นายกฯ ครวญ “ไว้ใจกันบ้าง” เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน 4 มาตรา เพราะจำเป็นต้องอนุมัติซื้อกล้องติดตัวตำรวจให้สอดรับกับบทบัญญัติกฎหมาย ลั่นไร้ทุจริต ด้าน “วิษณุ” เตรียมส่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ ให้สภาอนุมัติ แต่คาดปิดสมัยประชุมก่อน ขณะที่องค์กรด้านสิทธิฮือค้าน ไม่เข้าเงื่อนไขตราพระราชกำหนด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการอนุมัติงบประมาณจัดซื้อกล้องประจำตัวเจ้าหน้าที่ จำนวนกว่า 400 ล้านบาทว่า เนื่องจากมีกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 จำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ประกาศออกไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำงานได้
ส่วนการอนุมัติจัดซื้อรถหุ้มเกราะ ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า รถที่มีในปัจจุบัน มีรูกระสุนเต็มไปหมด กว่า 10 ปีแล้ว จึงจำเป็นต้องซื้อ เพราะต้องป้องกันชีวิตคน พร้อมย้ำว่าการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องถูกต้อง ไม่ทุจริต ถ้าตรวจสอบกัน ช่วยกัน มันก็เรียบร้อยในทุกเรื่อง
“ไว้ใจกันให้ได้บ้าง” นายกฯกล่าว
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีจะส่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ให้รัฐสภาเห็นชอบว่า ขณะนี้กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว (มีผลบังคับใช้ทันทีที่ ครม.อนุมัติ และทรงลงพระปรมาภิไธย) และมีผลใช้ 4 มาตรา หลังจากนี้จะส่งให้สภาพิจารณา คาดว่าอีก 2-3 วัน แต่ก็ต้องดูว่าสภาจะพิจารณาทันหรือไม่ ส่วนจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะยุบสภาเมื่อใด
“เพราะถ้าจะยุบสภาแล้ว เราก็จะไม่ไปเสนอซ้อน จะทำให้วุ่นวายยุ่งยาก” รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ระบุ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า หาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ได้เข้าพิจารณาในสภาภายในวันที่ 28 ก.พ. (วันสุดท้ายของสมัยประชุม) ก็จะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงเมื่อมีสภาชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ก็ต้องนำเข้าขอความเห็นชอบอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่ไม่รีบให้ส่งให้สภาให้ความเห็นชอบเ พราะต้องการปล่อยเกียร์ว่าง และรอให้ทำในรัฐบาลชุดหน้าใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าไม่ใช่เกียร์ว่าง เพราะ พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันทีอยู่แล้ว และไม่ได้เกี่ยวกับเกียร์ว่าง เนื่องจากการปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้ไปแล้ว (มาตราอื่นๆ นอกจาก 4 มาตราที่เลื่อนการบังคับใช้) เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะจับก็ต้องมีหมายจับ ขาดอย่างเดียวคือเรื่องถ่ายรูป (กฎหมายใหม่บังคับให้ต้องบันทึกภาพทุกขั้นตอนการจับ การควบคุมตัว ซึ่งหน่วยปฏิบัติอ้างว่าไม่พร้อม จึงเลื่อนการบังคับใช้เฉพาะมาตราเหล่านี้)
“แต่ก่อนเราถูกจับก็ไม่เคยถูกถ่ายวีดีโอ แต่วันนี้ตำรวจได้เสนอของบประมาณ 444 ล้านบาท เพื่อซื้อกล้องวีดีโอตัวละ 9,000 บาท โดย ครม. บอกว่าให้ประมูลระบบ e-bidding ไม่ให้ซื้อเฉพาะเจาะจง และกล้องทั้งประเทศก็มีไม่เท่ากับจำนวนที่เขาต้องการในเวลานี้ สำหรับขณะนี้ก็ได้ขอให้ตำรวจใช้กล้องมือถือไปพลางก่อน” นายวิษณุ ระบุ
@@ คัดค้านเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย - ชี้ พ.ร.ก.ออกมิชอบ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.66 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อคัดค้านการออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายฯ โดยเห็นว่าการออก พ.ร.ก.ในเรื่องนี้ ไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการออกโดยมิชอบ
นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ก.พ.66 จะมีการจัดเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก “สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ในวาระ สสส.เสวนาทัศนะครั้งที่ 3/2566 ในหัวข้อ “ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายห้ามทรมานฯ : ผลทางกฎหมายและผลต่อประชาชน” ในเวลา 11.00-12.30 น. โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา คือ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี ดำเนินรายการโดย นายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน