ความพิเศษของการเลือกตั้งหนนี้คือ นายกรัฐมนตรีที่รักษาการอยู่ขณะเลือกตั้ง ทำหน้าที่ “ผู้นำประเทศ” มานานเกือบ 9 ปีแล้ว แต่ยังขอใช้สิทธิต่อตั๋ว เสนอเป็นทางเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 สมัย
ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2560 ระบุชัดเจนว่า ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ตาม
ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่บรรยากาศของการหาเสียงในรูปแบบของ ฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ก็แสดงผลงานในช่วงที่ตัวเองดำรงตำแหน่ง เพื่อขอโอกาสทำงานต่อไป ส่วนฝ่ายที่ต้องการเข้ามาใหม่ ก็ต้องโจมตี ตำหนิติด่าการกระทำของรัฐบาลทุกอย่างตลอด 9 ปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่าระยะเวลาร่วม 9 ปี ไม่ใช่สั้นๆ แต่คือเกือบ 1 ทศวรรษ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่เอาไว้ไม่น้อย และเป็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิยามว่าเป็น “ระบอบประยุทธ์”
ระบอบการปกครองที่ว่านี้เป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง และควรดำรงอยู่ต่อไป หรือพอแค่นี้ ศ.ดร.สุรชาติ มีข้อมูลและข้อสังเกตุที่น่าสนใจมาให้ได้ขบคิดพิจารณา
@@ 9 ปีระบอบประยุทธ์ “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง”
ผลของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 จะเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 นั้น เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร 2557 จึงแทบไม่ต้องคาดเดาเลยว่า คณะรัฐประหารจะแพ้การเลือกตั้ง
ในครั้งนั้น คณะรัฐประหาร 2557 ดำเนินการทุกอย่าง โดยเฉพาะการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับการกลับสู่อำนาจด้วยการแปลงรัฐบาลทหารให้เป็น “รัฐบาลเลือกตั้ง” สังคมไทยจึงเห็นวิธีการต่างๆ ที่ไม่ว่าจะฝืนกฎกติกาอย่างไร … ไม่ว่าจะฝืนความรู้สึกของสังคมอย่างไร แต่พวกเขาต้องทำเพื่อพาผู้นำรัฐประหารกลับสู่การมีอำนาจด้วยการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง
อันทำให้หลังเลือกตั้ง ได้เกิดสภาวะของการเป็น “รัฐบาลพันทาง” ที่อาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ ซึ่งก็คือ การกำเนิดของ “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” นั่นเอง
การจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” คือ การปรับตัวของกลุ่มนักรัฐประหาร ที่ยอมที่จะลดแรงกดดันทางการเมือง โดยการเลือกตั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม และทำให้พวกเขามีอำนาจต่อไป การเลือกตั้ง 2562 จึงไม่ใช่ “การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” อย่างที่คาดหวัง แต่เป็นการทำให้ “โครงสร้างอำนาจเก่า” ดำรงอยู่ได้ด้วยการสร้างเงื่อนไขสำคัญ 5 ประการหลัก คือ
- การดำรงบทบาททหารไว้ในการเมือง เพื่อเป็นฐานค้ำจุนอำนาจของผู้นำรัฐประหารที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นนักการเมือง
- การดำรงทิศทางของการพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามที่ผู้นำรัฐประหารต้องการ ด้วยการออกข้อกำหนดที่เรียกกันว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
- การดำรงอำนาจของผู้นำรัฐประหารด้วยการสร้างและออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย เช่น กรณีบทบาทของวุฒิสภา
- การดำรงการควบคุมทางการเมืองผ่าน “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการที่คณะรัฐประหารเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่มีบทบาทในองค์กรเหล่านี้ จนเกิดคำถามถึงความเป็นอิสระขององค์กร
- การขยายบทบาทของทหารในสังคม ผ่านกฎหมาย กอ.รมน. เพื่อให้คณะรัฐประหารที่แปลงร่างเป็นรัฐบาลนั้น ยังมีกลไกในการจัดการกับปัญหาแรงต้านทางการเมืองในสังคม
ดังนั้น ผลพวงจากการจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ที่ผนวกเข้ากับระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐประหารพฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นการสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์” (The Prayuth Regime) อย่างชัดเจน
ดังจะเห็นได้ว่า จากปี 2557 จนถึงปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งบุคลากรในองค์กรอิสระ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ตุลาการ และพลเรือน อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีคนเดียว
อีกทั้งเกิดการสร้างวัฒนธรรมการเมืองไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะต้องเรียกว่า “วัฒนธรรมการเมืองแบบประยุทธ์” ที่ไม่สนใจกระบวนการเมืองแบบรัฐสภา ไม่ให้ความสนใจกับการพัฒนาประชาธิปไตย และการดำรงอยู่ในอำนาจโดยปราศจาก “ความรับผิดชอบทางการเมือง” (political accountability) เพราะไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น นายกรัฐมนตรีจะอยู่เหนือความผิดเหล่านั้นทั้งปวง หรือเกิดสภาวะ “นายกรัฐมนตรีที่โค่นไม่ได้” ในระบอบรัฐธรรมนูญ 2560
ระบอบนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานของ “ระบอบอำนาจนิยมไทยยุคปัจจุบัน” ที่อำนาจไม่ได้ถูกสร้างผ่าน “อำนาจทหาร” เท่านั้น หากแต่ยังถูกสร้างผ่าน “อำนาจตุลาการ” ในรูปแบบขององค์กรอิสระ และอำนาจเช่นนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจาก “อำนาจทุนใหญ่” ที่ทำหน้าที่เป็น “เสาค้ำ” อย่างแข็งแรงให้แก่ระบอบประยุทธ์
ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้ง 2566 เกิดขึ้น และหากพรรคการเมืองฝ่าย “อำนาจเก่า” ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนระบอบประยุทธ์ชนะแล้ว การจัดวางอนาคตของประเทศอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมีข้อขบคิดมากมาย เพราะประเทศไม่ไปเกินกว่าสิ่งที่ระบอบประยุทธ์ได้กำหนดไว้ เนื่องจากสังคมไม่เคยเห็นข้อเสนอของการปรับเปลี่ยนจากพรรคการเมืองในฝ่ายนี้แต่อย่างใด
แต่ถ้าพรรคการเมืองในซีกฝ่ายค้านชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 ได้จริง ก็จะเป็นความท้าทายอย่างมากว่า พวกเขายังดำรงมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยน “มรดกระบอบประยุทธ์” หรือไม่
แต่ถ้าพวกเขาตัดสินใจทำแล้ว “ระบอบรัฐราชการ” ซึ่งเป็นการรวมกลไกทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน และตุลาการ ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จะทำตัวเป็น “ต้นไม้ใหญ่ล้มขวางถนน” ขัดขวางการ “ปฏิรูประบอบเก่า” ที่อยู่ภายใต้อำนาจและวัฒนธรรมทางการเมืองของระบอบประยุทธ์ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาอย่างไรหรือไม่
ฉะนั้น การเลือกตั้ง 2566 จึงท้าทายอย่างมากถึงการที่ผู้ชนะจะมาจากฝ่าย “เปลี่ยนสถานะเดิม” หรือจะมาจากฝ่ายผู้ “ดำรงสถานะเดิม” อีกทั้ง ถ้าฝ่ายผู้เปลี่ยนแปลงชนะแล้ว พวกเขาจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร …
คำตอบที่ได้จะเป็นเครื่องชี้ทิศทางอนาคตของประเทศไทยอย่างแน่นอน!