ส.ส.ประชาชาติ ร่วมผลักดันแก้ไข “พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร” ให้ทหารทำผิดต่อพลเรือนต้องขึ้นศาลปกติ ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม “ทวี สอดส่อง” ชี้ปมทหารตัดสินกันเอง หวั่นเกิดความไม่เป็นธรรม ยกคดี “ฟัครุดดีน บอตอ” อดีต ส.ว.นราธิวาส พยานหลักฐานชัด แต่ศาลทหารชั้นต้นยกฟ้อง ผ่านมากว่า 15 ปีคดียังไม่จบ ทั้งๆ ที่คดี “ครูจูหลิง” เกิดทีหลัง ปิดฉากไปหมดแล้ว
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 2 ก.พ.65 มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่พรรคประชาชาติเสนอ โดยมี นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เป็นตัวแทนพรรคในการแถลงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นผู้อภิปรายสรุป
ส.ส.กมลศักดิ์ อภิปรายหลักการตอนหนึ่งว่า พรรคเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขธรรมนูญศาลทหาร โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากธรรมนูญศาลทหารที่มีอยู่ หลักๆ ที่จะแก้ไขคือมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 พูดง่ายๆ คือ เดิมเวลาทหารกระทำความผิดกับพลเรือน ซึ่งก็คือพี่น้องประชาชนทั่วไป ต้องไปขึ้นศาลทหาร
@@ ทหารกระทำผิดต่อชาวบ้าน ต้องขึ้นศาลพลเรือน
ประเด็นที่พรรคขอแก้คือ หากผู้กระทำความผิดเป็นทหาร กระทำความผิดกับพี่น้องประชาชน ให้ไปขึ้นศาลปกติเหมือนบุคคลทั่วไป เพราะมิฉะนั้นจะเป็นความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากข้าราชการอื่น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือข้าราชการหน่วยงานใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ทหาร เวลากระทำผิดกฎหมายต้องไปขึ้นศาลพลเรือนทั้งหมด จึงต้องแก้ไขตรงนี้ แต่ถ้าทหารด้วยกันกระทำความผิดต่อกัน ก็ว่ากันตามเดิม คือขึ้นศาลทหาร
นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมมาตรา 67 มีสาระสำคัญคือ คดีที่ทหารกระทำต่อพลเรือน หรือชาวบ้านทั่วไป ซึ่งยื่นฟ้องต่อศาลทหารไว้แล้ว ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ หากการพิจารณาคดียังไม่แล้วเสร็จ ให้โอนคดีนั้นไปยังศาลพลเรือนที่มีเขตอำนาจ เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป แต่หากศาลทหารได้พิจารณาเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา หรืออยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
@@ ตัดสิทธิ์ผู้เสียหาย เป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ในศาลทหาร
“รัฐธรรมนูญมาตรา 68 กำหนดให้รัฐต้องจัดการบริหารกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ และต้องให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกรวดเร็ว แต่ทุกวันนี้ในทางปฏิบัติ เวลาพี่น้องประชาชนถูกทหารยิงปรากฏว่า แทนที่ทหารจะต้องไปขึ้นศาลพลเรือนเหมือนบุคคลทั่วไป คดีจะต้องโอนไปยังศาลทหาร และที่ว่าไม่เหมือนกระบวนการยุติธรรมปกติคือ ในศาลทหาร ผู้เสียหายไม่สามารถขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ และไม่สามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง ต้องผ่านอัยการทหาร ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าทหารมีอภิสิทธิ์อะไร ทำไมกฎหมายไม่ดำเนินการให้มีความเท่าเทียมกันเหมือนข้าราชการอื่น” ส.ส.กมลศักดิ์ ตั้งคำถาม
@@ ยกคดียิง “ฟัครุดดีน บอตอ” จับพลทหาร - 15 ปียังไม่จบ
ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ยังยกตัวอย่างคดียิง นายฟัครุคดีน บอตอ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนดารุสลาม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เหตุเกิดเมื่อปี 2549 แต่กระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารใช้เวลานานมาก อดีต ส.ว.ฟัครุดดีน ถูกลอบยิงบาดเจ็บขณะขี่รถจักรยานยนต์ออกไปทานน้ำชาที่ตลาดตันหยงมัส อ.ระแงะ ท้ายที่สุดมีการจับผู้กระทำความผิด 1 คน เป็นพลทหาร แต่ต้องนำตัวไปดำเนินคดีในศาลทหาร ตั้งอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ปรากฏว่าในคดีนั้น ส.ว.ฟัครุดดีน ในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นพลเรือน จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ไม่ได้ เพราะธรรมนูญศาลทหารห้ามไว้ จึงเสียสิทธิในการที่จะตั้งทนายความว่า ความเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการทหาร ทั้งๆ ที่เป็นผู้เสียหาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทุกวันนี้ยังต้องนั่งรถเข็น ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ
“ผ่านมาแล้ว 15 ปี ซึ่งคดีน่าจะจบไปแล้ว แต่เชื่อไหมครับ ขึ้นศาลทหารกระบวนการพิจารณาในชั้นต้นใช้เวลา 7-8 ปีโดยประมาณ ถ้าเป็นศาลพลเรือน การพิจารณาคดีอย่างช้า 1 ปีในศาลชั้นต้น แต่คดีที่มีการจับกุมพี่น้องประชาชน แล้วตั้งข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิจารณาคดีไม่เกิน 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีไม่เกิน 7-8 เดือน แต่คดีของท่านฟัครุดดีน ใช้เวลาในศาลทหารนานมาก สุดท้ายศาลยกฟ้อง หลังจากที่ศาลทหารยกฟ้อง คดีก็อยู่ระหว่างอุทธรณ์ของศาลทหาร ถึงปี 2565 เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ไปเยี่ยมท่านฟัครุดดีน เขาร้องขอความเป็นธรรม เพราะว่าคดียังอยู่ศาลอุทธรณ์ ยังไม่ลงมาเลยว่าตัดสินอย่างไร” ส.ส.นราธิวาส กล่าว
@@ ชี้คดีทำร้ายทหารเกณฑ์ ควรขึ้นศาลพลเรือน
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายสรุปว่า การยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารฯ เพื่อต้องการให้กฎหมายเกิดความยุติธรรมกับคนไทยทั้งประเทศ เราไม่ได้แก้กฎหมายฉบับนี้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือเพื่อกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
“ที่สำคัญที่สุดคือพี่น้องทหารที่เป็นทหารเกณฑ์ 2-3 แสนคน ทำไมกรณีทหารกระทำผิดต่อทหารเกณฑ์ จึงไม่เอาไปขึ้นศาลพลเรือน เพราะทหารเกณฑ์ผู้เสียหายเขาคือพลเมืองของประเทศ แล้วเขาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุดมากกว่ากฎหมาย คือกระบวนการพิจารณาคดี การที่ผู้พิพากษาและตุลาการมียศเป็นทหาร กับผู้ถูกตัดสินก็มียศเป็นทหาร ทำให้เกิดการไม่ยอมรับ และมีความรู้สึกไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น”
@@ แฉคดี “ฟัครุดดีน” พยานหลักฐานชัด ศาลทหารยกฟ้อง
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวถึงคดีของอดีต ส.ว.ฟัครุดดีน บอตอ ซึ่งตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้สมัยยังรับราชการตำรวจ
“เผอิญผมเองเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ทหารที่ยิงก็เป็นคนนอก ผมไม่ขอบอกหน่วย แต่เป็นหน่วยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แล้วคนที่ถูกยิงเป็นสมาชิกรัฐสภา วันนี้เรื่องยังอยู่ชั้นอุทธรณ์ ทั้งที่เหตุเกิดตั้งแต่ปี 49 แต่ขอโทษนะครับ ปี 50 ครูจูหลิง ปงกันมูล ถูกสังหารจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ศาลฎีกาได้ตัดสินเสร็จไปแล้ว แต่กับอีกคดี ถ้าดูในสำนวนพยานหลักฐานชัดเจนเลย มีประจักษ์พยานและได้ของกลางหมดเลย เพราะผมเป็นผู้ทำสำนวนเอง แต่ผมยังตกใจว่า ศาลทหารชั้นต้นยกฟ้อง อันนี้ผมไม่ว่ากัน”
เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่กฎหมายมีความยุติธรรม แต่กฎหมายบางอย่างกลับไปอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มหนึ่ง ในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ อยู่ในสภา ต้องนำความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมของประชาชนมาพูด สิ่งที่ตนกับพรรคประชาชาติเสนอมาไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเลย เป็นเรื่องที่จะทำบ้านเมืองให้มีหลักนิติธรรม และพวกตนไม่มีความรู้สึกรังเกียจทหารเลย เชื่อว่าทหารทั้งประเทศรู้เหตุผลในการแก้กฎหมายของพรรคประชาชาติ เพื่อทำบ้านเมืองให้มีความยุติธรรมขึ้น ทำให้สังคมไทยมีสิทธิเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความยุติธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม
@@ ย้อนคดี “หมวดแบงค์-น้องจูน” สังคมคาใจศาลทหาร
สำหรับคดีที่พิจารณาและพิพากษาในศาลทหาร ที่เพิ่งตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คือคดี “หมวดแบงค์” นายทหารสังกัดศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกฟ้องศาลมณฑลทหารบกที่ 15 ในข้อหาพยายามฆ่า “น้องจูน” อดีตภรรยาของตนเอง (ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส) เหตุเกิดในท้องที่ สภ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2559 แต่ช่วงเกิดเหตุอยู่ระหว่างประกาศกฎอัยการศึก คดีจึงเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลทหาร และมีเพียงศาลเดียวเท่านั้น สุดท้ายศาลพิพากษาเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ลงโทษสถานเบา เพราะเชื่อคำให้การของจำเลยว่า กระทำไปเพราะบันดาลโทสะ พิพากษาให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คดีปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ ไม่สามารถรื้อฟื้นอะไรได้อีก
ขณะที่ข้อเท็จจริงทางคดี ฝ่ายผู้เสียหาย คือ “น้องจูน” ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส กะโหลกยุบ สมองบวม เบ้าตาซ้ายแตก โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะจับได้ว่า หมวดแบงก์นอกใจไปหาสาวอื่น จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ “น้องจูน” ต้องกลายเป็นคนเสียโฉม ใช้เวลารักษาตัวอยู่นานถึง 3 เดือนเต็ม เพราะมีอาการทางสมอง พูดช้า คิดช้าลง