ปัญหาการบังคับใช้ “พ.ร.บ.อุ้มหาย-ทรมานฯ” ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตราพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป 4 มาตราสำคัญเป็นการตราพระราชกำหนดที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น
จริงๆ แล้วปัญหามี 3 มุมด้วยกัน
มุมแรก - การเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักวิชาการ นักกฎหมาย และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เปิดเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบด้วยการลาออก และเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และภาคประชาชน ก็แถลงข่าวเรียกร้องประเด็นเดียวกัน
มุมที่ 2 - การบังคับใช้ช่วงสุญญากาศของพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้ ราวๆ 3 เดือน จะกลายเป็นข้อต่อสู้ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดกฎหมายซ้อมทรมาน ยกเป็นข้อต่อสู้หรือไม่ เพราะกฎหมายเลื่อนการบังคับใช้ กลายเป็นช่องทางการละเมิดสิทธิ์ประชาชน
มุมที่ 3 - ปัญหาความไม่พร้อมของฝ่ายตำรวจ และความลักลั่นเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
ขณะที่ปัญหาของฝ่ายปฏิบัติจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย-ทรมานฯ จากการตรวจสอบข้อมูลจากฝ่ายตำรวจ ซึ่งเป็น “เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหลัก” ตามกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเป็นผู้ใช้อำนาจ “จับและควบคุมตัว” พบว่า มีปัญหาและอุปสรรคมากจริงๆ
1.การบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ทรมานฯ กำลังเกิดปัญหาใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะความพร้อมด้านอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีปัญหามากจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องกล้องบันทึกภาพขณะจับและควบคุมตัว
2.ปัญหาไม่ได้เฉพาะกล้องบันทึกภาพที่มีไม่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังใช้โทรศัพท์มือถือแทนไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องบันทึกภาพตลอดเวลาตั้งแต่จับกุม ควบคุมตัว กระทั่งจบกระบวนการ ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัว แต่มือถือมีปัญหาเมมโมรี่เต็ม และเวลามีคนโทรเข้า ก็จะหยุดการบันทึกภาพ
3.เสียงสะท้อนจากตำรวจชั้นผู้น้อย รวมถึง “ทหาร” ที่มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ “ไม่กล้าจับ” เพราะกลัวโดนฟ้องกลับว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันอุ้มหาย-ทรมานฯ
4.ขณะที่ฝ่ายตำรวจเริ่มมีกระแสน้อยใจ เพราะอุปกรณ์กล้องบันทึกภาพก็ไม่มีให้เบิก ต้องจัดหาเอง และทุกอย่างถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ค่าทดแทน ส่วนข้าราชการฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย แค่รอรับรายงานและมีการออกระเบียบจ่ายค่าเข้าเวรนอกเวลาทำการ เช่น ระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ปรากฏว่า อัยการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ทำงานนอกเวลาราชการ ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โดยเฉพาะเข้าเวรรับแจ้งการจับและควบคุมตัวจากฝ่ายตำรวจ สามารถเบิกค่าทำงานนอกเวลาราชการได้ 2,500 บาท แต่ฝ่ายตำรวจไม่ได้อะไร
5.ตำรวจสายสืบ ยังสะท้อนปัญหาเพิ่มเติมว่า กฎหมายป้องกันอุ้มหาย-ทรมานฯ น่าจะแยกงานสืบสวนออกมา เนื่องจากข้อกำหนดตามกฎหมายที่ให้รายงานอัยการและฝ่ายปกครองโดยเร็วที่สุด ทั้งยังไม่เอื้อต่อการควบคุมตัวต่อเนื่อง ทำให้การสืบสวนขยายผลทำได้ยาก โดยเฉพาะผู้กระทำความผิดคดีสำคัญ หรือลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม การสืบสวนอาจมีอันตรายต่อเจ้าหน้าที่และนำเรื่องวิธีปฏิบัติงานมาร้องเรียนกลั่นแกล้งเพื่อให้หยุดการสืบสวนหรือไม่กล้าทำการสืบสวนได้
6.ปัญหาการใช้กล้องบันทึกภาพขณะจับกุม ยังมีเสียงสะท้อนจากตำรวจตระเวนชายแดน เช่น การจับกุมคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองคราวละหลายสิบคน กล้องอาจเก็บภาพได้ไม่หมด หากมีบางคนได้รับบาดเจ็บจากเหตุอื่น เช่น ลื่นล้ม แล้วเกิดหัวหมอร้องเรียนตามกฎหมายป้องกันอุ้มหาย-ทรมาน ก็จะกลายเป็นปัญหาตามมา
@@ พบแนวทางปฏิบัติยังไม่ชัดเจน 3 ประเด็น
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ นักนิติศาสตร์ ในฐานะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นกรรมการตามกฎหมาย กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ประกาศใช้อย่างเป็นทางการมานานกว่า 3 เดือนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่บ้าง ไม่เพียงแค่อุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีแนวทางการปฏิบัติที่ยังไม่ชัดเจนอยู่ 3 ประเด็น
ประเด็นแรก คือรูปแบบ หรือ Platform ในการลงบันทึกรายละเอียดการจับกุมของอัยการและฝ่ายปกครองยังไม่ตรงกัน
ประเด็นที่ 2 คือระยะเวลาในจัดเก็บภาพและเสียงขณะจับกุมผู้ต้องหา ควรจะต้องมีระยะเวลาเท่าใด ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงว่าหากเก็บเพียง 1 ปี ก็เป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป หากผู้ต้องหา จำเลย หรือมีผู้ติดใจการซ้อมทรมาน จะไม่มีหลักฐานในการพิสูจน์ทราบ แต่ถ้าหากจัดเก็บไว้ตลอดอายุความ ก็จะมีปัญหาเรื่องระบบการจัดเก็บ
ซึ่งจะเชื่อมโยงไปในประเด็นที่ 3 คืองบประมาณในการจัดเก็บภาพต่างๆ เหล่านี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าการจัดหาพื้นที่อัพโหลดไฟล์ภาพ และเก็บรักษาไว้ สำหรับโรงพักและหน่วยตำรวจทั่วประเทศ น่าจะต้องใช้งบประมาณไม่น้อยเลย
@@ จนท.ชายแดนใต้เครียด ชะลอจับกุม - เซ็นเซอร์ตัวเอง
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ทรมานฯ อย่างเคร่งครัด ต่างกังวลถึงข้อปฏิบัติ เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจะต้องทำความเข้าใจในรายละเอียด
เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นปัญหาพอสมควร เพราะเป็นกฎหมายใหม่ที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียด แนวทางปฏิบัติต่างๆ เป็นอะไรที่ใหม่มาก จะต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ในขณะที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการมาแล้วให้ทำตามและปฏิบัติ แต่ไม่ได้มีรายละเอียดที่ชัดเจนให้ ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติจริงๆ ต้องมาเรียนรู้และศึกษาเอง
“ตอนนี้ก็เครียดนะ ไม่ค่อยจับใครเท่าไหร่ ขอพักก่อน กฎหมายใหม่ถ้าทำพลาดไปก็หนักเอาการอยู่ ทำงานยากขึ้น เพราะเป็นอะไรที่ใหม่พอสมควร นายมีแต่บอกให้ทำตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเลย ก็เลยคิดว่า ชะลอการจับไปก่อน น่าจะเป็นผลดี”
ด้านตำรวจระดับปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนใต้อีกนาย กล่าวว่า กังวลมากกับกฎหมายนี้ หน้าที่ก็ต้องปฏิบัติ แต่ก็ต้องระวัง พยายามศึกษาข้อมูลต่างๆ หารายละเอียดเพิ่มจากข่าว จากตัวบทกฎหมาย
"ก็ยังเข้าทำงานปกติ จับปกติ ถ้าเจอกลุ่มบุคคลตามหมายจับหรือกลุ่มต้องสงสัยว่าอาจจะกระทำความผิด แต่ก็พยายามระวังให้มาก"
“ก็ยอมรับว่าเป็นปัญหาพอสมควร แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทุกฝ่ายจะต้องรักษากฎหมาย ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ก็อาจจะดีขึ้น”
@@ ทหารแค่บางหน่วยต้องปฏิบัติ - ห่วงกรณีกล้องแบตหมด
เจ้าหน้าที่ทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) รายหนึ่ง กล่าวว่า คนที่กระทบมากที่สุดน่าจะเป็นตำรวจมากกว่า เรื่องนี้ตำรวจเกี่ยวข้องโดยตรง ส่วนทหารมีเพียงบางหน่วยที่จะต้องปฏิบัติ โดยรวมไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร ในระดับการปฏิบัติการ แต่คิดว่าการถือกล้องตลอดเวลา อาจทำให้แบตเตอรี่เราหมด พอแบตหมดที่นี้จะทำอย่างไรต่อ ตรงนี้น่าจะต้องหนักใจ ในส่วนข้ออื่นๆ ก็ไม่น่าเป็นปัญหา เรื่องประสานงานกับอัยการ กับนายอำเภอก็ประสานไปปกติ ไม่ได้เป็นปัญหา มีปัญหาเฉพาะเรื่องกล้องเท่านั้น ที่รู้สึกกังวล
“ล่าสุดทราบว่า กอ.รมน. มีแผนจะอบรมเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทุกหน่วย ก็คิดว่าน่าจะสร้างความเข้าใจและคลายความกังวลในหลายๆ อย่างได้ แต่ตอนนี้ก็ยังทำงานปกติ”
เขายังยกตัวอย่าว ล่าสุดมีการจับกุมตัวสมาชิกกลุ่ม PULO G5 ตามหมายจับ ในพื้นที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่นำหมายศาลจังหวัดนราธิวาส เข้าทำการจับกุม โดยนำกำลังเข้าปิดล้อมบ้าน ซึ่งผู้ต้องหาทราบและเข้าใจดีแล้ว จากนั้นนำตัวผู้ถูกจับไปทำบันทึกการจับกุม และจัดทำประวัติ ถ่ายภาพ นำส่งดำเนินคดี แม้เป็นการปฏิบัติตามปกติ แต่ก็ต้องระวังมากขึ้น อาจงงๆ ในช่วงแรก แต่สักพักเราจะคุ้นชิ้นกับมัน อาจรู้สึกสบายใจขึ้นก็ได้ เพราะมันจะสามารถลดคำครหาที่ว่า เจ้าหน้าที่มีการซ้อมทรมานชาวบ้าน ทั้งที่ความจริงไม่เคยเกิดขึ้น
@@ ญาติผู้ถูกจับ ยอมรับ จนท.ปฏิบัติดีขึ้น
ด้านญาติของผู้ต้องสงสัยในนราธิวาสรายหนึ่ง กล่าวว่า ลูกชายถูกควบคุมตัวเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ช่วงแรกๆ เห็นสีหน้าลูกชายไม่ค่อยดี กลัวเขาจะถูกซ้อมทรมาน แต่ตอนนี้เขาอยู่มา 28 วันแล้ว เจ้าหน้าที่ให้เขาออกมาเล่นกีฬา เมื่อไปหาเขาก็เห็นว่าเขาดีขึ้น เหลืออีกไม่กี่วัน คิดว่าเขาคงจะได้กลับบ้าน เราหวังแบบนี้
“เมื่อก่อนมีคนในชุมชนถูกจับ สิ่งแรกที่ชาวบ้านจะกลัวคือ ถูกซ้อมทรมาน ตากแอร์ให้เย็นแล้วเรียกมาซักถามตีหนึ่งตีสองถึงเช้า ทำให้ต้องอดหลับอดนอน หลายๆอย่างที่มีคนเจอมา ชาวบ้านก็กลัว แต่ช่วงหลังๆ ก็รู้สึกดีขึ้น พอมีกฎหมายนี้ออกมาก็รู้สึกดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ เพราะในพื้นที่ยังมีเจ้าหน้าที่ที่มีอคติกับเยาวชนมีอยู่จริง อยากให้รัฐบาลใหม่เอาเจ้าหน้าที่แบบนี้ออกไป แล้วมั่นใจว่าสามจังหวัดจะดีขึ้น"
@@ ญาติผู้ต้องสงสัยวอนยุติสอบสวนถึงตี 3 ทำอดนอน
จากกรณีการจับกุมชาย 5 คน ซึ่งเป็นผู้มีหมายจับในคดีความมั่นคง และหลบหนีมาจาก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส หลบซ่อนในบ้านเช่าในเขตเทศบาลนครยะลา ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมยึดอาวุธปืน 3 กระบอกพร้อมเครื่องกระสุน เมื่อวันที่ 27 เม.ย.66 ล่าสุดครบกำหนดการควบคุมตัว 30 วัน และเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปฝากขังที่ สภ.เมืองยะลา เพื่อสอบสวนกรณีอาวุธปืน
ด้านญาติของผู้ต้องสงสัย 1 ใน 5 รายที่ถูกจับกุม กล่าวว่า การควบคุมตัวเป็นไปตาม พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ หรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดของ พ.ร.บ.ตัวนี้ อีกอย่างได้ถามน้องที่ถูกควบคุมตัวก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่รู้สึกว่ามีการละเมิดสิทธิในการทำศาสนากิจ ไม่สามารถละหมาดได้ และได้กินอาหารก็ราวตีหนึ่งของคืนวันที่ 27 เม.ย. คือ วันที่ถูกจับ แต่ก็เห็นว่ามีกล้องถ่ายตลอด ส่วนการรายงานอัยการหรือนายอำเภอหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ทราบเลย
“แต่ที่รับไม่ได้ คือการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ บางวันจะสอบสวนตั้งแต่ 2 ทุ่มจนถึงตี 3 ซึ่งมันรบกวนเวลานอน แบบนี้มันเป็นการรบกวนสิทธิของบุคคลหรือไม่ มันทรมานมาก เพราะช่วงเวลานั้น มันสะลึมสะลือ จะตอบคำถามอะไรก็ไม่มีสติแล้ว ใจลอยไม่รู้ตัว ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการสอบสวนเวลาปกติที่มนุษย์เขาทำกัน คุยกันตอนที่มีสติ มันจะสามารถได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่า ก็ควรปรับปรุง อย่าให้มีการสอบสวนเวลานอนหรือเวลาพักผ่อน”
@@ ถก จนท.หน่วยปฏิบัติ เร่งทำความเข้าใจ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ
อีกด้านหนึ่ง มีความเคลื่อนไหวประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 นำโดย พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมกับ นายโสภณ ทิพย์บำรุง ที่ปรึกษาอัยการจังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้บังคับหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, ฝ่ายตำรวจ, กลุ่มงานปกครองจังหวัด และหน่วยซักถาม ศูนย์ซักถามแต่ละพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังข้อมูล
โอกาสนี้ สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมานฯ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติ มีการยกตัวอย่างรายละเอียดการดำเนินงานเพื่อซักซ้อมการปฏิบัติในภาคทฤษฎีด้วย
พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายฉบับนี้รับทราบข้อมูล จึงได้นำผู้ปฏิบัติงานมาทบทวน วางแผน และปรับเปลี่ยนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายมากยิ่งขึ้น ขอให้ทุกหน่วยให้ความสำคัญ เพราะช่วงนี้ได้เข้าสู่การปฏิบัติจริง และจะได้ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้องครบถ้วน
“หลังจากที่ได้หารือในวันนี้ อยากให้ทุกฝ่ายได้ลองไปทบทวนข้อปฏิบัติเพิ่มเติม และเตรียมการซักซ้อมการปฏิบัติจริงในโอกาสต่อไป เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบในการปฏิบัติหน้าที่”
@@ JASAD เผยตัวเลข ต.ค. ถูกเชิญตัว 11 ราย
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) สรุปยอดผู้ถูกคุมตัว/เชิญตัว เดือนพฤษภาคม 2566 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี
1.นายอามิง (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนา ม.5 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกเชิญตัววันที่ 9 พ.ค.66 (ฉก.ทพ. อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส)
2.นายมูฮัมมะ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี กำลังศึกษา ภูมิลำเนา ม.2 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ถูกเชิญตัววันที่ 9 พ.ค.66 (สภ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี)
3.นางสาวรอฮีหม๊ะ (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนา ม.6 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ถูกเชิญตัววันที่ 16 พ.ค.66 (สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี)
4.นางสาวมุสลีฮา (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี ภูมิลำเนา ม.4 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ถูกเชิญตัววันที่ 16 พ.ค.66 ( สภ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี)
5.นายอาฟันดี (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี อาชีพ รปภ. ภูมิลำเนา ม.4 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ถูกคุมตัววันที่ 20 พ.ค.66 (สภ.บางเสาธง จ.สมุทธปราการ ส่งตัว สภ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี)
6.นายมะหะมะ (สงวนนามสกุล) อายุ 57 ปี อาชีพค้าขาย ม.6 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกควบคุมตัววันที่ 29 พ.ค.66 (สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี)
7. นายอันวา (สงวนนามสกุล) อายุ 18 ปี กำลังศึกษา ม.6 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกควบคุมตัววันที่ 29 พ.ค.66 (สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี)
8.นายอูโซะ (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี ไม่ทราบภูมิลำเนา ถูกควบคุมตัววันที่ 26 พ.ค.66 (ศูนย์ซักถาม ฉก.ทพ.46 เขาตันหยง จ.นราธิวาส)
9.นายยูฮารี (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี ไม่ทราบภูมิลำเนา ถูกควบคุมตัววันที่ 26 พ.ค.66 (ศูนย์ซักถาม ฉก.ทพ.46 เขาตันหยง จ.นราธิวาส)
10.นายอิมมัน (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ไม่ทราบภูมิลำเนา ถูกควบคุมตัววันที่ 26 พ.ค.66 (ศูนย์ซักถาม ฉก.ทพ.46 เขาตันหยง จ.นราธิวาส)
11.นายฮาฟิต (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ไม่ทราบภูมิลำเนา ควบคุมตัววันที่ 26 พ.ค.66 (สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส)