“อย่างที่โต๊ะเด็ง (อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส) จากที่เคยมีคนพุทธ 14 ครัวเรือน ตอนนี้เหลือแค่ 3 แล้วใน 3 มันก็จะมีแค่ผู้สูงอายุอยู่หลังละคนสองคน ทำให้เห็นเลยว่า มันมีความถดถอยเยอะมาก และถ้าเราไม่ได้แก้ ต่อไปก็จะหมดสามจังหวัด อาจจะไม่มีคนพุทธเหลืออยู่แล้ว”
นี่คือสถานการณ์ที่น่ากังวลของชุมชนไทยพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องบอกว่า อยู่ในสภาพ “สะบักสะบอม” จากปัญหาความไม่สงบที่เกิดต่อเนื่องยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ โดยมีพี่น้องไทยพุทธตกเป็นเป้าหมายถูกคุกคาม ฆ่า ทำร้าย และถูกทำลายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลนี้มาจากงานวิจัยของ ดร.สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง “สถานการณ์ชาวพุทธ และมุมมองของชาวพุทธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อการพูดคุยสันติสุข”
เรื่องราวที่น่าวิตกปนเศร้านี้ ถูกเปิดเผยกลางวงสานเสวนาในโครงการฟื้นฟูชุมชนพุทธร้าง-ถดถอยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี โดยมี ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณาจารย์ ข้าราชการในพื้นที่ เข้าร่วมพูดคุยกับพี่น้องชาวพุทธ และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ รวมทั้ง นายนัจมุดดีน อูมา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส เขต 2 พรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์และรับฟังปัญหา
@@ สามเรื่องใหญ่พี่น้องไทยพุทธ
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ในช่วงปี 2560-2564 มีประเด็นหลักๆ ที่ทำให้พี่น้องชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบ 3 ประเภท คือ
1.ผลกระทบทางกายภาพและทางจิตใจ ได้แก่ การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางตรง ชาวพุทธเกิดความหวาดระแวงและกังวลในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะความปลอดภัยในการเดินทางในพื้นที่
2.ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการหาเลี้ยงชีพ
3.ผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรมที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ไทยและความเป็นพุทธ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้รูปแบบวิถีชีวิตพุทธดั้งเดิมนั้นเปลี่ยนแปลงไป
ในเวทีสานเสวนามีพี่น้องชาวพุทธจากหลากหลายภาคส่วนร่วมสะท้อนปัญหาทั้ง 3 ประเภทที่ตนเองต้องเผชิญ
@@ ถดถอยทุกด้าน...ไม่เร่งแก้อาจไม่มีเหลือ
ดร.สุภาสเมต กล่าวว่า พี่น้องชาวพุทธอยากเห็นชุมชนของพวกเขามีชีวิตชีวา หรือมีความเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง พวกเขามองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความถดถอย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชากร สังคม วัฒนธรรมต่างๆ แล้วมันก็ถอยลงไปเรื่อยๆ ตอนที่เราไปคุย คือบางหมู่บ้านแทบจะเหลือแต่ผู้สูงอายุ
“อย่างที่โต๊ะเด็ง จากที่เคยมี 14 ครัวเรือน ตอนนี้เหลือแค่ 3 แล้วใน 3 มันก็จะมีแค่ผู้สูงอายุ อยู่หลังละคนสองคน ทำให้เห็นเลยว่า มันมีความถดถอยเยอะมาก และถ้าเราไม่ได้แก้ ต่อไปก็จะหมดสามจังหวัด อาจจะไม่มีคนพุทธเหลืออยู่แล้ว เลยเป็นความคาดหวังของพี่น้องพุทธที่อยากจะให้เราช่วยเป็นกระบอกเสียงด้วย”
@@ ชวนคนกลับถิ่นฐาน ต้องมีงานรองรับ
สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ ทำให้เด็กคนหนึ่งโตขึ้น จากวัยเรียน สู่วัยทำงาน บางคนไปศึกษาต่อนอกพื้นที่ เมื่อเรียนจบก็อยากจะกลับบ้านเกิด แต่ปัญหาคือในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีอะไรให้ทำมากนั้น ดร.สุภาสเมต ค้นพบประเด็นปัญหาใน และสะท้อนเอาไว้ในงานวิจัยเช่นกัน
“อยากจะเล่าให้ฟังเลยว่าชุมชนเขาเจอปัญหาอะไร แล้วถ้าเราต้องการให้คนที่ไปทำงานนอกพื้นที่ หรือต้องการให้วัยรุ่นกลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่ มันใช้การสร้างอาชีพแบบเดิมๆ ไม่ได้ มันต้องมีการคิดอะไรที่มันพลิกแพลงให้มันเกิดอาชีพที่ตอบโจทย์ เช่น เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร หรือว่าเป็นเรื่องท่องเที่ยว อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เขาฝากมาว่าอยากจะเห็น”
“มันไปด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประชากร เรื่องของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พี่น้องชาวพุทธก็อยากจะให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม หรือเรื่องงบประมาณต่างๆ ก็อยากจะให้จัดสรร เรื่องการฟื้นฟูชุมชนคนพุทธให้เป็นวาระเร่งด่วน เป็นวาระหลัก ไม่ใช่วาระรองๆ ที่รองบประมาณเหลือจากการจัดสรรงบประมาณประจำปี”
@@ สัมพันธ์สองศาสนาจางหาย
การฟื้นฟูชุมชนชาวพุทธ ย่อมต้องเชื่อมประสานกับชุมชนมลายูมุสลิมด้วย ดร.สุภาสเมต มองว่า ชุมชนพุทธที่สามารถเข้าไปฟื้นฟูแล้วก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนมุสลิมที่อยู่รอบข้าง โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ ถ้าเกิดเขาเข้าใจพี่น้องพุทธ เข้าใจความต้องการ เขาจะเอื้อเฟื้อให้พี่น้องสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข แล้วก็เป็นปกติสุขมากกว่าชุมชนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องมุสลิม จึงเป็นที่มาว่าต่อไปก็คงจะต้องมีเวทีที่ให้พี่น้องพุทธและมุสลิมมาคุยกันเรื่องปัญหาเหล่านี้ว่าเขาจะช่วยกันแก้อย่างไร
“อีกเรื่องเป็นข้อห่วงใยของพี่น้องพุทธ คือการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนพุทธกับเยาวชนมุสลิม ซึ่งเขาแยกกันเรียนไปแล้ว ถ้าเกิดว่าไม่มีกิจกรรมให้เขาทำร่วมกันเลย เขาก็จะกลายเป็นไม่รู้จักกัน พอไม่รู้จักกัน จะทำเข้าใจผิดกันง่าย ก็เลยอยากจะให้มีกิจกรรมที่ภาครัฐต้องกระตุ้น อาจจะเสริมไปในหลักสูตรการศึกษาเลยว่า ต้องมีการไปทำกิจกรรมร่วมกันแล้วได้เกรดได้อะไรพวกนี้มาเป็นวิชาเสริม จะได้ให้เขาทำกิจกรรม มีเพื่อนจริงๆ เขาจะห่วงใยกัน ถ้าปล่อยผ่านกันไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะยิ่งห่างกันไปอีก เป็นเรื่องน่ากังวล”
@@ 6 ปีอันตราย...ไทยพุทธย้ายหนี
นักวิชาการเจ้าของงานวิจัยฯ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นสาเหตุหลักของปัญหา โดยเฉพาะช่วงปี 2548-2553 จะเป็นช่วงที่พีคมากๆ (ความร้ายแรงของสถานการณ์พุ่งถึงขีดสุด) พี่น้องพุทธตกเป็นเป้าความรุนแรงต่างๆ ทำให้เกิดการย้ายออกค่อนข้างเยอะ และช่วงนี้ถ้าเราต้องการให้พี่น้องกลับมา บางคนก็ขายที่ดินไปแล้ว หรือว่ามีความสะดวกสบายไปตั้งรกรากที่อื่นแล้ว ก็ยากที่จะกลับมา แต่จะทำอย่างไรให้คนที่ยังสามารถมีกำลังกลับมาได้ เขาเลือกที่จะตัดสินใจกลับมา ก็ต้องสร้างความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
“มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่บ้านโต๊ะเด็ง ที่บอกเดิมมีอยู่ 14 ลังคาเรือน แล้วก็เหลือ 3 หลังคาเรือน และที่เราไปศึกษาล่าสุด 20 ชุมชน มี 19 ชุมชนเลยที่บอกว่ามันมาจากเหตุการณ์ความรุนแรง เพราะภายในช่วงปีนั้น บางทีครึ่งหนึ่ง ครึ่งหมู่บ้านออกไปแล้วก็ไม่กลับมาแล้ว ที่เหลืออยู่ก็ค่อยๆ ทยอยออกไป บางทีก็ไปเรียนในตัวจังหวัด แล้วก็ได้งานตรงนั้นโอกาสจะกลับมาค่อนข้างน้อย มันเกี่ยวข้องกันไปหมด ทั้งเรื่องของปากท้อง เรื่องของการตั้งถิ่นฐาน พอตรงนี้ไม่มีวัฒนธรรม สังคมก็ค่อยๆ ถดถอย คนก็ไปร่วมงานวัดอะไรก็น้อย ก็ค่อยๆ หายกันไปเรื่อยๆ”
@@ รื้อมาตรการ รปภ. ไฟไม่ติด วงจรปิดเสีย
ดร.สุภาสเมต ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายด้วยว่า ความปลอดภัยในทัศนะของพี่น้องพุทธก็อาจจะไม่เหมือนกับพี่น้องมลายูมุสลิม เราก็เลยต้องการจะฟังว่า เขาต้องการให้สร้างความปลอดภัยอย่างไร เรื่องของการทางกายภาพ บางทีมีเสาไฟ มีซีซีทีวี (กล้องวงจรปิด) แต่มันใช้การไม่ได้ อยากให้ผู้ใหญ่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันตรวจสอบว่า มันมีใช้ได้ไหม หรือเรื่องของการจัดเวรยาม
“ช่วงนี้มีเหตุการณ์กับพี่น้องพุทธเยอะมาก ทั้งก่อนหน้านี้ คือตั้งแต่เดือน พ.ค.ก็มี และเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาก็มี ก็เลยอยากจะให้มีการเฝ้าระวังชุมชนพุทธให้มากกว่าเดิม มีมาตรการมากกว่าเดิม และเรื่องของการนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ก็เป็นสิ่งสำคัญที่พี่น้องพุทธอยากจะเห็นความยุติธรรม” นักวิชาการเจ้าของงานวิจัยสถานการณ์ชาวพุทธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว