ห้วงนี้คงไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงกว่าเรื่องอื้อฉาวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ปรากฏเป็นข่าวติดๆ กันเหมือนเป็นปรากฏการณ์ “ฝีแตก”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ตั้งประเด็นกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า สถานการณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ เวลานี้ มีแค่ 3 ทางเลือกเท่านั้น คือ ปฏิรูป ปฏิวัติ หรือปฏิสังขรณ์
ปฏิรูป (ปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างขนานใหญ่) - เรียกร้องกันมานาน
ปฏิวัติ (เปลี่ยนแปลงแบบเร็ว แรง คล้ายๆ ผ่าตัดใหญ่) - ประชาชน ชาวบ้านร้านตลาดอาจจะอยากให้ทำ เพราะปัญหาหมักหมมเยอะจริงๆ
ปฏิสังขรณ์ (แค่ซ่อมแซมให้ดีขึ้น ให้พออยู่ได้) - รัฐบาลอาจเลือกแนวนี้ ซึ่งจะทำให้องค์กรตำรวจไม่ดีขึ้นจริงๆ
อาจารย์สุรชาติ มองว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดกระแสความต้องการในการปฏิรูป หรือปฏิวัติองค์กรตำรวจเสียที จึงได้เขียนบทความชิ้นนี้ เพื่อกระตุกเตือนไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกคน โดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน
——————————
ปฏิรูป ปฏิวัติ ปฏิสังขรณ์ !
5 ทิศทาง 5 เข็มมุ่งกิจการตำรวจ
วันนี้มี “เรื่องวุ่นๆ” ที่เกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนสังคมนั่งมองปัญหานี้ด้วยความกังวล เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้คนในสังคมไทยมีความรู้สึกคล้ายๆ กันว่า ควรจะต้อง “ปรับปรุง” กิจการตำรวจไทยได้แล้ว
ถ้าถือเอาเส้นเวลาของเหตุการณ์เฉพาะหน้า ปัญหาจาก “กรณีนครปฐม” ที่มีการสังหาร พันตำรวจตรี ศิวกร สายบัว และยังนำไปสู่การปลิดชีพตนเองของ พันตำรวจเอก วชิรา ยาวไทยสงค์ นั้น เป็นคดีที่ส่งผลสะเทือนในสังคมอย่างมาก
ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในทางคดีจะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่ปัญหาเช่นนี้ทำให้สังคมมีความรู้สึกร่วมกันประการหนึ่ง (และว่าที่จริงมีความรู้สึกร่วมมานาน) ที่อยากเห็น “การปฏิรูปตำรวจ” เกิดขึ้นจริงๆ เพื่อทำให้ตำรวจเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ดังส่วนหนึ่งของเพลงมาร์ชตำรวจที่กล่าวว่า “เราอยู่ไหน ประชาอุ่นใจทั่วกัน”
ดังนั้น ถ้าการปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต ก็จะต้องไม่ใช่ปฏิรูปตามแนวทางของคณะรัฐประหาร 2557 และกลุ่ม ส.ว. ฝ่ายขวา ที่ชอบโฆษณาในเรื่องการปฏิรูปตำรวจ แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นจริงจัง
แม้จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีการระบุถึงกิจการตำรวจในกฎหมาย (ถ้ามองในทางรัฐศาสตร์ต้องว่าเป็นเรื่อง “ตลกสุดๆ” ที่ถึงขนาดต้องเอาเรื่องตำรวจใส่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย 55!) พร้อมกับมีการจัดทำกฎหมายตำรวจใหม่ แต่ก็เพื่อให้ผู้นำรัฐประหารเข้ามาควบคุมองค์กรตำรวจได้มากขึ้น โดยใช้อำนาจผ่าน “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” (ก. ตร.)
แต่ผลพวงจากปัญหาต่างๆ ที่สะสมมาจากบทบาทของตำรวจและทหาร โดยเฉพาะนับจากรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ทำให้เสียงเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจเกิดคู่ขนานกับการปฏิรูปกองทัพ แม้มิติของการปฏิรูปใน 2 ส่วนนี้อาจจะแตกต่างกัน ตามเงื่อนไขของบทบาท ภารกิจ และพฤติกรรมของบุคคลาการและองค์กร แต่โดยหลักการแล้ว ทิศทางไม่ได้แตกต่างกัน
ถ้าการปฏิรูปกองทัพต้องการสร้าง “ทหารอาชีพ” (professional soldier) เช่นไร
การปฏิรูปตำรวจก็ต้องการสร้าง “ตำรวจอาชีพ” (professional police) เช่นนั้น …
เป้าหมายหลักของการปฏิรูปองค์กรทั้งสองจึงไม่ได้แตกต่างกัน กล่าวคือ สร้างทหารให้มีความเป็นวิชาชีพเช่นไร ก็ต้องสร้างตำรวจให้มีความเป็นวิชาชีพเช่นนั้น …
ถ้าเราไม่ต้องการเห็น “ทหารการเมือง” ฉันใด เราก็ไม่ต้องการเห็น “ตำรวจการเมือง” ฉันนั้น!
ถ้ากองทัพไม่เป็น “ทหารอาชีพ” แล้ว ภารกิจของการป้องกันประเทศมักจะถูกเบี่ยงเบนออกไปสู่การมีบทบาททางการเมือง และเมื่อการป้องกันประเทศไม่ถูกนิยามให้เกิดความชัดเจนแล้ว บทบาททหารก็กลายเป็นเรื่องทางการเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกระบวนการสร้าง “ทหารการเมือง” ในสังคมไทย
ในทำนองเดียวกัน ถ้าตำรวจไม่เป็น “ตำรวจอาชีพ” หรือกลายเป็น “ตำรวจนอกแถว” แล้ว การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หรือที่ในทางรัฐศาสตร์นั้น บทบาทของตำรวจที่สำคัญที่สุด คือการรักษา “ความปลอดภัยสาธารณะ” (public safety) อันมีนัยถึงความสงบเรียบร้อยทางสังคมนั่นเอง
ภาวะของ “ตำรวจนอกแถว” ทำให้ “ต้นทุนทางสังคม” ของสถาบันตำรวจในสังคมไทยลดต่ำลงจนแทบจะเป็น “องค์กรล้มละลาย” ในเชิงความน่าเชื่อถือของสังคม ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีตำรวจที่ทำหน้าที่ “พิทักษ์สันติราษฎร์” ให้แก่สังคมอีกเป็นจำนวนมาก
เราคงต้องยอมรับว่า ยังมีตำรวจทั้งสัญญาบัตรและประทวนที่ดีและปฎิบัติหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะจริงๆ ฉะนั้น ถ้าจะต้องแก้ปัญหาขององค์กรตำรวจแล้ว การปฏิรูปตำรวจเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในตัวเอง
ไม่ว่าการปฏิรูปตำรวจจะสามารถเปลี่ยน “วัฒนธรรมองค์กรตำรวจ” สำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อย การเริ่มต้นประกาศการปฏิรูปคือ จุดเริ่มของการสร้างความเปลี่ยนแปลง อันเป็นความหวังในการ “เพิ่มต้นทุนทางสังคม” ให้แก่องค์กรตำรวจ เนื่องจากองค์กรตำรวจวันนี้ตกอยู่ท่ามกลาง “วิกฤตศรัทธา” ครั้งใหญ่ และกำลังเกิดภาวะ “ขาดทุนทางสังคม” อย่างน่าเป็นห่วง …
จนสังคมมองว่าถึงเวลาของการปฏิรูปตำรวจแล้ว และอยากเห็นการปฎิรูปตำรวจเกิดขึ้นจริงๆ แต่บางส่วนเริ่มมองว่า ปัญหาตำรวจเกินเยียวยา และต้องการ “การปฏิวัติตำรวจ”
การปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มด้วยหลักการพื้นฐานว่า ตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย และตำรวจก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วย
การเป็นผู้รักษากฎหมายไม่ใช่ปัจจัยที่อนุญาตให้ตำรวจมีอำนาจเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนด หรือมีอำนาจที่จะดำเนินการนอกกรอบทางกฎหมายได้ (ทหารก็ต้องอยู่ภายใต้หลักการนี้เช่นกัน)
ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องถูกกำกับด้วย “ประมวลจริยธรรมและธรรมาภิบาลของวิชาชีพ”และประมวลนี้จะเป็นตัวกำหนดนิยามของความเป็น “ตำรวจอาชีพ” เพื่อกำหนดอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในสังคม รวมถึงกำหนดสิ่งที่ตำรวจไม่ควรกระทำ และไม่อนุญาตให้กระทำ
การปฏิรูปตำรวจจะต้องอยู่ภายใต้ “ทิศทาง” 5 ประการหลัก ดังนี้
-กิจการตำรวจต้องดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย หลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล
-ตำรวจมีภารกิจหลักในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ
-กิจการของตำรวจต้องตั้งอยู่บนหลักการความโปร่งใสและตรวจสอบได้
-การดำเนินการของตำรวจจะต้องเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน
-กิจการตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนิติรัฐในกระบวนการสร้างรัฐประชาธิปไตย
ทั้งหมดนี้ดำเนินการเพื่อให้ตำรวจอยู่ภายใต้กฎหมาย และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ข้อบังคับของ “ประมวลจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาลตำรวจ” ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับองค์กรตำรวจไทย
แต่การจะทำให้บุคลากรเป็น “ตำรวจอาชีพ” ได้จริงนั้น การสร้างประมวลชุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญประการหนึ่ง
อีกทั้ง การปฏิรูปนี้ต้องกำหนด “เข็มมุ่ง” หลัก 5 ประการ ได้แก่
-จะต้องสร้างระบบแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม
-จะต้องลดทอนการคอร์รัปชั่น การแสวงหาผลประโยชน์นอกระบบ และการเก็บ “ส่วย” ต่างๆ
-จะต้องจัดระบบสวัสดิการของตำรวจชั้นผู้น้อย
-จะต้องพัฒนาบุคลากรและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มีความทันสมัย รวมถึงการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่
-จะต้องวางบทบาทและระบบงานตำรวจเพื่อรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และปัญหาอาชญากรรมในอนาคต
แน่นอนว่า การปฏิรูปตำรวจไทยภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองและวัฒนธรรมองค์กรในแบบปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เราคงต้องยอมรับความจริงว่า ผลประโยชน์จาก “กลุ่มสีเทา” ทั้งหลายยังมีอิทธิพลอย่างสูงในองค์กรตำรวจ รวมถึงอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และกลุ่มอำนาจในสังคม ที่มองว่าการปฏิรูปตำรวจคือ ภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของพวกเขา (อาจไม่ได้แตกต่างจากการปฏิรูปกองทัพด้วย)
ฉะนั้น การปฏิรูปทั้งตำรวจและทหารจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินเป็นอย่างยิ่ง
และโจทย์ตำรวจนั้น ท้าทายต่อตัวนายกรัฐมนตรีเองโดยตรงในฐานะประธาน ก. ตร. และปัญหานี้เป็นสัมภาระที่กองอยู่บนโต๊ะทำงานของนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น คนบางส่วนเริ่มรู้สึกว่าสังคมต้องการ “ปฏิวัติตำรวจ” มากกว่า “ปฏิรูปตำรวจ” แล้ว เพราะปัญหาต่างๆ รุมเร้าจนการปฏิรูปอาจไม่เพียงพอ แต่ในอีกด้านสังคมก็กังวลในทางกลับกันว่า รัฐบาลอาจดำเนินการในแบบ “ปฏิสังขรณ์ตำรวจ” แทนหรือไม่ …
ถ้าปฏิรูปช้าแล้ว ปฏิสังขรณ์อาจช้ากว่ามาก แต่การปฏิวัติกิจการตำรวจไทย ก็อาจเป็นเพียงความฝันที่อยู่ไกลๆ
ถ้าเช่นนั้นแล้ว สังคมไทยจะเลือกแก้ปัญหาตำรวจในแบบใด- ปฏิรูป ปฏิวัติ หรือปฏิสังขรณ์?
ป.ล. : บทความนี้อยากจะจบด้วยการชวนท่านผู้อ่านที่เป็นตำรวจและไม่เป็นตำรวจ ลองเปิดยูทูปฟังเพลง “มาร์ชตำรวจ” เพื่อรำลึกถึงตำรวจอีกหลายท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ “พิทักษ์สันติราษฎร์” ตามเนื้อหาของเพลง