“...กองทุนหมู่บ้านหยุดดำเนินกิจกรรมหรือหยุดปล่อยกู้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลว และอาจมีปัญหาหนี้สูญ จำนวน 154 กองทุน ในจำนวนนี้ หยุดดำเนินกิจกรรมจำนวน 145 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 94.16 และหยุดการปล่อยกู้ จำนวน 9 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.84 โดยกองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ล้วนประสบปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีซึ่งยังไม่สามารถติดตามทวงถาม หรือแก้ไขปัญหาได้ จำนวน 127.52 ล้านบาท ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นหนี้สูญ...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 28 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
@ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2558 จำนวนทั้งสิ้น 79,255 กองทุน โดยแหล่งเงินทุนหลักมาจากเงินที่รัฐบาล จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านกองทุนละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 79,255 ล้านบาท เงินเพิ่มทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านที่มีผลการประเมินศักยภาพการบริหารจัดการอยู่ ในระดับดี (AAA) ปี พ.ศ. 2546–2547 (เงินเพิ่มทุนระยะที่ 1) รวมเป็นเงิน 2,324.70 ล้านบาท เพิ่มทุนระยะที่ 2 ให้กับกองทุนหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2552–2555 จำนวนเงินเป้าหมายเพิ่มทุน 19,559.20 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้สนับสนุนเงินเพิ่มทนุภายใต้โครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระยะที่ 3 มีเป้าหมายเพิ่มทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านเป็นเงิน 79,255 ล้านบาท
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นนโยบายที่ดีและสำคัญ โดยรัฐบาลได้มีการจัดสรร งบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หากการดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับเศรษฐกิจฐานรากเป็นอย่างมาก และทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเกิดความคุ้มค่า แต่จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พบว่า การดำเนินงานของ สทบ. ยังไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาที่สำคัญคือ ปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี ซึ่งปัญหามีแนวโน้มที่จะเพิ่มหรือแผ่ขยายมากขึ้น รวมถึงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการควบคุมทางด้านการเงินและบัญชี
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ตรวจสอบผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2559 หลังจากที่มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและมีผลการดำเนินงานผ่านไปแล้วประมาณ 14 ปี โดยสุ่มตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบัน การเงินชุมชน จำนวน 450 กองทุน จาก 15 จังหวัด ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติสาขา จำนวน 9 สาขา ผลการตรวจสอบพบว่า กองทุนหมู่บ้านในแต่ละสถานภาพยังประสบปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า มีกองทุนหมู่บ้านจำนวนมากหยุดดำเนินกิจกรรม หรือคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านไม่สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหา ปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีได้ และยังมีจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบควบคุมการดำเนินงาน รวมถึงการจัดทำหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชี โดยผลการตรวจสอบมี 3 ข้อตรวจพบ และมี 2 ข้อสังเกต สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 กองทุนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ (กองทุนหมู่บ้านที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันการเงินชุมชน) ประสบปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี ในบัญชีที่ 1 บางกองทุนหมู่บ้านหยุดดำเนินกิจกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลวหรืออาจเกิดปัญหาหนี้สูญ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือ เงินขาดบัญชีในบัญชีอื่นๆ
ในปีงบประมาณ 2549 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน โดยสุ่มตัวอย่างกองทุนหมู่บ้านครอบคลุมใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 450 กองทุน จาก 15 จังหวัด ผลการตรวจสอบพบประเด็นปัญหาสำคัญที่จะมีผลต่อความสำเร็จและยั่งยืนของกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายของรัฐบาล คือ “ปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี” โดยกองทุน หมู่บ้าน จำนวน 225 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 50.00 ของจำนวนกองทุนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ มีปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี เป็นเงินทั้งสิ้น 83.39 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.53 ของเงินกองทุนที่จัดสรร และในจำนวนนี้มีกองทุนที่เงินขาดบัญชี จำนวน 23 กองทุน เป็นเงินประมาณ 5.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.12 ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปีแรกที่สมาชิกต้องชำระคืนเงินกู้คือ ปี พ.ศ. 2545 และมียอดหนี้ค้างชำระสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี
ในปีงบประมาณ 2553 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน โดยสุ่มตรวจสอบกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 444 กองทุน ใน 13 จังหวัด แยกตามสถานภาพกองทุนหมู่บ้าน ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันการเงินชุมชน โดยในบัญชีที่ 1 พบว่า กองทุนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีรวมทั้งสิ้น 258 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 58.11 ของกองทุนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 112.34 ล้านบาท โดยแยกเป็นหนี้ค้างชำระ 241 กองทุน จำนวนเงิน 98.02 ล้านบาท และเงินขาดบัญชี 79 กองทุน จำนวนเงิน 14.32 ล้านบาท ขณะที่แต่ละสถานภาพกองทุน ทั้งกองทุน หมู่บ้านที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันการเงินชุมชน ต่างประสบปัญหาหนี้ค้างชำระ และ/หรือเงินขาดบัญชี บางกองทุนมีวงเงินหนี้ค้างชำระหมดทั้งกองทุน โดยมีกองทุนหมู่บ้านร้อยละ 23.20 ประสบความล้มเหลวหรือมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลว
ในปีงบประมาณ 2559 หลังจากที่มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านประมาณ 14 ปี สำนักงานการตรวจเงินแผน่ดินได้ตรวจสอบการดำเนินงานกองทนุหมู่บ้าน โดยสุ่มตรวจสอบกองทุนหมู่บ้าน ใน 15 จังหวัด แยกตามสถานภาพกองทุนหมู่บ้าน ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นนิติบุคคล และเป็น สถาบันการเงินชุมชน สถานภาพละ 150 กองทุน รวมจำนวน 450 กองทุน ผลการตรวจสอบพบว่า
1. กองทุนหมู่บ้านยังมีปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีในบัญชีที่ 1 เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกองทุนชุมชนเมือง
2. กองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบระยะเวลาการค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีที่ชัดเจน บางกองทุนหมู่บ้านที่ทราบระยะเวลาฯ ที่ชัดเจน มีระยะเวลาการค้างชำระหนี้และ/หรือเงิน ขาดบัญชีไม่น้อยกว่า 2 ปี จนถึง 14 ปี จากจำนวนกองทุนหมู่บ้านที่มีปัญหาหนี้ค้างชำระ 229 กองทุน พบว่า ไม่ทราบระยะเวลาการค้างชำระที่ชัดเจน จำนวน 150 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.50 และมี จำนวน 79 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.50 ที่ทราบระยะเวลาการค้างชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยมีการค้างชำระหนี้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จนถึง 14 ปี กองทุนหมู่บ้านที่ประสบปัญหาเงินขาดบัญชี จำนวน 99 กองทุน พบว่า ไม่ทราบระยะเวลาการขาดบัญชีที่ชัดเจน จำนวน 74 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 74.75 และกองทุนหมู่บ้านมีปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี แต่ไม่ทราบสถานภาพการค้างชำระ และ/หรือขาดบัญชีที่ชัดเจน จำนวน 70 กองทุน พบว่าไม่ทราบระยะเวลาการค้างชำระและ/หรือขาดบัญชีที่ชัดเจน จำนวน 39 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 55.71
3. กองทุนหมู่บ้านหยุดดำเนินกิจกรรมหรือหยุดปล่อยกู้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลว และอาจมีปัญหาหนี้สูญ จำนวน 154 กองทุน ในจำนวนนี้ หยุดดำเนินกิจกรรมจำนวน 145 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 94.16 และหยุดการปล่อยกู้ จำนวน 9 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.84 โดยกองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ล้วนประสบปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีซึ่งยังไม่สามารถติดตามทวงถาม หรือแก้ไขปัญหาได้ จำนวน 127.52 ล้านบาท ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นหนี้สูญ
4. กองทุนหมู่บ้านประสบปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีในบัญชีอื่นๆ (นอกเหนือจากบัญชีที่ 1) สุ่มตรวจสอบกองทุนหมู่บ้าน 450 กองทุน มีปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีในบัญชีที่ 2 มีจำนวน 102 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 22.67 จากกองทุนหมู่บ้านที่มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจำนวน 85 กองทุน มีปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีในบัญชีที่ 3 จำนวน 15 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.65 และจากสถาบันการเงินชุมชนที่เปิดดำเนินการในบัญชีที่ 5 จำนวน 73 กองทุน มีปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี จำนวน 15 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 20.55
ข้อเสนอแนะ ให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 พิจารณาดำเนินการดังนี้
1.1 ใช้เป็นข้อมูลประกอบการรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยเฉพาะกรณีการเพิ่มเงินทุนหรือการพัฒนาสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการ/มาตรการต่างๆ ให้กับกองทุนหมู่บ้าน โดยควรพิจารณาแนวทางและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในการจัดทำโครงการหรือมาตรการการส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเกิดความคุ้มค่าและประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง เนื่องจากผลการตรวจสอบพบว่า มีกองทุนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบจำนวนมากที่ยังไม่สามารถบริหารจดัการเงินกองทุนหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีจำนวนมาก บางกองทุนหยุดดำเนินกิจกรรมหรือหยุดปล่อยกู้ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลว และอาจเกิดปัญหาหนี้สูญ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ขาดความเข้มแข็ง หรือมีความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุน รวมถึงยังมีจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบการควบคุมทางด้านการเงินและบัญชี โดยทุกกองทุนหมู่บ้านยังไม่ได้รับการตรวจสอบบัญชีโดยผู้ตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ทำให้ไม่ทราบสถานภาพผลการดำเนินงานที่แท้จริง โดยเฉพาะข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับจำนวนหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี (ที่เกิดจากการทุจริตยักยอกเงินกองทุนหมู่บ้าน)
1.2 ทบทวนระเบียบหลักเกณฑ์ หรือประกาศต่างๆ รวมถึงแนวทางการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ อาทิ การกำหนดนิยาม/คำจำกัดความเกี่ยวกับหนี้ค้างชำระและเงินขาดบัญชี การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดชั้นหนี้ การกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชน โดยเฉพาะกฎหมายที่จะรองรับในการให้บริการรับฝาก-ให้กู้ยืมกับประชาชนทั่วไป
1.3 กำหนดแนวทาง/มาตรการในการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหากองทุนหมู่บ้านที่ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านที่หยุดดำเนินกิจกรรมหรือหยุดปล่อยกู้ซึ่งอาจเกิดปัญหาหนี้สูญ กองทุน ชุมชนเมืองที่ประสบปัญหาหนี้ค้างและ/หรือเงินขาดบัญชีจำนวนมาก ตลอดจนกองทุนหมู่บ้านที่มีผล การประเมินศักยภาพในระดับปรับปรุง (ระดับ D) และกองทุนหมู่บ้านที่ยังไม่ได้รับการประเมินศักยภาพ (ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนชุมชนทหาร และกองทุนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร) โดยมีกรอบระยะเวลาของการดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเงินกองทุนหมู่บ้าน
2. ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินการ ประสานงานกับส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการติดตามผลและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการดังนี้
2.1 วางแผนสำรวจ ตรวจสอบ และติดตามผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านทุกกองทุนในแต่ละบัญชีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยประสานงานกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการ หรือมีส่วนร่วมต่อการสำรวจ ตรวจสอบ และติดตามผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน โดยพิจารณาจากทุกบัญชีที่กองทุนหมู่บ้านมีการบริหารจัดการ เพื่อให้ทราบสถานภาพผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกองทุนหมู่บ้าน และนำข้อมูลไปใช้ประโยชนในการวางแผนและแก้ไขปัญหาให้กับกองทุนหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล อย่างเป็นรูปธรรม และสรุปผลการดำเนินงานดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเงินของกองทุนหมู่บ้านต่อไป
2.2 ทบทวน ปรับปรุง วางแผนการจัดเก็บข้อมูลและจัดทำฐานข้อมูลผลการดำเนินงาน ของกองทุนหมู่บ้านให้ครอบคลุมทุกบัญชีของกองทุนหมู่บ้าน ให้เป็นไปอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน รวมถึงสะท้อนผลการดำเนินงานตลอดจนสภาพปัญหาของกองทุนหมู่บ้านได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีของกองทุนหมู่บ้านในแต่ละบัญชี
2.3 ประสานงานกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ระดับจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านระดับจังหวัด/อำเภอ เพื่อให้มีการวางแผนบูรณาการหรือความร่วมมือด้านการติดตาม ดูแล แนะนำ ช่วยเหลือการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้านที่มีแนวโน้มที่จะประสบความล้มเหลวหรือไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการกองทุน
2.4 กำหนดมาตรการเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีของกองทุนหมู่บ้าน รวมถึงการดำเนินการกำกับดูแล ติดตาม เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านปฏิบัติตามมาตรการ/คู่มือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดและจริงจัง
2.5 สั่งการ สทบ. สาขา ประสานงานจัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ระดับจังหวัด เพื่อให้มีกระบวนการนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านต่อคณะอนุกรรมการ สนับสนุนฯ ระดับจังหวัด โดยรายงานผลการดำเนินงานปัญหาอุปสรรคของกองทุนหมู่บ้านเป็นราย กองทุน และผลักดันให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ระดับจังหวัดร่วมกันหาแนวทางการจัดการ และติดตามผลการแก้ไขปัญหาของกองทุนหมู่บ้านดังกล่าวที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
ข้อตรวจพบที่ 2 สถาบันการเงินชุมชนที่สุ่มตรวจสอบบางแห่งยังขาดศักยภาพและความพร้อมในการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดดำเนินการ และบางแห่งหยุดดำเนินการ
สุ่มตรวจสอบสถาบันการเงินชุมชน จำนวน 148 แห่ง แยกเป็นสถาบันการเงินชุมชนต้นแบบ จำนวน 96 แห่ง และสถาบันการเงินชุมชนนำร่อง 52 แห่ง (ไม่นับสถาบันการเงินชุมชน 2 แห่งที่ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขกองทุนหมู่บ้าน) ผลการตรวจสอบสรุปได้ดังนี้
1. สถาบันการเงินชุมชนต้นแบบส่วนใหญ่ยังไม่เปิดดำเนินการ (บัญชีที่ 5) และมีสถาบันการเงินชุมชนต้นแบบและนำร่องบางแห่งหยุดดำเนินการ (บัญชีที่ 5) โดยสถาบันการเงินชุมชนต้นแบบ ยังไม่เปิดดำเนินการ จำนวน 56 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 58.33 และหยุดดำเนินการ จำนวน 16 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 16.67 และสถาบันการเงินชุมชนนำร่องหยุดดำเนินการ จำนวน 31 แห่ง หรือคิดเป็น ร้อยละ 59.62
2. สถาบันการเงินชุมชนบางแห่งอาจดำเนินการยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงยังไม่มีกฎหมายรองรับการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนที่ชัดเจน กล่าวคือ
2.1 สถาบันการเงินชุมชนยังมีจุดอ่อนของการควบคุมทางด้านการเงินและบัญชีรวมถึงการ จัดทำงบการเงิน โดยมีจุดอ่อนของการควบคุมทางด้านการเงินและบัญชีในแต่ละด้าน กล่าวคือ ไม่จัดทำเอกสารด้านการจัดทำสมุดบัญชี คิดเป็นร้อยละ 34.67 ไม่จัดทำเอกสารด้านจัดทำทะเบียนคุม คิดเป็นร้อยละ 58 ไม่จัดทำเอกสารด้านการจัดทำเอกสารประกอบการจัดทำบัญชี คิดเป็นร้อยละ 45.33 และไม่จัดทำเอกสารด้านการจัดทำรายงานทางการเงิน คิดเป็นร้อยละ 10.67
2.2 มีปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีในบัญชีที่ 5 จำนวน 14 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 31.11 ของสถาบันการเงินชุมชนที่สุ่มตรวจสอบและที่เปิดดำเนินการจำนวน 45 แห่ง คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 8.16 ล้านบาท
2.3 ไม่มีกฎหมายรองรับการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนที่ชัดเจน การดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนในการรับฝากเงินหรือการให้กู้ยืมจากประชาชนทั่วไปอาจมีลักษณะ/เข้าข่าย เป็นการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจเงินทุน แต่จากการตรวจสอบรายละเอียดในพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และระเบียบคณะกรรมการกองทุน หมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2551 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องของ สทบ. พบว่า ยังไม่มีข้อกำหนดที่รองรับเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนในการรับฝากเงินหรือการให้กู้ยืมจากประชาชนทั่วไปที่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้การดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนอาจไม่ถูกต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบัน การเงิน พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตาม สทบ. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายรองรับการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนดังกล่าว
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนที่จัดตั้ง โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถาบันการเงิน เพื่อให้ทราบสถานภาพผลการดำเนินงานที่แท้จริงของสถาบันการเงินชุมชน ตลอดจนสภาพปัญหา ข้อจำกัดต่างๆ เช่น สถานภาพของการเปิด/หยุดดำเนินการ และ ข้อมูลปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนส่งเสริมปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ กรณีกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาเป็นสถาบันการเงินชุมชนแต่ไม่ได้เปิดดำเนินการเป็นสถาบันการเงิน ชุมชน หรือเคยเปิดดำเนินการสภาบันการเงินชุมชนแต่ภายหลังได้หยุดดำเนินการ ซึ่งดำเนินงานในลักษณะของกองทุนหมู่บ้าน โดยให้ปรับปรุงสถานภาพสถาบันการเงินชุมชนดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพ ข้อเท็จจริงของการดำเนินงานที่แท้จริง
2. กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินชุมชนที่เปิดดำเนินการ รวมถึงกำหนดมาตรฐานบัญชีของสถาบันการเงินชุมชนให้ชัดเจน เพื่อให้สถาบันการเงินชุมชนมีเสถียรภาพและความยั่งยืน และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกรณีที่สถาบันการเงินชุมชนที่มีปัญหาหนี้ค้างชำระหรือมีปัญหาส่อไปในทางทุจริต จะต้องมีกลไกในการตรวจสอบ ระงับยับยั้งไม่ให้ปัญหาลกุลามกระทบต่อบัญชีอื่นๆ และกรณีที่สถาบันการเงินชุมชนดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ให้มีกระบวนการกำกับ ดูแล ฟื้นฟูแก้ไขปัญหา เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานที่ สทบ. กำหนด
ข้อตรวจพบที่ 3 กองทุนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบยังมีจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบควบคุมการดำเนินงาน รวมถึงการจัดทำหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชี
จากกองทุนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 450 กองทุน เป็นกองทุนหมู่บ้านที่เปิดดำเนินการ จำนวน 294 กองทุน พบว่า กองทุนหมู่บ้านดังกล่าวยังคงประสบปัญหาหรือมีจุดอ่อนทางด้านการเงิน และบัญชี ตลอดจนระบบควบคุมการดำเนินงาน สรุปได้ดังนี้
1. กองทุนหมู่บ้านบางส่วนยังมีปัญหาหรือจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบการควบคุมทางด้านการเงินและบัญชี โดยพบว่า ไม่จัดทำสมุดบัญชี จำนวน 100 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.01 ไม่จัดทำทะเบียนคุม มีจำนวน 163 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 55.44 ไม่จัดทำเอกสารประกอบการจัดทำบัญชี จำนวน 145 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 49.32 และไม่จัดทำรายงานทางการเงิน จำนวน 30 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 10.20
2. กองทุนหมู่บ้านบางส่วนดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบที่ สทบ. กำหนด
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมืองแห่งชาติ พิจารณาด าเนินการดังนี้
1. กำหนดแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านทุกกองทุนต้องมีระบบควบคุมทางด้านการเงินและบัญชีในทุกบัญชี รวมถึงได้รับการตรวจสอบบัญชีผู้ตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาตอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ต้องกำหนดมาตรการเพื่อจัดการหรือหาแนวทางแก้ไข ปัญหาตามความเหมาะสมกับกองทุนหมู่บ้านที่ไม่มีการจัดทำเอกสารหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชี ไม่จัดทำรายงานทางการเงิน ไม่ส่งรายงานทางการเงินให้ผู้ตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาต หรือไม่จัดทำสรุปผลการดำเนินงานประจำปีเพื่อรายงานต่อ กทบ. เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านดังกล่าวมีการบริหารจัดการกองทุนอย่างถูกต้องและโปร่งใส
2. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนทางด้านการเงิน และบัญชีให้กับกองทุนหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเครือข่าย กองทุนหมู่บ้าน โดยเฉพาะระดับตำบลหรืออำเภอ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับกองทนุหมู่บ้าน ให้มีขีดความสามารถทางด้านการเงินและบัญชี สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำช่วยเหลือทางด้านการเงินและบัญชีให้กองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงติดตามประเมินศักยภาพกองทุนหมู่บ้านตามระดับความรู้ หรือพื้นฐานทางด้านบัญชีเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริม สนับสนุนความรู้ อบรมได้สอดคล้องตาม ศักยภาพของแต่ละกองทุนหมู่บ้าน
ข้อสังเกตที่ 1 กองทุนหมู่บ้านยังไม่ได้รับการตรวจสอบบัญชี และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและ ทรัพย์สินจากผู้ตรวจสอบบัญชีของกองทุนหมู่บ้านให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547
สทบ. มีการดำเนินการเพื่อให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีของกองทุนหมู่บ้าน สำหรับตรวจสอบบัญชี และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของกองทุนหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2552 ได้ดำเนินโครงการสร้างผู้สอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวนเป้าหมายผู้สอบบัญชี 4,000 คน ระยะเวลาดำเนินการตามแผนภายในปี พ.ศ. 2553 แต่การดำเนินงานได้จำนวนผู้สอบบัญชีไม่เป็นไปตามแผนงานและยังไม่สามารถตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านได้ ในปี พ.ศ. 2558 คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เห็นชอบระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยการตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พ.ศ. 2558 และกำหนดให้มีคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยคณะทำงานได้เห็นชอบประกาศ/ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ดำเนินการ เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกผู้ตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านเพิ่มเติม จากการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงาน ณ เดือนกรกฎาคม 2560 มีจำนวนผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านที่ ได้รับอนุญาต จำนวน 375 ราย ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดยังไม่ได้มีการเข้าตรวจสอบ บัญชีกองทุนหมู่บ้านแต่อย่างใด หรืออาจกล่าวได้ว่า กอ
งทุนหมู่บ้านทุกกองทุนยังไม่ได้รับการตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 ปี
หากพิจารณาตามจำนวนผู้ตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาต จำนวน 375 ราย เปรียบเทียบกับจำนวนกองทุนหมู่บ้านที่จะต้องทำการตรวจสอบบัญชีจากกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้ง จำนวน 79,255 กองทุน พบว่า ผู้ตรวจสอบบัญชี 1 ราย จะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 211 กองทุน จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีอยู่จะไม่เพียงพอที่จะดำเนินการตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านได้อย่างครบถ้วน
ข้อเสนอแนะ ให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแหง่ชาติ สั่งการหรือเร่งรัดให้มีการตรวจสอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินจากผู้ตรวจสอบบัญชีของกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้ทุกกองทุนหมู่บ้านได้รับการตรวจสอบบัญชีให้เป็นไปตามตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งชาติ พ.ศ. 2547 โดยเร็ว
2. ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการทบทวนปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีที่ผ่านมา โดยวางแผนปรับปรุงการดำเนินงาน ตลอดจนเร่งรัดให้มีกระบวนการตรวจสอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินโดยผู้ตรวจสอบบัญชีของกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาตให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้กำหนดแผนงาน/เป้าหมายในการดำเนินการตรวจสอบบัญชีที่ชัดเจน รวมถึงดำเนินการเพื่อให้มีจำนวนผู้ตรวจสอบบัญชีของกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาตให้เพียงพอในการตรวจสอบบัญชีได้ ครอบคลุมทุกกองทุนหมู่บ้าน และต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้านที่เป็นสถาบันการเงินชุมชนซึ่งมีการบริหารจัดการเงินทุนจำนวนมาก สำหรับกองทุนหมู่บ้านที่อาจไม่สามารถตรวจสอบบัญชีได้ เช่น กองทุนหมู่บ้านที่หยุดดำเนินกิจกรรม กองทุนหมู่บ้านที่ไม่ได้มีการจัดทำเอกสารหลักฐานทางด้าน การเงินและบัญชี หรือไม่ส่งงบการเงินให้กับ สทบ. เป็นต้น
ข้อสังเกตที่ 2 สถาบันการเงินชุมชนบางแห่งไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ สทบ. กำหนด
จากการสุ่มตรวจสอบสถาบันการเงินชุมชน จำนวน 150 แห่ง พบว่ามีสถาบันการเงินชุมชนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการเป็นกองทุนหมู่บ้าน หรือการดำเนินงานไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด แต่มีการรายงานผลการดำเนินงานว่าเป็นสถาบันการเงินชุมชนภายใต้กองทุนหมู่บ้าน จำนวน 2 แห่ง โดยเป็นสถาบันการเงินชุมชนต้นแบบในจังหวัดลำปาง จำนวน 1 แห่ง (สถาบันการเงินชุมชนบ้านเวียง) และเป็นสถาบันการเงินชุมชนนำร่อง ในจังหวัดชุมพร จำนวน 1 แห่ง (สถาบันการเงินชุมชนบ้านหนองบัว) ซึ่งทำให้เกิดความสับสนและความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องกับประชาชนในพื้น นอกจากนี้ ในการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันการเงินชุมชน สทบ. ยังมีปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูลผลการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนากองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินชุมชนในส่วนของสถาบันการเงินชุมชนนำร่องที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการประสานงานกับสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย เพื่อทำความเข้าใจในรูปแบบและแนวทางการพัฒนากองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินชุมชนภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เพื่อให้การจัดตั้งและการพัฒนาส่งเสริมสถาบันการเงินชุมชน เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามรูปแบบและแนวทางการพัฒนาที่ สทบ. กำหนดไว้
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(27) ตรวจสอบการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์