"...ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของญัตติ แต่ปัจจุบันไม่มีข้อกฎหมายหรือข้อบังคับข้อไหนที่ระบุห้ามไม่ให้พูดถึงชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาของญัตติ และญัตติในอดีตก็มีหลายครั้งที่มีการกล่าวถึงบุคคลภายนอก (เช่น เนื้อหาของญัตติที่เสนอโดย สส. เพื่อไทย ในปี 2562 เกี่ยวกับการติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็มีการกล่าวถึงบุคคลภายนอกอย่างชัดเจน..."
หมายเหตุ : นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชนทวีต ผ่านแอปพลิเคชั่น x ยืนยันว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งตัดชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บิดาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกจากญัตติ อภิปราย เพื่อลงมติ ไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีเนื้อหา ดังต่อไปนี้
เมื่อบ่ายวันนี้ ทางผมและพรรคได้รับแจ้งว่าทางประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือด่วนถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้นำชื่อ “บุคคลภายนอก” (นายทักษิน ชินวัตร) ออกจากเนื้อหาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ก่อนที่ประธานสภาฯจะบรรจุญัตติดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างถึงข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 176
ผมไม่เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมเรามีความจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว
1. ในเชิงอำนาจหน้าที่ : ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญและข้อบังคับไม่ได้ให้อำนาจประธานสภาในการใช้ดุลพินิจมาตัดสินว่าเนื้อหาสาระของญัตติควรจะเป็นเช่นไร หรือมีความเหมาะสมหรือไม่
- รัฐธรรมนูญมาตรา 151 ระบุชัดเจนถึงสิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ โดยไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงดุลพินิจของประธานสภาในการประเมินเนื้อหาของญัตติเพื่อตัดสินใจว่าจะบรรจุญัตติหรือไม่
- ข้อบังคับ ข้อ 176 ระบุเพียงแค่ให้ประธานสภาตรวจสอบว่าญัตติมี “ข้อบกพร่อง” หรือไม่ (ภาพ 1)
- เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายดังกล่าว “ข้อบกพร่อง” ในที่นี้ ย่อมถูกเข้าใจได้ว่าหมายถึงในกรณีที่มีข้อผิดพลาดในเชิงรูปแบบ (เช่น มีรายชื่อผู้เสนอที่ไม่ครบตามเกณฑ์ที่ต้องการ ลายเซ็นของผู้เสนอไม่ตรงกับลายเซ็นในระบบ มีการอ้างถึงมาตราหรือข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อน)
2. ในเชิงขั้นตอน : แม้จะอ้างข้อบังคับข้อ 176 ในการแจ้งให้เราแก้ไขข้อความในญัตติ ก็ต้องบอกว่าการแจ้งของประธานสภาไม่ชอบด้วยข้อบังคับเพราะไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในข้อบังคับข้อ 176
- ข้อบังคับ ข้อ 176 ระบุว่า “หาก[ญัตติ]มีข้อบกพร่อง ให้ประธานสภาแจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ” (ภาพ 1)
- แต่สำหรับกรณี้ ทางประธานสภาได้รับญัตติวันที่ 27 ก.พ. (ตามที่สำนักงานฯ ลงวันรับ + ตามหลักฐานการยื่นหนังสือที่ถูกรายงานตามสื่อต่อสาธารณะ) ในขณะที่ได้ทางประธานสภาได้มีการแจ้งมาที่ผู้เสนอ (ผ่านรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร) ในวันที่ 7 มี.ค. ซึ่งเลยกรอบ “ภายในเจ็ดวัน” อย่างชัดเจน (ภาพ 2 & 3)
3. ในเชิงเนื้อหาสาระ : การระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาของญัตติไม่ได้เป็นอะไรที่ผิดข้อบังคับ
- ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของญัตติ แต่ปัจจุบันไม่มีข้อกฎหมายหรือข้อบังคับข้อไหนที่ระบุห้ามไม่ให้พูดถึงชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาของญัตติ และญัตติในอดีตก็มีหลายครั้งที่มีการกล่าวถึงบุคคลภายนอก (เช่น เนื้อหาของญัตติที่เสนอโดย สส. เพื่อไทย ในปี 2562 เกี่ยวกับการติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็มีการกล่าวถึงบุคคลภายนอกอย่างชัดเจน (ภาพ 4))
- ข้อบังคับมีการพูดถึงบุคคลภายนอกในข้อ 69 ในบริบทของการอภิปราย ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการห้ามการอภิปรายบุคคลภายนอกโดยสิ้นเชิง แต่เป็นเพียงการห้ามไม่ให้กล่าวถึงบุคคลใด “โดยไม่จำเป็น” (ภาพ 5)
- ท้ายสุดแล้ว หากเนื้อหาของญัตติและการอภิปรายมีการกล่าวถึงบุคคลภายนอกจนเกิดความเสียหาย ผู้เสนอญัตติและผู้อภิปรายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวเอง
ดังนั้น
- ในมุมกฎหมาย ผมไม่เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมเราจำเป็นนำชื่อ “บุคคลภายนอก” ออกจากเนื้อหาญัตติ
- ในมุมการเมือง ผมเห็นว่าเป็นดุลพินิจของพี่น้องประชาชนที่จะเป็นผู้ตัดสินเอง ว่าการระบุถึง “บุคคลภายนอก” มีความเหมาะสมและจำเป็นต่อการวิเคราะห์และวิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินของ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร หรือไม่ โดยเฉพาะในเมื่อบุคคลดังกล่าวก็ประกาศเองหลายครั้งว่าต้องการ “สทร.” เกี่ยวกับการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้
อ่านประกอบ : ‘วันนอร์’ มีหนังสือด่วนแจ้งฝ่านค้านแก้ญัตติอภิปรายนายกฯ ตัดชื่อ ‘ทักษิณ’ ออก
อ้างอิงจาก : X ของ Parit Wacharasindhu (Itim)
หมายเหตุ : ภาพ พริษฐ์ วัชรสินธุ จาก เฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu
ภาพ วันมูหะมัดนอร์ มะทา จาก infoquest.co.th