ในยามคับขันมนุษย์กลับเป็นที่ต้องการมากกว่าเทคโนโลยีใดๆ และในวินาทีแห่งความเป็นความตายที่ต้องใช้การตัดสินใจที่รอบคอบและใช้ประสาทสัมผัสของมนุษย์ ซึ่งไม่สามารถใช้วิชาโค้ดดิ้งเขียนออกมาเป็นคำสั่งได้นั้น คือช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในมือของแพทย์และพยาบาลซึ่งยากที่จะหาเทคโนโลยีใดๆมาเลียนแบบได้
การระบาดของไวรัสโควิด-19 คือหายนะครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเท่าที่มนุษย์เคยพบเห็น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ที่ไหนหรือเป็นคนชนชั้นใด ก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของไวรัสมรณะโควิด-19 ได้ทุกนาที
ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด จึงต้องใช้ทั้งสรรพกำลัง สติปัญญาและเทคโนโลยีเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่มนุษย์พึงจะต้องธำรงไว้อย่างเต็มกำลัง
การระบาดของ โควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปทั้งโลก จึงถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ “หงส์ดำ”(Black Swan) ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก นอกจาก ประสบการณ์ ความรู้ และตำราทางการแพทย์ที่บรรดาคุณหมอได้นำมาใช้เพื่อการรักษาและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว องค์กรและบริษัทในประเทศที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำอย่าง สหรัฐอเมริกา จีน แคนาดา และอีกหลายประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศชั้นแนวหน้าได้ระดมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ มาใช้พยากรณ์และแก้ไขปัญหาโรคระบาดในครั้งนี้กันถ้วนหน้า เป็นต้นว่า
- บริษัท BlueDot แห่งแคนาดา ได้ใช้อัลกอริทึมการประมวลผลทางภาษา(Natural language processing) และ Machine learning ในการกลั่นกรองรายงานข่าวต่างๆ จากทั่วโลกถึง 65 ภาษา รวมทั้งใช้ข้อมูลจากสายการบินและข้อมูลการระบาดของโรคจากสัตว์เป็นปัจจัยประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพยากรณ์การระบาดของเชื้อไวรัส ที่มาจากเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 30 เดือนธันวาคมปีที่แล้ว
- บริษัท Darwin AI ร่วมกับมหาวิทยาลัย วอเตอร์ลู แห่งแคนาดา ใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ ที่เรียกว่า Convolutional Neuron Network ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความสามารถจดจำภาพเพื่อจำแนกผลการเอ็กซ์เรย์สภาพปอดของผู้ป่วย เช่น เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัสที่ไม่ใช่โควิด-19 และไวรัส โควิด-19
- ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เถียนเหอ 1 (Tianhe-1) ของจีน สามารถให้แพทย์ทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลการรักษาเพื่อวินิจฉัยผลการสแกนหน้าอกของผู้ป่วยและสามารถวินิจฉัยอาการของโรคภายใน 10 วินาที
- กลุ่มอาลีบาบาของประเทศจีน ใช้แอปพลิเคชั่น DingTalk เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้แชร์ประสบการณ์ทางการแพทย์ของไวรัสโควิด-19 ผ่านข้อความและการประชุมทางไกล รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยีในจีน เช่น Baidu Tencent และ บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา เช่น Google และ Microsoft ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้บริการข้อมูลทางการแพทย์ของบุคคลในลักษณะเดียวกัน
- บริษัท Deargen ในประเทศเกาหลีใต้ ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์หาข้อมูลจากหาผลการรักษาด้านไวรัส ที่สมาคมอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา(FDA) ให้การรับรองแล้วและตีพิมพ์เอกสารทางการแพทย์ ซึ่งบ่งชี้ถึงยาบางประเภทที่อาจช่วยบรรเทาอาการของไวรัสโควิด-19 ได้
- บริษัทในอังกฤษชื่อ Benelovent AI ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการค้นหาข้อมูลทางการแพทย์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อค้นหายาที่ได้รับการรับรองแล้วเพื่อหยุดยั้งการก่อตัวของไวรัสโควิด-19
- สถาบันอัลเลนเพื่อปัญญาประดิษฐ์(Allen Institute for AI) ร่วมกับพันธมิตรสร้างฐานข้อมูลระบบเปิดเพื่อรวมรวมบทความการวิจัย โควิด-19 SARS-CoV2 และโคโรนาไวรัสอื่นๆ มากกว่า 44,000 ฉบับ โดยคาดหวังว่าให้นักวิจัยนำข้อมูลไปใช้ค้นหาวัคซีนได้เร็วขึ้น
- รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์ชุดข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาจำนวน 29,000 บทความเพื่อนำไปวิเคราะห์และตอบคำถามเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้
จากรายงานเท่าที่มีการเผยแพร่พบว่า ปัญญาประดิษฐ์ สามารถที่จะพยากรณ์การระบาดของโรค สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคขั้นต้นและสามารถสนับสนุนข้อมูลทางการแพทย์เพื่อการรักษาได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ในวันที่มนุษย์เข้าตาจนและต้องการยาหรือวัคซีนใหม่ เพื่อต่อต้านและรักษาไวรัสโควิด -19 ได้อย่างรวดเร็ว
แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะได้ถูกพิสูจน์แล้วมีความสามารถเหนือมนุษย์ในบางเรื่อง เช่น ปัญญาประดิษฐ์เคยสร้างความตื่นตะลึงให้กับชาวโลกมาแล้ว เมื่อครั้งที่ AlphaGo ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์จาก DeepMind ของค่าย Google โค่นนักเล่นหมากล้อม(GO)ระดับโลก ซึ่งเป็นมนุษย์ชื่อ เคอเจี๋ย (Ke Jie) จากจีนและ ลี เซโดล (Lee Sedol) จากเกาหลีใต้ ลงอย่างไม่น่าเชื่อ รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในงานประเภทอื่นๆอีกมากมายซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์
แต่ความสำเร็จอย่างงดงามของปัญญาประดิษฐ์ ก็มิได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับมนุษย์มากนัก เพราะปัญญาประดิษฐ์อาจทำงานได้ดีภายใต้สถานการณ์หนึ่ง แต่อาจทำงานได้ไม่ดีนักในหลายสถานการณ์ เป็นต้นว่า Watson ปัญญาประดิษฐ์จากค่าย IBM ที่เคยเอาชนะมนุษย์จากการเล่นเกม Jeopardy! และคว้ารางวัลไปเกือบแสนเหรียญ ทำให้ บริษัท IBM เริ่มมีความหวังว่า Watson อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ต่อยอด เพื่อใช้ดูแลสุขภาพของมนุษย์ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะ ด้านเภสัช รังสีวิทยา และการรักษาโรคมะเร็ง ฯลฯ
อย่างไรก็ตามในระยะต่อมาพบว่า ข้อเสนอแนะทางการแพทย์ของปัญญาประดิษฐ์จาก Watson ยังมีความคลาดเคลื่อนและยังไม่เป็นที่ยอมรับ โครงการของ Watson หลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานทางการแพทย์จึงต้องถูกเก็บไว้บนหิ้ง แต่ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ปัญญาประดิษฐ์ Watson ได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะผู้ตอบคำถามทั่วไปเกี่ยวกับโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยใช้ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา
ปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน จึงเป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานเฉพาะทาง แต่ไม่สามารถรอบรู้ความเป็นไปของโลกได้ดังเช่นมนุษย์และยังไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่อ่านหรือพูด ในวงการปัญญาประดิษฐ์จึงมักเรียก ปัญญาประดิษฐ์ประเภทนี้ว่า ปัญญาประดิษฐ์ขั้นต้น (Weak Artificial Intelligence หรือ Narrow Artificial Intelligence)
อย่างไรก็ตามมนุษย์ยังมีความพยายามที่จะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้มีความเท่าเทียมกับระดับความสามารถของมนุษย์ที่เรียกกันว่า ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง(Artificial General Intelligence :AGI หรือ Strong Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาระยะต่อไป
แต่หนทางไปสู่ ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงนั้น ยังอีกยาวไกล แม้แต่นักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของโลกยังไม่สามารถบอกได้เลยว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดเท่าเทียมมนุษย์จะพัฒนาสำเร็จเมื่อใด ทุกคนจึงได้แต่ใช้การคาดเดาจากประสบการณ์ของตนเอง โดยคาดกันว่า ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง ที่เร็วที่สุดอาจจะเกิดขึ้นได้ภายในอีก 9 ปีข้างหน้า (พยากรณ์โดย Ray Kurzwell นักเทคโนโลยีชาวอเมริกัน) และอย่างช้าที่สุดอาจใช้เวลาถึง 180 ปี (พยากรณ์โดย Rodney Brook นักพัฒนาหุ่นยนต์ชาวออสเตรเลีย )
นักพัฒนาประดิษฐ์อีกจำนวนหนึ่งประมาณการว่า ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงจะถูกพัฒนาสำเร็จระหว่าง ปี ค.ศ. 2029 – ค.ศ. 2200 ซึ่งเป็นการพยากรณ์ที่มีระยะเวลาแตกต่างกันค่อนข้างมากและไม่สามารถมีใครยืนยันได้เลยว่า การพยากรณ์นี้จะเป็นความจริงเพียงใด นักปัญญาประดิษฐ์บางคนถึงกับปรามาสว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่เข้าใจความรู้สึกของตนเอง (Self-aware AI) อาจไม่เกิดขึ้นภายในอีก 1,000 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำไป
เราเคยเชื่อกันว่าปัญญาประดิษฐ์จะทำงานแทนมนุษย์หรือปัญญาประดิษฐ์จะยึดครองโลกในวันข้างหน้า ครั้งหนึ่งบิลเกตถึงกับเคยเสนอให้เก็บภาษีจากหุ่นยนต์เ พราะในไม่ช้าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความเห็นที่มีเหตุผลยามที่โลกอยู่ในสถานการณ์ปกติ แต่สถานการณ์ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดนั้นต่างออกไป เพราะทันทีที่การระบาดเริ่มควบคุมไม่อยู่ และวิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงไป บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง อเมซอนกลับต้องการแรงงานมนุษย์มากถึง 100,000 คนในแผนก ลอจิสติกส์ แถมยังเพิ่มค่าชั่วโมงให้อีกด้วย
นอกจากนี้บริษัทบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อส่งสินค้าให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาล้วนแต่ต้องจ้างแรงงานมนุษย์เพิ่มขึ้นจำนวนมากเพื่อรองรับงานบรรจุสินค้าส่งให้ปลายทางในช่วงการระบาดของโรคเช่นกัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อโลกอยู่ในภาวะไม่ปกติ มนุษย์คือกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่ต้องพึ่งพาความคล่องตัวและทักษะของมนุษย์ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถเลียนแบบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความฉลาดและความสามารถในการใช้มือของมนุษย์นั้นยังเหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์มากนัก
เหตุผลที่ทำให้ ปัญญาประดิษฐ์ถูกประเมินว่า สามารถจะทำทุกสิ่งทุกอย่างแทนมนุษย์นั้น เกิดจาก ความคาดหมายของมนุษย์ ที่น่าจะได้รับแรงผลักดันจากปัจจัย 3 ประการคือ
-การโหมกระแสจาก สื่อ นักเทคโนโลยี นักวิชาการ และภาครัฐ
-การโฆษณาชวนเชื่อของ ผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ และผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์
-ผลการพิสูจน์ว่าปัญญาประดิษฐ์ทำงานบางประเภทแทนมนุษย์ได้จริง
ก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 หลายประเทศใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง จนใครต่อใครมีความหวังว่าปัญญาประดิษฐ์คือกล่องวิเศษที่สามารถหาทางออกให้กับมนุษย์ได้ในทุกปัญหา อย่างไรก็ตามในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าปัญญาประดิษฐ์ยังไม่ได้ตอบโจทย์ที่มนุษย์กำลังค้นหาและเมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ปัญญาประดิษฐ์กลับไม่สามารถช่วยชีวิตมนุษย์ซึ่งกำลังล้มตายราวใบไม้ร่วงได้อย่างทันท่วงที เหมือนกับการประมวลผลการใช้งานทางธุรกิจ การเล่นเกมโชว์ หรือการตอบคำถามยากๆ
สิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำได้ในช่วงการระบาดของโรค คือ การพยากรณ์แนวโน้มการระบาด การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการสนับสนุนการรักษา การป้องกันการแพร่เชื้อด้วยเทคโนโลยีเครื่องติดตามตัว การสร้างแบบจำลองการแพร่เชื้อ ฯลฯ แต่สิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุดในขณะนี้ คือวัคซีนชนิดใหม่เพื่อหยุดยั้งการเจ็บป่วยและล้มตายของมนุษย์ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถให้คำตอบได้
แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้านปัญญาประดิษฐ์ ก็ยังไม่สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์หยุดยั้งความตายของผู้คนของตัวเองได้ภายในเร็ววัน วิกฤติโควิด-19 จึงเป็นเสมือนสนามสอบจริงของปัญญาประดิษฐ์ที่มีชีวิตคนทั้งโลกเป็นเดิมพัน
แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์จำนวนหนึ่งยังมีความคาดหวังที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อค้นหาวัคซีนชนิดใหม่อยู่ก็ตาม แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่า วัคซีนสำหรับโควิด-19 ที่เกิดจากผลลัพธ์ของปัญญาประดิษฐ์ จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดและมนุษย์อาจต้องใช้วิธีที่เคยปฏิบัติแบบเดิมในการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือแรมปี (ข้อมูลวันที่ 28 มีนาคม 2563)
การที่ปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับมนุษย์ได้ในเวลาคับขัน อาจอยู่บนเหตุผลที่มีความเป็นไปได้หลายประการ เป็นต้นว่า
-ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของโลกได้
-เทคโนโลยีและความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ยังถูกจำกัดอยู่ใน บางสถาบัน บางบริษัทและบางประเทศ
-การขาดความสมดุลระหว่างวิทยาการทางการแพทย์กับวิทยาการด้านปัญญาประดิษฐ์
-ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่มีข้อมูลที่มากพอสำหรับการเรียนรู้และประมวลผล เนื่องจากโควิด -19 เป็นโรคระบาดใหม่
-บุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ยังมีไม่มากพอ
- ปัญญาประดิษฐ์ถูกพัฒนาโดยมุ่งเน้นธุรกิจด้านอื่นมากกว่าด้านสุขอนามัยของมนุษย์
ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คนจำนวนหนึ่งอาจเห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์คือเครื่องมือสำคัญที่สุดเครื่องมือหนึ่งที่สนับสนุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่การที่ปัญญาประดิษฐ์ถูกสร้างกระแสให้มีความสามารถเกินจริงในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาจนทำให้มนุษย์เคลิ้มไปว่าปัญญาประดิษฐ์คือของวิเศษ ที่สามารถหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเหนือมนุษย์และเหนือธรรมชาตินั้น ยังไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด อย่างน้อยก็พิสูจน์ได้จากวิกฤติในครั้งนี้
ในบางสถานการณ์แม้ว่ามนุษย์จะมีจุดอ่อนอยู่มากเมื่อเทียบกับปัญญาประดิษฐ์ เพราะเราคือมนุษย์ แต่ในยามคับขันมนุษย์กลับเป็นที่ต้องการมากกว่าเทคโนโลยีใดๆและในวินาทีแห่งความเป็นความตายที่ต้องใช้การตัดสินใจที่รอบคอบและใช้ประสาทสัมผัสของมนุษย์ ซึ่งไม่สามารถใช้วิชาโค้ดดิ้งเขียนออกมาเป็นคำสั่งได้นั้น คือช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในมือของแพทย์และพยาบาลซึ่งยากที่จะหาเทคโนโลยีใดๆมาเลียนแบบได้
ถึงแม้วิกฤติในครั้งนี้ปัญญาประดิษฐ์จะยังไม่สามารถสร้างปาฏิหาริย์ช่วยรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้อย่างฉับไวตามที่คนส่วนมากคาดหวังก็ตาม แต่มรสุมใหญ่ที่มนุษย์กำลังเผชิญคงไม่ใช่วิกฤติครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในโลกและนับจากนี้ต่อไปมุมมองของมนุษย์ต่อปัญญาประดิษฐ์อาจต้องเปลี่ยนไป มนุษย์อาจต้องให้น้ำหนักต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างคุณค่าให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อจรรโลงโลก สร้างความผาสุกให้กับมวลมนุษย์และรับมือกับเชื้อโรคที่มองไม่เห็นในวันข้างหน้า แทนที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการแสวงหาผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว
อ้างอิง
2. The AI Rebooting โดย Gary Marcus และ Ernest Davis
3. Architects of Intelligence โดย Martin Ford
4. https://brandinside.asia/amazon-fights-covid-19/
5. https://www.technologyreview.com/s/615351/ai-could-help-with-the-next-pandemicbut-not-with-this-one/
6. https://www.wired.com/story/opinion-ai-can-help-find-scientists-find-a-covid-19-vaccine/
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.coe.int/en/web/artificial-intelligence/ai-and-control-of-covid-19-coronavirus