“....ทั้งหมดคือข้อกล่าวหาทั้งหมดที่ ‘ธนาธร-ครอบครัว’ กำลังเผชิญภายหลังกระโจนลงเล่นการเมืองเมื่อปี 2561 ขณะที่บางฝ่ายมองว่าเป็นการ ‘สกัดกั้น’ การลงเล่นการเมืองของนายธนาธรจาก ‘ผู้มีอำนาจรัฐ’ ต้องรอดูในปี 2564 ต่อไปว่า นายธนาธร และครอบครัวจะชี้แจงแก้ต่างข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างไร?...”
.......................
ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าสกุล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ ถูกพูดถึงในหลายคราวด้วยกัน เนื่องจากคนสกุลนี้ลงมาเล่นการเมืองอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 3 ราย
แบ่งเป็น ‘ฝ่ายรัฐบาล’ 2 ราย ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
(อดีต) ‘ฝ่ายค้าน’ 1 ราย ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และอดีตหัวหน้าพรรค ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า ขับเคลื่อนทางการเมือง ‘นอกสภา’
ในส่วนของนายสุริยะ และนายพงศ์กวิน มีบทบาททางการเมือง และปรากฏเป็นข่าวน้อยมาก หากเทียบกับกรณีของนายธนาธร
ทำไม?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อเท็จจริงให้ทราบกัน ดังนี้
นายธนาธร ได้รับการจับตาจากสาธารณชนอย่างมากเมื่อถอดเสื้อคลุม ‘ไพร่หมื่นล้าน’ กระโจนลงสนามการเมืองระดับชาติเมื่อปี 2561 ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยปี 2562 ได้รับเลือกตั้งกวาดเก้าอี้ ส.ส. 81 ที่นั่ง มากเป็นลำดับ 3 รองจากพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ
หลังจากนั้นชีวิตทางการเมืองของนายธนาธร ‘ลุ่ม ๆ ดอน ๆ’ เนื่องจากถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไต่สวนกรณีถือครองหุ้นสื่อในวันสมัครรับเลือกตั้ง และกรณีปล่อยกู้เงินให้พรรคอนาคตใหม่ 191.2 ล้านบาท ท้ายที่สุด กกต.ส่งสำนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยปลายปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธร พ้นตำแหน่ง ส.ส. พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรณีถือครองหุ้นสื่อ และต้นปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนายธนาธร และกรรมการบริหารพรรค กรณีปล่อยกู้พรรคโดยมิชอบ
อย่างไรก็ดีนายธนาธร ยังประกาศเดินหน้าสู้ทางการเมืองต่อ โดยจัดตั้งคณะก้าวหน้า ตัวเองดำรงตำแหน่งประธาน มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นเลขาธิการคณะก้าวหน้า น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เป็นโฆษกคณะก้าวหน้า โดยเน้นไปที่การทำการเมืองท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ โยกย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปัจจุบันยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ในสภา
ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงสถาบัน ‘เบื้องสูง’ ถูกท้าทายอย่างหนักจาก ‘ม็อบราษฎร’ ที่นำโดยเยาวชน-คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะข้อเสนอ ‘ปฏิรูปสถาบันฯ’ จนนำไปสู่การสลายการชุมนุมม็อบ และตั้งข้อกล่าวหา-จับกุม-ดำเนินคดี แกนนำ-มวลชนในม็อบหลายสิบราย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 รวมถึงผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ด้วย
นายธนาธรเอง ถูกภาครัฐ ‘จับตา-เฝ้าระวัง’ เนื่องจากเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางความคิดแก่ม็อบราษฎร โดยในปี 2563 ถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาอย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่ กรณีชุมนุมที่สกายวอล์ก และกรณีร่วมชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
@พ่ายแพ้เลือกตั้งนายก อบจ.
ปัจจุบันนายธนาธร ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ แม้ว่าคณะก้าวหน้าจะ ‘พ่ายแพ้’ ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านมา โดยไม่ได้ ‘นายก อบจ.’ แม้แต่รายเดียว แต่ได้ ส.อบจ. อย่างน้อย 55 รายใน 18 จังหวัด จากที่ส่งไปทั้งหมด 42 จังหวัด
“ในสังคมไทยยังมีคนปวดใจเมื่อพูดถึงสถาบันฯ แต่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนเรียกร้องถึงเรื่องนี้เช่นกัน ยอมรับว่ามีผลกระทบแน่นอน แต่จะมีมากน้อยเท่าไรต้องรอดูผลการเลือกตั้งรายหน่วย แต่ตลอดการเลือกตั้งเราถูกใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม เราเหมือนถูกมัดมือและชกฝ่ายเดียว เราขอโทษตัวเราเองที่ยังอธิบายกับสังคมได้ไม่ชัด”
เป็นหนึ่งในถ้อยความที่นายธนาธรไลฟ์สดตอบคำถามสื่อมวลชน ในการแถลงข่าวภายหลังคณะก้าวหน้าพ่ายแพ้การเลือกตั้งนายก อบจ. ยอมรับว่าที่ผ่านมาการสนับสนุนการ ‘ปฏิรูปสถาบันฯ’ มีผลต่อคะแนนเสียงตัวเอง (อ่านประกอบ : รับพูดปฏิรูปสถาบันฯมีผล! ‘ธนาธร’ขอโทษ ปชช.หลังคณะก้าวหน้าชวดเก้าอี้นายก อบจ.ทั่ว ปท.)
อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่นายธนาธรเท่านั้น เพราะพลันที่กระโจนลงสู่แวดวงการเมือง ‘ครอบครัว’ เขาก็ถูกจับตาด้วยเช่นกัน?
@เรือยอร์ชหรูจดทะเบียนเกาะคุกของ ‘ธนาธร-สกุลธร’
เริ่มตั้งแต่กรณี ‘เรือยอร์ช’ ไฟไหม้บริเวณเกาะเสม็ด มีสื่อหลายสำนักรายงานอ้างว่าเรือยอร์ชลำดังกล่าวถูกจดทะเบียนในหมู่เกาะคุก (Cook Island) คือเกาะที่เป็นสถานที่จดทะเบียนทรัพย์สินนอกอาณาเขต โดยมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญในการปกป้องดูแลทรัพย์สินของเศรษฐีในต่างประเทศ เพื่อป้องกันการเข้าถึงของหน่วยงานทางกฎหมาย และเจ้าหนี้ต่าง ๆ
เรือยอร์ชลำนี้ ถูกสื่อหลายสำนักอ้างว่า มีชื่อของนายธนาธร และนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชาย เป็นเจ้าของร่วมด้วย?
ทั้งนี้ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาธร ที่แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 แจ้งว่า ถือครองเรือยอร์ช 1 ลำ ได้มาเมื่อปี 2561 มูลค่า 10 ล้านบาท แต่มิได้ระบุรายละเอียดอะไรเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 นายธนาธร และนายสกุลธร ยังมิได้ออกมาชี้แจงแก่สาธารณชนแต่อย่างใด
@บก.ป.ขยายผลสอบเพิ่มคดีรับสินบน จนท.สำนักงานทรัพย์สินฯโยง‘สกุลธร’
สำหรับนายสกุลธร ยังถูกสาธารณชนจับตามองอีกประเด็น ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษจำคุก นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) และนายสุรกิจ ตั้งวิทูวณิช ตัวกลางผู้ประสานงานนายหน้า คดีร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ บริเวณชิดลม และรับสินบนจากนายสกุลธร อย่างน้อย 3 ครั้ง วงเงิน 20 ล้านบาท
กองปราบปราม (บก.ป.) มีการขยายผลในเรื่องนี้ต่อ โดยอยู่ระหว่างสืบสาวหาต้นตอ ‘ผู้ให้สินบน’ คดีข้างต้น ความคืบหน้าขณะนี้ นายประสิทธิ์ และนายสุรกิจ ได้พ้นโทษออกจากเรือนจำ และถูกเรียกมาให้ปากคำเพิ่มเติมแก่ บก.ป. แล้ว โดยนายสุรกิจ ยืนยันว่าได้รับเช็คจากนายสกุลธรจริง ก่อนนำไปมอบต่อให้แก่นายประสิทธิ์ อย่างไรก็ดีขณะนี้ บก.ป. ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายสกุลธรแต่อย่างใด (อ่านประกอบ : ยันรับเช็คจาก‘สกุลธร’! อดีตนายหน้าให้ปากคำ บก.ป.คดีสินบนเช่าที่ สนง.ทรัพย์สินฯ)
เบื้องต้น เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกแถลงการณ์เป็นเอกสารข่าว (Press Release) ชี้แจงกรณีนี้ 3 หน้ากระดาษ โดยยืนยันความบริสุทธิ์ และตนเองตกเป็นผู้เสียหาย เพิ่งมาทราบทีหลังว่าเป็นเอกสารปลอม ที่ผ่านมาให้ความร่วมมือกับตำรวจสอบสวนเต็มที่จนจับผู้กระทำผิดได้ ส่วนการจ่ายเงินนั้น เป็นค่านายหน้าที่มีลักษณะเป็นที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นไปตามมาตรฐานสากลวิชาชีพ (อ่านประกอบ : รู้ทีหลังว่าเอกสารปลอม-ยันบริสุทธิ์! ‘สกุลธร’แจง 6 ข้อคดี จนท.สนง.ทรัพย์สินฯรับสินบน)
@กรมป่าไม้แจ้งความ บก.ปทส.กล่าวหา‘สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ’รุกป่า 450 ไร่
อีกกรณีคือนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร เป็นอีกหนึ่งบุคคลในครอบครัวซึ่งถูกตรวจสอบกรณีกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินป่าสงวนบริเวณ จ.ราชบุรี โดยเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมากรมป่าไม้ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) กล่าวหานางสมพรว่า บุกรุกที่ดินป่าสงวน 450 ไร่ และทำหนังสือแจ้งกรมที่ดินเพิกถอนที่ดิน น.ส.3 ก ของนางสมพรด้วยกว่า 2,000 ไร่
โดยที่ดินที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า 450 ไร่นั้น เป็นที่ดินประเภท น.ส.3 ก 55 ฉบับ ออกโดยไม่มีหลักฐานเดิม (ส.ค.1) ในพื้นที่เขตป่าไม้ถาวรหมานยเลข 85 ซึ่งประกาศใช้ก่อนที่จะมีการออก น.ส.3 ก ดังกล่าวได้ ทำให้เป็นเอกสารที่มิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงมีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่านางสมพร มีเจตนาครอบครองที่ดินประเภท น.ส.2 โดยซื้อเปลี่ยนมือจากบุคคลอื่น 7 แปลง เนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ ขณะเดียวกันยังครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 อีก 1 แปลง 90 ไร่ ซึ่งอาจได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย (อ่านประกอบ : กรมป่าไม้แจ้งความ บก.ปทส.กล่าวหา‘สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ’รุกป่าสงวน 450 ไร่)
ข้อมูลจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังมิได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวต่อสาธารณชนแต่อย่างใด
ทั้งหมดคือข้อกล่าวหาทั้งหมดที่ ‘ธนาธร-ครอบครัว’ กำลังเผชิญภายหลังกระโจนลงเล่นการเมืองเมื่อปี 2561 ขณะที่บางฝ่ายมองว่าเป็นการ ‘สกัดกั้น’ การลงเล่นการเมืองของนายธนาธรจาก ‘ผู้มีอำนาจรัฐ’
ต้องรอดูในปี 2564 ต่อไปว่า นายธนาธร และครอบครัวจะชี้แจงแก้ต่างข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างไร?
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายธนาธร และนางสมพร จาก https://www.thairath.co.th/, ภาพนายสกุลธร จาก https://www.thaihometown.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/