สถานการณ์ในประเทศไทย พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 28 ราย มีผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย เสียชีวิตอีก 2 คน เสียชีวิตสะสม 40 คน โฆษก ศบค.ชี้ หายรายวัน พุ่งทะลุผู้ติดเชื้อใหม่รายวันแล้ว มั่นใจภาพการป้องกันและรักษา ของไทยทำได้ดี ระบบสาธารณสุขไทยรองรับได้เพียงพอ
วันที่ 13 เมษายน 2563 เวลา 12.30 น. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรี ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชื่นชมผลการปฏิบัติงานของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข จิตอาสา ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนที่ร่วมกันทำงานอย่างหนัก ด้วยความอดทน เสียสละ ร่วมมือกันจนทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับเป็นที่น่าพอใจ
พร้อมกับพระราชทานกำลังใจให้ทุกคนหากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ประสงค์ให้พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเพิ่มเติม ขอให้กราบบังคมทูลได้ตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอให้ทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ผู้ป่วยรักษาหาย 70 ราย รวมผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านสะสม 1,288 ราย ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 28 ราย มีผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตอีก 2 คน เสียชีวิตสะสม 40 คน
"ประวัติเสี่ยง 28 รายใหม่ พบว่า 25 รายสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ กลุ่มคนไทยจากต่างประเทศ ไปสถานที่ชุมชน ห้างฯ ตลาด สถานที่ท่องเที่ยว อาชีพเสี่ยง และบุคลากรทางการแพทย์" โฆษก ศบค. กล่าว และว่า จากข้อมูลจำนวนผู้รักษาหายต่อวันและผู้รักษาหายสะสม ของประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยรักษาหาย 1,288 ราย ซึ่งการรักษาหายรายวันวันนี้ พุ่งทะลุผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน นั่นหมายถึงภาพการป้องกันและรักษา ของไทยทำได้ดี ทำให้เราเห็นเตียงว่าง ระบบสาธารณสุขของไทยสามารถรองรับได้เพียงพอ
โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ ยังพบในพื้นที่กรุงเทพฯ มากที่สุด รองลงมา ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ ยะลา ชลบุรี ปัตตานี เป็นต้น ขณะที่ผู้เดินทางกลับจากอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ถึงวันนี้ พบอัตราการป่วยโรคโควิดถึง 61 ราย
ส่วนจำนวนผู้ป่วยโควิดที่จังหวัดภูเก็ต นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทั้งเดือนมีนาคม ถึงปัจจุบัน พบว่า กราฟยังพุ่งสูงอยู่สะสม 172 ราย เป็นยอดสะสมรวมที่ยังสูงอยู่ จึงต้องค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก จนกระทั่งพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
"กลุ่มเสี่ยงคือสถานบันเทิง สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนหน้านี้ และอาชีพเสี่ยง อีกทั้งยังพบกว่า 1ใน 4 ของผู้ป่วยมารักษาพยาบาล เกินกว่า 7 วัน ดังนั้น สามารถแพร่เชื้อโรคได้ ทำให้สถานการณ์ที่ภูเก็ตรุนแรง แม้จะปิดสถานบันเทิง ปิดโรงแรม ปิดซอยบางลา ปิดนวดแผนไทย สนามกีฬา ปิดหาด กว่าจะกดตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อลงได้ "
โฆษก ศบค.กล่าวถึงบทเรียนจากที่ภูเก็ต คือการติดตามผู้สัมผัสโรคให้ครบถ้วน ต้องอาศัยความร่วมมือจากตำรวจ กรณีผู้ป่วยปกปิด และหากกลุ่มเสี่ยงสูงต้องกักกันให้ได้ 100% ในพื้นที่ที่จังหวัดจัดให้ รวมถึงการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก กรณีที่มีการระบาดเป็นวงกว้างในชุมชน เฉพาะกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น
"การคัดกรองวงกว้าง ยังไม่คุ้มค่า ในกรณีที่อุบัติการณ์ของโรคยังไม่สูง หากเราหว่านแหไปตรวจ เป็นจำนวนแสนๆ คน ทำทั้งหมดไม่คุ้ม ต้องหากลุ่มก้อนเป็นเฉพาะเจาะจง ถึงคุ้ม"
สถานการณ์ในต่างประเทศ พบผู้ติดเชื้อ 208 ประเทศทั่วโลก โดยสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก รองลงมาสเปน อังกฤษ ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 48