เครือข่ายนักวิชาการและประชาชนต้านภัยยาเสพติด จี้ยกเลิกประกาศปลดล็อกกัญชาเสรี นำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกครั้ง ยก 4 เหตุผลเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ทางนโยบาย ด้านนายกสมาคมแพทย์นิติเวชฯ ชี้ “กัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุมที่คุมไม่ได้จริง
ห้วงเวลาสัปดาห์หน้าเป็นหมุดหมายที่หลายฝ่ายจับตามองว่า การขับเคลื่อนนโยบายปลดล็อกกัญชา โดยการเปลี่ยนให้ “กัญชา” ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติด จะเดินสู่ทางตันแล้วย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่หรือไม่ เนื่องจากจะมีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. เพื่อพิจารณาประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และสภาผู้แทนราษฎรอาจได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชงฯ ในวาระ 2-3 ด้วย
เครือข่ายภาคนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด จำนวน 37 ราย ได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 6 ถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) บรรจุวาระเพื่อพิจารณา เรื่องการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเสรี ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. วันอังคารที่ 22 พ.ย.65 ที่จะถึงนี้
เหตุผลก็คือ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีที่เกิดขึ้น ในขณะที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอีกระยะหนึ่ง การยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเสรี จึงเป็นทางออกที่จำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพื่อปิดสภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีทันทีในระหว่างรอการพิจารณากฎหมายกัญชา
ทางเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดขอเรียกร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ส.บรรจุวาระเพื่อพิจารณา เรื่อง การยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเสรี ในการประชุมวันที่ 22 พ.ย.65 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.การแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขหลังจากปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดให้ควันและกลิ่นกัญชาเป็นเหตุรำคาญ และการกำหนดให้กัญชาเป็นพืชควบคุม (ฉบับแรก ห้ามจำหน่ายกัญชาที่ไม่ได้รับอนุญาต และ ฉบับที่สอง ห้ามจำหน่ายดอกกัญชาที่ไม่ได้รับอนุญาต) เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ได้ผล เนื่องจากไม่มีใครแจ้งจับผู้ที่สูบกัญชาว่าก่อเหตุรำคาญเลย และกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยมีการดำเนินการที่แสดงว่า ต้องการบังคับใช้มาตรการห้ามจำหน่ายกัญชาที่ไม่ได้รับอนุญาตเลย
เช่น กรณีดังที่เป็นข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขดึงจดหมายด่วนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกลับในวันที่ 27 ก.ค.65 ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ส่งหนังสือออกไปแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจับกุมผู้ที่จำหน่ายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรการเหล่านี้จึงไม่ได้ผลทั้งในด้านการออกแบบมาตรการและการบังคับใช้มาตรการ การแก้ปัญหาที่ได้ผลจริงจึงต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ การยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชา
2.การปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 เป็นความผิดพลาดทางนโยบายตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ
(1) การปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดเป็นการกระทำผิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ.1961 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสถูกลงโทษ
(2) การปลดกัญชาเสรีเกิดจากการอ้างว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดมีเจตนาปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด เพราะไม่มีคำว่า “กัญชา” ในประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับยังกำหนดให้ “เห็ดขี้ควาย” เป็นยาเสพติด แม้จะไม่มีคำว่าเห็ดขี้ควายในประมวลกฎหมายยาเสพติดเช่นกัน ดังนั้นการไม่มีคำว่ากัญชาในประมวลกฎหมายยาเสพติดจึงไม่ใช่เหตุผลสนับสนุนการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด
(3) หากกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ปลดกัญชาด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาปลดกัญชาด้วยกฎหมายกัญชา จะไม่เกิดสภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีแบบในปัจจุบัน เพราะจะเกิดสภาวะกัญชาทางการแพทย์ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดแทน ในระหว่างการพิจารณากฎหมายกัญชา
(4) มติคณะกรรมการ ป.ป.ส. วันที่ 25 ม.ค.65 กำหนดให้บังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเมื่อพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีกฎหมายกัญชาออกมาควบคุมก่อนที่จะปลดกัญชาเสรี และให้เลื่อนเวลาออกไปได้หากยังไม่มีกฎหมายกัญชาออกมา แต่กระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าให้มีการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีกฎหมายกัญชาบังคับใช้ ถือเป็นการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการ ป.ป.ส.วันที่ 25 ม.ค.65
จึงเห็นได้ว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาขาดความชอบธรรมและเป็นความผิดพลาดทางนโยบาย ทำให้เกิดการแพร่หลายของกัญชาเพื่อนันทนาการ และมีเยาวชนเข้ามาใช้กัญชาให้เห็นได้มากมายทั่วประเทศไทย การยกเลิกประกาศฉบับนี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งและจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง
3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจในการกำหนดเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกรายชื่อยาเสพติดให้โทษได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 วรรคสอง โดยไม่ต้องแก้กฎหมายใดๆ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายนี้มาแล้วถึงสามครั้ง อีกทั้งรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ทางสื่อสาธารณะว่า แท้จริงต้องการชะลอการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชา เพียงแต่คณะกรรมการ ป.ป.ส. ไม่เรียกประชุมเท่านั้น
ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส.) สามารถที่จะยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาได้ ซึ่งจะทำให้สภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีจะยุติลงทันที ในระหว่างรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และจะทำให้สภามีเวลาในการพิจารณากฎหมายกัญชาได้อย่างรอบคอบต่อไป
โดยการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชา เพื่อให้กัญชากลับมาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และเป็นกัญชาทางการแพทย์ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาทางการแพทย์จะยังคงได้รับการรักษาเช่นเดิม
@@ แพทย์-ฝ่ายค้านยื่นศาลปกครองเพิกถอนประกาศ สธ.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.65 ทางแกนนำพรรคฝ่ายค้าน พร้อมด้วยนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี ได้แถลงข่าวถึงการไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราวและขอให้ระงับประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ปลดล็อกกัญชาไม่ให้เป็นยาเสพติด ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 เพื่อให้กัญชากลับมามีสถานะเป็นยาเสพติดเช่นเดิม จะได้ควบคุม ป้องกันไม่ให้มีการใช้หรือจำหน่ายกัญชาอย่างเสรีช่วงสุญญากาศในระหว่างรอการพิจารณากฎหมายกัญชา
@@ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชฯ ชี้ “กัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุมที่คุมไม่ได้จริง
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และกรรมการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงกรณีที่ออกมาค้านกัญชาเสรี และการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด
“ผมเรียกร้องเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 9 มิ.ย.65 อีก (วันปลดล็อกกัญชาเสรี) เพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ปลดกัญชาออกจากเป็นยาเสพติด เริ่มประกาศตั้งแต่เดือน ก.พ.65 แต่บังคับใช้วันที่ 9 มิ.ย.65 ผมก็เรียกร้องเรื่องนี้ก่อนอีก เพราะผมรู้ว่าหลังบังคับใช้มันจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ คือควบคุมอะไรไม่ได้ เด็กเอามาใช้ได้ง่าย เพราะกฎหมายมันไม่เพียงพอและกฎหมายที่เขาอ้างว่าออกมาได้จากประกาศกระทรวง เรื่องสมุนไพรควบคุม สุดท้ายก็คุมได้ไม่ดีพอ”
“ประกาศล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาก็ไม่มีประโยชน์ (รัฐมนตรีลงนาม 11 พ.ย. แต่ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ถึงจะคุมช่อดอกได้ แต่ไม่ได้คุมอย่างอื่น เผลอๆ แย่กว่าเดิม พูดง่ายๆ คือตอนนี้เด็กเข้าร้านสะดวกซื้อ เข้าไปซื้อกัญชา ซื้ออะไรก็ไม่ผิด หรือเด็กจะซื้อกัญชามาสูบก็ทำได้เลย เพราะมันคุมแค่ช่อดอก อย่างอื่นขายได้ พูดง่ายๆ คือสมุนไพรควบคุม เป็นประกาศที่ผิดฝาผิดตัวมาก กฎหมายตัวนี้ต้องการควบคุมไม่ให้สมุนไพรสูญเสีย แต่กัญชามันปลูกได้ง่ายกว่าสมุนไพรอีก อย่างสมุนไพรตัวอื่น เช่น ‘กวาวเครือ’ มันหายาก ฉะนั้นเรื่องสมุนไพรควบคุมไม่น่าจะมาใช้กับกัญชา มันใช้ผิดฝาผิดตัวมาก ไม่มีประโยชน์ ประกาศออกมาเพื่อลดกระแสสังคม แต่หลักปฏิบัติทำไม่ได้อยู่ดี”
@@ ใช้ทางการแพทย์แค่ข้ออ้าง
ผศ.นพ.สมิทธิ์ บอกอีกว่า “การใช้กัญชาทางการแพทย์ แม้ไม่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขก็ใช้ได้อยู่แล้ว คือ กัญชาทางการแพทย์ใช้ได้มาตั้งแต่ปลายปี 63 มีประกาศเก่า ผมจะย้อนให้กลับไปใช้ ก็มีคลินิกกัญชา แล้วก็มีการจ่ายกัญชาให้คนไข้ตั้งแต่ปี 64 แล้วจ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 65 เพราะอย่างนั้นอย่าอ้างว่าเปิดอันนี้เพื่อการแพทย์ เพราะมันเกินการแพทย์ไปเยอะ เขามักจะอ้างว่าให้ปลูกเองใช้เอง อันนี้มันไม่ได้อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นคนเราก็ปลูกฝิ่นมาทำมอร์ฟีนเอง แล้วเขาชอบอ้างกันอย่างนี้ จะมาปลูกเองมันไม่ได้ มันต้องได้รับการแนะนำ”
“เอาจริงๆ การแพทย์แผนปัจจุบันมันใช้ได้ไม่กี่โรค เช่น โรคชักในเด็ก มะเร็งยังไม่มี การยอมรับว่า ใช้ได้มีแต่งานวิจัยที่ยังไม่มีข้อสรุป คือ มะเร็งจะใช้ได้ เขาจะใช้สำหรับคนที่เป็นระยะสุดท้าย ให้เป็นยาช่วยแก้ปวด แต่ต้องใช้ยาอื่นก่อน มะเร็งเป็นระยะสุดท้าย เป็นระยะที่เบื่ออาหารแล้ว เอาใช้เพื่อกินอาหารได้ดีขึ้น ไม่สามารถรักษามะเร็ง ไม่สามารถรักษาโรคตาได้ ไม่สามารถแก้อาการนอนไม่หลับ ไม่สามารถรักษาโรคจิตเวชได้จากงานวิจัยน่ะ อันนี้ผมไม่รู้ ถ้ามีวิจัยในอนาคตผมก็เปิดโอกาส แต่มันต้องไปทำการวิจัย อย่าไปฟันธงว่า มันรักษาได้ในแผนปัจจุบัน”
“มันก็มีบางคนบอกผมว่าเชื่อแพทย์แผนไทย อันนี้มีอยู่ในเว็บไซต์ของกรมการแพทย์เลย มีใช้ในแพทย์แผนไทยนะ แต่ไม่ได้ใช้กัญชาเพียวๆ เขามีส่วนผสมหลายๆ ตัว คุณจะบอกว่าใช้กัญชาตัวเดียวเพื่อรักษาไม่ได้ คุณต้องปรึกษาแพทย์แผนไทย ถ้าคุณไม่เชื่อแผนปัจจุบันก็มีแผนไทย แต่เขาก็ผสมกัญชากับยาเยอะแยะ กัญชาเป็น 1 ส่วนจาก 20 ส่วน หรือบางทีกัญชาเป็น 5-6 ส่วนจาก 10 ส่วน อะไรประมาณนี้ คือมันไม่มีแบบหยอดน้ำมันกัญชาอย่างเดียวเพื่อรักษาโรค เนื่องจากกัญชามันมีผลข้างเคียงเยอะ”
“ผมก็ไม่ว่านะ ถ้าคุณจะปลูกใช้ในทางการแพทย์ เอามาใช้อย่างเดียว แต่มันมีหลุดมาใช้นันทนาการเยอะกว่าปกติ และที่ผมกลัวที่สุดคือเด็ก เพราะกัญชามีผลต่อเด็กมาก มันทำให้ไอคิวต่ำลง ทำให้เป็นโรคจิตเวชในอนาคตได้ ทำให้เกิดอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ซึมเศร้ามากขึ้นได้ โดยเฉพาะในเด็ก”
@@ เสนอประกาศนิรโทษฯ ห้ามปลูกใหม่
“แล้วมันจะมีคนอ้างว่า คนที่ปลูกไปแล้วทำอย่างไร ก็ออกประกาศไปนิรโทษได้ แล้วห้ามปลูกใหม่ เพราะกัญชาไม่ใช่พืชยืนต้น กำหนดไปเลยว่าคุณห้ามปลูกใหม่ คุณต้องจดแจ้งว่าคุณมีปลูกไว้เท่านี้หรือใครที่ปลูกเยอะๆ ไว้ขาย รัฐบาลก็มีหน้าที่ซื้อจากคนกลุ่มนี้ เพื่อเอาไปใช้ทางการแพทย์ เอาไปวิจัยก็ได้ ผมว่ามันแก้ไม่ยาก เพียงแค่เขาไม่อยากแก้ กลับไปอ้างโน่นอ้างนี่”
นายกสมาคมแพทย์นิติเวชฯ กล่าวอีกว่า “อยากฝากถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ว่า ถ้าทำแบบนี้มันไม่มีประโยชน์ ถ้าคุณจะช่วย ขอให้ประกาศไปเลยว่า ไม่ได้บังคับเฉพาะช่อดอก แต่เอาทั้งต้นไปเลย อย่างนี้ก็คุมได้ คือทุกคนต้องขอใบอนุญาต เท่ากับว่าทุกอย่างจะขายอะไรก็ลำบากหมด ถ้าแบบนั้นก็เหมือนยัดกัญชาอยู่ภายใต้ปีก จากยาเสพติดมาเป็นมาเป็นสมุนไพรควบคุม อย่างน้อยมันก็ยังคุมได้ แต่จริงๆ แล้วถ้าดีที่สุดผมว่า ย้อนกลับไปใช้กฎหมายปี 63”