"...รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ทฤษฎีนี้ได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดการ "ปลูกฝี" (variolation) เพื่อป้องกันโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษในอดีต ด้วยการถูสะเก็ดแผลหรือหนองจากผู้ป่วย บนผิวหนังของผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ เพื่อกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นวิธีการที่แพทย์ยุคโบราณใช้ ก่อนที่จะมีวัคซีนสมัยใหม่..."
...................................
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรอคอยวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ปลอดภัยและใช้ได้ผล นักวิจัยกลุ่มหนึ่งก็ได้เสนอแนวคิดที่ว่าการสวมหน้ากากอนามัยน่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสตัวนี้ได้
รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ทฤษฎีนี้ได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดการ "ปลูกฝี" (variolation) เพื่อป้องกันโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษในอดีต ด้วยการถูสะเก็ดแผลหรือหนองจากผู้ป่วย บนผิวหนังของผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ เพื่อกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นวิธีการที่แพทย์ยุคโบราณใช้ ก่อนที่จะมีวัคซีนสมัยใหม่
นักวิจัยกลุ่มนี้ได้นำเสนอทฤษฎีนี้ในบทความวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ตีพิมพ์เมื่อวันอังคาร (8 กันยายน) โดยนักวิจัยเชื่อว่าถ้าเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทีละน้อยๆ จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันที่สามารถจะ "จดจำ" เชื้อไวรัสตัวนั้นและกำจัดออกไปได้
ทฤษฎีนี้มีสมมติฐาน 2 ข้อคือ การได้รับเชื้อไวรัสเพียงเล็กน้อยทำให้ติดเชื้อไม่รุนแรง และการติดเชื้อแบบอ่อนๆโดยไม่แสดงอาการนั้น จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายหากเกิดการเจ็บป่วยในอนาคต
ข้อมูลจากการทดลองในสัตว์ที่ป่วยติดเชื้อโคโรน่าไวรัสรวมทั้งโรคอื่นๆ พบว่าการสวมหน้ากากอนามัยช่วยลดปริมาณไวรัสที่เข้าสู่หลอดลม และอาจช่วยลดโอกาสที่ผู้ใส่จะเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว
การศึกษาเชื้อโรคตัวอื่นๆในอดีตช่วยสนับสนุนสมมติฐาน 2 ข้อดังกล่าว แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าเชื้อไวรัส โควิดจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะมีโอกาสศึกษาไวรัสตัวนี้เพียงแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น
การทดลองโดยทีมนักวิจัยชาวจีน พบว่าหนูแฮมสเตอร์ที่อาศัยในบริเวณที่มีหน้ากากอนามัยปิดกั้นอยู่ จะติดเชื้อน้อยกว่า หรือถึงติดเชื้อก็มีอาการป่วยน้อยกว่าตัวที่ไม่มีหน้ากากอนามัยป้องกัน
ส่วนการสังเกตศึกษาในมนุษย์นั้น พบว่าอัตราการติดเชื้อลดลงอย่างมากในหมู่คนที่สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด และแม้ว่าแมสก์จะไม่สามารถปิดกั้นอนุภาคไวรัสได้ทั้งหมด แต่การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นก็ไม่รุนแรง
ดร. โมนิกา คานธี แพทย์โรคระบาดแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าวว่าเราสามารถติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่แสดงอาการได้ "ถ้าเราเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ด้วยการสวมหน้ากากให้มากๆ ที่สุดแล้วเราอาจจะช่วยสร้างภูมิให้กับประชาชนได้"
แต่เธอไม่แนะนำให้สวมหน้ากากโดยตั้งใจจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ หรือร่วมสังสรรค์ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโดยหวังว่าจะทำให้ตัวเองมีภูมิคุ้มกัน
ทฤษฎีนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่การทดลองในมนุษย์ก็คงจะผิดหลักจริยธรรม หากจะต้องนำเอาผู้ที่สวมหน้ากากกับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากมารวมกันอยู่ในบริเวณที่มีเชื้อไวรัสโควิด
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าทฤษฎีนี้ถูกต้อง เนื่องจากยังต้องมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม
แองเจลา ราสมุสเซน นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่าวัคซีนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปล่อยให้ติดเชื้อ
ดร. คานธี เห็นด้วยในเรื่องนี้ แต่ก็ได้เสริมว่าการสวมหน้ากากป้องกันน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีช่วงที่เรายังไม่มีวัคซีน "เรื่องนี้ยังเป็นแค่ทฤษฎี แต่ในระหว่างที่รอวัคซีน ทำไมเราจะไม่พยายามเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อจะได้ไม่เจ็บป่วยล่ะ"
แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.nytimes.com/2020/09/08/health/covid-masks-immunity.html ; https://theweek.com/speedreads/936507/face-masks-act-crude-coronavirus-protovaccine-some-researchers-think-possible
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage