เปิดทรัพย์สิน-ธุรกิจ 7 รมต.ป้ายแดง ครม.ประยุทธ์ 2/2 ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ 138 ล้าน ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์-ปรีดี ดาวฉาย’ อดีตบอร์ดแบงก์-กูรูเศรษฐกิจ เคยนั่งสารพัด กก.บริษัทดัง ‘เสี่ยแฮงค์’ นักการเมืองใหญ่ชัยนาท มีลูกนั่ง กก. 2 แห่ง ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ เจ้าของธุรกิจอสังหาฯดังเมืองชลบุรี ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ อดีตโฆษก 113 ล้าน
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 7 ราย ในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/2 โดยมีทั้ง ‘หน้าเดิม-หน้าใหม่’ ดังนี้ 1.นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง (ก่อนหน้านี้เป็น รมว.ต่างประเทศ) 2.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน 3.นายอนุชา นาคาศัย เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 4.นายปรีดี ดาวฉาย เป็น รมว.คลัง 5.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็น รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 6.นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็น รมว.แรงงาน และ 7.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็น รมช.แรงงาน
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยสรุปประวัติพอสังเขปของบุคคลทั้ง 7 รายเหล่านี้ให้สาธารณชนทราบกันไปแล้ว (อ่านประกอบ : ใครเป็นใคร? โพรไฟล์ 7 รมต.ป้ายแดง ครม.ประยุทธ์ 2/2)
คราวนี้มาดูในมุมทรัพย์สิน-ธุรกิจกันบ้าง ?
(นายดอน ปรมัตถ์วินัย, ภาพจาก : https://news.mthai.com/)
หนึ่ง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ
ในการเข้ารับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ครม.พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ไม่มีข้อมูลว่านายดอน ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 105 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561 บัญญัติให้ นกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน
เพราะนายดอน พ้นจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถึง 30 วันก็ได้รับการแต่งตั้งใหม่ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1
อย่างไรก็ดีนายดอน แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยุค คสช. อย่างน้อย 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2558 แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 11,762,730 บาท ส่วนนางนารีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย คู่สมรส มีทรัพย์สิน 126,435,865 บาท รวมทั้งคู่มีทรัพย์สิน 138,198,595 บาท ไม่มีหนี้สิน
ทว่าภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อเดือน เม.ย. 2560 นายดอนถูกร้องเรียนไปยัง กกต. กรณีนางนารีรัตน์ ถือครองหุ้นเกิน 5% ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด และโอนหุ้นให้กับบุตรชายถือครองแทนเกิน 30 วันตามที่กฎหมายกำหนด โดย กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยนายดอน ได้ชี้แจงยืนยันว่า นางนรีรัตน์ได้โอนหุ้น 2 บริษัทดังกล่าวให้บุตรชายไปแล้วภายในกำหนด แต่ขั้นตอนทางธุรการล่าช้า ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากว่า นายดอน ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี (อ่านประกอบ : กรณีศึกษา! คำวินิจฉัยศาล รธน.คดี ‘เมียดอน’โอนหุ้นในกำหนดแต่ฝ่ายทะเบียนแจ้งช้า?)
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์ุมีเชาว์ ภาพจาก : https://www.hoonsmart.com/)
สอง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน
นายสุพัฒนพงษ์ เคยเป็นกรรมการบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจไทยหลายแห่ง เช่น กรรมการ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรรมการ และกรรมการกำกับดูแลกิจการในบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 พบว่า นายสุพัฒนพงษ์ เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท สมุย พรอพเพอร์ตี้ พลัส จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2547 ทุนปัจจุบัน 47 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 9 ถ.พหลโยธิน แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กทม. แจ้งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและกิจการโรงแรม
ปรากฏชื่อ นายณัฐพร พรหมสุทธิ นายณรงค์ ศรีสอ้าน และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 813 บาท รายจ่ายรวม 32,572 บาท ขาดทุนสุทธิ 31,759 บาท
(นายอนุชา นาคาศัย ภาพจาก : https://medias.thansettakij.com/)
สาม นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
‘เสี่ยแฮงค์’ นักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ จ.ชัยนาท แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 ระบุสถานะว่าหย่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 29,852,530 บาท ไม่มีหนี้สิน
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2557 นางพรทิวา นาคาศัย (สกุลเดิม ศักดิ์ศิริเวทย์กุล) อดีตภริยานายอนุชา แจ้งบัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นตำแหน่ง ส.ส.ครบ 1 ปี ระบุว่า มีทรัพย์สิน 97,391,907 บาท มีหนี้สิน 3,387,464 บาท ส่วนนายอนุชา มีทรัพย์สิน 2,188,058 บาท ไม่มีหนี้สิน
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่พบว่านายอนุชาเป็นกรรมการบริษัทแห่งใด แต่ปรากฏชื่อ น.ส.ปาวา นาคาศัย บุตรสาว เป็นกรรมการบริษัท อย่างน้อย 2 แห่ง โดยเป็นกรรมการร่วมกับนางพรทิวา อย่างน้อย 1 แห่ง ได้แก่
1.บริษัท วี.เอส.เอส.ดิเวลลอปเปอร์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 211 ถ.รัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กทม. แจ้งประกอบธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง อาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน
ปรากฏชื่อ น.ส.พรทิวา ศักดิ์ศิริเวทย์กุล (อดีตภริยานายอนุชา) นายธนะพัฒน์ ชัยเจริญพัฒน์ นางบุญเรือน ศักดิ์ศิริเวทย์กุล และ น.ส.ปาวา นาคาศัย เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินย้อน 3 ปีหลังสุด (2559-2561) ระบุว่า ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 50,400 บาท/ปี ขาดทุนสุทธิ 50,400 บาท/ปี
2.บริษัท พาร์ฟ กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 211-211/1 ถ.รัชดาภิเษก แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กทม. แจ้งประกอบธุรกิจกิจการขายปลีก สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหอม และเครื่องสำอาง
ปรากฏชื่อ น.ส.ปาวา นาคาศัย นายกิตติธัช รตะนานุกูล และ น.ส.ภัทราพร รตะนานุกูล เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 1,777,298 บาท รายจ่ายรวม 2,124,839 บาท ขาดทุนสุทธิ 347,540 บาท
ขณะที่ น.ส.พรทิวา ศักดิ์ศิริเวทย์กุล (อดีตภริยานายอนุชา) เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่ บริษัท เอ็ม.วี.พี.เรียลเอสเตท จำกัด ทำธุรกิจให้บริการ การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย และบริษัท รัชดา 96 เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2538 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ให้เช่าเฟอร์นิเจอร์
(นายปรีดี ดาวฉาย ภาพจาก : https://cms.kapook.com/)
สี่ นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง
กุนซือด้านเศรษฐกิจในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก ‘หลังฉาก’ สู่ ‘เบื้องหน้า’ ตำแหน่งรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการเกี่ยวกับเศรษฐกิจหลายชุดในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และเป็นกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 55/2557
กรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 คณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 71/2557 เรื่อง จัดตั้งศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
กรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาม คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทชื่อดังหลายแห่ง เช่น กรรมการบริษัทเงินทุน ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัท เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด กรรมการบริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 พบว่า นายปรีดี เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่ บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนต์ กสิกรไทย จำกัด ทำธุรกิจลิซซิ่ง/เช่าซื้อบริการรับซื้อลูกหนี้การค้า (Factoring) และบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด ทำธุรกิจให้บริการรับส่งข้อมูล
(นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ภาพจาก : https://www.thairath.co.th/)
ห้า นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
เป็นนักวิชาการ และนักการเมือง เคยเป็นกุนซือด้านการเมืองให้นักการเมืองหลายราย ล่าสุดสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โดยร่วมก่อตั้งกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
สำหรับธุรกิจของนายอเนก เคยเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่งเมื่อนานหลายสิบปีมาแล้ว ได้แก่ บริษัท ธรรทัศน์ จำกัด ทำธุรกิจการขายส่งสินค้าทั่วไป (ปัจจุบันแจ้งล้มละลาย) และ หจก.เล่าเรืองกี่ ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงสีข้าว (ปัจจุบันแจ้งเสร็จชำระบัญชี)
อย่างไรก็ดีตระกูล ‘เหล่าธรรมทัศน์’ คือผู้บริหารโรงแรมหรูชื่อดัง ‘เทวมันตร์ตรา รีสอร์ท แอนด์สปา’ ใน จ.กาญจนบุรี รวมถึงธุรกิจส่งออกอีกหลายบริษัท
(นายสุชาติ ชมกลิ่น ภาพจาก : https://www.thebangkokinsight.com/)
หก นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
นักการเมืองหน้าใหม่ไฟแรงจากการผลักดันของกลุ่ม ‘พลังชล’ ใน จ.ชลบุรี จนเติบโตได้เป็น ส.ส. 2 สมัย และสุดท้ายย้ายมาล่มหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชารัฐ
นอกจากงานการเมืองแล้ว นายสุชาติยังเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังใน จ.ชลบุรี ได้แก่ บริษัท อรินสิริ แลนด์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2557 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปี 2562 ทุนปัจจุบัน 300 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ บ้านและที่ดิน
ปรากฏชื่อ พล.ต.อ.วีรพงษ์ ชื่นภักดี เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอิสระ น.ส.วิมลจิต อรินทมะพงษ์ กรรมการผู้จัดการ และกรรมการ นายธีรวิญญ์ อรินทวงศ์สิริ ว่าที่ ร.ต.สมโภชน์ คงวิทยา เป็นกรรมการ พล.ต.ท.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ นางศลิมน วิริยะวรเวช และนางฐิติรัตน์ ศรีสมโพธิ เป็นกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ยังปรากฏชื่อนายสุชาติ ชมกลิ่น ถือหุ้นใหญ่ 28.66% น.ส.วิมลจิต อรินทมะพงษ์ ภริยานายสุชาติ ถือ 21.67%
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปีไตรมาส 3/2563 มีรายได้รวม 28.58 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 5.97 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้นายสุชาติปรากฏชื่อเป็นกรรมการ และหุ้นส่วนใน หจก.หลายแห่ง ได้แก่ หจก.นครชล อินเตอร์กรุ๊ป บริษัท เก้าสิบเก้ากระรัต จำกัด บริษัท เมืองใหม่ ซาวน์น่า ชลบุรี จำกัด และ หจก.แสนสุข โลจิสติกส์ จำกัด อย่างไรก็ดีบริษัท/หจก.เหล่านี้ แจ้งว่าร้าง หรือเสร็จการชำระบัญชีไปแล้ว
(นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ภาพจาก : https://image.bangkokbiznews.com/)
เจ็ด นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน
จากอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นได้แค่ไม่กี่วัน ลาออกมาดำรงตำแหน่งโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี (โฆษกรัฐบาล) เคยแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 มีทรัพย์สินรวมคู่สมรส 113,766,634 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 17,922 บาท
เป็นของนางนฤมล 59,025,029 บาท ได้แก่ เงินสด 4.5 แสนบาท เงินฝาก 3,395,847 บาท เงินลงทุน 7,809,182 บาท ที่ดิน 2 แปลง (เขตคันนายาว และเขตห้วยขวาง กทม.) 12,720,000 บาท บ้าน 1 หลัง 30 ล้านบาท รถยนต์ 2 คัน 3,650,000 บาท ทรัพย์สินอื่น (แหวนเพชร 2 รายการ) 1 ล้านบาท มีหนี้สิน 17,922 บาท เป็นเงินเบิกเกินบัญชี
มีรายได้ต่อปี 2,243,702 บาท เป็นเงินเดือน 1,161,204 บาท เบี้ยประชุม 1,082,497 บาท มีรายจ่ายต่อปี 1,820,000 บาท เป็นค่าอุปการะมารดา 2.4 แสนบาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 4.8 แสนบาท เบี้ยประกันชีวิต 1.1 ล้านบาท ส่วนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 2 ราย มีรายจ่าย 1,760,000 บาท เป็นค่าเล่าเรียนบุตร 1.6 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายส่วนตัว 1.6 แสนบาท
ส่วนนายจุมพล ภิญโญสินวัฒน์ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 54,741,604 บาท ได้แก่ เงินสด 8.5 แสนบาท เงินฝาก 42,253,447 บาท เงินลงทุน 7,338,156 บาท บ้าน 1 หลัง 3.5 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น (ต่างหูเพชร 1 รายการ) 8 แสนบาท ไม่มีหนี้สิน
มีรายได้รวม 1,968,480 บาท เป็นเงินเดือนทั้งหมด มีรายจ่ายต่อปี 1.1 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว 5 แสนบาท เบี้ยประกันชีวิต 1 แสนบาท และค่าจ้างคนงานในบ้าน 5 แสนบาท
ทรัพย์สินอื่นที่น่าสนใจ นางนฤมล แจ้งครอบครองบ้านในหมู่บ้านนวธานี ซอย 4 ถ.เสรีไทย แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กทม. ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 76312 (ของนางนฤมล ได้มาเมื่อปี 2551 มูลค่า 12,720,000 บาท) ได้มาเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2554 มูลค่า 30 ล้านบาท
ส่วนนายจุมพล มีบ้าน 1 หลัง ตั้งอยู่ที่ ซ.ส่องแสงตะวัน แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กทม. ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 174188 (ได้มาเมื่อปี 2531 มูลค่า 3.5 ล้านบาท) ได้มาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2531 มูลค่า 3 ล้านบาท
หากนับรวมที่ดิน และบ้านของนางนฤมล และสามี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 49.2 ล้านบาท
ทั้งหมดคือมุมทรัพย์สิน-ธุรกิจของ ‘ว่าที่’ รัฐมนตรีใหม่ทั้ง 7 ราย โดยขั้นตอนต่อไปคือการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่ วัดฝีมือแก้ไขปัญหาที่กำลังรุมเร้าสารพัดอยู่ขณะนี้ ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/