นายกสมาคมเครื่องมือแพทย์ห่วง “เครื่องมือแพทย์” ไม่พอรับวิกฤตโควิด-19 แนะตั้งคณะกรรมร่วมรัฐ-เอกชนบริหารจัดการแก้ปัญหาระดับชาติ
ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย (THAIMED) และประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์แห่งอาเซียน เผยถึงการรับมือสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด - 19 ว่า สถานการณ์เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ตอนนี้ยังไม่มีการรวมศูนย์บริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ หวั่นหากเกิดระบาดหนักอาจเผชิญภาวะขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ได้ รัฐบาลควรแต่งตั้ง "คณะกรรมการบริหารเครื่องมือและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งชาติในภาวะวิกฤต" เพื่อรวบรวมข้อมูลและบริหารจัดการอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ภายในประเทศ ที่ผ่านมามีการประสานงานเสนอไปหลายช่องทาง แต่ยังไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจนทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้เต็มที่
ภก.ปรีชา กล่าวว่า "สิ่งสำคัญที่กังวลมากคือหากการระบาดรุนแรงขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น เราได้มีการเตรียมความพร้อมพอแล้วหรือยัง เราต้องมานั่งทำงานร่วมกันเพื่อให้รู้ว่าการดูแลผู้ป่วย 1 คนต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง มีเครื่องช่วยหายใจ เครื่องปั๊มน้ำเกลือ สมมติปอดไม่ทำงานต้องใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) ต้องมานั่งลิสต์กันให้หมด อุปกรณ์ต้องมีอะไรบ้าง ประเทศเรามีพร้อมหรือยัง หน่วยงานกระทรวงต่าง ๆ มีอยู่ที่ไหนและพร้อมใช้งานหรือไม่"
นอกจากนี้ในส่วนของการรักษายังมีความกังวลถึงลักษณะของโรคที่ต้องใช้เวลารักษาหลายวัน ซึ่งอาการอาจแย่ลง ดังนั้นเครื่องมือแพทย์จึงต้องพร้อมอยู่เสมอ โดยสถานการณ์ปัจจุบันคนทำงานรวมถึงโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้มีการสอบถามเรื่องเครื่องมือแพทย์มาทางสมาคมฯ เป็นจำนวนมาก แต่ตนก็ไม่สามารถให้คำตอบได้
“ตอนนี้เราต้องเช็คความพร้อมของทั้งประเทศแล้ว เครื่องมือมีเท่าไร แค่ไหนถึงจะพอ ถ้าไม่พอจะหาจากที่ไหน เพราะแต่ละที่มีข้อมูลของตัวเองแต่ไม่ได้แชร์กัน จึงไม่รู้ว่าเพียงพอหรือไม่กับสถานการณ์ที่กำลังตามมา ผมเองก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จึงต้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการเรื่องนี้”
ภก.ปรีชา กล่าวอีกว่า “สถานการณ์ตอนนี้คือยังไม่มีการบูรณาการ เช่น กระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลของตัวเอง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขึ้นกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งก็มีข้อมูลของตัวเอง หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจทำให้เกิดการทำงานร่วมกันก็จะรู้ว่า ในภาพรวมตอนนี้มีเครื่องมือแพทย์อะไรบ้าง ขาดอะไร แล้วเราในฐานะภาคเอกชนจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง หากคอนเฟิร์ม เตรียมพร้อม วิกฤตเกิดก็พร้อมใช้ทันที”
นายกสมาคมฯ ระบุว่า ที่ผ่านมาตนเองในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ก็ได้เสนอความคิดเรื่องจัดคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นไปในหลายช่องทางของการทำงาน แต่ยังไม่มีการสั่งการอย่างจริงจัง จึงเห็นควรให้สังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้
“หากทุกฝ่ายมีการทำงานเตรียมตัวทั้งหมดแล้วก็ไม่มีปัญหา แม้ตอนนี้วิกฤตอาจไม่ร้ายแรง แต่การเตรียมความพร้อมดังกล่าวจะช่วยบริหารความเสี่ยงให้ลดน้อยลง เมื่อเกิดวิกฤตแล้วจะสามารถดำเนินการตามแผนได้เลย และหากในอนาคตเกิดภาวะวิกฤตฉุกเฉินอื่น คณะกรรมการชุดนี้ก็สามารถบริหารงานในโอกาสต่อไปได้ ตรงนี้จะให้ใครขึ้นมารับผิดชอบก็ได้ ผมพร้อมทำงานด้วยทั้งหมด แต่อยากให้มีความชัดเจน แล้วเรามาร่วมมือกัน ผมในฐานะภาคเอกชนยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ สมาคมฯ เป็นผู้นำเข้า มีเครื่องมือหลากหลาย อยู่ที่รัฐต้องการอะไรบ้าง”
ภก.ปรีชา กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้เกิดภาพเช่นในกรณีต่างประเทศที่มีเครื่องมือไม่พอใช้ สุดท้ายจึงต้องเลือกรักษาผู้ป่วยโดยปล่อยให้บางรายเสียชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับชาติ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการช่วยกันระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
“ในยุโรปเริ่มมีสถานการณ์อุปกรณ์การแพทย์ไม่พอ ปริมาณเตียงไม่พอรองรับคนไข้ทำให้ต้องปล่อยให้มีผู้เสียชีวิตเกิดชึ้น ผมไม่อยากให้ประเทศไทยดำเนินไปถึงจุดนั้น”
ข้อมูลจาก Financial Times ระบุว่า ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปกำลังทุ่มกำลังจัดหาเครื่องช่วยหายใจอย่างเร่งด่วนเพื่อเตรียมการรับมือผู้ป่วยโควิด-19 โดยประเทศอิตาลีขอให้บริษัทผลิตเครื่องช่วยหายใจเพิ่มกำลังผลิตต่อเดือนขึ้นสี่เท่า จากเดิมเดือนละ 125 เครื่อง เป็น 500 เครื่อง ส่วนประเทศเยอรมนีสั่งเครื่องช่วยหายใจจากผู้ผลิตในประเทศเพิ่ม 10,000 เครื่อง