ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ถอดบทเรียนเหตุการณ์และคดีตากใบ ในอีกมิติหนึ่ง
คือมิติของการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก ที่ชื่อว่า “ยุติธรรมสมานฉันท์” หรือ Restorative Justice ซึ่งเคยถูกพูดถึงกันมากในสังคมบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะในช่วงที่ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองกำลังลุกลามอย่างหนัก และมีการพูดถึงการนิรโทษกรรม
อาจารย์สุรชาติ ยกตัวแบบการรับมือกับปัญหาความขัดแย้งที่บานปลายกลายเป็นความไม่สงบในหลายประเทศ เทียบกับไทย และเห็นว่ากรณีของไทยก็มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ซึ่งไม่ควรติเรือทั้งโกลน เพราะอย่างน้อยไทยก็ไม่ได้ใช้อำนาจของกฎอัยการศึกแบบ “สุดซอย” เหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศ
@@ ยุติธรรมสมานฉันท์
ในหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความมั่นคงภายในที่เป็นสงครามระหว่าง “รัฐกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ” และนำไปสู่การจับกุมฝ่ายต่อต้านรัฐนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องเขามารับหน้าที่ในการสร้างให้เกิดความยุติธรรมในคดีระหว่าง “รัฐ vs. ผู้ก่อความไม่สงบ”
แต่ในหลายประเทศที่เป็นระบอบอำนาจนิยม คดีเช่นนี้มักจะถูกถอนออกไปจากกระบวนการยุติธรรม เพราะถือว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในภาวะของการประกาศกฎอัยการศึก เนื่องจากถือว่าสถานะทางกฎหมายของการประกาศกฎอัยการศึกได้ให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในสถานการณ์ความมั่นคงเช่นนั้น
ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลในหลายประเทศได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่
น่าสนใจว่า รัฐไทยไม่ได้ลิดรอนสิทธิการฟ้องร้องในทางคดี เช่น ยอมรับให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในกรณีตากใบนำคดีเข้าสู่ศาล แม้คดีเกิดในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกก็ตาม ดังจะพบว่ามีการฟ้องทางแพ่งของญาติผู้เสียชีวิต หรือมีการฟ้องในคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการขนส่งเพื่อชันสูตรการเสียชีวิต และศาลได้รับฟ้องทั้ง 2 คดี โดยไม่ได้อ้างถึงความคุ้มครองด้วยอำนาจของกฎอัยการศึกแต่อย่างใด
หากรัฐบาลกลับถือว่า เมื่อเกิดข้อโต้แย้งในคดีระหว่าง “รัฐ vs. ประชาชน” อันเป็นผลจากเหตุที่มีการเสียชีวิต บาดเจ็บ จึงได้ให้สิทธิทางคดีแก่ญาติของผู้ที่เกี่ยข้องในการฟ้องร้องทางกฎหมายได้
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองใหม่ทางด้านงานยุติธรรม รัฐมีความเห็นว่า หากจะปล่อยให้คดีดำเนินไปตามปกติแล้ว ด้วยการที่กระบวนการสืบพยานโจทก์และจำเลยที่มีเป็นจำนวนมากนั้น กระบวนการยุติธรรมในแบบกระแสหลักที่พิสูจน์ “ความผิด-ถูก” ในทางคดีจะใช้เวลาอย่างยาวนาน ซึ่งถ้าดำเนินไปตามกระบวนการในศาลดังเช่นที่กล่าวแล้ว โอกาสที่รัฐจะแก้ปัญหาความมั่นคงโดยผ่านงานยุติธรรมน่าเป็นไปได้ยาก และอาจต้องใช้ระยะเวลาหลายปีจากการปัญหาการสืบพยาน จึงจะได้คำพิพากษาที่ถึงที่สุด แล้วจึงจะแก้ปัญหาได้
ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความมั่นคงในกรณีที่มีคดีในศาล ก็คือการสร้างกระบวนการ “ยุติธรรมทางเลือก” เช่น การที่รัฐจะไม่ต้องรอให้คดีจบ แล้วจึงจะประกาศนิรโทษกรรม
แนวทางใหม่นี้ จึงออกมาในรูปแบบของ “ยุติธรรมสมานฉันท์” เพราะเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดในคดีความมั่นคง คือการหาทางยุติคดี โดยไม่จำเป็นต้องรอให้กระบวนการไปสิ้นสุดในแบบ “แพ้-ชนะ” ในศาลตามรูปแบบปกติ อันเป็นการสร้างแนวทางคู่ขนานแบบ “ยุติธรรมนำการเมือง” และ “การเมืองนำการทหาร” เพื่อให้เกิดผลดีต่อการแก้ปัญหา
นอกจากนี้ ในระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลนั้น พบว่า ทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่คดีสามารถไกล่เกลี่ย และประนีประนอมยอมความต่อกันได้ อันนำไปสู่การยอมความในคดีทางแพ่งที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องไว้ ให้เป็นถึงที่สุดแห่งคดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บรรดาญาติของผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ฟ้องแพ่ง
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในกรณีนี้ ได้แก่ การที่รัฐอาจดำเนินการเพื่อให้เกิดการสิ้นสุดของคดีอย่างรวดเร็ว ด้วยการยอมประนีประนอมของรัฐ ในคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทางแพ่งในคดีตากใบ โดยมี “กระทรวงกลาโหมกับพวกรวม 6 คน” เป็นจำเลย
ในการนี้ คดีสิ้นสุดด้วยการที่ผู้พิพากษาของศาลปัตตานี “ได้พิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1-79 และจำเลยในคดีนี้ฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2549 เห็นชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมความนั้น”
ซึ่งตามมาด้วยการที่รัฐได้จ่ายค่าเสียหายในทางแพ่งให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต
การดำเนินการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของฝ่ายรัฐไทยที่แสวงหาทางออกในแบบที่ต้องการสร้าง “ความสมานฉันท์” ในทางการเมืองและความมั่นคง กระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์จึงถูกนำมาใช้ในกรณีนี้ ดังจะเห็นได้จากคำอธิบายของสำนักงานอัยการสูงสุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ในคดีของจำเลยผู้ถูกจับกุมกับพวกรวม 99 คน
ในการดำเนินการตามแนวทางเช่นนี้ สำนักงานคดีอัยการสูงสุดให้คำอธิบาย ที่อาจใช้เป็นทิศทางของงาน “ยุติธรรมสมานฉันท์” ได้อย่างชัดเจน ดังนี้
“อัยการสูงสุดพิจารณากรณีการดำเนินคดีต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน [ดังนั้น] อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว หน่วยงานทุกฝ่ายต้องประสานความร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ และระงับความบาดหมางเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีที่ทุกฝ่ายพึงมีต่อกัน การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบดังกล่าว
ดังนั้น การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไป จึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน และอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ” (อ้างจากเอกสารของสำนักคดีอัยการสูงสุด)
ผลของการดำเนินนโยบายตามแนวคิดเช่นนี้ ทำให้สำนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสในเวลาต่อมา ออกหนังสือในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 ถึงผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เพื่อ “ขอให้งดการดำเนินคดี (สำนวนคดีกรณีตากใบ)” ซึ่งก็คือการยุติคดีโดยรัฐเป็นผู้ยอมความนั่นเอง
นอกเหนือจากการดำเนินการในข้างต้นแล้ว เราจะเห็นถึงการประนีประนอมอย่างมีนัยสำคัญด้วยการใช้ “กระบวนการยุติธรรมทางเลือก” เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบ ได้แก่
1.การตั้งคณะกรรมการอิสระในการแสวงหาความจริง เพื่อให้เกิดความจริงในเรื่องที่เกิดการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมาก
2.การกล่าวคำขอโทษของนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อปัญหาตากใบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลต่อความสูญเสียดังกล่าว และเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหา
3.รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ตัดสินใจให้มีการถอนฟ้องคดีแกนนำคดีตากใบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้มองแกนนำผู้ชุมนุมเป็น “ข้าศึก” ที่จะต้องทำลายล้างกันแต่อย่างใด
4.รัฐบาลได้ยอมประนีประนอมความในคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตฟ้องในทางแพ่ง เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบที่รัฐพึงมีต่อประชาชน
5.รัฐบาลได้ดำเนินการในทางคดีด้วยการฟ้องต่อศาลในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต ทั้งคดีเสียชีวิตในการชุมนุม และคดีเสียชีวิตจากการขนส่ง
6.ต่อมามีการฟ้องคดีผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการขนย้ายได้สิ้นสุดลง จึงได้มีการจ่ายเงินเยียวยาในสมัยนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะการจ่ายเงินเยียวยาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าคดีในศาลยังไม่สิ้นสุด
7.สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าวนั้น ฝ่ายรัฐไม่ได้นำมาใช้เป็นปัจจัยในการยุติสิทธิของญาติต่อการฟ้องร้องในทางคดีอีก (การฟ้องคดีเกิดขึ้นในปีที่ 19 จึงกลายเป็นปัญหาอีกแบบ)
8.ในภาพรวมของกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายรัฐยอมนำคดีตากใบใน 4 ส่วนเข้าสู่กระบวนการของศาล มิได้ปล่อยให้คดีหายเงียบไป โดยรัฐไม่แสดงความสนใจ หรือใช้อำนาจของกฎอัยการศึกในการยุติคดี
9.ในกระบวนการเช่นนี้ รัฐไม่ได้ใช้กระบวนการศาลตามแบบปกติ แต่ใช้แนวคิด “ยุติธรรมทางเลือก” ที่ถือเอาการประนีประนอมของรัฐ เป็นหนทางหลักในการแก้ปัญหา ด้วยการยุติคดีเพื่อที่จะทำให้ญาติผู้เสียชีวิต และผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว ได้รับเงินค่าสินไหมเยียวยาจากรัฐ
กระบวนการที่กล่าวแล้วในข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐไทยในการประนีประนอมผ่านกระบวนการ “ยุติธรรมสมานฉันท์” ด้วยความหวังว่า จะช่วยคลี่คลายปัญหาการก่อความไม่สงบ
และการดำเนินการเช่นนี้ อาจช่วยอธิบายในส่วนหนึ่งได้ว่า รัฐไทยไม่ได้ละเลยความยุติธรรมในปัญหาความสูญเสียชีวิตของผู้ชุมนุมชาวมุสลิมที่หน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบ
พร้อมกันนี้ ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าสินไหมให้แก่ญาติผู้เสียหาย และการจ่ายเงินเยียวยาเช่นนี้ ก็มิได้มีนัยถึงการที่รัฐไทยจะลดทอนคุณค่าชีวิตของผู้สูญเสียจากการชุมนุมแต่อย่างใด
ปัญหาสุดท้ายนี้ จึงเหลือแต่ประการเดียวว่า รัฐบาลไทยจะสามารถสื่อสารและอธิบายกับคนในพื้นที่ คนในสังคมไทยโดยรวม และผู้คนในเวทีระหว่างประเทศ ให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ “ยุติธรรมสมานฉันท์” ที่รัฐบาลไทยชุดต่างๆ ดำเนินการไปแล้ว ได้หรือไม่ !