ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ขยับปากกาเขียนบทความเกี่ยวกับ “กรณีตากใบ” อีกครั้ง
เป็นการเขียนเพื่อสรุปข้อสังเกต สภาพปัญหาที่ดูจะยังยืดเยื้อต่อไป รวมไปถึงข้อคิด และบทเรียนจาก “เหตุการณ์” และ “คดีตากใบ” ที่ขาดอายุความ
ท่ามกลางบริบทที่รัฐไทยไม่ต่างอะไรกับ “รัฐอัมพาต” ที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาใดๆ ได้เลย แม้แต่การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ในเรื่องตากใบ
—————————
บทความนี้จะทดลองนำเสนอภาพรวมของปัญหากรณีตากใบ อันเป็นประเด็นร้อนที่ปรากฎในสื่ออย่างต่อเนื่องในเวทีการเมืองที่กรุงเทพฯ ก่อนที่คดีดังกล่าวจะหมดอายุความ ขณะเดียวกัน จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เป็น “บทเรียน” ได้เป็นอย่างดี
1.การประท้วงที่เกิดขึ้นในกรณีตากใบเป็น “ปัญหาความมั่นคง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็น “คลื่นความรุนแรงลูกที่ 3” ของการก่อเหตุชุดใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547 ที่เริ่มด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนในเดือนมกราคม ตามมาด้วยเหตุการณ์การปะทะที่มัสยิดกรือเซะในเดือนเมษายน และต่อมาด้วยเหตุการณ์ที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบในเดือนตุลาคม
เหตุการณ์ทั้ง 3 มีความเกี่ยวเนื่อง และเป็นกระแสความรุนแรงชุดเดียวกันของความพยายามที่จะขับเคลื่อนสถานการณ์ใน 3 จังหวัดด้วยความรุนแรงในช่วงปีแรกที่เริ่มด้วยการปล้นปืน
2.ในการชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ อาจเทียบเคียงได้กับการชุมนุมต่อต้านทหารที่เกิดก่อนหน้านั้นที่ปานาเระ (จ.ปัตตานี) และที่สุไหงปาดี (จ.นราธิวาส) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการต่อต้านทหาร และกดดันเจ้าหน้าที่ให้ออกจากพื้นที่ พร้อมกับการปล่อยข่าวลือเรื่องทหารทำร้ายประชาชนชาวมุสลิม
3.การเปิดการชุมนุมที่ตากใบ สอดรับกับการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของกลุ่มต่อต้านรัฐไทยที่มีจุดยืนที่ชัดเจนในการเรียกร้องเอกราช เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การชุมนุมครั้งนี้มีลักษณะของการจัดตั้งอย่างแน่นอน และมีการดำเนินการปลุกระดมอย่างชัดเจน เพื่อชักชวนให้คนในพื้นที่เข้าร่วม และในการชุมนุมจะปลุกระดมไม่ให้มวลชนตากใบฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่รัฐ และใช้วิธีโห่ร้องเพื่อแสดงการต่อต้าน
4.ต้องยอมรับในข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า การเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นความตั้งใจของรัฐไทย (ในความหมายของการเป็นเจตนาฆ่า) ซึ่งมุ่งประสงค์ให้ชาวมุสลิมที่เป็นผู้ชุมนุมต้องเสียชีวิตแต่อย่างใด แต่การเสียชีวิตเกิดจากปัญหาการขนส่งเคลื่อนย้ายผู้ถูกจับกุมจากหน้าสถานีตำรวจตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร
ไม่ใช่เป็น “กระบวนการฆ่า” ที่เป็นความจงใจในแบบที่ถูกโฆษณา กล่าวคือ ไม่ใช่การเสียชีวิตที่เกิดจากเจตนา แต่เกิดจากความประมาทในขั้นตอนการขนส่งผู้ต้องหา ซึ่งน่าสนใจว่า ศาลมิได้พิจารณาในประเด็นนี้ แต่มุ่งเรื่องของการฆ่าคนตายโดยเจตนาเป็นประเด็นหลัก
5.กรณีตากใบแตกต่างจากกรณีการเสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองในปี 2519, 2535 และ 2553 เพราะผู้เสียชีวิตไม่ได้ถูกยิงจากฝ่ายทหารที่เข้าไปทำหน้าที่สลายการชุมนุมแต่อย่างใด หรือมิใช่เกิดการจงใจยิงกราดใส่ฝูงชนที่ร่วมชุมนุม
แต่ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐ และบรรดาแนวร่วมมักนำเอาประเด็นนี้ไปสร้างวาทกรรมเรื่อง “การฆ่าของรัฐไทย” ต่อชาวมุสลิมในพื้นที่ตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน และในทางกลับกันก็จะไม่ยอมกล่าวถึงการฆ่า การสังหารอย่างโหดเหี้ยมที่กระทำต่อชาวพุทธ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ
6.หากมองด้วยความเป็นจริงแล้ว รัฐไทยไม่เคยมีทิศทางการดำเนินนโยบายในลักษณะเช่นนั้น เนื่องจากรัฐไทยไม่มีสถานะเป็น “รัฐศาสนจักร” ที่ถือเอาศาสนิกต่างความเชื่อเป็น “ศัตรูทางการเมือง” ที่ต้องกวาดล้าง
และชัดเจนในทางรัฐศาสตร์ว่า รัฐไทยเป็น “รัฐโลกวิสัย” (secular state) ที่ไม่เน้นในเรื่องของศาสนาอย่างสุดโต่ง จึงไม่มีความจำเป็นในการดำเนินนโยบายแบบต่อต้านคนในศาสนาอื่น หรือต้องการทำลายล้างผู้ที่มีศรัทธาทางศาสนาที่แตกต่างกัน
และไม่ได้ดำเนินนโยบายที่ปฏิบัติต่อคนในพื้นที่ในฐานะ “พลเมืองชั้น 2” อย่างที่ถูกสร้างเป็นวาทกรรม (เพราะในทางกลับกัน คนพุทธต่างหากที่รู้สึกตนเป็นพลเมืองชั้น 2 เพราะรัฐไม่ให้ความสำคัญ หรือบางส่วนมีความรู้สึกคล้ายกันว่า “รัฐไทยทอดทิ้งคนพุทธ”)
7.จากปัญหาความรุนแรงชุดใหม่ที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เริ่มจากเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการต่อสู้ระหว่าง “รัฐไทย vs. บีอาร์เอ็น” อันส่งผลให้ปัญหาตากใบกลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งมีความชัดเจนว่า สงครามของบีอาร์เอ็น. เป็น “สงครามเอกราช” ไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อการปกครองตนเอง และพวกเขามองว่า การปกครองตนเองคือ เส้นทางสู่ความเป็น “รัฐเอกราช” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
8.ต้องยอมรับความจริงพื้นฐานว่า ขบวนติดอาวุธบีอาร์เอ็น ดำเนินการต่อสู้เพื่อต้องการสร้าง “รัฐเอกราช” ด้วยจินตนาการทางประวัติศาสตร์ในการรื้อฟื้น “รัฐปัตตานี” ที่เคยมีบทบาทในพื้นที่ในช่วงก่อนยุคอาณานิคม ความต้องการเช่นนี้ปรากฏให้เห็นชัดจากเอกสารที่ถูกยึดหรือเผยแพร่จากการปลุกระดม หรือจากการพ่นสีในพื้นที่การเคลื่อนไหว สิ่งเหล่านี้ยืนยันชัดเจนถึงเป้าหมายการต่อสู้คือ เพื่อ “แยกดินแดน” ในการสร้างรัฐเอกราชใหม่
9.รัฐไทยด้วยความเป็น “รัฐสมัยใหม่” เช่นรัฐในวิชารัฐศาสตร์ทั้งหลาย มี “ความจำเป็นในทางธรรมชาติ” ที่ต้องพยายามรักษา “บูรณภาพแห่งดินแดน” อันเป็นดินแดนที่ถูกนำเข้ามารวมในกระบวนการสร้าง “รัฐสยามสมัยใหม่”
ฉะนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองใด จะมีจุดยืนแบบใด เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ก็จะต้องรับภารกิจเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน เพราะไม่มีรัฐบาลใดอยากถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า เป็นผู้ที่ทำให้เสียดินแดน
เช่นเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองใดอยากมีประวัติในทางการเมืองว่า เป็นพรรคที่ตกเป็นจำเลยในเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน แม้แต่พรรคที่ซ้ายที่สุดอย่างพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและจีนนั้น สิ่งแรกที่พรรคเร่งทำหลังจากการได้อำนาจรัฐ คือ การจัดการปัญหาดินแดนอาณาเขตของรัฐตน
10.การต่อสู้ของขบวนการติดอาวุธบีอาร์เอ็น. ที่ต้องการสร้าง “รัฐเอกราชปัตตานี” จึงดำเนินการต่อสู้ในทุกรูปแบบ ซึ่งโดยพื้นฐานคือ การเปิด “สงครามการทหาร” ที่ใช้การก่อเหตุร้ายเป็นเครื่องมือในการทำลายอำนาจทางทหารของรัฐไทย และทำร้ายประชาชน โดยเฉพาะชาวพุทธในพื้นที่ การก่อการร้ายจึงเป็นเครื่องมือหลักในการทำลายขวัญกำลังใจของหน่วยทหาร และสร้างความกลัวแก่ประชาชนในพื้นที่
11.รูปแบบการต่อสู้คู่ขนานของบีอาร์เอ็น. คือ “สงครามการเมือง” ที่ใช้การต่อสู้ด้วยมาตรการทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบ และเปิด “แนวรบใหม่” ในเวทีการเมืองด้วยการสร้างแนวร่วมในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมการเมืองไทย อีกทั้งยังเปิด “การโฆษณาทางการเมือง” อย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างให้เกิดการตอบรับต่อข้อเรียกร้องของขบวนการบีอาร์เอ็น. จากกลุ่มการเมืองในสังคม และไม่ใช่การเคลื่อนไหวแบบปิดลับ
12.ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาตากใบกลายเป็นประเด็นที่สร้าง “ความเป็นจำเลย” ของรัฐไทย จากการเสียชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม และหลังจากการสิ้นอายุความแล้ว กรณีตากใบจะยังคงเป็นประเด็นที่จะถูกนำมาใช้ต่อเนื่องในอนาคตสำหรับการโฆษณาทางการเมืองทั้งในประเทศ และนอกประเทศ
13.ในท่ามกลางความร้อนแรงของสถานการณ์ก่อนการหมดอายุความนั้น รัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมีความล่าช้าอย่างมากในการชี้แจงให้สังคมวงกว้างได้รับทราบข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นทางกฎหมายและข้อโต้แย้งทางคดีความ
ความล่าช้าดังกล่าว จึงเสมือนกับเกิดอาการ “รัฐอัมพาต” หรือเป็นดัง “การถอยทางการเมือง” ของฝ่ายรัฐ เพราะไม่ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลแก่ประชาชน
14.ข้อสังเกตของบทความนี้ในอีกด้าน มิได้หมายความว่า รัฐและสังคมไทยจะไม่รับรู้หรือละทิ้งประเด็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม แต่จากการเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมากเช่นนี้ รัฐบาลในแต่ละช่วงเวลาได้แสดง “ความรับผิดชอบ” ในรูปแบบที่แตกต่างกัน และมิได้มีท่าทีที่ละเลยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
15.การแสดงความรับผิดชอบที่สำคัญในความเป็นรัฐบาลในการจัดการปัญหาการเสียชีวิตกรณีตากใบใน 7 ลักษณะ คือ
(1) การตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อแสวงหาความจริงในสมัยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
(2) การประกาศขอโทษในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
(3) การนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถึง 4 ศาล
(4) การใช้กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์เพื่อไกล่เกลี่ยและคลี่คลายคดี โดยรัฐเป็นฝ่ายประนีประนอม ทั้งการถอนฟ้องแกนนำ และการจ่ายค่าเสียหายทางแพ่ง
(5) ให้มีการไต่สวนคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ดำเนินในศาลถึง 5 ปี
(6) หลังจากคดีไต่สวนการเสียชีวิตสิ้นสุดลง จึงเข้าสู่กระบวนการเยียวยาแก่ผู้เสียหายและครอบครัวในสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ
(7) การกล่าวคำขอโทษอีกครั้งของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร
16.การดำเนินการใน 7 ส่วนนี้ อย่างน้อยเป็นเครื่องยืนยันในเบื้องต้นว่า รัฐไทยไม่ได้ปล่อยปะละเลยกับปัญหาที่เกิดขึ้น หรือไม่ได้แสดงความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว หากแต่พยายามที่จะหาทางประนีประนอมเพื่อให้ปัญหาการก่อความไม่สงบได้คลายตัวออก และลดระดับความรุนแรงลง
17.การแสดงความรับผิดชอบของรัฐ ยืนอยู่บนหลักการของ “ยุติธรรมสมานฉันท์” ที่รัฐมีท่าทีประนีประนอมยอมความ เพื่อให้คดียุติโดยไม่ใช่การพิสูจน์ “คนถูก-คนผิด” ในแบบปกติ
และทั้งไม่ใช้ข้ออ้างถึงอำนาจคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกแต่อย่างใด เพราะพื้นที่ที่เกิดเหตุนั้น เป็นพื้นที่ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งการฟ้องคดีตามปกติอาจจะทำไม่ได้ แต่รัฐก็มิได้ใช้สิทธิ์ทางกฎหมายนี้
แนวทางนี้ จึงสะท้อนถึงการประนีประนอม ซึ่งควรกำหนดเป็นทิศทางหลักของการอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่ภาคใต้
18.มีข้อน่าสังเกตอย่างมีนัยสำคัญว่า ในภาวะที่ไม่เห็นชัดถึงการสั่งการของฝ่ายการเมือง และของผู้บังคับบัญชาในระดับบนนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกว่าพวกเขากำลัง “ถูกปล่อยเกาะ” หรือเกิดมุมมองว่า ฝ่ายรัฐมีท่าทียอมจำนน และปล่อยให้เกิด “ข้อมูลด้านเดียว” ออกสู่สังคมแบบไม่โต้แย้ง โดยไม่มีคำชี้แจงถึงปัญหาและข้อขัดข้องที่เกิดในการขนย้ายผู้ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ
ต้องยอมรับว่า การก่อกระแสตากใบที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ทำลายขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่อย่างมาก และอาจจะมากกว่าที่รัฐบาล กองทัพบก หรือกองทัพภาคที่ 4 คาดคิด เพราะเจ้าหน้าที่ทหารชั้นผู้น้อยที่เป็นพลขับในวันนั้น ตกเป็นจำเลยร่วมไปด้วย โดยไม่มีคำอธิบายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาในฐานะ “คนขับรถ” ซึ่งน่าสนใจว่า สำนักงานอัยการสูงสุดวินิจฉัยปัญหานี้บนพื้นฐานอะไร และฝ่ายทหารเองก็ไม่ชี้แจงประเด็นนี้
19.ในอีกด้านของปัญหา เราเห็นชัดถึงคดีอาญาความมั่นคงที่เกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ ที่มีจำนวน 1,789 หมายจับนั้น มีผู้หลบหนีรวมทั้งสิ้น 1,067 คน และคดีส่วนใหญ่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ และมีคดีที่หมดอายุความแล้ว 140 หมาย (การเรียกร้องให้ต่ออายุความคดีตากใบ จึงอาจทำให้เกิดข้อเรียกร้องในทำนองเดียวกันถึงการต่ออายุคดีการก่อความไม่สงบด้วย)
20.ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เสียชีวิตจากการก่อเหตุของขบวนติดอาวุธในพื้นที่เหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก แต่ความสูญเสียนี้ดูจะไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก จนเป็นเหมือน “การตายที่ไร้เสียง” และในหลายกรณี เป็นการฆ่าอย่างทารุณโหดร้าย
ดังจะเห็นจากสถิติว่าจากปี 2547- สิงหาคม 2566 มีเหตุรุนแรงเกิดทั้งหมด 9,657 ครั้ง เสียชีวิต 5,868 คน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2,251 คน และเป็นประชาชน 3,617 คน บาดเจ็บ 12,657 คน พิการ 887 คน และรวมงบประมาณในการเยียวยาที่ได้จ่ายไปแล้วรวมทั้งสิ้น 4,278,396,274 บาท (ตัวเลขของ ศอ.บต.)
21.การแสวงหาทางออกของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติยังคงเป็นประเด็นสำคัญเสมอ และทางออกนี้จะยังไม่เกิดได้ในระยะสั้น กล่าวคือ ไม่ว่าคดีตากใบจะจบลงในรูปแบบใด ก็ไม่ใช่ “เงื่อนไขหลัก” ที่จะทำให้การก่อความไม่สงบในภาคใต้สิ้นสุดลง หรือลดระดับความรุนแรงลงได้จริง ตราบเท่าที่การก่อความไม่สงบยังคงดำเนินต่อไป ด้วยความเชื่อพื้นฐานในเรื่องของ “การสร้างรัฐเอกราชใหม่ด้วยกำลังอาวุธ”
22.การเจรจาสันติภาพในภาคใต้ จะยังคงเป็นปัญหาต่อไปไม่ว่าปัญหาคดีตากใบจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม และ “สงครามการเมืองบนโต๊ะเจรจา” จะยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญของรัฐไทยต่อไปในอนาคต เช่นที่เป็นความท้าทายมาแล้วในอดึต
// ท้ายบท //
การนำเสนอเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ผู้เขียนไม่ให้ความสำคัญกับการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่เกิดขึ้น หากแต่ต้องการเสนออย่างสังเขปถึงสิ่งที่ประเด็น ปัญหา ข้อคิด และบทเรียน จากปรากฏการณ์ของความรุนแรงชุดใหม่ที่เริ่มต้นจากปล้นปืน 2547 จนถึงกรณีคดีตากใบ 2567
เพราะอย่างที่เรากล่าวกันเสมอว่า ปัญหาไม่ได้ดำรงอยู่แบบด้านเดียว … ปัญหาตากใบก็ไม่มีด้านเดียวดังเช่นที่ถูกนำเสนอและประกอบสร้างในปัจจุบันแต่อย่างใด!