สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) คลอดแนวปฏิบัติ ภายหลัง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน มีผลบังคับใช้ทันที เพราะการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อยืดเวลาการบังคับใช้ 4 มาตราสำคัญออกไปอีก 120 วัน เนื่องจากจัดหาอุปกรณ์กล้องบันทึกภาพและเสียงไม่ทันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นการตรา พ.ร.ก.โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ความเคลื่อนไหวหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตร.จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเดินหน้าออกแผนและแนวทางการปฏิบัติ พร้อมเร่งทำความเข้าใจกับกำลังพลของตำรวจเป็นการด่วน
@@ เปิด 5 แนวทางการปฏิบัติ - เกลี่ยงบปกติไปพลางก่อน
1.ให้หัวหน้าหน่วยบริหารจัดการอุปกรณ์เครื่องบันทึกภาพและเสียงที่มีอยู่เดิมให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ฝ่ายปราบปราม ฝ่ายจราจร หรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่จับและควบคุมตัวผู้กระทำความผิดเป็นหลักก่อน หากไม่เพียงพอให้จัดให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่เป็นลำดับแรก
2.การบันทึกภาพและเสียง ตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง (1 ใน 4 มาตราที่มีการออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบ คือ มาตรา 22, 23, 24, 25) ให้เจ้าหน้าที่บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับกุมและควบคุมตัว จนกว่าจะส่งผู้ถูกจับกุมหรือผู้ถูกควบคุมตัวให้พนักงานสอบสวน หรือได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานในบันทึกควบคุมตัว
3.การแจ้งการควบคุมตัวไปยังพนักงานอัยการและนายอำเภอท้องที่ที่มีการจับกุม หรือผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนหรือนิติการ ตามมาตรา 22 วรรคสอง เบื้องต้นให้ใช้วิธีแจ้งไปยังศูนย์รับแจ้งของสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมการปกครอง โดยให้จัดทำสารบบคุมการแจ้งการควบคุมตัวไว้ด้วย ช่องทางการแจ้ง และสมุดคุมการแจ้งรายละเอียด
4.การจัดเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่บันทึกไว้ ในเบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบ จัดเก็บลงในเครื่องบันทึกไปพลางก่อน โดยให้ทุกหน่วยเร่งดำเนินการจัดหาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ขนาดความจุ 5 TB) และสำรองจ่ายจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรปกติดำเนินการไปก่อน
5.ระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลการบันทึกภาพและเสียงเบื้องต้น ให้เก็บรักษาไว้จนกว่าคดีที่จับกุมถึงที่สุดหรือขาดอายุความ หรือให้ดำเนินตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ที่กำหนด
@@ เปิดนิยาม “เหตุสุดวิสัย” - จับแล้วต้องแจ้งญาติ-อัยการ-ปกครอง
นอกจากแนวปฏิบัติทั่วไปแล้ว ยังมีร่างแผนผังการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ที่จัดทำโดย พ.ต.อ.ดร.ฤทธิชัย ช่างคำ (วิทยากรกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ซึ่งมีการระบุถึงความหมายของการจับ ข้อยกเว้น และเหตุสุดวิสัยต่างๆ ที่อาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายด้วย
เริ่มจาก “การจับและควบคุมตัว” หมายถึง จับความผิดซึ่งหน้า, จับตามหมายจับ, ควบคุมระงับเหตุต่างๆ
-การจับและควบคุมตัว ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องจนส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวไป...เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย
เหตุสุดวิสัยมีอะไรบ้าง 1.ไม่ได้พกอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์ชำรุด เห็นความผิดซึ่งหน้า หากเนิ่นช้าเกรงว่าผู้กระทำผิดจะหลบหนี 2.กำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจับ ควบคุมตัว 3.จับโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งขณะเกิดเหตุไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เวร หรือไม่มีหน้าที่โดยตรง 4.ผู้ถูกจับ ต่อสู้จัดขวางขณะเข้าทำการจับกุม ควบคุมตัว หากถ่ายภาพและเสียงอาจเกิดอันตรายแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ 5.เหตุอื่นๆ
-เมื่อจับและควบคุมตัวแล้ว ต้องทำบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุม มีรายละเอียดคือ 1.วัน เวลา สถานที่ควบคุม 2.เจ้าหน้าที่รัฐผู้ออกคำสั่งให้ควบคุม 3.ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุม 4.ข้อกล่าวหาหรือพฤติการณ์การจับ
โดยในบันทึกการจับกุม/ควบคุม ต้องแจ้งสิทธิผู้ถูกจับกุม แจ้งญาติ จึงต้องมีบันทึกแจ้งสิทธิตามที่กำหนดในกฎหมาย มีแบบฟอร์มหรือวิธีการแจ้งญาติให้ทราบถึงสถานที่ควบคุม เพราะญาติมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลการควบคุมตัว
-หลังจากการจับและควบคุม ต้องแจ้งอัยการและฝ่ายปกครองในท้องที่ที่มีการควบคุมโดยทันที แบ่งเป็น
อัยการ ใน กทม.แจ้ง ผอ.สำนักการสอบสวนและนิติการ, ในต่างจังหวัด แจ้งสำนักงานอัยการจังหวัด
ฝ่ายปกครอง ใน กทม. แจ้ง ผอ.สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, ในต่างจังหวัด แจ้งนายอำเภอท้องที่
@@ ซื้อกล้องเพิ่ม 3.7 หมื่นตัว ส่งมอบได้ ก.ย.66
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เผยว่า ได้เรียกประชุมกำชับข้าราชการตำรวจในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน) แม้ว่าขณะนี้ ตร.จะขาดแคลนอุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกภาพและเสียง รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูล แต่ได้แจ้งแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้หน่วยไปเบื้องต้นแล้ว โดยให้ตำรวจใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ผบช. ผบก. หน.สน./สภ. กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบให้ทำความเข้าใจหลักกฎหมาย วิธีการ ขั้นตอนการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. รวมทั้งซ้อมการปฏิบัติและทราบแนวทางปฏิบัติที่ ตร. กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เบื้องต้นตำรวจมีกล้องติดตัวเดิม 120,597 ตัว กำลังพลตำรวจที่จะใช้ 160,000 นาย อยู่ระหว่างจัดหาอีกราวๆ 37,000 ตัว โดยได้เร่งให้ทางสำนักงานส่งกำลังบำรุง รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์เครื่องบันทึกภาพและเสียง และเร่งให้สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) รับผิดชอบจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลการบันทึกภาพและเสียง คาดว่าจะเสร็จสิ้นและส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประมาณต้นเดือน ก.ย.66