ชะตากรรมของเรือหลวงสุโขทัยและกำลังพลของกองทัพเรืออีกหลายสิบชีวิตที่ยังหาไม่พบ เป็นความห่วงกังวลของคนไทยทั้งแผ่นดินที่มีต่อเหตุการณ์ร้ายในเดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปี
แต่กระแสที่เกิดขึ้นตีคู่กันมา ก็คือการตั้งคำถามกับกองทัพเรือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุผลที่ทำให้เรืออับปาง ความสมเหตุสมผลของคำชี้แจง ความพร้อมของอุปกรณ์ช่วยชีวิต มาตรการการดูแลความปลอดภัยกำลังพล โดยเฉพาะพลทหาร และท่าทีตลอดจนทัศนะของนายทหารเรือระดับสูงที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งหมดนำมาสู่กระแสเรียกร้อง “ปฏิรูปกองทัพ” ให้ดังขึ้นอย่างช่วยไม่ได้...
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้เอาไว้ และคาดการณ์ว่าประเด็นการปฏิรูปกองทัพ จะเป็นหัวข้อหนึ่งของการหาเสียงอย่างเข้มข้นในการเลือกตั้งทั่วไปปีหน้า
@@ จากเรือหลวงสุโขทัย...สู่ปฏิรูปกองทัพ
สังคมไทยเฝ้ามองเหตุการณ์ที่เกิดกับเรือรบหลวงสุโขทัย ด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะความกังวลกับสวัสดิภาพของกำลังพลที่ยังหาไม่พบ…
พวกเราคาดหวังอย่างมากถึงความปลอดภัยของพวกเขาที่จะกลับมาสู่ครอบครัว และมาทำหน้าที่เป็นกำลังพลของกองทัพเรือไทย
แต่ในอีกด้านของปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะเห็นถึงความเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่มีต่อกองทัพเรือ ซึ่งว่าที่จริงแล้ว กองทัพเรือตกเป็นเป้าหมายของการวิจารณ์ในสังคมมาตั้งแต่กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ
แม้กองทัพเรือจะพยายามที่จะอธิบายด้วยการใช้กลไกต่างๆ และด้วยคำอธิบายหลายรูปแบบ แต่คนในสังคมหลายภาคส่วนดูจะไม่ตอบรับกับ “วาทกรรมความมั่นคงทางทะเล” ที่ถูกประดิษฐ์จาก “ลัทธิเรือดำน้ำนิยม” ในกองทัพเรือเท่าใดนัก
อีกทั้งสังคมยังมองเห็นการเตรียมที่จะใช้งบประมาณอีกจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรือพี่เลี้ยง อู่เรือดำน้ำ เป็นต้น
ในมุมกลับปฎิเสธไม่ได้ว่า “เรือดำน้ำ” กลายเป็นเรื่อง “ชวนหัว” ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างสนุกสนานในโลกไซเบอร์ และขณะเดียวกันก็ทำให้กองทัพเรือต้องเป็น “ตัวตลก” ของการล้อเลียนทหารในโลกโซเชียลฯ
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พอเกิดเหตุการณ์เรือสุโขทัย จึงมีเรื่องราวต่างๆ มากมายอยู่ในเว็บ โดยเฉพาะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อกองทัพเรือ ซึ่งเสียงในโลกโซเชียลฯ ส่วนหนึ่งคือ การเรียกร้องเรื่อง “การปฏิรูปกองทัพ”
ในอีกด้าน เสียงต้องการที่จะเห็นการปฎิรูปกองทัพในปัจจุบัน เกิดคู่ขนานกับภาวะ “โค้งสุดท้าย” ที่การเลือกตั้งกำลังจะมา อันทำให้คาดเดาได้ว่า การหาเสียงในสนามเลือกตั้งในปี 2566 โดยเฉพาะกับพรรคที่อยู่ในปีกประชาธิปไตยนั้น จะมีการหยิบยกเอาเรื่องการปฏิรูปกองทัพมาเป็นประเด็นหาเสียงอย่างแน่นอน
หากย้อนกลับไปสู่บริบททางการเมือง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทัพไทยในช่วงยุคหลังสงครามเย็นนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประเด็นทางการเมือง อันเป็นผลจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการรัฐประหารใน 2 ครั้งหลัง คือ การยึดอำนาจในปี 2549 และ 2557 ซึ่งได้สร้าง “ภาพลบ” อย่างมากต่อมุมมองของผู้คนในสังคม เว้นแต่กับบรรดาปีกขวาจัดที่ดำรงฐานะการเป็น “กองเชียร์รัฐประหาร” ที่เข้มแข็ง
นอกจากนี้ ผลจากการบริหารประเทศหลังรัฐประหาร 2557 และการสืบทอดอำนาจต่อเนื่องหลังการเลือกตั้ง 2562 กลับยิ่งทำให้กองทัพตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างรุนแรง จนอาจกล่าวได้ว่าไม่มียุคใดสมัยใดที่กองทัพจะถูกจับตามอง และสังคมพร้อมที่จะเปิดประเด็นกับกองทัพอย่างไม่เกรงอำนาจปืนเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นใน “ระบอบประยุทธ์” ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ไม่ใช่ระบอบประยุทธ์ในตัวเอง แต่เป็น “ระบอบสามทหาร” ของสามผู้นำรัฐประหารที่ล้วนมีอดีตเป็นผู้บัญชาการทหารบกทั้งสิ้น อันทำให้กองทัพต้องกลายเป็นจำเลยของสังคมไปด้วย
นอกจากนี้ เราอาจจะต้องยอมรับการบริหารประเทศใน “ระบอบสามทหาร” นั้น ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเชิงนโยบายเท่าใดนัก หากแต่มีการใช้ “นโยบายประชานิยมอย่างฟุ่มเฟือย” เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ และใช้ในการขับเคลื่อนทางการเมือง โดยเฉพาะการสร้างความนิยมของตัวผู้นำอย่างเห็นได้ชัด จนอาจเรียกการเมืองไทยในอีกมุมหนึ่งว่า “ระบอบประชานิยมทหาร”
นโยบายประชานิยมในอีกส่วนไม่ได้ใช้กับสังคมพลเรือน หากแต่เป็น “ประชานิยมสำหรับกองทัพ” คือ นโยบายเอาใจทหารด้วยการเปิด “ใบรายการสั่งซื้อ” ยุทโธปกรณ์จำนวนมาก จนเป็นเสมือนหนึ่งว่ารัฐประหารคือ รายการ “นาทีทอง” ของ “นักจัดซื้อ” ในกองทัพที่จะซื้ออาวุธได้อย่างไม่ต้องคำนึงถึงเสียงคัดค้าน และเสียงวิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะอำนาจสูงสุดในระบอบรัฐประหารอยู่กับ “ผู้นำทหาร” ที่สามารถตัดสินใจในนโยบายได้อย่าง “ไร้ขีดจำกัด” และรัฐสภาก็เป็นเพียง “สภาตรายาง” ของผู้นำรัฐประหาร เนื่องจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งในสภาและองค์กรอิสระล้วนได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำรัฐประหารโดยตรง จึงทำให้การตรวจสอบกองทัพทำไม่ได้
การเมืองหลังรัฐประหารในบริบทความต้องการอาวุธ จึงเกิดภาวะ “อยากซื้ออะไรก็จะซื้อ …อยากได้อะไรก็ต้องได้” เสียงเห็นต่างจึงมีสถานะเป็น “เสียงนก-เสียงกา” ในสำนวนไทย แต่สภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้กองทัพถูกวิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์ และมาพร้อมกับเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพก็มากขึ้นด้วย
จนแม้ก้าวสู่การเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง 2562 นโยบายประชานิยมสำหรับกองทัพยังคงดำเนินต่อไป การผลักดันโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 เรือพี่เลี้ยง และอู่เรือดำน้ำ เป็นตัวอย่างที่ดี หรือแม้กระทั่งโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ใหม่ เอฟ-35 ล้วนสะท้อนคำอธิบายในข้างต้น
หรือตัวอย่างเช่น ในขณะที่รัฐสภาไม่อนุมัติงบประมาณในการซื้อเอฟ-35 ให้กองทัพอากาศ แต่เป็นที่รับรู้กันว่า มีการ “วิ่งเต้นลับหลัง” จนได้งบประมาณดังกล่าวมาตามที่ทหารต้องการ ทั้งที่คำอนุมัติขายจากรัฐสภาอเมริกันยังไม่เกิดขึ้น แต่กองทัพอากาศต้องการแสดงให้เห็นว่า “ทหารอยากได้อะไรก็ต้องได้” และรัฐสภาจะหยุดความต้องการของทหารไม่ได้
โครงการจัดซื้อจัดหาอาวุธเช่นที่สังคมได้เห็นจึงเป็นภาพสะท้อนของการเมืองไทยที่ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพอย่างมาก และสังคมอาจต้องอยู่กับ “ประชานิยมสำหรับผู้นำกองทัพ” ต่อไป
แต่หากการเมืองเปลี่ยนด้วยผลการเลือกตั้งในปี 2566 แล้ว สังคมอาจจะต้องเรียกร้องกับรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะหากเป็นรัฐบาลในปีกประชาธิปไตยว่า ถึงเวลาต้องลดเลิก “ลัทธิบูชาอาวุธ” ที่ให้ผลตอบแทนแก่ “เหล่าจัดซื้อ” ที่อยู่ในทุกเหล่าทัพ และควรต้องหันกลับมาดูแลชีวิตของทหารในกองทัพให้มากขึ้น
ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นสัญญาบัตร ประทวน หรือพลทหารที่เป็นทหารเกณฑ์ และระบบยุทโธปกรณ์ต้องไม่ใช่ “ซื้อแล้วทิ้ง” จนละเลยการปรนนิบัติบำรุงที่อาจก่อให้ผลกระทบต่อชีวิตของกำลังพล …
ถึงเวลาที่ต้องคิดเรื่องปฏิรูปกองทัพในทุกมิติอย่างจริงจังแล้ว!