การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 ก.พ.) ก่อนการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (กฎหมายลูก) 2 ฉบับในวันที่ 24-25 ก.พ.65 มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ได้หารือประธานสภาผู้แทนราษฏร เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณาแก้ปัญหาประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียน และการอุดหนุนสถาบันศึกษาปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายสมมติ อ้างถึงมติของสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ ที่ได้ประชุมหารือและมีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาแก้ไขกฏกระทรวงที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารของโรงเรียนนอกระบบ พ.ศ.2563 ซึ่งมีการกำหนดให้ “โต๊ะครู” ต้องมีคุณสมบัติสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี จึงอยากขอให้แก้ไขคุณสมบัติในส่วนนี้เพื่อเปิดทางให้สถาบันศึกษาปอเนาะที่แสดงความจำนงขอจดทะเบียนกับสำนักงานการศึกษาเอกชนจำนวน 145 แห่ง สามารถเปิดสอนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2.ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ แก้ไขระเบียบการสนับสนุนเงินอุดหนุนสถาบันศึกษาปอเนาะให้ครอบคลุมสถาบันศึกษาปอเนาะ จ.สงขลา และ จ.สตูลด้วย
3.ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ บรรจุโรงเรียนนอกระบบ (สถาบันศึกษาปอเนาะ) ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ด้วย
4.ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะให้แยกจากโรงเรียนเอกชนในระบบ
5.ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มคำตอบแทนโต๊ะครู ผู้ช่วยโต๊ะครู และค่าบริหารจัดการสถาบันศึกษาปอเนาะดังนี้
5.1 ค่าตอบแทนโต๊ะครูจากเดิม 2,000 บาท ขอเพิ่มเป็น 10,000 บาท
5.2 ค่าตอบแทนผู้ช่วยโต๊ะครูจากเดิม 2,000 บาท ขอเพิ่มเป็น 7,000 บาท
5.3 ค่าบริหารจัดการสถาบันศึกษาปอเนาะจากเดิม 1,000 บาท ขอเพิ่มเป็น 5,000 บาท
6.ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนงบประมาณด้านกายภาพสถาบันศึกษาปอเนาะแห่งละ 250,000 บาทเป็นประจำทุกปี
7.ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ แก้ไขคุณสมบัติการรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อด้านอิสลามศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้แก่ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันศึกษาปอเนาะระดับอาลียะห์ (ซานาวียะห์) สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศได้ ทั้งของรัฐและเอกชน
@@ โต๊ะครูต่างจากอิหม่าม เหลื่อมล้ำค่าตอบแทน?
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามหลายฝ่ายในพื้นที่ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับข้อเสนอที่ ส.ส.ประชาชาติ นำไปอภิปรายในสภา
นายวันมูฮำมัดรูยานีย์ ดาหามิ โต๊ะครูปอเนาะศรีฮาซานะห์ ต.บุดี อ.เมืองยะลา กล่าวว่า โต๊ะครูปอเนาะ แตกต่างกับ “โต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิด” การที่รัฐจะให้ค่าตอบแทนนั้น ต้องดูที่ความรู้ การศึกษา โต๊ะอีหม่ามไม่ต้องมีความรู้ก็เป็นได้ โดยเฉพาะโต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิด แต่โต๊ะครูสถาบันปอเนาะ ต้องมีความรู้หลากหลายด้าน เพราะจะต้องสอนผู้ที่มาเล่าเรียนทุกเพศทุกวัย
“โต๊ะครูทุ่มเททั้งกายใจและทรัพย์สิน อุทิศตนเพื่อสอนให้ผู้เรียนมีความรู้และประสบผลสำเร็จกับการเล่าเรียน หมดทั้งตัวและทรัพย์สินก็ว่าได้ ส่วนโต๊ะอิหม่ามมีความรู้พออ่านออกเขียนได้ มีประชาชนเลือกให้เป็น ก็ได้เป็นแล้ว เรื่องการสอนศาสนาในมัสยิดให้ผู้รู้อื่นทำแทนก็ได้” โต๊ะครูปอเนาะจาก อ.เมืองยะลา กล่าว
เขาตั้งข้อสังเกตอีกว่า หากรัฐจะเพิ่มเงินตอบแทนให้โต๊ะครู ต้องถามว่าจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด ปัจจุบันค่าตอบแทนโต๊ะอิหม่ามมากกว่าโต๊ะครู ทั้งๆ ที่โต๊ะอิหม่ามบางคนความรู้น้อยมาก ปัจจุบันที่รัฐให้ค่าตอบแทนโต๊ะครู ให้ในอัตราเหมือนกับว่ากำลังหยอกล้อกับผู้รู้
@@ ค่าตอบแทนต้องหลักหมื่น - เพิ่มเงินต้องไม่แทรกแซง
“ถามว่าเมื่อก่อนรัฐไม่ได้ให้ค่าตอบแทนพวกโต๊ะครูเขาก็อยู่กันได้ ดูแลเด็กปอเนาะจำนวนร้อยกว่าคนได้ อยากบอกว่าโต๊ะครูไม่ใช่ครูสอนตาดีกาที่จะให้ค่าตอบแทน 1,000-2,000 บาทต่อเดือน มันต้องวัดที่ความรู้ ซึ่งการมาได้เป็นโต๊ะครูต้องใช้เวลาการศึกษาอย่างน้อย 10-15 ปี”
“คิดว่าการจะให้เงินเดือนโต๊ะครู ต้องอย่างน้อย 10,000 บาทขึ้นไป และมีการนิเทศการเรียนการสอน โดยไม่จำกัดว่ามีผู้เรียนมากน้อยแค่ไหน และการที่รัฐให้เงินเดือนแล้ว ต้องไม่มีการแทรกแซงในบริบทการเรียนปอเนาะที่มีอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย”
นายวันมูฮำมัดรูยานีย์ กล่าวด้วยว่า สถาบันปอเนาะปัจจุบันโดนปิดการเรียนการสอนเพราะโรคระบาด ทำให้ยังไม่สะดวกให้ผู้มาเรียนได้ตามปกติ บางสถาบันสอนเพียงสัปดาห์ละครั้ง และมีการจำกัดผู้เรียนด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางภาครัฐจะมีการเพิ่มเงินหรือค่าตอบแทนแก่โต๊ะครูให้สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สมควรเอาเงินมาล่อให้เกิดวิบัติกรรมทางการสอนศาสนา และไม่อยากให้ถูกมองว่าเป็นการหยอกล้อกับนักปราชญ์
@@ ชาวบ้านให้ช่วยปอเนาะเรียนฟรี - คนพุทธแนะต้องเท่าเทียม
ขณะที่ นายมูซอ เจะมูซอ ชาวบ้าน จ.ยะลา กล่าวว่า เห็นด้วยถ้าจะมีการเพิ่มเงินอุดหนุนสถาบันปอเนาะ แต่อยากให้มีเงื่อนไขนิดหน่อย คือควรจะสนับสนุนเพิ่มให้กับสถาบันปอเนาะโดยการใช้จำนวนเด็กเป็นเกณฑ์ หรือเป็นสถาบันปอเนาะ ที่เปิดสอนเด็กเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะปัจจุบันสถาบันปอเนาะจริงๆ เหลือไม่มากแล้ว ส่วนใหญ่ขยายไปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
ด้านนายรักชาติ สุวรรณ เครือข่ายไทยพุทธเพื่อสันติภาพขายแดนใต้ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้เป็นการหาเสียง ไม่ควรอุดหนุนเฉพาะโรงเรียนปอเนาะ แต่ควรมองถึงศาสนิกอื่นด้วย ที่ผ่านมารัฐพยายามอุดหนุน แต่พระได้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นควรให้แบบเท่าเทียมกันในทุกศาสนิกดีที่สุด