ศาลอุทธรณ์ สั่ง 'พีทีทีซีจี' จ่ายชดเชยเพิ่ม เหตุน้ำมันดิบรั่วลงทะเลปี 56 ชาวประมงรับรายละ 1.5 แสนบาทจากเดิมได้ 9 หมื่นบาท ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายละ 1.2 แสนบาทจากเดิมได้ 6 หมื่นบาท ขณะที่ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเตรียมนำชาวบ้านยื่นฎีกาขอค่าชดเชยเพิ่มขึ้นอีก
สืบเนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC รั่วไหลลงทะเลระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 ที่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งและอ่าวทะเลระยอง
ต่อมาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยว ในพื้นที่อ่าวระยองกว่า 400 ราย ให้ทนายความมูลนิธิข้อมลูชุมชน ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกค่าชดเชยในการประกอบอาชีพและร้องขอให้ตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ต่อบริษัทดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท จ่ายค่าเสียหายชดเชยชาวประมง 3 เดือนรวม 90,000 บาท และผู้ประกอบการท่องเที่ยว 3 เดือน รวม 60,000 บาท และศาลยกคำฟ้องในเรื่องของการตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ (อ่านประกอบ : ศาลระยองสั่ง 'พีทีทีซีจี' จ่ายค่าเสียหายชาวบ้านสูญเสียอาชีพจากน้ำมันรั่วเมื่อ 5 ปีก่อน )
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 ก.ย. นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดระยองอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ โดยคำร้องให้เรียกค่าชดเชยเพิ่มเติมจากเดิมเนื่องจากผลกระทบในกรณีดังกล่าวเกิดความสูญเสียในการดำรงและประกอบอาชีพ ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้เพิ่มค่าเสียหายเพิ่มขึ้นจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้บริษัทชดเชยชาวประมง 150,000 บาท จากเดิม 90,000 บาท และผู้ประกอบการท่องเที่ยว 120,000 บาท จากเดิม 60,000 บาท ส่วนกรณีที่ชาวบ้านร้องขอให้มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ กรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเล จ.ระยอง ศาลตัดสินว่า ไม่มีกฎหมายรองรับในการตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา ถึงแม้จะตั้งกองทุนไม่ได้แต่ศาลให้ความเห็นว่า การที่ศาลแพ่งกรุงเทพฯในคดีเดิมพิพากษาให้โจทก์และจำเลยตกลงกัน ปรึกษานักวิชาการถึงแนวทางการฟื้นฟูและได้ฟื้นฟูอ่าวเสม็ดและอ่าวพร้าว ศาลได้พิพากษาไปตามนั้น เปิดโอกาสให้โจทก์ฟ้องศาลขอฟื้นฟูทะเลทั้งอ่าวระยองได้ในขั้นตอนต่อไป
นางสาวส.รัตนมณี กล่าวว่า นอกจากคำตัดสินแล้ว มีประเด็นที่น่าสนใจว่า ศาลให้ความเห็นเกี่ยวกับการตั้งหน่วยงานรัฐตรวจสอบกรณีดังกล่าวกรอบระยะเวลา 3 ปี ต้องสอดคล้องกับการความเสียหายที่ชาวประมงและผู้ประกอบการต้องได้รับ ไม่ใช่ยึดตามกรอบเวลาที่ศาลชั้นต้นพิจารณาชดเชยรายได้เพียง 3 เดือน ตามที่หน่วยงานราชการประกาศว่าทะเลฟื้นฟูได้ภายใน 3 เดือน และศาลให้ความเห็นแย้งว่ากรณีที่บริษัทอ้างว่าน้ำมันรั่วทั้งหมด 50,000 ลิตร แต่ดูองค์ประกอบในการที่บริษัทใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันอย่างน้อย 37,500 ลิตร ตามหลักวิชาการต้องใช้ปริมาณสารกำจัดต่อน้ำมันรั่ว 1/10 เท่ากับว่าในอัตรานี้น้ำมันรั่วลงทะเลทั้งหมดอย่างต่ำ 300,000 ลิตร หรือถ้าใช้สารเคมีในอัตราส่วนที่มากเกินกำหนด ศาลให้ความเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติบางส่วนจะถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง
ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ศาลยังให้ความเห็นเกี่ยวกับ การทำหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ที่เรียกค่าเสียหายในการฟื้นฟูกรณีน้ำมันรั่ว 7 ล้านบาท แต่ไม่เรียกค่าเสียหายในการฟื้นฟูทะเลและสิ่งแวดล้อม ถือว่าทำไม่ถูกต้อง เพราะว่าทรัพยากรสูญเสียไปแล้ว แต่ภาครัฐไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเลย
"ขั้นตอนต่อไปกลุ่มชาวประมงและผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะมีการยื่นฎีกาเกี่ยวกับการขอค่าเสียหายชดเชยเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเรามองว่าจากเดิมที่ศาลตัดสินชดเชยในกรอบระยะเวลาเพียง 3 เดือน น้อยเกินไป ถ้าเทียบกับบรรทัดฐานที่ภาครัฐตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ 3 ปี เท่ากับว่าความเสียหายในเรื่องนี้ต้องได้รับการชดเชยมากในกรอบเวลาที่มากกว่านี้ และคำพิพากษาของศาลในเรื่องอื่นจะนำไปต่อยอดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป" นางสาวส.รัตนมณี กล่าว
อ่านประกอบ:
ศาลระยองสั่ง 'พีทีทีซีจี' จ่ายค่าเสียหายชาวบ้านสูญเสียอาชีพจากน้ำมันรั่วเมื่อ 5 ปีก่อน
พีทีทีจีซีแจงนายกฯ จ่ายเยียวยาน้ำมันรั่วแล้ว 415 ล้าน
เปิดผลสอบเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วในทะเลระยอง ฉบับ "คุณหญิงทองทิพ
ความบกพร่องเรื่อง 'ท่อ' กรณีน้ำมันรั่วทะเลระยอง? คำถามถึงระบบธรรมาภิบาลในเครือ ปตท.
พีทีทีจีซีแจงนายกฯ จ่ายเยียวยาน้ำมันรั่วแล้ว 415 ล้าน
‘ประมงเรือเล็กระยอง' ยันไม่รับเงินชดเชยน้ำมันรั่ว จี้'พีทีทีซีจี' ทำเเผนฟื้นฟูทะเล
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage