"...มีเอกชนยื่นเอกสาร จำนวน 3 ราย คือ บริษัท บี. เอ็น. โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด (10/07/2562) บริษัท ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (10/07/2562) เอ็ม เอ็ม (MM Consortium) (10/07/2562)..แต่มีเอกชนผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิค 2 ราย คือ บริษัท ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท บี. เอ็น. โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด จากนั้นเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2562 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกาศผลให้บริษัท บี. เอ็น. โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเสนอราคาต่ำสุด 45,100,000 บาท ทำสัญญา วันที่ 13 ส.ค.2562 ส่งงานครบถ้วน แจ้งเหตุผลที่คัดเลือก เป็นผู้มีคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิค ถูกต้องครบถ้วนและเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด..."
................
โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ซึ่งมีการเบิกงบค่าก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 210 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บเก็บพลังงานรวม 45,205,109.91 บาท ที่กำลังถูกจับตามองอยู่ในขณะนี้
ความเคลื่อนไหวล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องราคางานหลายรายการว่าน่าจะแพงกว่าปกติ พร้อมตั้งข้อสงสัยกรณีบริษัทที่เสนอราคาต่ำที่สุดจำนวน 44,707,745 บาท เหตุใดจึงไม่เป็นผู้ชนะการประมูล และจะเข้ายื่นเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเรื่องนี้เป็นทางการ ใน ช่วงบ่ายวันที่ 13 ม.ค.2563 นี้
(อ่านประกอบ: ศรีสุวรรณ ยื่น สตง.สอบโซล่าร์เซลล์ กอ.รมน. งบ 45 ล. แพงกว่าปกติ - 'พิมรี่พาย' แค่ 5 แสน)
น่าสนใจว่า ข้อมูล-ข้อเท็จจริงการประกวดราคางานโครงการนี้ เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบรายละเอียดดังต่อไปนี้
หนึ่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ออกประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมการเสนอราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) 18 มิถุนายน 2562
ระบุว่า มีความประสงค์จ้างติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 210 กิโลวัตต์ พร้อมติดตั้งโครงสร้างรองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เครื่องควบคุมการประจุแบตเตอรี่ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเทียม) ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 840 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง พร้อมติดตั้งระบบป้องกันไฟฟ้าไหลย้อนกลับ ตามมาตรฐานการไฟฟ้า ก่อสร้างโรงคลุม ติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนระยะทางไม่น้อยกว่า 4,500 เมตร และติดตั้งเสาไฟแสงสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 120 ชุด ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 แห่ง ซึ่งผู้ยื่นเสนอราคาจะต้องสำรวจ และออกแบบระบบฯ ทั้งหมดเองพร้อมรายการคำนวณมาพร้อมในการเสนอราคาครั้งนี้
สอง โครงการฯ นี้ กำหนดราคากลางงานอยู่ที่ 45,205,000 บาท (วันกำหนดราคากลาง 19 เม.ย.2562) จากวงเงินงบประมาณ 45,205,000 บาท
สืบราคากลางจากเอกชนในท้องตลาด 7 ราย คือ บริษัท ไอโซ พาแนล จำกัด บริษัท แปดริ้ว เครื่องเย็น เชียงใหม่ (1994) จำกัด บริษัทเอซีวอลล์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอเอส เอ็นเทค จำกัด บริษัท ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท เอส เค วายเอ็นเนอร์จี พาวเวอร์ จำกัด บริษัท เอ็นจินีโอ จำกัด (ดูเอกสารประกอบ)
สาม มีเอกสารเข้ารับ/ซื้อเอกสาร จำนวน 5 ราย คือ
1. บริษัท บี. เอ็น. โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด (19/06/2562) 2. บริษัท ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (26/06/2562) 3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไหมไทย การค้า (05/07/2562 ) 4. บริษัท มัลติ อินโนเวชั่น เอนยิเนียริ่ง จำกัด (08/07/2562) และ 5 เอ็ม เอ็ม (MM Consortium) (05/07/2562)
แต่มีเอกชนยื่นเอกสาร จำนวน 3 ราย คือ บริษัท บี. เอ็น. โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด (10/07/2562) บริษัท ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (10/07/2562) เอ็ม เอ็ม (MM Consortium) (10/07/2562)
โดย บริษัท ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เสนอราคางาน 45,200,000 บาท บริษัท บี. เอ็น. โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด 45,100,000 บาท เอ็ม เอ็ม (MM Consortium) 44,707,745 บาท
แต่มีเอกชนผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิค 2 ราย คือ บริษัท ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท บี. เอ็น. โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด
จากนั้นเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2562 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกาศผลให้บริษัท บี. เอ็น. โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเสนอราคาต่ำสุด 45,100,000 บาท ทำสัญญา วันที่ 13 ส.ค.2562 ส่งงานครบถ้วน
แจ้งเหตุผลที่คัดเลือก เป็นผู้มีคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิค ถูกต้องครบถ้วนและเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด (ดูเอกสารประกอบ)
สี่ จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบทั้งหมดนั้น ในประเด็นเรื่อง เอ็ม เอ็ม (MM Consortium) ที่เสนอราคางาน 44,707,745 บาท ต่ำที่สุด แต่ไม่ได้รับการเลือกคัดเลือก อาจมีคำอธิบายได้ว่า เป็นเพราะไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ ส่วนเหตุผลที่ไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร ต้องรอสอบถามจากผู้บริหารเอกชนและกอ.รมน. อีกครั้ง
ส่วนข้อสังเกตของนายศรีสุวรรณ ที่ว่า มูลค่าของโครงการดังกล่าวเมื่อเทียบกับกรณี "พิมรี่พาย" ใช้เงินกว่า 5 แสนบาท เพื่อทำโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ติดตั้งทีวีที่หมู่บ้านแม่เกิบโดยเฉลี่ยกิโลวัตต์ละ 57,692 บาท ส่วนของ กอ.รมน.เฉลี่ยกิโลวัตต์ละ 215,262 บาท แล้วมีความแตกต่างกันมาก ที่สำคัญเมื่อดูรายละเอียดตามเอกสาร BOQ ก็จะพบว่าหลายรายการมีราคาแพงกว่าปกติ เช่น แบตเตอรี่ลิเทียมขนาด 200 กิโลวัตต์ชั่วโมงมีราคาถึงชุดละ 5,000,000 บาท แต่ถ้าเป็นขนาด 120 กิโลวัตต์-ชั่วโมงมีราคาถึง 3,000,000 บาทต่อชุด เครื่องควบคุมประจุแบตเตอรี่และเครื่องแปลงกระแสขนาด 30 กิโลวัตต์ราคาถึง 600,000 บาทต่อชุด แค่ค่าประตูสำเร็จรูปยังราคาถึง 15,000 บาทต่อบาทเลย ฯลฯ ทั้งนี้แม้ในรายละเอียดโครงการของ กอ.รมน.จะมีการลากสายไฟฟ้าและติดตั้งเสาไฟฟ้าด้วยก็ตาม ก็น่าที่จะเป็นราคาที่สูงเกินไปมาก
กอ.รมน. ควรต้องมีคำอธิบายต่อสังคมให้กระจ่างชัดเจนเช่นกัน
สำหรับข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
อ่านเรื่องประกอบ :
ก่อนดราม่าช่วยเด็กดอยไร้ไฟฟ้า! 2 ธุรกิจเสริมความงาม‘พิมรี่พาย’ตั้งปี 62-ทุนรวม 2 ล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage