หลังเกิดปรากฏการณ์ “ม็อบเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” และ “วิวาทะ” ของนายกรัฐมนตรี กับ ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าด้วย MOU หรือ “บันทึกความเข้าใจ” ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับชาวบ้านจะนะที่คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรม ว่ามีจริงหรือไม่ คณะรัฐมนตรีรับรองหรือเปล่า
ปรากฏว่าได้มีการตอบโต้กันด้วยข้อมูลเอกสาร โดยส่งต่อๆ กันทางโลกออนไลน์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนเอง
@@ เปิดคำสั่งสำนักนายกฯ “บิ๊กตู่” เซ็นเองตั้ง “ธรรมนัส”
เอกสารหลักๆ ที่เผยแพร่ออกมาต่อสู้กัน มีอยู่ 3 ชุดใหญ่ๆ
ชุดแรก เป็นเอกสารเพื่อตอบโต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แสดงท่าทีไม่รับรู้รับทราบ “ข้อตกลง” ระหว่าง ผู้กองธรรมนัส กับ ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งมีการชุมนุม เหมือนกันปีนี้ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่ง “ผู้กอง” ไปเจรจา มีการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน ทำให้ม็อบยอมสลายตัวเองกลับบ้าน โดยวันที่ 15 ธ.ค.63 มีการนำเข้าที่ประชุมครม.เพื่อทราบ แต่นายกฯกลับบอกว่า ครม.แค่ทราบ ไม่ได้เห็นชอบตามข้อตกลงฯ
จากความสับสนนี้ จึงมีการเปิดเอกสารแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”
เอกสารนี้เป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 20/2564 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ เอง เมื่อวันที่ 27 ม.ค.64 มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น เป็นประธาน
คำถามคือ นายกฯจะบอกว่าไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่รับรู้ผลการหารือ หรือข้อตกลงระหว่างผู้กองธรรมนัส กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้หรือ?
@@ สรุปผลสอบชุด “ธรรมนัส” ข้อมูลสวนทาง ศอ.บต.
ชุดที่ 2 เอกสารของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ชุดผู้กองธรรมนัส ลงนามโดย “ผู้กอง” เอง เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 เรื่อง สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ สรุปก็คือ ข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจสอบ ตรงกันข้ามกับที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ชี้แจงมาก่อนหน้านี้เกือบทั้งหมด เช่น
- อ้างว่าสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เห็นชอบให้ขยายโครงการเมืองต้นแบบ เมืองที่ 4 ไปที่จะนะ ปรากฏว่า ในระยะแรกสภาพัฒน์ยังไม่มีแนวคิดขยายผลเมืองต้นแบบ ไปเมืองที่ 4
- กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เคยได้รับการประสานจาก ศอ.บต.ให้จัดทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ตามความเห็นของสภาพัฒน์ และตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62
- สภาพัฒน์เอง ก็เคยทำหนังสือถึงสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า ไม่เคยได้รับเรื่องการขอให้พิจารณาความเหมาะสมของแผนงานโครงการตามที่ ศอ.บต.อ้างแต่อย่างใด และไม่เคยร่วมจัดทำโครงการเมืองต้นแบบ เมืองที่ 4 ที่ อ.จะนะ
ที่สำคัญ การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ชุมชน และอื่นๆ ทั้งยังมีปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ อ.จะนะ หากดำเนินการต่อไปอย่างไม่รอบคอบ จะกระทบต่อความสามัคคีและความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่
เอกสารสรุปรายงานยังระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานนี้แล้ว และมีบัญชาให้ ศอ.บต.ปฏิบัติตามมติ ครม.ต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้อย่างเคร่งครัด โดยเอกสารฉบับนี้ คณะกรรมการฯ ชุด “ผู้กองธรรมนัส” ส่งถึงเลขาธิการ ศอ.บต.
@@ ศอ.บต.ปฏิบัติตามมติ ครม.จริงหรือ?
มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับเมืองต้นแบบฯ อ.จะนะ มี 3 ฉบับ คือ มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62, มติ ครม.วันที่ 21 ม.ค.63 และ มติ ครม.วันที่ 18 ส.ค.63 เมื่อเจาะลึกลงในรายละเอียดของสรุปรายงานของคณะกรรมการชุด “ผู้กองธรรมนัส” จะพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
- มติ ครม. วันที่ 7 พ.ค.62
เห็นชอบในหลักการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯ เมืองที่ 4 อ.จะนะ โดยให้ ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามกฎหมาย ฯลฯ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) มีข้อสั่งการให้ ศอ.บต. ต้องหารือร่วมกับสภาพัฒน์ในทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังให้ความเห็นว่า ศอ.บต.ต้องประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดความเหมาะสมของการพัฒนาอุตสาหกรรม
- มติ ครม. วันที่ 21 ม.ค.63
ให้ ศอ.บต.ส่งแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.จะนะ, แผนขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ ให้สภาพัฒน์พิจารณาความเหมาะสม ก่อนดำเนินการต่อไป
- มติ ครม. วันที่ 18 ส.ค.63
รับทราบมติ กพต.ครั้งที่ 3/2563 มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และจังหวัดสงขลา ดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ในที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชนใน 3 ตำบล (ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ)
แต่เมื่อคณะกรรมการชุด “ผู้กองธรรมนัส” ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง กลับพบว่า...
- กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันไม่ได้รับการประสานจาก ศอ.บต.
- สภาพัฒน์ ไม่เคยได้รับเรื่องการขอให้พิจารณาความเหมาะสมของแผนงานและโครงการ
- ผู้แทนสภาพัฒน์ แจ้งว่าไม่เคยได้ร่วมจัดทำโครงการเมืองต้นแบบฯ เมืองที่ 4 อ.จะนะ
- ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ยืนยันว่า ได้รับเอกสารรายงานผลการศึกษาและแผนผังจาก ศอ.บต.โดยตรง โดยผู้แทน ศอ.บต.แจ้งว่า เอกสารรายงานผลการศึกษาและแผนผังที่ส่งให้กรมโยธาธิการฯไปพิจารณาประกอบการปรับผังเมืองนั้น เป็นเอกสารที่ภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำ
- มีประเด็นขัดแย้งในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และเป็นธรรม โดยเฉพาะข้อร้องเรียนว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของราษฎรที่ครอบครอง อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ชุมชน และความเป็นอยู่
@@ ฟันธง ศอ.บต.เมินมติ ครม. - ชาวบ้านขัดแย้ง ส่อไม่สงบสุข
บทสรุปของการตรวจสอบก็คือ
1.ศอ.บต.ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม.ทั้ง 3 ฉบับ การส่งเรื่องให้กรมโยธาธิการและผังเมืองปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น ศอ.บต.ดำเนินการเองเพียงลำพัง ไม่ได้ดำเนินการร่วมกับสภาพัฒน์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
2.มีปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ อ.จะนะ หากภาครัฐดำเนินการไม่รอบคอบเหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามัคคีและความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่
@@ ผู้ตรวจการฯ ลงมติ ศอ.บต.ทำประชาพิจารณ์ครบถ้วน
เอกสารชุดที่ 3 เป็นข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่ชี้ว่า ศอ.บต.ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการเดินหน้าโครงการเมืองต้นแบบฯ อ.จะนะ
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเมื่อวันที่ 23 ส.ค.61 และส่งหนังสือถึงเลขาธิการ ศอ.บต. แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีมีผู้ร้องเรียนว่า ศอ.บต. ไม่ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านในการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ ทำให้เกิดความขัดแย้งและทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน
เนื้อหาในเอกสารระบุว่า จากการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ความว่า การดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ ศอ.บต.ได้เปิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ ซึ่งเป็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในโครงการดังกล่าวและอาจได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหายโดยตรง จากการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 แล้ว
เอกสารนี้สอดคล้องกับ “เอกสาร ข่าว ศอ.บต.” ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.64 ระบุตอนหนึ่งว่า รัฐบาลได้รับข้อเสนอของตัวแทนผู้คัดค้านโครงการฯ ให้มีการทบทวนการดำเนินงานทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งกลไกพิจารณาทบทวนด้วย
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบฯ ในระยะต่อไป ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานสรุปผลการพิจารณาทบทวนการดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมา เมื่อเดือน มี.ค.64 แล้ว ได้มีบัญชามอบให้ ศอ.บต.พิจารณาการดำเนินการขยายโครงการฯ ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด (มติวันที่ 7 พ.ค.62 วันที่ 21 ม.ค.63 และวันที่ 18 ส.ค.63)
โดยในระยะต่อไป ศอ.บต. ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เป็นหน่วยงานหลักจัดนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งกำหนดกรอบข้อกำหนดการจ้าง (TOR) ที่ครอบคลุมทุกมิติการพัฒนาในเชิงพื้นที่ และข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกด้าน รวมทั้งการพัฒนาตามตัวแบบ BCG Model : Bio Economy, Circular Economy and Green Economy เน้นการวางแผนให้เกิดผลการพัฒนาที่ยั่งยืนของพื้นที่เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ในการศึกษาให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและทุกระดับ รวมทั้งมุ่งเน้นการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ธ.ค.64 เป็นต้นไป
@@ เครือข่าย นศ.เรียกร้อง ศอ.บต.หยุดนิคมฯจะนะ
วันศุกร์ที่ 10 ธ.ค.64 ที่หน้าประตูศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสำนักงาน ศอ.บต.แห่งที่ 2 ใน อ.เมืองยะลา เครือข่ายนักศึกษา และกลุ่มประชาสังคมหนุ่ม-สาวกว่า 100 คน ได้ไปจัดกิจกรรมชุมนุมค้านนิคมฯจะนะ / ไม่เอา ศอ.บต. มีการใช้เครื่องกระจายเสียงกล่าวปราศรัยคัดค้านการจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา และให้กำลังใจพี่น้องที่ไปร่วมคัดค้านเรื่องนี้ที่กรุงเทพฯ
นายพีรบุธ หว่าหลำ เลขาธิการ The Patani หนึ่งในแกนนำกลุ่มประชาสังคมหนุ่ม-สาว กล่าวว่า ตัวปัญหาหลักของปัญหาจะนะ คือ ศอ.บต. บางทีก็รู้สึกว่าอยากจะให้ยุบ ศอ.บต.ทิ้งไปเลย