่ถูกสังหาร
@@ รับปีใหม่ @@
ถอยกลับไป 3 วันหลังปีใหม่ ป้ายสัญญาณให้ “หยุดตรวจ” ของตำรวจ ที่อยู่บนถนนหน้าโรงเรียนบ้านกะลาพอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี กลายเป็นจุดที่ถูกวางระเบิดเสียเองที่กล่องแบตเตอรี่ของป้าย ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครคาดคิดว่า ตัวกล่องดังกล่าวจะกลายเป็นจุดของการวางระเบิด เพราะป้ายนี้อยู่บริเวณหน้าโรงเรียน และวันที่เกิดระเบิดก็มีการเรียนการสอนตามปกติ และทั้งยังเป็นสถานศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่ด้วย
ข้อสรุปที่อาจถือเป็นข้อเตือนใจในทางยุทธการ คือ ผู้ก่อการร้าย BRN ไม่เคยรอวันหยุด พวกเขาถือเอาความพลั้งเผลอของเจ้าหน้าที่เป็นโอกาสของการก่อเหตุเสมอ และไม่คำนึงว่าเหตุร้ายจะเกิดกับโรงเรียนที่ลูกหลานชาวมุสลิมเองก็ได้ประโยชน์ในการศึกษา
การวางระเบิดในวันที่ 3 มกราคม จึงเป็น “สัญญาณระเบิดแรก” รับปีใหม่ … รับวาระครบรอบปล้นปืน 4 มกราคม 2547 และเป็นสัญญาณถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร อีกด้วยว่า กลุ่ม BRN ยังพร้อมที่จะก่อการร้ายได้เสมอ และจะยังคงดำเนินการก่อเหตุร้ายต่อไป จนต้องถือว่า การก่อการร้ายเป็น “กิจวัตรปกติ” ของ BRN เพราะการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือเดียวที่ BRN มีในการต่อรองกับรัฐไทย โดยไม่ต้องสนใจกับการสูญเสียของบรรดาผู้บริสุทธิ์ที่กลายเป็น “เหยื่อสงคราม” ของ BRN เพราะมีแนวร่วมทำหน้าที่ปกป้องการก่อเหตุให้เสมอมา
@@ ก่อนปีใหม่ @@
ถอยกลับไปอีกสักนิดก่อนปีใหม่ … วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เจ้าหน้าที่ทหารพราน 2 นาย ขณะทำภารกิจขนทรายใส่กระสอบ เพื่อนำไปช่วยเหลือชาวบ้านชาวมุสลิมที่ประสบปัญหาจากภัยน้ำท่วม ที่ ต.จะแนะ อ.จะแนะ จ. นราธิวาส ได้ถูกคนร้ายจำนวน 4 คนใช้อาวุธปืนเอ็ม-16 กราดยิง ทหารทั้ง 2 นายบาดเจ็บ และต่อมาได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 นาย
ข้อสังเกตคือ พวกเขาไม่ได้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการลาดตระเวน แต่ถูก BRN ฆ่า ขณะให้การช่วยเหลือแก่พี่น้องมุสลิมในพื้นที่ที่ประสบภัย…
BRN ไม่ต้องการให้มีภาพที่ทหารช่วยชาวบ้าน แต่อยากได้ภาพที่ทหารอยู่ตรงข้ามกับชาวบ้าน เพื่อนำไปโฆษณาโจมตีทางการเมืองเพื่อสร้าง “ภาพ” ให้แก่ BRN
ถอยกลับไปอีกเดือน… วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 มีการก่อเหตุวางเพลิงพร้อมกัน 8 จุดที่ จ.ยะลา และวางเพลิงพร้อมกัน 2 จุดที่ จ.ปัตตานี พร้อมกันนี้ได้ประกาศถึงความต้องการที่ชัดเจนของกลุ่ม BRN ด้วยการพ่นสีสเปรย์สีแดงด้วยคำว่า “PATANI MERDEKA” (คำเรียกร้องเอกราชของปัตตานี) ที่ป้ายด้านหน้าของโรงเรียนบ้านเตาปูน ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา
ข้อน่าสังเกตที่สำคัญ คือ การพ่นสีสเปรย์นี้บ่งบอกถึงความต้องการทางการเมืองที่ชัดเจนในการแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินการด้วยขบวนติดอาวุธภายใต้การควบคุมของ BRN…
ถ้า BRN ต้องการเรียกร้องเอกราชเป็นประเด็นหลักแล้ว รัฐไทยจะเจรจาอย่างไร เมื่อคู่เจรจาไม่ต้องการยุติความรุนแรง แต่ต้องการแยกดินแดน
หากถอยกลับไปที่ต้นเดือน… วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 คนร้าย 4 คนก่อเหตุอย่างอุกอาจด้วยการบุกเข้ายิงนายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ ที่เป็นชาวพุทธเสียชีวิต ขณะที่นั่งประชุมในการเตรียมงานวิสาหกิจชุมชนในบริษัท ที่ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “นายก อาร์ม” เป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับการยอมรับว่า เขาทุ่มเททำงานให้กับชุมชนโดยไม่แยกพุทธ/มุสลิม แต่ถือทุกคนเป็นพี่น้องในชุมชนที่เขามีหน้าที่ต้องช่วยดูแลทั้งหมด
การสังหารมีการวางแผนเป็นอย่างดีของ BRN รวมถึงการแต่งชุดลวง เพื่อปกปิดเพศที่แท้จริงของมือสังหาร การสังหารยังมีนัยโดยตรงถึงการกวาดล้างผู้นำชุมชนในระดับท้องถิ่นที่เป็นชาวพุทธให้หมดไปจากพื้นที่ ยิ่งเป็นผู้นำชุมชนชาวพุทธที่สร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมได้ ยิ่งต้องสังหารทิ้ง
ว่าที่จริงแล้ว ถ้าคนในกลุ่ม BRN อยากได้ตำแหน่งเหล่านี้ เพียงขอให้ผู้นำชาวพุทธถอนตัวออกจากการมีตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ก็อาจทำได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการสังหาร…
การสังหารจึงมีนัยอย่างสำคัญถึงการปฏิเสธอย่างชัดเจนต่อสภาวะ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ของกลุ่ม BRN ทั้งยังพบว่า ปืนที่ใช้ในการสังหารครั้งนี้ เคยใช้สังหารคนมาแล้วถึง 23 คดี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การสังหารสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ที่ทำหน้าที่เป็นชุดคุ้มครองครู เป็นต้น
การสังหารเช่นนี้คือ ภาพสะท้อนถึง “การฆ่าอย่างเป็นระบบ” (systemic killing) ที่มีการวางแผน และมีการเตรียมการอย่างดี การฆ่าจึงมีนัยถึงการ “ประกาศศักดา” ของกลุ่มอีกด้วย
@@ จุดศูนย์ดุล @@
เรื่องราวของการก่อเหตุร้ายเหล่านี้ อาจขมวดปมในอีกด้านหนึ่งได้ว่า การประกาศแต่งตั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็น “ที่ปรึกษาของประธานอาเซียน” ในปี 2568 ที่เป็นวาระของผู้นำมาเลเซียคือ นายกฯ อันวาร์ การแต่งตั้งดังกล่าว จะทำให้มีการคุยโดยตรงระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ และหนึ่งในหัวข้อของคุยในอนาคตคงหลีกเลี่ยงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไทยไม่ได้
ถ้าเกิดการพูดคุยทางตรงของผู้นำทั้ง 2 มากขึ้นในอนาคต เวทีของผู้นำเช่นนี้อาจจะเป็น “จุดศูนย์ดุล” ของการแก้ปัญหา หรือในภาษาทางทหารเรียกว่าเป็น “CG” (center of gravity) ของการแก้ปัญหา
เวทีการคุยกับ BRN จะกลายเป็นเวทีรองทันที เช่นที่ในยุคสงครามเย็น การคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน คือ จุดสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย ไม่ใช่การเจรจาระหว่างรัฐบาลกรุงเทพฯ กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยแต่อย่างใด
การก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องในสภาวะเช่นนี้ จึงเกิดด้วยเหตุผล 4 ประการคือ
- สร้างแรงกดดันรัฐบาลไทยให้ต้องรีบตั้งคณะเจรจาเพื่อให้กลุ่ม BRN ได้มีบทบาทในเวทีนี้ต่อไป
- เรียกร้องความสนใจให้รัฐบาลต้องใส่ใจกับข้อเรียกร้องของ BRN ที่ต้องการให้เปิดการเจรจาใหม่ รวมทั้งให้รัฐบาลยอมรับเอกสาร JCPP ที่เป็นความได้เปรียบของ BRN
- สร้างเหตุรุนแรงเพื่อเป็น “กับดัก” ทางยุทธการ ล่อให้รัฐไทยใช้กำลังเข้าปราบปราม อันจะกลายเป็นข้ออ้างให้ BRN และบรรดาแนวร่วมที่อยู่ในเวทีการเมืองไทย และในเวทีสากลใช้โฆษณาโจมตีกดดันรัฐไทย
- การสร้างเหตุรุนแรงในอีกด้านคือ การประกาศ “ศักยภาพในการทำลาย” ของกลุ่ม ที่อาจใช้เป็น “ใบประกาศโฆษณา” ในการหาสมาชิก และหาเงินทุนสนับสนุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
@@ ความกลัวของ BRN @@
การก่อเหตุที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในภาพรวม จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าความกังวลของ BRN ว่า ถ้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซียดำเนินไปด้วยความเข้าใจ และเกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหา “ลัทธิสุดโต่ง” ของขบวนติดอาวุธ BRN ได้จริงจังแล้ว BRN จะกลายเป็น “เบี้ย” บนกระดานการเมือง ไม่ต่างจาก พคท. ซึ่งก็คือเบี้ยบนกระดานในยุคนั้น
เพราะอย่างน้อยคงต้องยอมรับในทางการเมืองว่า รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศไม่ต้องการให้มีการบ่มเพาะของลัทธิสุดโต่งในบ้านตัวเองอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ การก่อเหตุที่รุนแรงมากขึ้นได้เริ่มกลายเป็นคำถามกดดันไปที่รัฐบาลไทยว่า การเจรจากับ BRN มีความจำเป็นเพียงใด ถ้าทิศทางหลักของ BRN คือ “ฆ่าไป-คุยไป/คุยไป-ฆ่าไป” อันทำให้หลายภาคส่วนในสังคมเริ่มตั้งคำถามถึงความสัมฤทธิ์ผลในการเจรจาของรัฐบาลกับ BRN…
รัฐบาลจะเจรจาอย่างไรเมื่อ BRN ใช้การก่อการร้ายและการล่าสังหารเป็นเครื่องมือหลักอีกชุดหนึ่ง ทั้งไม่มีแนวโน้มของการลดทอนความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยไม่ต้องการพวกลัทธิสุดโต่งในภาคใต้ไทยเช่นไร รัฐบาลมาเลเซียก็คงไม่ต้องการลัทธิสุดโต่งในภาคเหนือของมาเลเซียเช่นนั้น…
ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนในยุคนี้ต้องการการ “บ่มเพาะลัทธิสุดโต่ง” ในบ้านอย่างแน่นอน!