“...ลูกหนี้กองทุนฯ ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญา กองทุนอนุมัติเงินทุนหมุนเวียนให้กลุ่มสตรีกู้ยืม เพียงวันที่ 30 กันยายน 2558 จำนวน 1,365 สัญญา เป็นต้นเงินกู้จำนวน 77,627,664.00 บาท และมีลูกหนี้ค้างชำระ จำนวน 587 สัญญา คิดเป็นร้อยละ 43.00 ของสัญญาทั้งหมด เป็นต้นเงินกู้จำนวน 18,412,390.00 บาท และจากการสุ่มตรวจสอบลูกหนี้กองทุนฯ จำนวน 282 สัญญา เป็นต้นเงินกู้ 17,483,216.00 บาท มีต้นเงินกู้ค้างชำระ จำนวน 5,890,439.00 บาท รวม 180 สัญญา คิดเป็นร้อยละ 63.83 ของสัญญาที่สุ่มตรวจสอบ และยังพบว่าในจำนวน 180 สัญญา ที่เป็นหนี้ค้างชำระนั้นเป็นสัญญาที่สิ้นสุดสัญญาแล้ว จำนวน 104 สัญญา คิดเป็นร้อยละ 36.88 ของสัญญาที่สุ่มตรวจสอบ เป็นต้นเงินกู้ 3,295,607.00 บาท เนื่องจากลูกหนี้ไม่นำเงินกองทุนไปใช้จ่ายตามแผนงานโครงการที่เสนอจึงไม่เกิดรายได้และไม่มีการติดตามทวงถามลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนางนิตยา นามปัญญา ถูกสวมสิทธิในการกู้ยืมเงิน จำนวน 140,000.00 บาท...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 41 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดมุกดาหาร กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
@ การบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดมุกดาหาร กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินการภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 และแก้ไขเพิ่มเติม อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (คกส.) มุ่งเน้นเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับสตรีในการลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นเงินทุน ส่งเสริมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสตรี การเพิ่มองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพสตรี
ต่อมา วันที่ 19 เมษายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ควบรวมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สำนัก เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เข้าเป็นทุนหมุนเวียนเดียวกัน สังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยให้มีผลเป็นการโอนทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพัน สิทธิ หน้าที่ พนักงานและลูกจ้างของทุนหมุนเวียนเดิมไปเป็นของกองทุนหมุนเวียนใหม่ ให้การบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารเงินทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 และข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีว่าด้วยการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2559
สำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (สกพส.) ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 7,120.00 ล้านบาท (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) เพื่อนำไปจัดสรรให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดมุกดาหาร ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวนเงิน 70 ล้านบาท
เพียงวันที่ 30 กันยายน 2558 คกส.จ.มุกดาหาร ได้อนุมัติเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 1,365 โครงการ เป็นเงิน 77,627,664 บาท และเงินอุดหนุน จำนวน 165 โครงการ เป็นเงิน 13,529,574.00 บาท จากการตรวจสอบผลการดำเนินการตามโครงการ พบว่า มีประเด็นข้อตรวจพบ จำนวน 2 ประเด็น และข้อสังเกตจากการตรวจสอบ จำนวน 7 ข้อ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การบริหารจัดการกองทุนยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์
1.1 กลุ่มสตรีส่วนใหญ่ไม่นำเงินกองทุนไปดำเนินการตามโครงการที่ขอรับการสนับสนุนสมาชิกกองทุนต้องนำเงินกองทุนไปดำเนินการตามแผนงานโครงการที่เสนอ เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ หรือสวัสดิการให้แก่สตรี และพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี สร้างภาวะผู้นำ พัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาสตรี รวมทั้งต้องนำผลประกอบการจากการดำเนินงานมาชำระหนี้คืนกองทุนต่อไป
จากการตรวจสอบกลุ่มสตรีที่ได้รับเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 282 โครงการ เป็นเงินจำนวน 17,483,216.00 บาท พบว่า กลุ่มสตรีไม่นำเงินกองทุนไปใช้จ่ายตามแผนงานโครงการที่เสนอ ทำให้ไม่เกิดรายได้ จำนวน 168 โครงการ และดำเนินการใช้จ่ายเงินตามแผนงาน จำนวน 114 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 59.57 และ 40.43 ของโครงการที่ตรวจสอบตามลำดับ ซึ่งในจำนวน 114 โครงการ และมีเพียง 48 โครงการ ที่กลุ่มสตรีนำรายได้หรือผลประกอบการจากการนำเงินกองทุนไปดำเนินการมาชำระหนี้กองทุน เนื่องจากกลุ่มสตรีต้องการนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือในครัวเรือนเท่านั้น และ คกส.จ. อนุมัติเงินน้อยกว่าที่กลุ่มขอรับการสนับสนุน ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนกองทุนตามสัญญาได้
จากการตรวจสอบการนำเงินอุดหนุนไปใช้จ่ายของกลุ่มสตรี จำนวน 106 โครงการ เป็นเงินจำนวน 10,274,345.00 บาท พบว่า มีกลุ่มสตรี จำนวน 4 กลุ่ม เป็นเงิน 620,000.00 บาท ไม่นำเงินอุดหนุนไปใช้จ่ายตามแผนงานโครงการที่เสนอและดำเนินงานนอกพื้นที่ตั้งหรือที่อยู่ของสมาชิก สาเหตุเนื่องจากกลุ่มสตรีมุ่งที่ใช้จ่ายเงินอย่างเดียวโดยไม่ให้ความสำคัญในการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบที่กองทุนกำหนด อาจทำให้การพัฒนาสตรียังไม่เต็มประสิทธิภาพในทุกด้าน
1.2 สมาชิกกองทุนไม่ได้รับสวัสดิการจากกองทุน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมุกดาหารยังไม่สามารถจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับสมาชิกได้ตามวัตถุประสงค์โครงการ เนื่องจากกองทุนไม่มีรายได้เพียงพอที่ดำเนินการ
1.3 การใช้จ่ายเงินอุดหนุนไม่สามารถประเมินผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้
จากการตรวจสอบโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุน พบว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ให้ทราบถึงความสำเร็จของการใช้จ่ายเงินอุดหนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากไม่มีการจัดทำรายละเอียดการดำเนินการโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรการฝึกอบรม แนวทาง ขั้นตอน วิธีการดำเนินการที่ชัดเจน การติดตามประเมินผล เพื่อทราบว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่
ข้อตรวจพบที่ 2 การบริหารจัดการกองทุนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์/ระเบียบ ที่กองทุนกำหนด
2.1 ลูกหนี้กองทุนไม่ชำระหนี้ตามสัญญา
2.1.1 ลูกหนี้กองทุนฯ ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญา กองทุนอนุมัติเงินทุนหมุนเวียนให้กลุ่มสตรีกู้ยืม เพียงวันที่ 30 กันยายน 2558 จำนวน 1,365 สัญญา เป็นต้นเงินกู้จำนวน 77,627,664.00 บาท และมีลูกหนี้ค้างชำระ จำนวน 587 สัญญา คิดเป็นร้อยละ 43.00 ของสัญญาทั้งหมด เป็นต้นเงินกู้จำนวน 18,412,390.00 บาท และจากการสุ่มตรวจสอบลูกหนี้กองทุนฯ จำนวน 282 สัญญา เป็นต้นเงินกู้ 17,483,216.00 บาท มีต้นเงินกู้ค้างชำระ จำนวน 5,890,439.00 บาท รวม 180 สัญญา คิดเป็นร้อยละ 63.83 ของสัญญาที่สุ่มตรวจสอบ และยังพบว่าในจำนวน 180 สัญญา ที่เป็นหนี้ค้างชำระนั้นเป็นสัญญาที่สิ้นสุดสัญญาแล้ว จำนวน 104 สัญญา คิดเป็นร้อยละ 36.88 ของสัญญาที่สุ่มตรวจสอบ เป็นต้นเงินกู้ 3,295,607.00 บาท เนื่องจากลูกหนี้ไม่นำเงินกองทุนไปใช้จ่ายตามแผนงานโครงการที่เสนอจึงไม่เกิดรายได้และไม่มีการติดตามทวงถามลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนางนิตยา นามปัญญา ถูกสวมสิทธิในการกู้ยืมเงิน จำนวน 140,000.00 บาท
2.1.2 ลูกหนี้กองทุนค้างชำระดอกเบี้ยผิดนัดหรือเบี้ยปรับตามสัญญา
จากการสุ่มตรวจสอบการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่สิ้นสุดสัญญาและไม่มีหนี้ ค้างชำระกับกองทุน ของ คกส.ต. จำนวน 53 แห่ง พบว่า มี คกส.ต. จำนวน 30 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 56.60 ของ คกส.ต.ที่ตรวจสอบทั้งหมด ที่ลูกหนี้ไม่ชำระดอกเบี้ยผิดนัดหรือเบี้ยปรับตามสัญญา เนื่องจากเจ้าหน้าที่กองทุนขาดความรู้ความเข้าใจในการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดจึงไม่ได้มีการทวงหนี้ ส่งผลให้กองทุนเสียโอกาสในการเพิ่มเงินทุนของกองทุน
2.2 การจัดทำเอกสาร ทะเบียน และรายงานต่าง ๆ ของกองทุนไม่ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ดังนี้
2.2.1 กลุ่มสตรี/องค์กรสตรี
จากการสัมภาษณ์กลุ่มสตรีที่รับเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 282 กลุ่ม เป็นเงิน จำนวน 17,483,216.00 บาท และกลุ่มสตรี/องค์กรสตรี ที่รับเงินอุดหนุน จำนวน 106 กลุ่ม เป็นเงิน จำนวน 10,274,345.00 บาท พบว่า
1) กลุ่มสตรี /องค์กรสตรี ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกใบสำคัญรับเงินให้กับ คกส.ต. สำหรับการรายงานผลการดำเนินการตามแบบ กส.3/1 และ กส.3/2 พบว่า กลุ่มสตรี/องค์กรสตรี รายงานผลเฉพาะในปี พ.ศ. 2557 สำหรับปี พ.ศ.2558 ไม่ได้รายงานผล
2) การใช้จ่ายเงินอุดหนุน พบว่า ทุกโครงการที่สุ่มตรวจสอบไม่ได้ดำเนินการจัดหาวัสดุ/ครุภัณฑ์ ตามระเบียบและคู่มือกำหนด
สาเหตุเนื่องจากกลุ่มสตรีไม่ทราบหลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติในการจัดหาวัสดุ/ครุภัณฑ์ และการจัดทำเอกสาร รายงานต่าง ๆ ทำให้กองทุนฯ ไม่ทราบสถานะดำเนินงานที่แท้จริงกลุ่มสตรี/องค์กรสตรี และอาจมีการใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบ
2.2.2 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล (คกส.ต.)
จากการตรวจสอบการจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่าง ๆ จำนวน 10 รายการ ของ คกส.ต. จำนวน 53 แห่ง พบว่า ไม่มี คกส.ต. ใดจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียน ต่าง ๆ ได้ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน สาเหตุเนื่องจาก คกส.ต.ขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่างๆ และ คกส.จ. ไม่มีการติดตามผลการดำเนินการของ คกส.ต. อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเป็นปัญหาสะสมค้างนานยากต่อการแก้ไข และทำให้เกิดการทุจริตของ คกส.ต. โดยนำเงินไปใช้ส่วนตัว จำนวน 6 แห่ง เป็นเงิน 1,107,969.00 บาท
2.2.3 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด (คกส.จ.)
จากการตรวจสอบการจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่าง ของ คกส.จ. จำนวน 32 รายการ ปรากฏว่า คกส.จ. มีการจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่าง ๆ เพียง 8 รายการ และไม่ได้จัดทำหรือจัดทำแต่ไม่ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน จำนวน 24 รายการ เช่น ทะเบียนคุมเงินฝากธนาคารและทะเบียนคุมเงินกองทุน ยังไม่สามารถระบุรายการรับ-จ่ายได้ทุก รายการ งบรายได้ค่าใช้จ่ายและงบแสดงฐานะการเงินประจำปี 2558 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากบันทึกยอด เบิกจ่ายเงินอุดหนุนสูงไป จำนวน 50,000.00 บาท เป็นต้น สาเหตุเนื่องจากเจ้าหน้าที่ของกองทุนขาด ความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการ และ คกส.จ. ไม่กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที
2.2.4. คณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานจังหวัด
คณะกรรมการติดตามและสนับสนุนฯ ได้มีการติดตามการดำเนินงานของกลุ่มสตรีเฉพาะในปี พ.ศ. 2556 สำหรับปี พ.ศ.2557-2558 ไม่มีการติดตามเนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ สำหรับการรายงานผลการดำเนินงาน รายงานการเงิน ของ คกส.จ. คกส.ต และการรายงานผล ตามแบบ กส.5/1 และ กส.5/2 เจ้าหน้าที่กองทุน ให้ข้อมูลว่าไม่มีการรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการประเมินผลทราบแต่อย่างใด
ผลจากการควบรวมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทำให้คณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานจังหวัดได้ยุติบทบาทลงตามหนังสือกรมการพัฒนาชุมชน ที่ มท 0416.2/ว1293 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2559 จึงเห็นควรยุติการออกรายงานเกี่ยวกับคณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานจังหวัด
ข้อสังเกต จากการตรวจสอบแยกตามการดำเนินการในแต่ระดับ ดังนี้
กลุ่มสตรี/องค์กรสตรี
1. กลุ่มสตรี/องค์กรสตรี ที่ได้รับเงินอุดหนุนและมีการเบิกเงินจ่ายแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานการจ่าย ให้ตรวจสอบหรือมีแต่ไม่ครบถ้วน จำนวน 71 โครงการ เป็นเงินจำนวน 4,668,190.00 บาท
2. กลุ่มสตรีมีการใช้จ่ายเงินอุดหนุนบางรายการไม่เหมาะสม จำนวน 4 โครงการ เป็นเงิน 48,800.00 บาท
3. กลุ่มสตรีมีการใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามแผนงานโครงการเสร็จสิ้นแล้วมีเงินเหลือจ่าย แต่ไม่นำเงินเหลือจ่ายส่งคืนกองทุน จำนวน 1 โครงการ เป็นเงินจำนวน 30,280.00 บาท
4. กลุ่มสตรีมีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนสูงกว่าความเป็นจริง จำนวน 1 โครงการ เป็นเงิน จำนวน 37,500.00 บาท
คกส.ต.
5. ประธาน คกส.ต. ได้นำเงินกองทุนไปใช้จ่ายส่วนตัว จำนวน 6 แห่ง เป็นเงิน 1,107,969.00 บาท สำหรับผลการตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะรายงานเฉพาะเรื่องให้ทราบต่อไป
คสก.จ.
6. คกส.จ. อนุมัติโครงการเงินอุดหนุนโดยมีรายละเอียดการใช้จ่ายเงินเข้าลักษณะเป็นเงินทุน หมุนเวียน จำนวน 8 โครงการ เป็นเงิน 335,300.00 บาท
7. คกส.จ. เบิกจ่ายงบบริหารงานของกองทุน จำนวน 420,000.00 บาท แต่ไม่มีหลักฐานการจ่าย ให้ตรวจสอบ
ข้อเสนอแนะ ให้ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด ดำเนินการดังนี้
1. ในโอกาสต่อไปการพิจารณาอนุมัติเงินทุนหมุนเวียน สั่งการให้คณะอนุกรรมการบริหาร กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและติดตามการดำเนินงาน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอ ผู้ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติ และตรวจสอบ กลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้ถือปฏิบัติตาม ระเบียบ คู่มือ ข้อบังคับ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งความพร้อมในการดำเนินกิจการของผู้เสนอโครงการ มีผู้ผลิตพร้อม ดำเนินการ มีสถานที่ประกอบการสินค้า/รูปแบบบริการชัดเจน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ คืนกองทุน เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้และเป็นการใช้จ่าย งบประมาณคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
2. ในโอกาสต่อไปการพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุน สั่งการให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุน พัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและติดตามการดำเนินงานกองทุนพัฒนา บทบาทสตรีอำเภอ ผู้ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติ และตรวจสอบ กลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุน เงินอุดหนุน ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ คู่มือ ข้อบังคับ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด โดยให้ พิจารณาอนุมัติโครงการเงินอุดหนุนที่ตอบสนองตามวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นสำคัญ และให้มีการติดตามประเมินผลผู้เข้ารับการส่งเสริมว่ามีการพัฒนาความรู้และศักยภาพสตรี รวมทั้งให้พิจารณาความคุ้มค่า ครอบคลุมทุกพื้นที่มิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการได้รับอนุมัติเงินจากกองทุนเพื่อให้ปัญหาสตรี ได้รับการแก้ไขในภาพรวมต่อไปและเป็นการใช้งบประมาณที่เกิดประโยชน์สูงสุด
3. สั่งการให้คณะอนุกรรมการและคณะทำงานทุกระดับ ควบคุม กำกับ และติดตามดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุนทั้งสองประเภทอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งกลุ่มสตรี/องค์กรสตรีที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ คู่มือ หนังสือสั่งการโดยเคร่งครัดต่อไป เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดมุกดาหาร
4. สั่งกำชับบุคลากรและเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ที่เกี่ยวข้องทุกระดับให้ศึกษาและทำความเข้าใจ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการชำระหนี้คืน หลักเกณฑ์การคิดคำนวณดอกเบี้ย ดอกเบี้ยผิดนัดสัญญา เบี้ยปรับ การจัดทำฐานข้อมูลลูกหนี้ หนังสือ สัญญากู้เงิน รายละเอียดแนบท้ายสัญญา การจัดทำบัญชี และทะเบียนคุมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการกองทุนฯ ให้ครบถ้วน ถูกต้องเป็นปัจจุบัน
5. เร่งรัดให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด คณะอนุกรรมการ กลั่นกรองและติดตามการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอ ดำเนินการเร่งรัดติดตามลูกหนี้ ที่ค้างชำระโดยด่วนเพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญา รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบการจัดทำสัญญากู้เงินทุกราย หากพบว่าสัญญากู้สูญหายหรือไม่ได้จัดทำสัญญากู้เงินกับผู้กู้รายใด ให้ดำเนินการตามหนังสือกรมการพัฒนาชุมชน ด่วนมาก ที่ มท 0416.4/ว1717 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยเคร่งครัดต่อไป
6. ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการกู้เงินของนางนิตยา นามปัญญา เพื่อทราบถึงรายละเอียด การกู้ยืมเงินว่าเป็นไปตามขั้นตอน/วิธีการที่กองทุนกำหนดฯ ไว้หรือไม่ รวมทั้งหาผู้รับผิดชอบหนี้เงินกู้ ของกองทุนจำนวน 140,000.00 บาท ซึ่งปัจจุบันเป็นหนี้ค้างชำระทั้งจำนวน และหากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายให้ดำเนินการตามควรแก่กรณีกับแก่ผู้กระทำผิดต่อไป
7. ในโอกาสต่อไป ให้กำชับกลุ่มสตรี/องค์กรสตรี ที่ได้รับเงินจากกองทุนให้ดำเนินการจัดทำเอกสาร รายงานต่าง ๆ รวมทั้งในการจัดหาวัสดุ/ครุภัณฑ์ ให้ดำเนินการจัดหาตามระเบียบ คู่มือ หรือหนังสือสั่งการ โดยเคร่งครัดเพื่อให้การบริหารงานกองทุนมีประสิทธิภาพสูงสุด และหากพบการไม่ดำเนินการตามระเบียบ คู่มือ หรือหนังสือสั่งการ ให้พิจารณาระงับการสนับสนุนเงินกองทุนในครั้งต่อไป
8. เร่งรัด คกส.ต. ให้ดำเนินการจัดทำทะเบียนและรายงานต่าง ๆ ให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน โดยเร็ว เพื่อให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีใหม่สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำชับ คณะอนุกรรมการ/คณะทำงาน และเจ้าหน้าที่ที่จะรับผิดชอบในการจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่าง ๆ ในระดับตำบล/อำเภอ ดำเนินการจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่าง ๆ ให้ เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หนังสือสั่งการโดยเคร่งครัดในโอกาสต่อไป
9. เร่งรัดเจ้าหน้าที่กองทุนให้ดำเนินการจัดทำเอกสาร ทะเบียน และรายงานต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบันโดยด่วน เพื่อให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีใหม่สามารถดำเนินงานได้ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่กองทุนได้รับการพัฒนาความรู้ในด้านการจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้กองทุนสามารถบริหารงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป
10. ให้พิจารณาเงินรายได้ของกองทุนที่จัดสรรให้ คกส.ต. ร้อยละ 30 ที่กองทุนยังไม่จ่าย ว่ายังสามารถเบิกจ่ายให้ คกส.ต. ได้หรือไม่อย่างไร หากสามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ ให้รีบดำเนินเบิกจ่ายให้ คกส.ต. โดยด่วน และหรือดำเนินการตามระเบียบ ข้อบังคับ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องต่อไป
11. ให้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทุกโครงการ หากพบว่า มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบ คู่มือ ข้อบังคับ หรือหนังสือสั่งการ โดยไม่มีหลักฐานการจ่ายให้ตรวจสอบ หรือมีการใช้จ่ายเงินไม่เหมาะสม หรือมีเงินเหลือจ่ายแต่ยังไม่นำส่งคืนกองทุนฯ ให้ดำเนินการหาผู้รับผิดชอบชดใช้คืนเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดมุกดาหารต่อไป
12. ให้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนกรณีมีการอนุมัติโครงการเงินอุดหนุนแต่มีลักษณะเป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 8 โครงการ เป็นเงิน 335,300.00 บาท กับผู้อนุมัติโครงการในการพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนดังกล่าวและเรียกเงิน จำนวน 335,300.00 บาท ส่งคืนแก่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดมุกดาหารและดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณีต่อไป
13. กรณีมีเงินเหลือจ่าย จำนวน 30,280.00 บาท และเงินที่เบิกสูงกว่าความเป็นจริง จำนวน 37,500.00 บาท ให้พิจารณาดำเนินการหาผู้รับผิดชอบชดใช้เงินคืนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดมุกดาหารต่อไป
14. ให้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการใช้จ่ายเงินงบบริหารกองทุน จำนวน 420,000.00 บาท หากพบว่ามีการเบิกจ่ายที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือหนังสือสั่งการ และไม่มีหลักฐานการจ่ายให้ตรวจสอบ ให้หาผู้รับผิดชอบชดใช้เงินคืนกองทุนต่อไป พร้อมดำเนินการตามควรแก่กรณีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และในโอกาสต่อไปให้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินให้ถือ ปฏิบัติตามระเบียบโดยเคร่งครัดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทางราชการ
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(27) ตรวจสอบการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(28) ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สทบ. เสี่ยงล้มเหลว-ขาดศักยภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(29) ตรวจสอบระบบจัดการขยะ จ.เชียงราย ไม่เป็นระบบ-ขาดประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(30) โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.แพร่ แจกปัจจัยเกินจำเป็น-ไม่สอดคล้องหลักการ
เปิดกรุผลสอบสตง.(31) ปศุสัตว์ปลอดภัย จ.พะเยา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(32) การแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.ร้อยเอ็ด ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(33) แผนพัฒนาเกษตรบรรเทาแล้งศรีสะเกษ เสียหาย-บริหารต่อไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(34) อบจ.อุดรฯ ซื้อผ้าห่มแจกต้านภัยหนาวปี57 แพงกว่าราคาตลาด
เปิดกรุผลสอบสตง.(35) อบจ.ชลบุรี ติดกล้องวงจรปิดปี52-59 ใช้งานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(36) การเช่าที่ราชพัสดุ สนง.ธนารักษ์ขอนแก่น ผิดกม.-ไม่เป็นไปตามระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(37) การคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ล่าช้า-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(38) พัฒนาท่องเที่ยวสู่อาเซียนพัทลุง เบิกจ่ายผิดระเบียบ-ไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(39) สนง.พัฒนาที่ดินโคราช ขุดแหล่งน้ำผิดระเบียบ-ใช้ประโยชน์ไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(40) เครื่องมือตรวจอากาศกรมอุตุฯ ชำรุด - ใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/