กระแสเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปตำรวจ” กลับมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเกิดกรณี 2 บิ๊กสีกากี ถูกกล่าวหาพัวพันกับเว็บพนันออนไลน์
พูดง่ายๆ คือต้องปราบ แต่กลับรับผลประโยชน์เสียเอง
แต่กระแสเรียกร้องให้เกิดการ “ปฏิรูปตำรวจ” ไม่ได้มีขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ในอดีตก็เคยทำมาหลายครั้งแล้ว และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ายังไม่สำเร็จลุล่วง
ต้นเหตุของปัญหาจึงอาจไม่ใช่การปฏิรูปซ้ำๆ แต่น่าจะเป็นผลมาจากการ “ตีโจทย์ไม่แตก” หรือไม่
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จนถึงรัฐประหาร 2557 ถือเป็น “คนวงใน” คนหนึ่งในแวดวงสีกากี
อาจารย์ได้เสนอความเห็นต่อการปฏิรูปตำรวจที่กำลังเป็นข่าวในขณะนี้ และอาจตีโจทย์ไม่เหมือนกับที่หลายฝ่ายพยายามตีปี๊บ
@@ ปฏิรูปตำรวจอีกแล้ว 55!
“ฟังข้อคิดที่อดีตนายตำรวจ 2 ท่านเสนอในเวที “ปฏิรูปตำรวจ” ว่า ปัญหาของตำรวจเกิดจากการแทรกแซงของนักการเมือง ฟังแล้วต้องยอมรับ “ชวนเคลิ้ม” แต่ฟังให้ดีแล้ว ไม่ต่างอะไรกับการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ของฝ่ายขวาจัดที่จะต้อง “ด่า” นักการเมืองไว้ก่อน
เพราะในมุมมองของฝ่ายขวาจัด โดยเฉพาะตำรวจขวาจัดนั้น นักการเมืองเป็น “ต้นตอ” ของปัญหาทั้งหมด (หรือทหารขวาจัดก็เช่นกัน)
ทัศนะนี้เหมือนกับเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร 2549 ที่ผู้นำทหารปีกขวาในขณะนั้น ออกมาโฆษณาถึงการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ดังนั้นหลังความสำเร็จของการยึดอำนาจแล้ว ผู้นำรัฐประหารจึงจัดทำ “พ.ร.บ. กลาโหม” (พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551) เพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร …
ต้องยอมรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นปัญหาในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน และต้องยอมรับเป็นความสำเร็จของนักรัฐประหารไทยในการควบคุมบทบาทของรัฐบาลพลเรือนในกระทรวงกลาโหม
ที่ยกกรณีของ พ.ร.บ.ทหาร มาเป็นการเปรียบเทียบ เพราะมีความคล้ายคลึงกันในเชิงทัศนะที่มีความเชื่อง่ายๆ ว่า นักการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้ง !
แต่ความเป็นจริงที่เจ็บปวด และผู้นำตำรวจ (ทั้งในและนอกเวทีสัมมนา) แทบไม่เคยพูดถึงเลยในอีกด้านหนึ่งคือ ในช่วงของการรัฐประหาร 2557 องค์กรตำรวจถูกคณะรัฐประหารแทรกแซงอย่างมาก และเป็นการแทรกแซงอย่างไม่ต้องอายใคร หรือไม่ต้องคิดถึงสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมาภิบาล” …
ถ้าไม่โกหกตัวเองแล้ว คนในองค์กรตำรวจรู้ดีว่า การแต่งตั้งโยกย้ายในยุคที่ผู้นำรัฐประหารจาก 2557 จนถึงเลือกตั้ง 2566 นั้น องค์กรตำรวจต้องเผชิญกับ “วิกฤตศรัทธา” อย่างหนัก และเป็นโอกาสของการเติบโตของนายตำรวจที่ใกล้ชิดกับผู้นำรัฐประหาร นายตำรวจบางคนไม่เพียงเป็น “นักวิ่ง” แต่กลายเป็น “นักกระโดดค้ำถ่อ” จนองค์กรมีสภาพที่ “ล้มละลาย” ในสายตาของสังคม
นอกจากนี้ กฎหมายตำรวจที่ใช้ในปัจจุบันก็มาจากคณะรัฐประหาร การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในช่วงเวลาดังกล่าวถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยผู้นำรัฐประหาร อย่าบอกนะครับว่า การเลือกตั้งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) คนที่มาเป็นไม่ใช่สายของผู้นำรัฐประหาร ดังนั้น จึงไม่แปลกที่การแต่งตั้งในแต่ละรอบมีแต่เสียงเล่าลือถึงส่วย ใบเสร็จ นาย และตั๋วจากผู้นำทหาร …
นักปฏิรูปตำรวจบนเวทีสัมมนาดูจะไม่กล้าแตะปัญหาที่เป็นต้นทางใหญ่ที่สำคัญของสภาวะล้มละลายขององค์กรตำรวจ
บางทีการปฏิรูปอาจต้อง “คิดใหม่” เพราะจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการปฏิรูปตำรวจคือ การสร้าง “อำนาจของการถ่วงดุล” ใน ก.ตร. ไม่ใช่การสร้าง “อำนาจการต่อรอง” ของผู้นำตำรวจใน ก.ตร. ซึ่งประเด็นนี้มีข้อถกเถียงในการประชุม ก.ตร. ก่อนการยึดอำนาจ 2557 มาแล้ว
สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงที่แท้จริงในทางการบริหาร ไม่ใช่ “ใครแต่งตั้ง?” อันมีนัยทางกฎหมายว่าอำนาจการแต่งตั้งอยู่ที่ใคร แต่สิ่งที่จะต้องสร้างให้ได้คือกระบวนการ “แต่งตั้งอย่างไร?” เพราะสิ่งที่องค์กรตำรวจต้องการอย่างมากในขณะนี้คือ กระบวนการการแต่งตั้งโยกย้ายที่ถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อให้เกิด “ธรรมาภิบาล” ของการบริหารงานตำรวจ หรืออย่างน้อยกระบวนการแต่งตั้งต้องมีวัตถุประสงค์ในการสร้าง “ตำรวจอาชีพ” ในความหมายแบบเดียวกับ “ทหารอาชีพ”
ในสภาวะปัจจุบัน ถ้าเอาอำนาจกลับไปให้ ผบ.ตร. แต่งตั้งเองในแบบยุคโบราณ รับประกันได้ว่า “เละ” เพราะปัญหาทุจริตของนายตำรวจระดับสูง 2 นาย และโยงถึงตำรวจที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วสังคมควรไว้ใจให้ตำรวจแต่งตั้งกันเองหรือ …
ฟังนายตำรวจผู้ใหญ่ 2 นายออกสื่อแล้ว เหมือนกับจะพาตำรวจกลับไปในยุคแบบ จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ที่ตำรวจตั้งกันเอง และกลับไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
การกล่าวเช่นนี้ ไม่ได้ปกป้องว่าอำนาจการแต่งตั้งต้องอยู่กับนายกรัฐมนตรีแล้วถูกต้องทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงของการบริหารราชการแผ่นดินคือ ทั้งตำรวจและทหารไม่สามารถแยกออกไปจากอำนาจในการบริหารของรัฐบาลได้ เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ใช่ “องค์กรอิสระ”
นอกจากนี้ ตำรวจในอีกส่วนหนึ่งก็อาจคิดว่า การมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. ดีกว่า หรืออาจจะดีกว่าให้ “นายคุมเองหมด” (หมายถึง ผบ.ตร.)
ข้อเสนอที่ควรจะเป็นจึงมิใช่การแยกตำรวจออกจากอำนาจของฝ่ายการเมือง แต่ขึ้นอยู่ที่การ “ถ่วงดุล” กับอำนาจของฝ่ายการเมือง ซึ่งทำให้การออกแบบโครงสร้างและองค์ประกอบของ ก.ตร. เป็นสิ่งสำคัญมากในการแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาตำรวจ
ถ้าการปฏิรูปตำรวจยังวังวนอยู่กับการกล่าวโทษนักการเมืองแบบด้านเดียว ก็ไม่ต่างกับการสร้าง “ศาลาโกหก” ที่ปทุมวัน เพราะต้องไม่ลืมกล่าวโทษการแทรกแซงและการออกกฎหมายตำรวจหลังรัฐประหาร 2557 ด้วย
ที่สำคัญอย่าลืมกล่าวโทษ “นาย” ที่เป็นผู้นำตำรวจของตัวเองบ้าง และบางทีคนที่เละที่สุดและเป็นตัวปัญหามากที่สุดตัวหนึ่งในการปฏิรูปตำรวจ อาจเป็น “นายๆ” ทั้งหลาย เพราะผู้นำในองค์กรตำรวจแต่ละคนประวัติล้วนไม่ธรรมดาทั้งสิ้น (555) …
อย่าทำตัวเป็น “ลิง 2 ตัว” คือ ลิงที่ปิดหู กับลิงที่ปิดตา แต่เป็นเพียง “ลิงที่เปิดปาก” แต่พอเปิดแล้ว ไม่ได้สะท้อนอะไรมากไปกว่า การพาองค์กรตำรวจเข้าสู่วังวนเดิม !