นับถึงวันนี้เราทุกคนไม่อาจปฏิเสธอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันในแทบจะทุกมิติได้อีกต่อไป
ความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารได้ disrupted การนำเสนอ การรับรู้ และการส่งต่อข่าวสารในรูปแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง เสมือนหนึ่งเป็นโลกใบใหม่
แต่สิ่งที่รับรู้รับทราบและตระหนักกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ โซเชียลมีเดียมีทั้ง "คุณอนันต์" และ "โทษมหันต์"
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร นักวิชาการด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความย้อนถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ตลอดปี 64 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป เพื่อถอดบทเรียนและกระตุกเตือนให้ทุกฝ่ายเร่งรับมือกับสิ่งร้ายๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 65 จากโซเชียลมีเดียที่แทรกเข้าสู่แทบทุกอณูในการใช้ชีวิตของผู้คน
-----------------
10 ปรากฏการณ์บนโลกโซเชียลมีเดีย ปี 2564
ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายบนโลกโซเชียลมีเดียทั้งในทางดีและในทางร้าย พิสูจน์ให้เห็นว่า โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเดียวกันสามารถให้ทั้งรางวัลและทำร้ายผู้คนได้ในเวลาเดียวกันและยังสะท้อนให้เห็นว่า โลกของโซเชียลมีเดียไม่ได้ห่างไกลกับชีวิตผู้คนอีกต่อไป
หลายต่อหลายเหตุการณ์เกิดต่อเนื่องกันระหว่างโลกโซเชียลกับโลกแห่งความจริงจนแยกกันแทบไม่ออก เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ถูกขยายออกไปจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอัลกอริทึมที่ทำงานร่วมกับธรรมชาติของมนุษย์ จนกลายเป็นเครื่องมือที่กระจายข้อมูลออกไปอย่างแทบไม่มีขีดจำกัดบนแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย
1.ข่าวสารในรอบปี 2564 คงไม่มีข่าวใดได้รับความสนใจมากเท่าข่าวโควิด-19 ซึ่งอยู่กับคนไทยมาครบ 2 ปีพอดี โซเชียลมีเดียเองมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับโควิด เราจึงเห็นคุณหมอหลายคนออกมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามวิกฤติผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งบน YouTube Facebook ฯลฯ
ในขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียก็เป็นช่องทางให้ใครก็ตามสามารถบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเรื่องโควิดเพื่อวัตถุประสงค์ของตนเองในทางใดทางหนึ่งตลอดเวลา เราจึงพบเห็นข่าวเกี่ยวกับวิธีรักษาโควิดด้วยตนเอง การบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อถกเถียงเรื่องคุณภาพของวัคซีนแต่ละชนิดจนนำไปสู่การด้อยค่าวัคซีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนต่อความเชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐเป็นผู้จัดหา และกลายเป็นข่าวข้ามประเทศซึ่งอ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้คนในประเทศที่ถูกด้อยค่าวัคซีน
2.โซเชียลมีเดียมาพร้อมกับวัฒนธรรมใหม่ การ Call out คือหนึ่งในวัฒนธรรมที่มากับโลกโซเชียลฯ ในรอบปีที่ผ่านมามี ดารา นักร้อง นักแสดง ออกมา Call out ทางการเมืองกันอย่างหนาตา
นอกจากจะออกมา Call out ด้วยตนเองแล้ว ยังเรียกร้องไปยังบุคคลอื่นๆ ที่พอจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักให้ออกมาร่วม Call out ด้วย จนถูกมองว่าเป็นการบังคับและละเมิดสิทธิของผู้อื่น
การ Call out ที่เป็นข่าวดังอีกหนึ่งเหตุการณ์ คือการเรียกร้องจากกลุ่มเพื่อนลูกสาวฝาแฝดของนายกรัฐมนตรีฝากไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ลาออก ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการ Call out แบบหนึ่ง และอาจเข้าข่ายการคุกคามทางออนไลน์ได้เช่นกัน เพราะผู้ถูกสื่อสารถึงไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศของบิดา
3.ดราม่าเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาบนโซเชียลมีเดีย เพราะโซเชียลมีเดียคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเห็นที่ไม่ตรงกันของคนหมู่มาก การแสดงออกของคนบางคนอาจไม่ถูกใจคนบางคนบนโลกออนไลน์ซึ่งไม่อาจตัดสินได้ว่าใครถูกใครผิด
การแสดงออกของคนบางคนอาจขัดหูขัดตาผู้คนบนโลกโซเชียลฯ และหนึ่งในข่าวที่นำเสนอกันอยู่หลายวัน คือ กรณีนักดนตรีที่ชื่อ "หนึ่ง จักรวาล" โพสต์รูปการหยอกล้อกับลูกสาวลงบนไอจี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตและความสนิทสนมระหว่างพ่อกับลูกสาว แต่เมื่อถูกเผยแพร่บนไอจี คนในโลกโซเชียลฯกลับมองว่าไม่เหมาะสม หรือแม้แต่มีคนชมว่าเป็นภาพที่น่ารัก ก็จะมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยเข้าไปรุมถล่มในทันที โลกของโซเชียลมีเดียคือโลกที่มักจะถูกตัดสินด้วยการชี้นิ้วถูก-ผิดจากคนแปลกหน้าเสมอ
4. คนเด่น คนดัง มักจะตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนบนโลกโซเชียลฯอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่อาจเกิดความพลาดพลั้งในเรื่องของการสื่อสาร ก็จะถูกขุดคุ้ยโดยฝีมือของนักสืบโซเชียลออกมาแก้ไข หรือแม้กระทั่งเป็นการโจมตีเพื่อดิสเครดิตบุคคลนั้นในทันที
การประกาศตัวลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ของ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ช่วงหนึ่ง กล่าวถึง ดร.เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที ว่าเคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์คนดังกล่าวและอาจารย์ท่านนั้นเป็นหลานของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พลันที่คำพูดนี้หลุดออกไป ก็เกิดการขุดคุ้ยหาประวัติของอาจารย์ดังกล่าว และพบว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และมีการโจมตีกันบนโลกโซเชียลจนเจ้าตัวและบุคคลอื่นๆ ต้องออกมาแก้ข่าวกันพัลวัน
5.ความไร้ตัวตนบนโลกออนไลน์และคุณสมบัติแฝงอื่นๆ ของโซเชียลมีเดีย ทำให้มนุษย์กล้าแสดงออกมากกว่าปกติ เพราะสิ่งที่ทำไม่ได้เมื่อเผชิญหน้ากับบุคคลอื่น กลับสามารถทำได้อย่างง่ายดายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งนักจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมนี้ว่า "การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์" (Online disinhibition)
ในรอบปีที่ผ่านมาผู้ใช้โซเชียลมีเดียมักจะเห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมออกมาแสดงอาการที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความจริงอยู่หลายคนผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นต้นว่าการร่ำไห้ผ่านการไลฟ์สดของอดีตพระมหาไพรวัลย์ หรือการไลฟ์สดของคุณณวัฒน์ ที่ร่ำไห้ผ่านหน้าจอระหว่างกำลังรักษาโควิดว่าถูกหมอไล่ออกจากโรงพยาบาล จนทำให้เกิดการส่งต่อเหตุการณ์ดังกล่าวบนโลกโซเชียลฯกันอย่างมากมาย
6.โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความช่างสงสัย ความช่างค่อนแคะ และการขาดความเกรงใจ ผู้คนมักหยิบจับแทบทุกเรื่องขึ้นมาเป็นประเด็นคำถามและวิพากษ์วิจารณ์จนบางครั้งดูเหมือนขาดกาลเทศะ
กรณีการป่วยจากโควิดจนนำไปสู่การสูญเสียของตลกชื่อดัง ค่อม ชวนชื่น เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุการณ์ที่น่าเสียใจของบุคคลในครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่แปลกที่กลับมีผู้คนบางส่วนใช้สถานการณ์ป่วยไข้ของ "ค่อม ชวนชื่น" ถากถาง เยาะเย้ย หรือบางรายถึงขั้นสาปแช่งก็มี แสดงให้เห็นถึงการโซเชียลมีเดียในทางที่ขาดความสร้างสรรค์และไม่สนใจต่ออารมณ์ความรู้สึกถึงการสูญเสียของชีวิตผู้คน
7.โลกโซเชียลฯนำมาซึ่งพฤติกรรมแปลกๆ ของผู้คน ทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลาย
ในรอบปีที่ผ่านมาเกิดพฤติกรรมการทำลาย วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ หรือแม้แต่ทรัพย์สินอื่นๆ อย่างไร้เหตุผล (Vandalism) จนเกิดเป็นข่าวให้เห็นอยู่เป็นระยะ เช่น การแก้ไขข้อมูลวิกิพีเดียให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง
การนำพระแก้วมรกตไปตัดต่อภาพและนำไปเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงการทำลายทรัพย์สินสาธารณะซึ่งเกิดจากการถูกปลุกปั่นในรูปแบบต่างๆ แล้วนำมาโชว์บนโลกโซเชียล เหตุการณ์ลักษณะนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลกมากขึ้นจนเป็นที่ผิดสังเกต
8.หนึ่งในวัฒนธรรมที่มาพร้อมกับโซเชียลมีเดียคือ การรุมคว่ำบาตรบนโลกออนไลน์ หรือ Cancel culture ซึ่งอาศัยโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการมุ่งโจมตีตัวบุคคล นำไปสู่การทำลายอาชีพและชื่อเสียงของคนบางคนอย่างไร้สติ เพียงเพราะความชอบที่ไม่เหมือนกัน การแสดงความเห็นต่างทางการเมือง การชื่นชมคนบางคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตนเอง
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้จากกรณี "ลูกหนัง" ศีตลา ลูกสาว "คุณตั้ว" ศรัณยู วงษ์กระจ่าง คุณพ่อผู้ล่วงลับ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องเรียกร้องการเมืองอันนำไปสู่การรัฐประหารถึง 2 ครั้ง จนมี #แบนลูกหนัง ติดเทรนด์ทวิตเตอร์แบบข้ามคืน ซึ่งเป็นการโจมตีตัวบุคคลแบบเอาเป็นเอาตาย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของคุณพ่อ แต่นำมาโยงถึงอนาคตของลูก ซึ่งนอกจากทำลายชื่อเสียงของเธอแล้ว ยังทำลายอาชีพในฝันของเธออีกด้วย
วัฒนธรรมคว่ำบาตรบนโลกออนไลน์จึงเป็นวัฒนธรรมที่เลวร้ายที่สุดหนึ่งในวัฒนธรรมของมนุษย์ก็ว่าได้
9.เกรียนคีย์บอร์ด เกิดขึ้นตลอดมาทั้งยุคอินเทอร์เน็ตเริ่มต้นจนถึงยุคของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน การกระทำของบุคคลดังกล่าวมักจะทำด้วยความคะนองมีพฤติกรรม โพสต์ไว ใจเร็ว ตำหนิก่อน ด่าก่อน ขอโทษทีหลัง และมักแสดงความละอายใจสำนึกผิดหรือสารภาพในสิ่งที่ตนเองได้แสดงความเห็นหรือกระทำลงไปเมื่อมีการดูภาพและข้อความย้อนหลัง หรือเมื่อเกิดคดีความ และมักอ้างในภายหลังว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์เสมอ
กรณีของ เจนิเฟอร์ คิ้ม ที่ถูกเกรียนคีย์บอร์ด่าทออย่างหยายคายบนไอจี จนถึงขั้นฟ้องร้องเอาผิด หรือกรณีอดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา (ท่านทูตนริศโรจน์ เฟื่องระบิล) ที่ฟ้องร้องให้แอดมินเพจ "ตลาดหลวง" ชดใช้ 1 ล้านและขอโทษผ่านเฟซบุ๊กและชนะคดีในที่สุด คือตัวอย่างที่เกรียนคีย์บอร์ดต้องจดจำและระลึกเสมอว่าโซเชียลมีเดียไม่ใช่พื้นที่ที่จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะมีกฎหมายกำกับอยู่
10.ความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสารของโซเชียลมีเดียมักทำให้เกิดความสับสนและนำเสนอข้อมูลล้ำหน้าอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดที่ผู้คนกระหายต่อข้อมูลข่าวสารและต้องการปลดปล่อยอารมณ์ เป็นต้นว่าจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผบ.ศบค.ได้ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนว่า ผ่อนคลาย 5 กิจกรรม และหนึ่งในนั้นคือสวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ
พลันที่ข่าวนี้แพร่ออกไปทางโซเชียลมีเดียประชาชนชาวกรุงเทพฯ ต่างเดินทางไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะต่างๆ เป็นวันแรก แต่กลายเป็นว่าต้องรอเก้อ เนื่องจาก กทม.ยังไม่เปิดให้ใช้บริการสวนสาธารณะ เนื่องจากคำสั่งเดิม มีผลถึงวันที่ 14 มิถุนายน
และต่อมาเฟซบุ๊กเพจ "สวนรถไฟ" ระบุว่า "วันนี้วันที่ 14 มิ.ย. เจ็ดโมงเช้า ….สวนรถไฟ ยังปิดครับ สมาชิกยังไม่ต้องมากันนะครับ ช่วยแชร์บอกเพื่อนๆ ด้วย แอดมินมาเก้ออีกแล้ว"
หรือบางสำนักข่าวพาดหัวข่าวว่า "ชาวกรุงไปเก้อ สวนสาธารณะยังไม่เปิด ต้องรอคำสั่ง ศบค. แม้นายกฯประกาศคลายล็อก"
การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารด้วยความรวดเร็วเกินไปบนโลกโซเชียลมีเดียสู่สาธารณะอาจทำให้เกิดลักษณะการลัดวงจรในกระบวนการทำงานของราชการ ซึ่งต้องเป็นผู้ออกคำสั่งตามนโยบาย ซึ่งไม่ทันต่อข่าวสารที่แพร่ออกไปก่อนหน้าแล้วจนทำให้เกิดความสับสนต่อผู้คนได้