"...เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การสร้างความซื่อสัตย์ ในแวดวงการเมืองและการมีธรรมาภิบาลที่ดีจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจโลก แต่ปรากฏข้อมูลว่าหลายรัฐบาลภูมิภาคเอเชีย ยังคงอยู่ในสภาพที่ร่อแร่ ในด้านการขับเคลื่อนทั้งการสร้างธรรมาธิบาลและการเมืองที่ใสสะอาดทั้งๆที่ ในหลายประเทศนั้นเล็งเห็นแล้วว่า การสร้างระบบที่มีความเปิดกว้างทางเศรษฐกิจเป็นหนทางที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ ....แม้ในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สูงมากในภูมิภาค อย่างประเทศอินเดียและประเทศออสเตรเลีย ความไม่ยุติธรรมทางสังคมและการที่กลุ่มทุน บริษัททุนหนาระดับโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ได้นำไปสู่ความเสื่อมถอยในกระบวนการปราบปรามการทุจริตด้วยเช่นกัน ..."
ประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เท่ากับปี 2562 ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 101 จากอันดับทั้งหมด 180 ซึ่งลดลงมาจากปี 2562 ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99 หรือตกมา 2 อันดับ โดยมีประเทศที่ได้อันดับคะแนนเท่ากับประเทศไทยได้แก่ประเทศโคโซโว ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ประเทศปานามา และประเทศเปรู
คือ สรุปผลการประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2019 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในส่วนของประเทศไทย ที่มีการเผยแพร่เป็นทางการ ในช่วงเที่ยงวันที่ 23 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา
โดยภาพรวมผลคะแนนทั่วโลกในปีนี้ ปรากฏว่า 120 ประเทศ จาก 180 ประเทศทั่วโลกยังคงได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน และมีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับ 43 คะแนน ส่วนค่าเฉลี่ยในประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นอยู่ที่ 45 คะแนน
สำหรับประเทศที่ได้อันดับหนึ่ง คือ นิวซีแลนด์ และ เดนมาร์ก 87คะแนน ฟินแลนด์ สวีเดน สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ได้เท่ากันที่ 85 คะแนน และประเทศที่ได้อันดับรั้งท้ายได้แก่ ประเทศโซมาเลียได้ 9 คะแนน ประเทศซูดานใต้ได้ 12 คะแนน ประเทศซีเรียได้ 13คะแนน ประเทศเยเมนได้ 15 คะแนน และประเทศอัฟกานิสถานกับประเทศซูดานได้คะแนนอยู่ที่ 16 คะแนนเท่ากัน (อ่านประกอบ:ประกาศดัชนีการทุจริต 2019 อันดับไทยร่วงอยู่ที่ 101 ของโลก ได้ 36 คะแนนเท่าเดิม)
อย่างไรก็ดี ในการเผยแพร่ผลการประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2019 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้มีการจัดทำบทวิเคราะห์สถานการณ์การรับรู้การทุจริตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และในโอเชียเนียที่ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการประเมินเอาไว้ด้วย
โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้
@ การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ กับสิทธิพลเมืองที่อ่อนแอลง
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การสร้างความซื่อสัตย์ ในแวดวงการเมืองและการมีธรรมาภิบาลที่ดีจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจโลก
แต่ปรากฏข้อมูลว่าหลายรัฐบาลภูมิภาคเอเชีย ยังคงอยู่ในสภาพที่ร่อแร่ ในด้านการขับเคลื่อนทั้งการสร้างธรรมาธิบาลและการเมืองที่ใสสะอาด
ทั้งๆที่ ในหลายประเทศนั้นเล็งเห็นแล้วว่า การสร้างระบบที่มีความเปิดกว้างทางเศรษฐกิจเป็นหนทางที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้
อย่างไรก็ตาม ในประเทศจีน กัมพูชา และเวียดนามยังคงกีดกันภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ ปิดกั้นช่องทางแสดงความคิดเห็นของประชาชนและตัดสินใจโดยไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
ซึ่งในกรณีดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่อย่างประเทศจีนได้ 41 คะแนน ประเทศอินโดนีเซียได้ 40 คะแนน ประเทศเวียดนามได้ 37 คะแนน ประเทศฟิลิปปินส์ได้ 34 คะแนน
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ก็ยังคงต้องต่อสู้กับปัญหาทุจริตอย่างยากลำบาก
@ กลุ่มทุนแอบแฝงล็อบบี้การเมือง
แม้ในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สูงมากในภูมิภาค อย่างประเทศอินเดียและประเทศออสเตรเลีย ความไม่ยุติธรรมทางสังคมและการที่กลุ่มทุน บริษัททุนหนาระดับโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ได้นำไปสู่ความเสื่อมถอยในกระบวนการปราบปรามการทุจริตด้วยเช่นกัน
“เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องจัดการอย่างเร่งด่วนต่อกรณีการทุจริต อันมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนพรรคการเมือง และขจัดการใช้อิทธิพลอันไม่เหมาะสมที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการเมืองของเรา” นางเดเลีย เฟอร์เรรา รูบิโอ (Delia Ferreira Rubio) ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติกล่าว
นางเดเลีย เฟอร์เรรา รูบิโอ ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (อ้างอิงรูปภาพจากเว็บไซต์ www.bpb.de)
ทั้งนี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้เสนอมาตรการสำคัญต่อประเทศต่างๆ ในการป้องกันการทุจริตเพื่อจะทำให้คะแนน CPI ดีขึ้น
โดยมีรายละเอียด 7 ประการดังต่อไปนี้
1.การจัดการไม่ให้เกิดการรับตำแหน่งโดยขัดกันแห่งผลประโยชน์
2.ควบคุมกระบวนการใช้จ่ายเงินทางด้านการเมือง
3.กระบวนการเสริมสร้างจริยธรรมและคุณธรรมในการเลือกตั้ง
4.การออกกฎเกณฑ์และข้อกำหนดในการทำกิจกรรมของล็อบบี้ยิสต์
5.เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
6.ปราบปรามกรณีการให้สิทธิพิเศษต่างอย่างจริงจัง
และ 7. ส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล
เรียบเรียงจาก: https://www.transparency.org/news/feature/cpi_2019_global_highlights, https://www.transparency.org/news/feature/cpi_2019_Asia_Pacific
ทั้งหมดนี้ คือ บทวิเคราะห์สถานการณ์การรับรู้การทุจริตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และในโอเชียเนีย ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จัดทำขึ้น พร้อมข้อแนะนำ เพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปใช้เป็นแนวทางปฎิบัติยกระดับการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ข้อมูลในส่วนของประเทศไทย นั้น ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดทำอินโฟกราฟฟิค (Infographic) สรุปผลการประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2019 มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว โดยมีการระบุปัจจัยที่มีผลทำให้คะแนนของประเทศไทย ลดลงจากปีที่ผ่านมา มาจาก 2 ส่วน คือ เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ และการทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการเกี่ยวกับสินบนขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม (อ่านประกอบ : INFO ป.ป.ช. : ดัชนีคอร์รัปชันโลก 2019 'ทุจริตภาครัฐ-สินบนตุลาการ' ฉุดอันดับไทยร่วง 101)
จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่จะต้องช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อยกระดับการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมาให้ได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/