ความพยายามในการขับเคลื่อนปรับปรุงพัฒนารัฐธรรมนูญไทยให้เป็น “หลักชัย” และทางออกของบ้านเมืองยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้กระบวนการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังติดปัญหาทางการเมืองก็ตาม
เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานประชุมคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านกระบวนการยุติธรรม ครั้งที่ 1/2567
คณะทำงานชุดนี้เกิดขึ้นจากการมอบหมายของ พ.ต.อ.ทวี เพื่อผลักดันการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความท้าทายในยุคปัจจุบัน ภายใต้โครงการหน่วยบูรณาการประเด็น ยุทธศาสตร์ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. ในด้านการสร้างธรรมาภิบาล ลดปัญหาคอร์รัปชัน และความรุนแรง ซึ่งกระทรวงยุติธรรมร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
ภารกิจสำคัญของคณะทำงาน คือมีหน้าที่ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล และกรอบวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566-2569 รวมถึงการประสานงานกับ สกสว. เพื่อจัดหาแหล่งทุนและสนับสนุนการบริหารจัดการงานวิจัย
คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งขึ้นโดย พ.ต.อ.ทวี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พ.ย.67 มีจำนวน 24 คน (รายชื่อตามภาพคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 266/2567)
สำหรับการประชุมครั้งแรกที่มี พ.ต.อ.ทวี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน มีการนำเสนอชุดโครงการวิจัย “สู่การปฏิรูปการเมืองไทยและการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างยั่งยืน”
โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นจากบทเรียนและผลกระทบของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ในอดีต โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจ และมีการนำเสนองานวิจัยถึง 15 ชิ้นมาใช้สนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการพลิกผันในช่วงปลายทศวรรษ 2540 นำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญและการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2550 และ 2560 ซึ่งสะท้อนความท้าทายของการสร้างความสมดุลระหว่างกลไกรัฐและการมีส่วนร่วมของประชาชน
จากการศึกษาพบว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2560) ยังคงมีข้อจำกัดในหลายประเด็น เช่น บทบาทของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, การควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ และการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน
สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างรัฐธรรมนูญที่มีรากฐานจากการวิจัยและความรู้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและการยอมรับในวงกว้าง
โครงการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐธรรมนูญผ่านฐานงานวิจัยที่ครอบคลุมกรอบสำคัญ 3 ด้าน คือ
1. รัฐและกลไกรัฐ ศึกษาหลักการ แนวคิด และรูปแบบการปกครอง รวมถึงระบบราชการ
2. รัฐและรัฐสภา วิเคราะห์ระบบรัฐสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้ง และกลไกการตรวจสอบ
3. รัฐและพลเมือง มุ่งเน้นสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน
@@ แนะออกแบบ รธน.กระจายทรัพยากร - ลดเหลื่อมล้ำ
ในการประชุม มีข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายประเด็น ที่น่าสนใจได้แก่
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ควรเพิ่มการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นการกระจายทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล เห็นว่างานวิจัยน่าจะต้องฟังเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ พร้อมคำนึงถึงกลไกทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
จากมุมมองและข้อเสนอแนะโดยผู้ทรงคุณวุฒิ สะท้อนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โอกาส และทรัพยากร เป็นปัญหารุนแรงในประเทศไทย และต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว โดยเริ่มจากการกำหนดกติกาประเทศใหม่ผ่านรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน
@@ 15 กรอบคิดสู่ รธน.รัฐสร้าง - ราษฎรประสงค์
ชุดโครงการวิจัยนี้ยังประกอบด้วย 15 โครงการย่อย ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองและการเขียนรัฐธธรรมนูญ ได้แก่
1. ทบทวนภูมิทัศน์การปฏิรูปการเมือง : พัฒนาการทางการเมืองของภูมิทัศน์การเมือง ระบบราชการ ระบอบรัฐสภา พรคคการเมือง การเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
2. ทบทวนหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญไทย
3. รัฐธรรมนูญกับการสร้างหลักประกันความยุติธรรมของการจัดสรรป็นส่วนที่เป็นธรรรมในสังคมไทย
4. ความมั่นคงในรัฐธรรมนูญไทยฉบับรัฐสร้างและราษฎรประสงค์
5. ทบทวนการกระจายอำนาจตามรัฐธธรรมนูณูปี 2540 เพื่อจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
6. รูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับท้องถิ่น
7. ศาลรัฐธรรมนูญภายใด้ระบอบประชาธิปไตย
8. การออกแบบระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
9. แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการคุ้มครองสิทธิ์ขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ
10. การสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อความเป็นธรรมในการเปลี่ยน
11. ข้อความคิดทางกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
12. รัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยต่อสิทธิเหนือที่ดินทำกินทำกินและการจัดการทรัพยากรธรรรมชาติของประชาชน
13. รัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองความหลากหลายทางเพศ
14. สู่การปฏิรูปการเมืองไทยและการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างยั่งยืน
15. การศึกษาตัวชี้วัดหลักนิติธรรมเพื่อยกระดับความเป็นมาตรฐานสากลที่สอดคล้องกับบริบทและ วัฒนธรรมไทย : แนวทางในการพัฒนาประเมินหลักนิติธธรรมของประเทศไทย