"...เป็นเงินอุดหนุนให้วัด แต่เราจะขอทำเป็นภาพรวมแล้วก็ได้จัดถุงยังชีพคืนให้วัดเท่ากับจำนวนเงินที่ขอเอามา ยกตัวอย่างเช่น วัดท่าหลวง พระอารามหลวง ยอดเงิน 10,000 บาท ก็จัดทำถุงยังชีพจำนวน 20 ถุง มูลค่าถุงละ 500 บาท ซึ่งในถุงก็บรรจุสิ่งของที่มีค่าใช้จ่าย คือ ค่าจัดทำถุงผ้าและสิ่งของประกอบด้วย 1.ข้าวสารเสาไห้ 5 กก. 2. ไข่ไก่ 1 แผง 3.ปลากระป๋อง 6 กระป๋อง 4.นมจืด 1 แพ็ค 5. น้ำพริก 2 กระปุก 6.น้ำมันพืช 1 ขวดใหญ่..."
...........................
หากใครที่ติดตามข่าวการใช้จ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานรัฐเพื่อดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 หรือโคโรน่าไวรัส มาโดยตลอด
คงพอจะทราบว่า กรณี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร มีคำสั่งเรียกคืนเงินจากวัดที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนโครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุ สามเณร และบวชศีลจาริณี ภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 31 วัด รวมวงเงินกว่า 330,000 บาท มาจัดทำถุงยังชีพ เพื่อมอบให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด- 19 เคยปรากฏเป็นข่าวดังมาแล้วในช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าวที่ถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชนหลายสำนัก ช่วงเวลานั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ข้อสังเกตการดำเนินงานโครงการนี้ จากชาวบ้าน และวัดบางส่วนที่เข้าร่วมโครงการ ว่า การดำเนินงานของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ส่อว่าจะมีลักษณะไม่ชอบมาพากล ในการส่งเจ้าหน้าที่มาประสานงานเพื่อขอคืนเงินโครงการบรรพชาอุปสมบทฯ รวมไปถึงเรื่องราคาสินค้าถุงยังชีพที่มีการจัดซื้อมาแจกจ่ายด้วย
2. คำชี้แจงของผู้บริหาร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ที่ยืนยันว่าการดำเนินงานโครงการนี้ มีเจตนาบริสุทธิ์ วัตถุประสงค์เพื่อต้องการช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยนางณัณธิญาจ์ มังคละคีรี วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ยอมรับว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการเงินอุดหนุนให้กับทางวัดต่างๆ 31 วัด เป็นจำนวนเงิน 330,000 บาท ซึ่งได้โอนเข้าบัญชีวัดต่างๆ เพื่อทำถุงยังชีพ เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ได้กำหนดมาตรการ Social Distancing จึงทำให้โครงการบวชเฉลิมพระเกียรติถูกปรับเปลี่ยนเป็นการซื้อถุงยังชีพแจกให้กับพระภิกษุสงฆ์และประชาชน และด้วยความปรารถนาของ สนง.วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ที่ต้องการทำเป็นภาพรวมให้ดูดี จึงได้ไปเจรจาและทำข้อตกลงกับวัดต่างๆ ว่าจะขอเงินที่โอนมาให้แล้วนั้นให้นำมากองรวมที่วัฒนธรรมจังหวัดเพื่อจะได้จัดซื้อถุงยังชีพและทำถุงโดยให้มีโลโก้ของจังหวัดพิจิตร และของกระทรวง
เมื่อถูกถามว่า เมื่อโครงการนี้เป็นเงินอุดหนุนทำไมไม่ให้วัดต่างๆ ดำเนินการเอง นางณัณธิญาจ์ มังคละคีรี วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ตอบว่า เป็นเงินอุดหนุนให้วัด แต่เราจะขอทำเป็นภาพรวมแล้วก็ได้จัดถุงยังชีพคืนให้วัดเท่ากับจำนวนเงินที่ขอเอามา ยกตัวอย่างเช่น วัดท่าหลวง พระอารามหลวง ยอดเงิน 10,000 บาท ก็จัดทำถุงยังชีพจำนวน 20 ถุง มูลค่าถุงละ 500 บาท ซึ่งในถุงก็บรรจุสิ่งของที่มีค่าใช้จ่าย คือ ค่าจัดทำถุงผ้าและสิ่งของประกอบด้วย 1.ข้าวสารเสาไห้ 5 กก. 2. ไข่ไก่ 1 แผง 3.ปลากระป๋อง 6 กระป๋อง 4.นมจืด 1 แพ็ค 5. น้ำพริก 2 กระปุก 6.น้ำมันพืช 1 ขวดใหญ่
เมื่อถูกถามย้ำว่า เมื่อเงินอุดหนุนโอนให้วัดแล้ววัดต่างๆก็ถูกเอาเงินกลับคืน แล้ววัดที่ได้รับโอนเงินจะทำรายการบิลค่าใช้จ่ายอย่างไร ในเมื่อไม่ได้เป็นผู้ใช้เงินนั้น นางณัณธิญาจ์ ตอบว่า ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตรเป็นผู้ดำเนินการให้
พร้อมยืนยันว่า มีเจตนาสุจริต ตอนที่จะดำเนินการก็ลงพื้นที่เจรจากับวัดต่างๆ ก็ไม่มีข้อขัดแย้งอะไร อีกทั้งการดำเนินการก็มีการถ่ายภาพ ถ่ายคลิปวีดีโอ ไว้เป็นหลักฐาน พร้อมที่จะชี้แจงในความบริสุทธิ์ (อ้างอิงข่าวรูปภาพส่วนนี้ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG200921211025236
จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ในช่วงกลางเดือนพ.ย.2563 ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร จำนวน 14 ราย จากกรณีนี้เป็นทางการแล้ว
โดยในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรงกรณีนี้ สรุปเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ
1. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรและบวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกรมการศาสนาซึ่งกรมการศาสนได้แจ้งปรับกิจกรรมการดำเนินงานโครการฯ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD - 19 )
โดยให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตรสามารถเลือกจัดกิจกรรมบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรและบวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อน กิจกรรมปฏิบัติธรรม กิจกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการ หรือกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ กิจกรรมใด กิจกรรมหนึ่ง ตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่ภายในจังหวัด
2. ขั้นตอนการดำเนินงานได้กำหนดให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตรเป็นศูนย์อำนวยการจัดโครงการฯ ประสานงานส่งเสริมสนับสนุนภาคคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนรวมถึงให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนเด็ก เยาวชน และประชาชนเข้าร่วมโครงการฯ ประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน และร่วมกับวัด และหน่วยงานอื่น ๆ ในจังหวัดจัดกิจกรรมดังกล่าว รวมถึงติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ ต่อกรมการศาสนา
โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการและมีการประชุมร่วมกับภาคคณะสงฆ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กับวัดที่เข้าร่วมโครงการซึ่งอาจจะเลือกจัดกิจกรรมบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติกิจกรรมปฏิบัติธรรม กิจกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการ หรือกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตามความเหมาะสมของแต่ละวัด และให้จัดสรรงบประมาณ (หมวดเงินอุดหนุน) ของกรมการศาสนา จำนวน 331,000 บาท อุดหนุนให้แก่วัดที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 33 วัด วัดละ 10,000 บาท เพื่อให้วัดนำเงินบประมาณดังกล่าวไปใช้จ่ายบริหารจัดการโครงการฯ ในพื้นที่ ให้แล้วเสร็จ ตามวัตถุประสงค์และแนวทางที่กรมการศาสนากำหนด
เน้นย้ำว่า หากวัดที่ร่วมโครงการฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ให้โอนงบประมาณกลับกรมการศาสนา หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมหรือพ้นระยะเวลาที่กำหนด มิใช่ให้ส่วนราชการนำเงินงบประมาณดังกล่าวกลับมาใช้จ่ายดำเนินการเอง
3. แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาว ณ . ได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการโครงการฯ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 โดยมีนางสาว ณ เป็นประธานการประชุม และมีข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตรที่เป็นคณะกรรมการโครงการฯ ได้แก่ นางสาว น., นางสาว ส., นางสาว อ., นาง น., นาง ธ., นาง ศ., นาง ก., นาง ส., นางสาว ป., นางสาว จ., นางสาว ข., นาย จ., นางสาว ช., และนางสาว ว. เข้าร่วมประชุม และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาลงมดิเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการฯ ให้จัดทำถุงยังชีพมอบผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD - 19 ) และร่วมกันพิจารณาลงมติเห็นชอบการคัดเลือกวัดที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 31 วัด โดยคัดเลือกวัดที่เป็นเครือข่ายการดำเนินงานของกรมการศาสนา จำนวน 9 วัด เข้าร่วมโครงการฯ ทดแทนวัดเดิมที่ไม่เข้าร่วมโครงการฯ มอบถุงยังชีพ จำนวน 11 วัด โดยให้ จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนโครงการฯ จำนวน 330,000 บาท ให้วัดที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 31 วัด ได้แก่ วัดดงตะขบ จำนวน 20,000 บาท วัดกำแพงดิน จำนวน 13,000 บาท วัดสำนักขุนเณร จำนวน 17,000 บาท ซึ่งเกินกว่าวัดละ 10,000 บาท และวัดอื่น ๆ อีก 28 วัด วัดละ 10,000 บาท
ซึ่งการมีมติดังกล่าวไม่ได้มีการประชุมหารือร่วมกับภาคคณะสงฆ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพิจารณาจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กับวัดที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งอาจจะเลือกจัดกิจกรรมบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ กิจกรรมปฏิบัติธรรม กิจกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการ หรือกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตามความหมาะสมของแต่ละวัด และหากวัดใดไม่สามารถดำเนินโครงการได้ จักได้ดำเนินการโอนงบประมาณกลับกรมการศาสนาต่อไป
4. และเมื่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตรได้ดำเนินการโอนเงินงบประมาณให้แก่วัดที่เข้าร่วมโครงการฯ นางสาว ณ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปประสานนำเงินดังกล่าวทั้งหมดกลับคืนมาจากวัดทุกแห่ง แล้วให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตรนำเงินมาดำเนินการใช้จ่ายจัดซื้อจัดจ้างสิ่งของจัดทำถุงยังชีพเอง และนำถุงยังชีพไปดำเนินการจัดกิจกรรมมอบให้กับประชาชนเองตามพื้นที่ของวัดที่เข้าร่วมโครงการ โดยเชิญเจ้าอาวาสวัด ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นในพื้นที่มาร่วมมอบถุงยังชีพ โดยมีนางสาว น. เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างการทำถุงยังชีพ และมีนาง ธ. ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ซึ่งทราบและเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานและวัตถุประสงค์โครงการเป็นอย่างดี สนับสนุนช่วยเหลือหรือร่วมดำเนินการดังกล่าว โดยไม่ทักท้วง
จากพฤติการณ์ทั้งหมด จึงถือว่าข้าราชการดังกล่าวทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ราชการดำเนินงานโครงการ ใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนโครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรและบวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อน เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ตามที่กรมการศาสนากำหนดและผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรอนุมัติ และไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ
อย่างไรดี ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า การสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรงกรณีนี้ ได้เสร็จสิ้นตามขั้นตอนไปแล้วหรือไม่? ผลการสอบสวนเป็นอย่างไร?
แต่ก็มีคำถามสำคัญหลายประการต่อกรณีนี้ ที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนต่อสาธารณะ อาทิ
1. ในการดำเนินการจัดซื้อถุงยังชีพโควิดเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ไม่มีงบส่วนอื่นที่จะมาดำเนินงานโครงการนี้หรืออย่างไร ทำไมเลือกที่จะมาใช้งบเงินอุดหนุนโครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรและบวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อนดังกล่าว ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามชัดเจนอยู่แล้ว
2. ก่อนดำเนินการโครงการ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับภาคคณะสงฆ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่? ถ้าไม่มี มีเหตุผลใดทำไมถึงไม่ดำเนินการ?
3. รายละเอียดที่มา-ราคาสินค้าที่จัดซื้อมาใช้ในโครงการเป็นอย่างไร? ซื้อจากไหน? ราคาเท่าไร? ซึ่งประเด็นนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร แต่ยังไม่พบข้อมูลส่วนนี้แสดงไว้
ล่าสุด ในช่วงเช้าวันที่ 16 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง นางณัณธิญาจ์ มังคละคีรี วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
เบื้องต้น นางณัณธิญาจ์ แจ้งว่า ติดภารกิจประชุม ยังไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ข้อมูลอะไร
จึงทำให้ยังไม่ได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจน ตามข้อสังเกตที่ตั้งไว้ในขณะนี้
อ่านประกอบ
เผยคำสั่ง วธ.สอบวินัย 14 ขรก.พิจิตร เรียกคืนเงินโครงการบวช ซื้อถุงยังชีพโควิดแจกแทน
พฤติการณ์ 14 ขรก.วธ.พิจิตร ถูกสอบวินัย ปมเรียกคืนเงินโครงการบวช ซื้อถุงยังชีพโควิดแทน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage