"...แม้รัฐสภาจะลงมติเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งส.ส.ร. แต่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ต้องผ่านกระบวนการให้ประชาชน 51.2 ล้านคนมาลงคะแนนลับหย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้งอีกรวมแล้ว 2 - 3 ครั้ง ไม่ได้จบที่ผลโหวตในรัฐสภาโดยส.ส./ส.ว. 750 คนเท่านั้น..."
.................................................
“ถามประชาชนหรือยัง”
“ถามประชาชน 16.8 ล้านคนหรือยัง”
ช่วงนี้จะได้ยินได้เห็นประโยคทำนองนี้บ่อยหน่อย นี่เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาจากผลการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ด้วยเสียง 16.8 ล้านเสียง โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
เรื่องนี้ต้องไปถามประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติอยู่แล้ว
และเพราะเหตุนี้แหละ ผมจึงตัดสินใจได้ไม่ยากนักว่าจะโหวตในวันที่ 24 กันยายนเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการตั้งส.ส.ร.
ขออนุญาตย้ำข้อมูล ณ ที่นี้อีกครั้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ได้จบลงที่ผลโหวตในรัฐสภา
แต่มีกระบวนการบังคับที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเป็นอื่นได้ ต้องนำไปถามให้ประชาชนตัดสินใจตอบโดยตรงผ่านการออกเสียงประชามติก่อนว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ถ้าคำตอบออกมาเป็นว่าเห็นชอบด้วย การแก้รัฐธรรมนูญให้ตั้งส.ส.ร.จึงจะมีผล ถ้าคำตอบออกมาเป็นว่าไม่เห็นชอบด้วย ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตกไป ไม่มีส.ส.ร. ไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
โดยประชาชนที่จะตอบคำถามนี้ก็ไม่ใช่แค่ 16.8 ล้านคนที่ลงมติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ 4 ปีก่อนเท่านั้น
แต่เป็นการถามประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดราว 51.2 ล้านคน
(ตัวเลขโดยสังเขปจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 24 มีนาคม 2562)
นี่แหละคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมตัดสินใจว่าจะโหวตเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้งส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทั้งที่ก็เห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่ไม่อาจหาเหตุผลใดมาตอบคำถามได้จริง ๆ ว่าเหตุใดจึงจะต้องไปโหวตคัดค้านตั้งแต่ต้นในรัฐสภาทั้ง ๆ ที่คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศ
ในเมื่อผมยอมรับผลการประชามติ 7 สิงหาคม 2559 เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยเสียง 16.8 ล้านเสียง และนำไปกล่าวอ้างเสมอมาว่าเป็นการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชน เป็นความถูกต้องชอบธรรมที่จะล้มล้างกันง่าย ๆ ไม่ได้...
ผมจะเป็นคนกลับกลอกสองมาตรฐานทันทีเลยละ ถ้าไม่ยอมรับผลการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชนหลังจากรัฐสภาเห็นชอบแล้ว
โดยถ้าผมโหวตไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง เป็นเหตุให้เสียงเห็นชอบของส.ว.มีไม่ถึง 84 เสียง ทำให้ญัตติตกไปตั้งแต่ชั้นรัฐสภา ไม่ต้องไปถามประชาชน ก็จะมีค่าเท่ากับไปขวางทางการตัดสินใจโดยตรงของประชาชนทั้งประเทศ เป็นประชาชนทั้งประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนเฉพาะกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านการเรียกร้องการชุมนุมไม่ว่าสนับสนุนหรือต่อต้านเท่านั้น
ผมเป็นใคร ?
ผมจะถือสิทธิอะไรไปขวางทางการตัดสินใจโดยตรงของประชาชน 51.2 ล้านคน ?
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการตั้งส.ส.ร.หากผ่านประชามติจากประชาชนแล้ว ยังจะต้องมีการเลือกตั้งส.ส.ร.โดยตรงทั่วประเทศอีก 150 - 200 คน และหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วยังอาจจะต้องไปทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง
สรุปรวมความได้ว่า แม้รัฐสภาจะลงมติเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งส.ส.ร. แต่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ต้องผ่านกระบวนการให้ประชาชน 51.2 ล้านคนมาลงคะแนนลับหย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้งอีกรวมแล้ว 2 - 3 ครั้ง
ไม่ได้จบที่ผลโหวตในรัฐสภาโดยส.ส./ส.ว. 750 คนเท่านั้น
ประชาชน 16.8 ล้านคนที่ลงมติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ 4 ปีก่อนได้สิทธิตอบแน่นอน
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
12 กันยายน 2563
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3295336647176933&id=100001018909881
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage