วิกฤตการณ์ที่ศรีลังกา ทั้งสถานะประเทศที่ล้มละลาย ล่มสลาย พลังงานขาดแคลน กระทั่งถึงการชุมนุมประท้วงใหญ่บุกทำเนียบประธานาธิบดี จนผู้นำประเทศต้องยอมลาออก กลายเป็นสถานการณ์ที่ทั้งโลกต้องจับตา
และร่วมกันค้นหาคำตอบว่าประเทศที่สวยงาม เคยเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จะยังมีทางออกเพื่อฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิมหรือไม่
กฤษฎา บุญเรือง คอลัมนิสต์ และนักวิชาการอิสระ วิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ...
9 กรกฎาคม ค.ศ.2022 ชาวศรีลังกาหลายพันคนบุกทำเนียบประธานาธิบดี รัฐบาลต้องลาออก และน่าจะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลแห่งชาติ รวมมาจากหลายพรรคการเมือง
เศรษฐกิจศรีลังกาถึงขั้นล้มละลาย ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปจะต้องลำบากอีกระยะหนึ่ง (เงินเฟ้อโดยทั่วไป 54.6% ต่อปี โดยเฉพาะอาหารราคาเพิ่มขึ้น 80.1% ดอกเบี้ยธนาคารปัจจุบัน เงินฝาก14.5% เงินกู้ 15.5% แพทย์และพยาบาลได้สิทธิพิเศษในการเติมน้ำมันรถมอเตอร์ไซต์ แต่ต้องรอ 4 ชั่วโมง ประชาชนทั่วไปต้องรอ 12-48 ชั่วโมง)
ศรีลังกาจะหาทางออกได้ แต่ต้องพึ่งหลายฝ่ายมาช่วยกัน
ความกดดันทางเศรษฐกิจที่ทำให้การเมืองถึงจุดระเบิด มีสัญญาณเตือนมานานแล้ว ล่าสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 การบริหารงบประมาณรายรับรายจ่ายของประเทศ ดูเหมือนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแต่ละวัน นักการเมืองมุ่งหาเสียงและชิงดีชิงเด่น ผู้ที่มีความรับผิดชอบตั้งใจจริงในการวางแผนนโยบายบริหารเศรษฐกิจด้วยความรับผิดชอบกลายเป็นเสียงส่วนน้อย
ปี ค.ศ.2018 การเมืองร้อน ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ ขณะที่คนเก่ายังไม่ลาออก ทำให้มีนายกรัฐมนตรีสองคน เกิดโกลาหลในรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ
เลือกตั้งปี 2019 กลุ่มที่ชนะรีบเอาใจประชาชน ด้วยการทำนโยบายที่สัญญาไว้จากช่วงเลือกตั้ง และภาคปฏิบัติของนโยบายนั้นนำมาถึงจุดล่มสลายในวันนี้
นโยบายเอาใจประชาชนหรือ ”ประชานิยม” นั้นมี 108 อย่าง แต่โดยสังเขปคือ
-การลดภาษี จัดระเบียบคนจ่ายภาษีใหม่ ทำให้ผู้ที่มีคุณสมบัติต้องชำระภาษีลดลงไปถึง 33.5%
-VAT ภาษีมูลค่าเพิ่มเอาใจประชาชน รีบลดจาก 15% เหลือ 11% เหลือ 8%
-ภาษีผู้ประกอบการค้าจาก 28% ถึงเหลือ 24%
พิมพ์ธนบัตรเพิ่ม 119,000 ล้านรูปี ทั้งที่โดนเตือนจากไอเอ็มเอฟ ซึ่งขอร้องให้งดการพิมพ์ธนบัตรแต่หันมาเพิ่มภาษีและค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อรัฐบาลดื้อและพิมพ์เงินป้อนตลาด สถาบัน Credit ต่างประเทศไม่ไว้วางใจกับการบริหารของรัฐบาล จึงลด rating ทำให้การยืมเงินต่างประเทศยากมาก และเจ้าหนี้หลายคนไม่กล้าเสี่ยง หาเงินกู้ใหม่ไม่ได้ เงินกู้ที่มีอยู่แล้วโดนปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้น กลายเป็นผีซ้ำด้ำพลอย
มีนโยบายอีกหลายอย่างที่ทำผิดพลาด และมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นทั้งในนอกประเทศ เช่น สถานการณ์โควิด นักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ สงครามในยุโรปที่ทำให้น้ำมันขาดแคลนและแพง อาหารแพง เป็นต้น
หนี้ต่างประเทศทั้งหมดประเมินว่า $57B ในจำนวนนี้ 42% เป็นหนี้สถาบันการเงินต่างๆ และเป็นหนี้จีน 10% ญี่ปุ่น 10% เป็นต้น
ประเมินว่าต้องจ่ายหนี้ภายในปี ค.ศ.2022 และพันธบัตรซึ่งครบอายุทั้งหมด $8.6B แต่มีเงินตราสำรองอยู่ในคลังเพียงแค่ $1.9B
ดินพอกหางหมูขึ้นอย่างรวดเร็ว ปีค.ศ. 2019
อัตราส่วนเป็นหนี้ 42% ของจีดีพี แต่พอมาถึงปี 2021 กลายเป็น 119%
ทางออกคืออะไร
-เปลี่ยนผู้นำ
เมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็จะมีการเจรจาใหม่ (ผู้นำชุดปัจจุบันนี้กลัวเสียความนิยมเพราะเคยพูดว่าจะไม่ขึ้นภาษีภายใน 5 ปี คำประกาศอย่างนั้นเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ผู้ช่วยเหลือจากนอกประเทศลังเลใจที่จะเข้ามา) เมื่อเปลี่ยนผู้นำและมีรัฐบาลใหม่ โอกาสที่จะปรับโครงสร้างหนี้ ลงมืออย่างจริงจัง บริหารการเงินด้วยวินัยและมาตรฐานสากล เพิ่มความสมดุลย์ของรายรับรายจ่าย
-ทุกฝ่ายต้องยอมเสียสละ
คนในประเทศ ; ถึงจุดที่ถอยไม่ได้อีกแล้ว ก็ต้องยอมรับนโยบายที่แม้จะฝืนใจ แต่ต้องทำ เพื่อความอยู่รอด กลับมาที่หลักการพื้นฐานของประเทศและครอบครัว คือต้องทำทุกวิถีทางเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ (ท่องคาถา เศรษฐกิจพอเพียง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ทุกวันวันละหลายๆรอบ)
ฝ่ายต่างประเทศ ; ก็ต้องยอมผ่อนปรนและตัดบางส่วนเพื่อรักษาส่วนสำคัญเอาไว้
อินเดียซึ่งเป็นประเทศใหญ่ใกล้ที่สุด ก็ได้ยื่นมือเข้ามาเสนอทางแก้ไขแล้ว
จีนเองก็พยายามรีบแก้ปัญหาหนี้ต่างๆ อยู่ เพราะไม่ใช่เป็นแค่ศรีลังกาเท่านั้น แต่จีนกำลังปกป้องภาพพจน์ (เพราะโดนกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหนี้เอาเปรียบ) และฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลก
ทางตะวันตกก็ต้องเข้ามาในหลายรูปแบบ เพื่อสร้างความมั่นคงระยะยาว และถ่วงดุลอิทธิพลของมหาอำนาจ คือทางตะวันตกจะต้องจัดระเบียบโลกปัจจุบันไว้ (เศรษฐกิจตะวันตกซึ่งมีอเมริกาเป็นผู้นำ ใช้ยูเอสดอลล่าร์เป็นน้ำมันขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจโลก และร่วมกันชะลอบทบาทและอิทธิพลของจีน อินเดียหรือแม้กระทั่งรัสเซีย)
คาดว่าสถาบันการเงินจากทางตะวันตก (ไอเอ็มเอฟ และอื่นๆ) จะเข้าไปประนีประนอม ทั้งขู่ทั้งปลอบ (นึกถึงต้มยำกุ้ง 1997) ช่วยจัดการสะสางเรื่องยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการระบาดเข้าสู่ระบบการเงินการธนาคารของโลก
และคนระดับผู้นำของศรีลังกาก็ยังมีความใกล้ชิดกับทางตะวันตก และไม่อยากพึ่งเพียงแค่จีนและอินเดีย จึงคาดว่าจะมีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยศรีลังกา อาจขลุกขลักบ้างเพราะโลกกำลังแล้งความสามัคคี
อาเซียน ; โดยเฉพาะไทยและสิงคโปร์ กำลังดำเนินการหลายช่องทางโดยเฉพาะเรื่องซอฟท์พาวเวอร์ โดยการแลกเปลี่ยนสินค้าวัตถุดิบ อาหารและสิ่งของจำเป็นชั่วคราว ศาสนาและวัฒนธรรม การศึกษาและเทคโนโลยี เป็นต้น
นี่คือทางออกเมื่อวิเคราะห์ตามปัจจัยและบรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน
แต่โลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เหตุการณ์ที่ไม่คิดฝันอาจเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราอาจต้องภาวนาให้ศรีลังกาซึ่งมีความใกล้ชิดมากกับชาวไทยโดยเฉพาะเรื่องพุทธวิถี ผ่านพ้นสึนามิครั้งนี้ไปได้อีกระยะหนึ่ง และหวังว่าทุกฝ่ายจะรีบเร่งแก้ปัญหา...
ยอมเสียสละเพื่อความอยู่รอด!
-------------------------
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ nation tv