พลิกปูมคดี บ.ไร่ส้ม ‘สรยุทธ’ 138 ล. 7 ปีจาก ป.ป.ช. อัยการ ก่อนศาลฎีกาฯ พิพากษา 21 ม.ค.63 หลังศาลอุทธรณ์ยืนตามชั้นต้น จำคุก 13 ปี 4 เดือน ปิดฉากหรือพ้นผิด นักเล่าข่าว 5.5 พันล้าน
วันที่ 21 ม.ค. 2563 ศาลอาญคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.พิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดัง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 กรณีถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อสมท. กว่า 138 ล้านบาท หลังจากศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกนายสรยุทธ เป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน เช่นเดียวกับจำเลยคนอื่นๆ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560
มิอาจคาดการณ์ใดใดล่วงหน้า
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงความเป็นมาของคดีนี้มารายงานอีกครั้ง
@จุดเริ่มต้นที่ ป.ป.ช.
เดือนมิถุนายน 2546 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ให้เป็นพิธีกรแบบรายวันดำเนินรายการ “ถึงลูกถึงคน” ในอัตราค่าจ้าง 5,000 บาท ต่อตอน ต่อมาปรากฏว่ารายการได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชมรายการ หลังจากนั้น เดือนกุมภาพันธ์ 2547 นายสรยุทธ จึงได้ตั้ง บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดยมีนายสรยุทธ เป็นกรรมการผู้จัดการ มีนางสาวอังคณา วัฒนมงคลศิลป์ และนางสาวสุกัญญา แซ่ลิ้ม เป็นกรรมการบริษัท และเข้าทำสัญญาร่วมผลิตรายการกับ อสมท โดยระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2549 บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้เข้าทำสัญญากับ บริษัท อสมทจำกัด (มหาชน) ร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว”ออกอากาศทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลาประมาณ 12.00 – 13.00 น. ครั้งละ 60 นาที (รวมเวลาโฆษณา) โดย บมจ. อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้ครั้งละ 5 นาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ บมจ. อสมท ในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท
@ สรยุทธ สุทัศนะจินดา /ภาพจากเนชั่น https://www.nationtv.tv/main/content/378491814/
นอกจากนี้ได้ทำสัญญาร่วมผลิตรายการ“คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทุกวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ เวลาประมาณ 21.30 – 22.00 น. ครั้ง ละ 30 นาที(รวมเวลาโฆษณา) โดย บมจ.อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้ บริษัท ไร่ส้ม จำกัดได้ครั้ง ละ 2 นาที 30 วินาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ บมจ. อสมทในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 240,000 บาท
เรื่องนี้ถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. พบว่า นางพิชชาภา เอี่ยมสอาด เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด บมจ.อสมท เป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียวในการจัดทำคิวโฆษณารวมและเป็นผู้รายงานโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงินจาก บริษัท ไร่ส้ม จำกัดได้ให้ความช่วยเหลือ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยไม่มีการรายงานการโฆษณาเกินเวลาของ บริษัท ไร่ส้มจำกัด เพื่อเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549
จากการไต่สวนปรากฏว่า นายสรยุทธ ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของ ธนาคารธนชาติ สาขาพระราม 4 จ่ายเงินให้นางพิชชาภา โดยมีการทำเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้รวม 6 ครั้งเป็นเงิน 739,770.50 บาท เพื่อตอบแทนที่นางพิชชาภา มิได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด
ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 นางบุญฑนิก บูลย์สิน รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการตลาด 1 ได้สังเกตพบว่า รายการข่าวเที่ยงคืน มีการออกอากาศล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดจึงได้ทำการตรวจสอบ และได้เรียกนางพิชชาภา มาสอบถามต่อหน้าทุกคนซึ่งนางพิชชาภา ก็ได้รับสารภาพต่อหน้าทุกคนว่า บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีการโฆษณาเกิน และไม่มีการรายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจริง และ ได้ใช้น้ำยาลบคำผิดลบเฉพาะคิวโฆษณาเกินเวลาในส่วนของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ในใบคิวโฆษณารวมของ บมจ. อสมท เพื่อปกปิดความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามคำแนะนำของนายสรยุทธ และนางสาวมณฑา ธีระเดช พนักงานของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ก่อนที่จะเกิดการตรวจสอบเรื่องนี้ขึ้น
หลังจากนั้น บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้มีการชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ บมจ. อสมท ในวันที่ 31 สิงหาคม 2549 และวันที่ 15 กันยายน 2549 เป็นเงินจำนวน 103,953,710 บาท โดยบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ขอหักส่วนลด 30% จากยอดทั้งหมดจำนวน138,790,000 บาท แต่ บมจ. อสมท ไม่ยินยอมให้หักส่วนลด 30%
เนื่องจากบริษัทไร่ส้ม จำกัด มิได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำกันไว้และไม่ได้ชำระเงินให้ถูกต้องตามสัญญา บมจ. อสมท จึงคิดดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 138,790,000 บาท นับแต่ วันที่ 1 เมษายน 2548 คิดถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2549 เป็นเงินจำนวน 4,464,197.67 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 9,715,300 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 152,969,497.67 บาท ซึ่งบริษัท ไร่ส้มจำกัด ก็ยินยอมชำระเงินดังกล่าวให้ บมจ. อสมท. ในวันที่ 20 ตุลาคม 2549
@ 20 ก.ย.2555 ฟัน 4 คน
วันที่ 20 ก.ย. 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล
1.นางพิชชาภา (นางชนาภา บุญโต) มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 6, มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
2. นางสาวอัญญา อู่ไทย ซึ่งเป็นหัวหน้างานและเป็นผู้บังคับบัญชาในฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า สำนักกลยุทธ์การตลาด บมจ.อสมท. มีมูลความผิดทางวินัย
3. นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และ 4.นางสาวมณฑา ธีระเดช ซึ่งได้ใช้ให้นางพิชชาภา (นางชนาภา บุญโต) ไม่ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลาที่ กำหนดในสัญญาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด (ในฐานะนิติบุคคล) มีมูลความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิด ตามมาตรา 6 , มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณี
@ อัยการแย้ง-ตั้งคณะทำงานร่วม-สุดท้ายแถลงสั่งฟ้อง 12 พ.ย.2557
หลังจาก ป.ป.ช. ส่งสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ปรากฏว่า อสส. เห็นว่าสำนวนมีข้อไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็น ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมทั้งสองฝ่าย ขณะที่นายสรยุทธ ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส. ด้วย ทำให้คณะทำงานทั้งสองฝ่ายไม่สามารถที่จะหาข้อยุติร่วมกันได้ เนื่องจาก ป.ป.ช. เห็นว่าสำนวนการไต่สวนคดีนี้มีความสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้นได้มีการประชุมคณะทำงานร่วมฯทั้งสองฝ่ายพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีนี้ ยืดเยื้อยาวนานกว่าปีเศษ โดยมีกระแสข่าวมาตลอดว่า อสส. ไม่ต้องการเป็นผู้ฟ้องคดีเอง ต่อมาในปี 2557 ได้เรียกพนักงาน อสมท. มาสอบเพิ่มเติมจำนวน 3 คน กระทั่ง 4 สิงหาคม 2557 ประชุมนัดสุดท้าย โดยนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุฯไต่สวนคดีนี้ เห็นว่า การประชุมในครั้งนี้ได้ข้อยุติสมบูรณ์แล้ว เห็นควรให้ อสส. เป็นผู้ฟ้องคดีได้ ก่อนจะส่งสำนวนการไต่สวนฉบับล่าสุดให้แก่ อสส. กระทั่งวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ทางสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงข่าวว่า อสส. พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน กระทำผิดตามข้อกล่าวหา จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานผู้แทน อสส. นำความเห็นดังกล่าวไปประชุมคณะทำงานผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีต่อไปโดยเร็ว
@ ขนพยาน 25 ปาก สู้คดี
เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ในการไต่สวนคดี ฝ่าย อสส. ยื่นพยานทั้งหมด 19 ปาก นางพิชชาภา ขอพยาน 2 ปาก นายสรยุทธ และบริษัท ไร่ส้ม ขอพยาน 25 ปาก ซึ่งซ้ำกับพยานโจกท์ 9 ปาก และ น.ส.มณฑา ขอพยาน 8 ปาก ซ้ำกับพยานโจทก์ 2 ปาก
ส่วนพยานที่ถูกกล่าวอ้างในกรณีนี้ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักหนึ่ง ในกรมสรรพากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สำนักกฎหมายแห่งหนึ่ง รองประธานผู้อำนวยการ บริษัท อสมทฯ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีบริษัท อสมทฯ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ด้านโฆษณา บริษัท อสมทฯ นักธุรกิจอาวุโส และคณะอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย
หลังจากนั้นศาลอาญาได้นัดไต่สวนพยานเรื่อยมา มีทั้งระดับ ‘บิ๊ก’ ใน อสมท และบุคคลที่เกี่ยวข้องหลากหลายวงการ ทั้งในแวดวงธุรกิจ หรือแวดวงผู้ผลิตรายการโทรทัศน์มาด้วย
ขณะเดียวกันเหตุผลสำคัญที่นายสรยุทธกับพวกยกขึ้นมาต่อสู้ในคดีนี้ คือ สัญญาร่วมจัดรายการ Time Sharing (แบ่งเวลาโฆษณา) มาต่อสู้ในคดีนี้ พร้อมระบุว่า บริษัทผู้ผลิตรายการรายอื่นก็ปฏิบัติอย่างนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เคยตรวจสอบมาก่อน รวมถึงขอเบิกพยานเพิ่มเติมเป็นพนักงานจากบริษัทเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งอีกด้วย
@ 29 ก.พ. 2559 ศาลชั้นต้นฟันรายกระทง
ภายหลังไต่สวนพยาน-การพิจารณาของศาลมายาวนานประมาณ 1 ปี ในที่สุดศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2559 ศาลพิพากษาจำคุกนางพิชชาภา 30 ปี ลดโทษเหลือ 20 ปี จำคุกนายสรยุทธ กับ น.ส.มณฑา 20 ปี นำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 13 ปี 4 เดือน และสั่งปรับบริษัท ไร่ส้มฯ เป็นเงิน 1.2 แสนบาท โดยมีความผิดตามมาตรา 6, 8 และ 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
ศาลเห็นว่า การร่วมผลิตรายการ จำเลยที่ 2 (บริษัท ไร่ส้มฯ) ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต ส่วนจำเลยที่ 3 (นายสรยุทธ) เป็นพิธีกรจัดรายการทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุชัดว่าถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง จำเลยที่ 2 ต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังและชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่บริษัท อสมทฯ โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิ์แบ่งค่าโฆษณาส่วนเกินคนละเท่า ๆ กับบริษัท อสมทฯ
ขณะเดียวกันศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินและไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขณะที่ จำเลยที่ 1 (นางพิชชาภา) ซึ่งมีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา แต่ไม่รายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้บริษัท อสมทฯ ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ศาลได้ใช้พยานหลักฐานสำคัญคือ รายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ อสมทฯ 2 ชุด โดยคณะกรรมการฯดังกล่าว มีความเห็นทำนองว่า จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากใบคิวโฆษณารวม แสดงถึงการปกปิดข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่เป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์และรับเงินตามเช็ค เป็นการต้องห้าม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8 และ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้นจำเลยที่ 3 น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน ในทางนำสืบศาลเห็นด้วยกับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าจำเลยจ่ายเช็คเพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใด ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2-4 นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายเพราะการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 บริษัทไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน จำนวน 138,790,000บาท แก่บริษัท อสมทฯ แล้วจึงลงโทษสถานเบา
พิพากษาจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ มาตรา 6 ,8 และ 11 จำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 6 ,8 และ 11 การกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษสุด รวม 6 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 หมื่นบาท รวมปรับ 1.2 แสนบาท จำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 (น.ส.มณฑา) กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 คนละ 20 ปี แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3และ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 8 หมื่นบาท ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1, 3 และ 4
หลังมีคำพิพากษานายสรยุทธ น.ส.พิชชาภา และ น.ส.มณฑา ขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสดรายละ 2 ล้านบาท พร้อมกับยื่นอุทธรณ์คดี ต่อมาก็ได้รับการประกันตัว และศาลมีคำสั่งห้ามเดินทางนอกประเทศ และต้องมารายงานตัวทุก 30 วัน
@ศาลอุทธรณ์ยืน- ข้ออ้าง ‘ทำคุณงามความดี’ คนละส่วนกับคดี
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ผลปรากฎว่าศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกนายสรยุทธ เป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน เช่นเดียวกับจำเลยคนอื่นๆ ขณะที่นายสรยุทธ ได้ทำเรื่องยื่นขอสู้คดีต่อในชั้นฎีกาทันที รายงานข่าวแจ้งว่า นายสรยุทธ กับพวก ได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสด และเงินฝาก รวม 4 ล้านบาท ต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อย่างไรก็ตามศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯได้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา และได้ออกหมายขังนายสรยุทธกับพวกไว้ก่อน นำตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อมาศาลมีคำสั่งยังไม่ให้ประกันตัวจำเลยในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง
ในส่วนของคำพิพากษานั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า นางพิชชาภา (จำเลยที่ 1) เป็นผู้ดำเนินการจัดทำคิว และทราบความเป็นไปของรายละเอียดการโฆษณามาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นสามัญสำนึกในหน้าที่จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ จะอ้างว่ามีช่องว่างทางการตรวจสอบไม่ได้ เมื่อการโฆษณากินส่วนต้องเสียค่าโฆษณา แต่กลับใช้น้ำยาลบคำผิดในใบคิวโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด (จำเลยที่ 2) แม้ข้ออ้างว่าทำไปเพราะตกใจกลัวจะต้องรับผิดก็เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก อุทธรณ์ของนางพิชชาภาฟังไม่ขึ้น
ส่วนนายสรยุทธ (จำเลยที่ 3) เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งร่วมกระทำผิดกับนางพิชชาภา จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ แม้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ จะอ้างว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลบรายการในใบคิวโฆษณาของนางพิชชาภา เห็นว่า นางพิชชาภา ให้การยอมรับเกี่ยวกับเหตุผลในการลบรายการในใบคิว และอ้างว่า ได้รับการร้องขอจากนายสรยุทธ ในขณะที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ กล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่น่าเชื่อถือ ส่วนคุณงามความดีของนายสรยุทธที่กล่าวอ้างนั้น เป็นเรื่องประวัติและความดีของนายสรยุทธ เป็นคนละส่วนกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ซึ่งศาลต้องพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวน
ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่ กระทำความผิดหลายกรรมด้วยการมอบเช็ค 6 ฉบับตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
@ยื่นฎีกา-ประกันตัวสู้คดี
ภายหลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืน นายสรยุทธได้ยื่นฎีกา ขณะเดียวกันนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 ได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างฎีกาสู้คดี โดยใช้สมุดบัญชีเงินฝากเป็นหลักทรัพย์ ที่ศาลฎีกา ตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว ต่อมาได้รับการประกันตัว พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้จำเลยต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน เช่นเดียวกับนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ได้ประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์ 5 ล้านบาทเช่นกัน
หากเวลาตั้งแต่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลปี 2555 ชั้น อัยการ ศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จนถึงศาลฎีกา เป็นเวลากว่า 7 ปี
@ เกิดจากเนชั่น
สำหรับเส้นทางของนายสรยุทธนั้น เดิมเป็นพนักงานบริษัท เนชัน มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด มีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และทำรายการโทรทัศน์ในระบบเคเบิ้ล คือรายการ “คมชัดลึก”และ “เก็บตกจากเนชัน” ต่อมาปี 2546 ได้รับการทาบทามจากไทยทีวีสีช่อง 3 ให้มาทำรายการข่าวในช่วงเช้าวันละครึ่งชั่วโมง (ต่อมาคือรายการเรื่องเล่าเช้านี้)ซึ่งเป็นช่วงก่อนจัดรายการ“เก็บตกจากเนชั่น” แต่บริษัทเนชันฯ ไม่ยินยอมที่จะให้ไปทำรายการดังกล่าว จึงได้ลาออกจาก บริษัทเนชันฯ
ต่อมานายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้นดึง มาเป็นพิธีกรรายการ “ถึงลูกถึงคน และเพิ่มรายการ “คุยข่าว” อีกหนึ่งรายการ ได้รับค่าตอนแทนครั้งแรกปี 2546 ที่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ครั้งละ 5,500 บาท จากนั้น อสมท. ได้ตอบแทนด้วยการให้เข้าเป็นผู้ร่วมผลิตรายการและแบ่งเวลาโฆษณาแบบ Time Sharing 50:50 และขึ้นค่าตอบแทนการเป็นพิธีกรรายการ “ถึงลูกถึงคน”เป็นตอนละ 30,000 บาท เพื่อรองรับการการทำรายการ นายสรยุทธได้ตั้ง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด
ในเวลาต่อมาเกิดกรณีพิพาทเงินค่าโฆษณา 138 ล้านบาทในปี 2549 นายสรยุทธก็หิ้ว “ไร่ส้ม” ออกจาก อสมท. แล้วมาทำรายการที่ช่อง 3 เต็มตัว
@ 13 ปี 5.5 พันล.
นายสรุยทธมีธุรกิจ 2 บริษัท คือ บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จดทะเบียนวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ทุน 1 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 264 ซอยลาดพร้าว 130 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร (นายสรยุทธ ถือหุ้น79.99%) บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จดทะเบียนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่เดียวกัน (นายสรยุทธ ถือหุ้น 99.98%)
นับจากปี 2547 จนถึงสิ้นปี 2559 หรือ 13 ปี บริษัทของนายสรยุทธ 2 แห่ง คือ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ บริษัท ชัดถ้อย ชัดคำ จำกัด มีรายได้ รวม 5,577,382,054 บาท (ตัวเลขกลมๆ 5.5 พันล้าน) กำไรสุทธิรวม 2,483,439,996 บาท (ตัวเลขกลมๆ 2.48 พันล้าน) (อ่านเรื่องประกอบ: ปิดบัญชี ‘สรยุทธ’ 13 ปี 5.5 พันล้าน)
The show must go on! หรือ งานเลี้ยงเลิกรา ปิดฉากถาวร?
รอติดตามผลคดี
อ่านประกอบ :
ปิดบัญชี ‘สรยุทธ’ 13 ปี 5.5 พันล้าน
คนใกล้ชิดโพสต์อ้าง‘สรยุทธ’ไม่เคยคิดหนี หวั่นอดเจอแม่-คุกลำบากแต่ต้องอยู่ให้ได้
สรยุทธ รายได้วูบ 533 ล. กำไรลดลงเกือบ 300 ล. จากปี 58
744 ล. รายได้ล่าสุด 2 บริษัท ‘สรยุทธ’ก่อนศาลสั่งจำคุก - 12 ปี 5.3 พันล.
ก่อนเผชิญวิบากกรรม! ‘สรยุทธ’ 4.6 พันล้าน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/