“...ทั้งหมดคือข้อมูลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบริษัทที่เกี่ยวข้องซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเงื่อนปมการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยปรากฏชื่อนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นผู้ถูกกล่าวหา…”
ประเด็นเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำที่อยู่ในการดำเนินการของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด (ปัจจุบันคือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)) ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ กับพวก รวมถึงบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท กรณีอนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนดังกล่าว (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟัน‘อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ-พวก’ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ-เอื้อเอกชน)
ในภาพรวม บริษัท อัคราฯ กำลังเป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลไทยต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่สิงคโปร์ กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งยังเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) โดยเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมผู้บริหารกระทรวงฯ อดีตผู้บริหารกระทรวงฯ ทีมทนายความ และผู้เชี่ยวชาญทั้งไทย และต่างชาติกว่า 20 คน ไปให้การแล้ว (อ้างอิงข่าวจาก : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864799)
ประเด็นนี้ คงต้องรอการต่อสู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงกันในศาลให้เสร็จสิ้นกระบวนความเสียก่อน ?
แต่เงื่อนปมสำคัญที่หลายฝ่ายอาจยังไม่พูดถึง หรือหลงลืมกันไปแล้วคือ กรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ส่งข้อมูลและหลักฐานที่ได้รับจาก Australian Securities and Investment Commission (ASIC) หรือ ก.ล.ต.ออสเตรเลีย กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ผู้ถูกกล่าวหา เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สาธารณชนรับทราบกันอีกครั้ง ดังนี้
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงปี 2558 ก่อนหน้าที่ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ นั้น มีกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ 5 จังหวัด รวมตัวกันประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบผลการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนร้ายแรงต่อประชาชนจำนวนมากในพื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำนั้น
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคดีดังกล่าวที่กระทบถึงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับได้มีพยานหลักฐานเบื้องต้นจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย พบบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทย
โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จึงส่งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เป็นประธานฯ และมีอนุกรรมการ ได้แก่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านกฎหมายและการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วนต่อไป (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ)
หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหายไป กระทั่งปี 2559 คสช. ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ดังกล่าว จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่จนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ดำเนินการขุดคุ้ยกรณีสินบนข้ามชาติดังกล่าว จนมีการเปิดเผยว่ามีผู้ถูกกล่าวหากำลังถูกไต่สวนอย่างน้อย 13 ราย โดยจำนวนนี้ปรากฏชื่อ นายประเสริฐ บุญชัยสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย และกลุ่มเอกชน เช่น บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด เป็นต้น
ต่อมาสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลพบว่า พล.ท.จารุมาศ เรืองสุวรรณ (เครือญาตินายจารุพงศ์) อดีตที่ปรึกษาพิเศษพรรคเพื่อไทย เคยเป็นกรรมการบริษัทในเครืออัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) อย่างน้อย 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด บริษัท ฟ้าแลบ จำกัด บริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด และ บริษัท ฟ้าใหม่ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด
สำหรับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2540 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ที่อยู่เดิมตั้งอยู่ที่ 92/54-55 อาคารสาธรธานี 2 ชั้น 19 ถ.สาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. (ปี 2562 แจ้งเปลี่ยนเป็น เลขที่ 99 ม.9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจตร) ประกอบธุรกิจการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ ถือครองที่ดินเพื่อการลงทุนและให้เช่า
รายชื่อกรรมการล่าสุดเมื่อปี 2562 ปรากฏชื่อ นายรอส โดนัลด์ สมิธ-เคิร์ก นายปีเตอร์ วิลเลี่ยม วอร์เรน นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยล์ นายสิโรจ ประเสริฐผล และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ เป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้น เมื่อ ต.ค. 2559 บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด 99.9940% นาย รอส โดนัลด์ สมิธ-เคิร์ก 0.0020% นางกาญจนา สุทธิประภา 0.0010% นางสาว จุฑารัตน์ อนรรฆธนะกุล 0.0010% นางสาว ปวิดา สุนทรสิงห์ 0.0010% และนายศักดิ์สิทธิ์ สุวรรณภูสิทธิ์ 0.0010%
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 97,782,622 บาท รายจ่ายรวม 3,522,094 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 102,566,345 บาท ขาดทุนสุทธิ 8,305,817 บาท
ส่วน 5 บริษัทที่เคยปรากฏชื่อ พล.ท.จารุมาศ เรืองสุวรรณ เป็นกรรมการ ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ทุกแห่ง ได้แก่
1.บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2550 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 105,100 บาท ขาดทุนสุทธิ 105,100 บาท
2.บริษัท ฟ้าแลบ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 25320 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 105,100 บาท ขาดทุนสุทธิ 105,100 บาท
3.บริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2530 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 มีรายได้รวม 795 บาท รายจ่ายรวม 1,014,023 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,013,227 บาท
4.บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2540 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 มีรายได้รวม 11 บาท รายจ่ายรวม 105,200 บาท ขาดทุนสุทธิ 105,188 บาท
5.บริษัท ฟ้าใหม่ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2550 ทุนปัจจุบัน 2,114,840 บาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 3,003,001 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,003,001 บาท
สำหรับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม อัครา ไมนิ่ง จำกัด) เป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทยในปี 2536 เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการโครงการเหมืองแร่ชาตรีคอมเพล็กซ์ในประเทศไทย บริษัทฯ เป็นบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ("ASX") โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ถือหุ้นร้อยละ 48.2% ในบริษัทฯ (อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัท อัคราฯ : http://www.akararesources.com/th/about/company-highlights)
ทั้งหมดคือข้อมูลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบริษัทที่เกี่ยวข้องซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเงื่อนปมการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยปรากฏชื่อนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นผู้ถูกกล่าวหา
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตอบคำถามถึงความคืบหน้ากรณีนี้ว่า เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวน และตรวจสอบเส้นทางการเงิน คณะอนุกรรมการไต่สวนฯยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
ดังนั้นคงต้องรอติดตามกันต่อไปว่า บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร ?
อย่างไรก็ดีรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะอนุกรรมการฯ ป.ป.ช. ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทุกคนจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
โชว์ข้อหาทางการ‘ประเสริฐ’คดีเอื้อเอกชนเหมือง-ป.ป.ช.ไต่สวน‘จารุพงศ์’ กก.บ.กลุ่ม‘อัครา’
‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
เปิดตัว‘สวนสักพัฒนา’เครือ‘อัคราฯ’ ในสำนวน ป.ป.ช.คดีรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ
“จารุมาศ เรืองสุวรรณ”ที่ปรึกษา พท.เป็น กก.บริษัทสำรวจทองคำ 5 แห่ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/