"...จากการตรวจสอบพบว่า ระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 จนถึง สิงหาคม 2562 รวมระยะเวลา 2 ปื 3 เดือน และไม่ได้จัดทำข้อบัญญัติงบประมาณเป็นค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย FREE WIFI แก่ประชาชนในพื้นที่ 11 อำเภอ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาประกันสัญญา รวมทั้งไม่มีการตำเนินการนำครุภัณฑ์ของระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI โดยเฉพาะกล่องเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง AP (Access Point) ที่ติตตั้งตามเสาไฟฟ้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์..จากการสอบถามประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI ทั้ง 11 อำเภอ จำนวน 83 คน พบว่า ระหว่างที่ อบจ.เชียงใหม่ เปิดสัญญาณ ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก สัญญาณ WIFI ของโครงการ จำนวน 79 คน จาก 83 คน คิดเป็นร้อยละ 95.18..."
"การบริหารจัดการระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI มีปัญหาไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.2560 จนถึง ส.ค.2562 รวมระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน และไม่ได้จัดทำข้อบัญญัติงบประมาณเป็นค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย แก่ประชาชนในพื้นที่ 11 อำเภอ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาประกันสัญญา รวมทั้งไม่มีการดำเนินการนำครุภัณฑ์ของระบบเครือข่าย โดยเฉพาะกล่องเครือข่ายที่ติดตั้งตามเสาไฟฟ้าไปใช้ให้เกิดปะโยชน์
ส่วนระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD สตง.ตรวจสอบพบว่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่เช่นกัน มีกล้องจำนวนกว่า 990 กล้อง ที่ไม่แสดงภาพบนจอโทรทัศน์ ขณะที่การติดตั้งกล้อง มีมุมมองทิศทางไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจนมีสิ่งกีดขวาง และไม่มีการบันทึกข้อมูลภาพย้องหลังจำนวน 130 ตัว และยังไม่มีแผนการดูแลบำรุงรักษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เพราะไม่ได้มอบหมายผู้รับผิดชอบและตรวจสอบระบบเป็นลายลักษณ์อักษร "
คือ ข้อมูลสำคัญที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบในการดำเนินงานโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI และระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD ในพื้นที่ 25 อำเภอ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ในช่วงปี 2559-2560 รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 190 ล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว (อ่านประกอบ : สตง.สอบ อบจ.เชียงใหม่ ถลุงงบ 190ล.! ติดตั้งระบบ FREE WIFI ไม่ได้ใช้ปย. 2 ปี 3 ด.)
คราวนี้ มาดูรายละเอียดผลการตรวจสอบโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI และระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD ที่ สตง. ตรวจสอบพบกันบ้าง?
สตง. ระบุว่า อบจ.เชียงใหม่ ดำเนินงานโครงการติตตั้งระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI และระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD ตั้งแต่ปีงบประมาณ พศ. 2559-2560
โดยในปี 2559 ใช้งบประมาณ 95,000,000 บาท ดำเนินการในพื้นที่ 11 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมเป็นการติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI จำนวน 820 จุด และติตตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD จำนวน 470 จุด
ส่วนปี 2560 ใช้งบประมาณ 95,000,000 บาท ดำเนินการในพื้นที่ 14 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมเป็นการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD จำนวน 520 จุด รวมงบประมาณทั้งสิ้น 190,000,000 บาท
ผลการตรวจสอบมีข้อตรวจพบ ดังนี้
@ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ
- ระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI
จากการตรวจสอบพบว่า ระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 จนถึง สิงหาคม 2562 รวมระยะเวลา 2 ปื 3 เดือน และไม่ได้จัดทำข้อบัญญัติงบประมาณเป็นค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย FREE WIFI แก่ประชาชนในพื้นที่ 11 อำเภอ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาประกันสัญญา
รวมทั้งไม่มีการตำเนินการนำครุภัณฑ์ของระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI โดยเฉพาะกล่องเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง AP (Access Point) ที่ติตตั้งตามเสาไฟฟ้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์
สำหรับระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI ที่ติดตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ 2559 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2559-24 พฤษภาคม 2560 จำนวน 11 อำเภอ 820 จุด งบประมาณ 12,376,000 บาท มีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ
จากการสอบถามประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI ทั้ง 11 อำเภอ จำนวน 83 คน พบว่า ระหว่างที่ อบจ.เชียงใหม่ เปิดสัญญาณ ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก สัญญาณ WIFI ของโครงการ จำนวน 79 คน จาก 83 คน คิดเป็นร้อยละ 95.18
- ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD
พบปัญหาไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดังนี้
1. ไม่แสดงภาพบนจอโทรทัศน์ (จอดับ) ดังนี้
- ศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด อบจ.เชียงใหม่
ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ไม่แสดงภาพบนจอโทรทัศน์ (จอดับ) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 จำนวน 23 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 92 จาก 25 อำเภอ จำนวน 409 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 41.31 จาก 990 กล้อง
- ศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดประจำอำเภอ จำนวน 25 อำเภอ
ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ไม่มีภาพแสดงบนจอโทรทัศน์ (จอดับ) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561-30 กรกฎาคม 2562 จำนวน 19 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 76 จาก 25 อำเภอ จำนวน 449 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 45.35 จาก 990 กล้อง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสังเกตการณ์การแสดงภาพบนจอโทรทัศน์ ณ ศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดประจำอำเภอ และจุดติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จำนวน 25 อำเภอ ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561-30 กรกฎาคม 2562 พบว่า ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD ส่งสัญญาณภาพแสดงบนจอโทรทัศน์มีมุมมอง ทิศทางไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจน มีสิ่งกีดขวางบดบังมุมมอง และไม่มีการบันทึกข้อมูลภาพย้อนหลัง จำนวน 310 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 31.31 จาก 990 กล้อง
นอกจากนี้ ยังมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดติดตั้งในมุมมองและทิศทางไม่เหมาะสม ทำให้ภาพที่แสดงบนหน้าจอโทรทัศน์มีมุมมองที่แคบ ไม่แสดงภาพรวมของพื้นที่ และรายละเอียดของสิ่งที่ผ่านหน้ากล้องโทรทัศน์วงจรปิดได้อย่างชัดเจน จำนวน 109 กล้อง จากจำนวนกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีปัญหาการแสดงภาพบนจอโทรทัศน์ ทั้งสิ้น 310 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 35.16 , กล้องโทรทัศน์วงจรปิดแสดงภาพบนจอโทรทัศน์ไม่ชัดเจน เช่น มีภาพพล่ามัว ไม่คมชัด รวมทั้งเวลากลางคืนภาพไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างหรือไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอ จำนวน 144 กล้อง จากจำนวนกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีปัญหาการแสดงภาพบนจอโทรทัศน์ ทั้งสิ้น 310 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 46.45 , กล้องโทรทัศน์วงจรปิดมีสิ่งกีดขวางบดบังมุมมอง เช่น กิ่งไม้ แมลง สายไฟ สายเคเบิ้ล ป้ายโฆษณา ป้ายสถานที่ และเสาไฟ เป็นต้น จำนวน 104 กล้อง จากจำนวนกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีปัญหาการแสดงภาพบนจอโทรทัศน์ 310 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 33.55
สตง. ยังตรวจสอบพบปัญหากรณีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไม่มีการบันทึกข้อมูลภาพย้อนหลัง ของอำเภอเชียงดาว จำนวน 50 กล้อง จากจำนวนกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีปัญหาการแสดงภาพบนจอโทรทัศน์ 310 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 16.13 และจอแสดงภาพ (โทรทัศน์) ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ จำนวน 34 เครื่อง จำนวนเงิน 1,180,00 บาท โดยศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด อบจ.เชียงใหม่ 30 เครื่อง และศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดประจำอำเภอ จำนวน 4 เครื่อง ได้แก่ อำเภอดอยสะเก็ด แม่อาย กัลป์ยาณิวัฒนา และอำเภอหางดง
2. การควบคุมดูแลบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด
- ไม่มีแผนการดูแลบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด และการดูแลบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) อบจ.เชียงใหม่ไม่มีแผนการดูแลบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และดูแลบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดล่าช้า (2) ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 อบจ.เชียงใหม่ ควบคุมดูแลบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในระยะประกันความบกพร่องไม่รัดกุม และไม่มีการแผนการดูแลบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ.2560
- การบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด กรณีครุภัณฑ์ชำรุด จากการตรวจสอบการซ่อมแชมบำรุงรักษาครุภัณฑ์ชำรุด พบว่า มีครุภัณฑ์ทั้งสิ้น 21 ประเภท มีชำรุด 7 ประเภท
- อบจ.เชียงใหม่ ไม่ได้มอบหมายผู้รับผิดชอบและตรวจสอบระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเป็นลายลักษณ์อักษร
- อบจ.เชียงใหม่ ควบคุมครุภัณฑ์ของโครงการไม่รัดกุม จากการตรวจสอบการควบคุมครุภัณฑ์ของโครงการ พบว่า ครุภัณฑ์บางประเภทของโครงการมีให้ตรวจสอบ ไม่ครบถ้วน
โดยครุภัณฑ์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำนวน 21 ประเภท 2,496 รายการ ไม่มีให้ตรวจสอบจำนวน 106 รายการ และครุภัณฑ์ประจำงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 13 ประเภท 1,803 รายการ ไม่มีให้ตรวจสอบจำนวน 18 รายการ
@ สถานที่ตั้งศูนย์ควบคุมและการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไม่เหมาะสม
จากการตรวจสอบเอกสารและสังเกตการณ์ ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2561-6 สิงหาคม 2562 ของศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดองค์การบริหารส่วนจังหวัดและศูนย์ควบคุมประจำอำเภอ 24 แห่ง การติดตั้งกล้อง 990 กล้อง
พบว่า สถานที่ติดตั้งศูนย์ควบคุมและการติดตั้งกล้องไม่เหมาะสม ดังนี้
1. สถานที่ตั้งศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ดังนี้
- ศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด อบจ.เชียงใหม่เพื่อควบคุมสั่งการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของศูนย์ควบคุมอำเภอเมือง และอำเภออื่น ๆ จำนวน 24 แห่ง ตั้งอยู่ในฝ่ายสาธารณภัยและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้แยกเป็นสัดส่วน และจอแสดงภาพไม่ได้ติดตั้งในห้องเดียวกันกับอุปกรณ์อื่น
- ศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดประจำอำเภอ จำนวน 24 แห่ง สถานที่ตั้งศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดประจำอำเกอไม่เหมาะสม จำนวน 12 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50 โดยเป็นห้องที่ไม่มั่นคง ปลอดภัย คับแคบ ไม่มีระบบการควบคุมบุคคลเข้า-ออก จำนวน 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 45.83 และเป็นห้องที่ใช้ปฏิบัติงานร่วมกับงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่แยกเฉพาะเป็นสัดส่วน จำนวน 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 37.50
2. การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดช้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นและซ้ำซ้อนกันเอง
- ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ โดยติดตั้งบริเวณเดียวกันมีทิศทางมุมมองกล้องทางเดียวกัน และปรากฎภาพเดียวกันหรือเหลื่อมทับกันบนหน้าจอโทรทัศน์ จำนวน 19 อำเภอ จำนวน 127 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 12.83 ของกล้อง 990 กล้อง
-ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดมีมุมมองและทิศทางซ้ำช้อนกันเอง โดยกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแสดงภาพบนจอโทรทัศน์ จำนวน 680 กล้อง จากทั้งหมด 990 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 68.69 พบว่า มีมุมมองและทิศทางซ้ำซ้อนกันเอง จำนวน 50 กล้อง คิดเป็นร้อยละ 7.35
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายกฯ อบจ.เชียงใหม่ ควบคุมกำกับดูแลการดำเนินของเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บังคับบัญชาแต่ละระดับชั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาให้ระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI และระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD ใช้งานได้เต็มศักยภาพคุมค่ากับงบประมาณที่ใช้จ่ายไปให้มากที่สุดแล้ว
ส่วนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการติตตั้งระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI และระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD มีรายละเอียดเป็นอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา จะติดตามนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบในโอกาสต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/