สถานการณ์ที่ “แม่สอด-เมียวดี” กลายเป็นสปอตไลต์ที่ถูกฉายจับไปทั่วโลก โดยเฉพาะฝ่ายต่างๆ ที่ติดตามสงครามกลางเมืองในเมียนมา ต้องหันมาให้ความสนใจ และเกาะติดอย่างใกล้ชิด
เรื่องนี้รัฐบาลไทยยืนอยู่บนความท้าทายที่ล่อแหลมอีกครั้งหนึ่ง โดยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันมี 2 เหตุการณ์ คือ
1.การที่รัฐบาลเมียนมาส่งเครื่องบินมารับเจ้าหน้าที่ฝ่ายตนที่อพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามายังฝั่งไทย เพื่อพากลับประเทศ โดยเครื่องบินมาลงที่สนามบินแม่สอด ฝั่งไทย
2.สถานการณ์สู้รบในเมียวดี เมืองเศรษฐกิจติดชายแดนไทยด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีข่าวที่ต้องพิสูจน์ว่า เมียวดีแตกแล้วหรือไม่ รัฐบาลทหารพม่าสูญเสียการครอบครองเมืองเมียวดีแล้วจริงหรือเปล่า
สองเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวเนื่องกับไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ
- การส่งเครื่องบินมาลงที่แม่สอด ทำให้รัฐบาลไทยถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจจากนานาชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ เพราะท่าทีของไทยเอนเอียงอยู่เคียงข้างรัฐบาลทหารตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว การอนุญาตให้ทางการเมียนมานำเครื่องบินมาลงจอด ถูกตั้งคำถามทันทีว่ามีการขนยุทโธปกรณ์ ขนถ่ายกำลังทหารหรือไม่
- เรื่องนี้เกี่ยวพันกับสถานการณ์ในเมียวดีด้วย เพราะข่าวออกมาหลายแหล่งค่อนข้างชัดเจนว่า รัฐบาลกลางของเมียนมาน่าจะสูญเสียอำนาจการปกครองเมืองเมียวดีไปแล้ว
@@ “กูรูสีเขียว” เชื่อ ดุลสงครามยังไม่เปลี่ยน
เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญฝั่งไทยหลายคน วิเคราะห์ต่างมุมกันไป
แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ ซึ่งเคยเป็นทูตทหารหลายประเทศ ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ในเมียวดี ไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่ออกมา เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ถือว่าตนเองสูญเสีย เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยง คือ เคเอ็นยู อยู่แล้ว ส่วนกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ก็เป็นกองกำลังของชนกลุ่มน้อยที่ทำข้อตกลงกับรัฐบาลทหารพม่า กำลังหลักในพื้นที่ไม่ใช่ของรัฐบาลกลางโดยตรง
ฉะนั้นเมื่อมีสถานการณ์สู้รบในพื้นที่ และทหารพม่าที่ประจำการอยู่ในพื้นที่นี้ยอมจำนน ก็ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลกลางสูญเสียอำนาจการปกครองในเมียวดี เนื่องจากที่ผ่านมาก็เป็นพื้นที่แบ่งปันผลประโยชน์กันอยู่แล้ว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการยกสัมปทานพื้นที่มหาศาลให้สร้างเมืองใหม่ “ฉ่วยก๊กโก” เพื่อเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ และบ่อนคาสิโนขนาดใหญ่
แหล่งข่าวจากกองทัพรายนี้ บอกด้วยว่า เมืองเมียวดีเป็นเมืองปิด เหมือนเป็น “แลนด์ล็อก” การเข้ายึดครองของกองกำลังชาติพันธุ์ไม่ได้ทำให้ดุลของสงครามเปลี่ยน เพราะรัฐบาลทหารเอาคืนได้ทุกเมื่อจากการโจมตีทางอากาศ ฉะนั้นจึงยังสรุปไม่ได้ว่าเมียวดีแตก
@@ “เสธ.แมว”เตือนอย่าดราม่า ไทยไม่เสียหาย
ด้าน พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงของชาติ หรือ สมช. อธิบายทั้ง 2 ประเด็นนี้อย่างน่าสนใจว่า
เรื่องการนำเครื่องบินของรัฐบาลเมียนมามาลงจอดที่แม่สอด มีช่องทางอธิบายได้ชัดเจน คือ เมียนมาประสานขอไทยนำเครื่องบินมาลง 3 วัน 3 เที่ยวบิน สุดท้ายยกเลิก 2 วัน 2 เที่ยวบิน เหลือเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย.เที่ยวเดียว จึงถือว่ายังไม่ใช่สถานการณ์ที่อ่อนไหวมาก เพราะเป็นการประสานระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และไทยยังมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลเมียนมา ประกอบกับเป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม จึงมีเหตุผลเพียงพอ
ส่วนสถานการณ์ในเมียวดี ถือว่ากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เข้าควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทหารเรียบร้อยแล้ว ทำให้กองกำลังของกองทัพเมียนมาไม่สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ แต่กองกำลังชาติพันธุ์ก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะคุมพื้นที่เบ็ดเสร็จ 100% เพราะต้องใช้กำลังเยอะมาก ฉะนั้นเรื่องการควบคุมพื้นที่ยังต้องรอดูกันต่อไปว่ากองทัพพม่าจะปรับกลยุทธ์อย่างไร เช่น จะใช้การโจมตีทางอากาศหรือไม่
@@ สภาวะ “เมียนมาโดมิโน”
หากขยายภาพจากสถานการณ์เมียวดี ขยายไปสู่สถานการณ์ของเมียนมาในภาพรวม
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ประเมินทิศทางเอาไว้ 12 ข้อด้วยกัน กล่าวคือ
1.การถดถอยทางทหารของกองทัพเมียนมา ปรากฏชัดเจนหลังยุทธการ 1027 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 (การยึดพื้นที่หลายเมืองทางตอนเหนือติดกับจีน ของ “กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ”)
2.มีการสูญเสียเมืองหลายเมืองหลังปีใหม่อย่างต่อเนื่อง
3.มีข่าวการโจมตีกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา ด้วยโดรน
4.การสูญเสียเมียวดี
5.แนวโน้มสงครามที่กำลังยกระดับมากขึ้น และอาจมีการรุกใหญ่ของกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหลังสงกรานต์
6.กำลังกองทัพเมียนมาอ่อนแอลง ต้องประกาศรเกณฑ์ทหารเพิ่ม ทำให้คนหนีเข้าไทย
7.ทหารเมียนมาขวัญเสีย ในหลายจุดยอมแพ้ไม่รบ และหนีทหารเป็นจำนวนมาก
8.กองทัพฝ่ายต่อต้าน ทั้งฝ่ายประชาธิปไตย และกองกำลังชาติพันธุ์ฮึกเหิมมากขึ้น มีคนเข้าร่วมมากขึ้น
9.การเสียเมียวดี อาจทำให้เกิดการสูญเสียเมืองใหญ่อื่นๆ ตามมา คล้ายกับสภาวะก่อนไซง่อนแตก เมื่อปี 2518 (สงครามเวียดนาม)
10.แต่ถ้าฝ่ายรัฐบาลทหารยังพยายามที่จะรบต่อ จะทำให้ประเทศเสียหายจากภัยสงคราม และเกิดผู้อพยพจากภายในเป็นจำนวนมาก
11.ไทยควรมีบทบาทด้านมนุษยธรรมให้มากขึ้น และควรหาทางลดทอนสถานการณ์สงคราม เช่น ผลักดันการเปิดเวทีสันติภาพ โดยอาจารย์สุรชาติเคยเสนอให้ไทยแสดงบทบาทเป็น peace broker เป็นผู้นำกระบวนการสันติภาพในเมียนมา
12.ไทยอาจต้องคิดเตรียมตัวกับความเปลี่ยนแปลงของการเมืองในเมียนมา โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของไทยในอนาคต (เช่น ขั้วอำนาจเปลี่ยน)
ฉะนั้นจุดยืนของไทยในห้วงเวลานี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง
@@ เปิด “ข่าวปิด” โต้ปม “โดรน” ถล่มเนปิดอว์
มีข้อมูลเพิ่มเติมจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่า ได้ตรวจสอบข่าวจากหลายๆ แหล่งแล้ว ประเด็นที่มีข่าวกรุงเนปิดอว์ถูกโจมตีทางอากาศด้วย “โดรน” ของฝ่ายต่อต้าน มีข้อมูลยืนยันแบบนี้
1.ตรวจสอบข่าวเปิดทั่วไป มีการอ้างการโจมตีกรุงเนปิดอว์จริง
2.ตรวจสอบจากข่าวปิด และแหล่งข่าวที่ฝังตัวอยู่ในเมียนมา ยืนยันว่าไม่มีการโจมตีด้วยโดรนที่กรุงเนปิดอว์ แต่มีการสั่งเป็น “เขตห้ามบิน” จริง เพราะรัฐบาลทหารเกรงว่าจะมีการขนส่งวัสดุที่ไม่ปลอดภัยแฝงทางเครื่องบินผ่านน่านฟ้ามา
ส่วนการโจมตีด้วย “โดรน” ไม่เป็นความจริง เพราะกลุ่มต่อต้านมีโดรนขนาดเล็ก ไม่สามารถบินไปโจมตีถึงกรุงเนปิดอว์ได้
ส่วนการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ ของเมียนมานั้น ในทางความมั่นคง ต้องประเมินแยกเป็น 2 พื้นที่ คือ
1.พื้นที่ “เมียนมา-เมียนมา” หมายถึงพื้นที่พม่าแท้ เป็นเขตอิทธิพลและอยู่อาศัยของชนชาติพม่าแท้ๆ
2.พื้นที่ “เมียนมา-ชนกลุ่มน้อย” เป็นพื้นที่หรือเขตยึดครองของชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีเยอะ หลายเมือง หลายเขต กระจายไปเกือบทุกภูมิภาค ซึ่งการยึดครองพื้นที่เหล่านี้มีหลายรูปแบบ
โดยชนกลุ่มน้อย แบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ
หนึ่ง กลุ่มที่มีกองกำลังไม่เข้มแข็ง ที่ผ่านมาก็ใช้วิธีเจรจากับกองทัพพม่า แบ่งพื้นที่กันดูแล และเก็บผลประโยชน์ พื้นที่เหล่านี้ก่อนการรัฐประหารเที่ยวล่าสุด จัดเป็นพื้นที่ที่มีความสงบ มีสันติภาพระดับหนึ่ง
สอง กลุ่มที่มีกองกำลังเข้มแข็ง กองทัพพม่าคุมไม่อยู่ เช่น เคเอ็นยู, โกกั้ง ที่ผ่านมาจีนเข้ามาควบคุมหรือมีบทบาทในการเจรจาต่อรอง ใช้การแบ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจทั้งผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดสงคราม
แต่หลังการรัฐประหาร รัฐบาลทหารถูกคว่ำบาตรอย่างรุนแรงที่สุด จึงอ่อนแรงลง และทำให้ชนกลุ่มน้อยแทบทุกกลุ่มจับมือกับฝ่ายต่อต้านเพื่อสู้รบและต่อรองกดดันรัฐบาลทหาร ส่งผลให้ฝ่ายกองทัพเมียนมาพ่ายแพ้ในหลายพื้นที่