“…ขอให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. เรียกนายตำรวจระดับสูง 4 รายมาให้ถ้อยคำ ได้แก่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง (ผบ.สกบ.) โดย 2 คนนี้เกี่ยวข้องในฐานะผู้อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว รวมทั้ง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ในฐานะเป็นผู้ตรวจรับงานโครงการและเป็นผู้ขยายสัญญาให้กับเอกชน โดยเฉพาะ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ซึ่งย้ายมาจากตำรวจภูธรภาค 7 เพื่อมาตรวจรับงาน งวดที่ 6 โดยเฉพาะ…”
“เมื่อครั้งที่ผมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) เซ็นหนังสือ 2 ฉบับ ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเนื่องจากล่าช้าและส่งงานไม่ทัน อีกทั้งยังเปลี่ยนผู้บัญชาการมาถึง 2 คนก็ไม่แล้วเสร็จ และไม่มีใครดำเนินการยกเลิกโครงการดังกล่าว ถ้าไม่พบความผิดจริงก็ไม่เซ็นยกเลิก เพราะบริษัทคู่สัญญาจะมาฟ้องได้ และที่ไม่ถูกฟ้องเพราะทำตามหน้าที่”
“สำหรับเหตุการณ์ที่มาเกิดในช่วงนี้ คาดว่าใกล้ถึงเวลาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเรียกสอบพยานที่เกี่ยวข้องกับโครงการไบโอเมตริกซ์ พร้อมประสานมายังผมบ้าง แต่ยังไม่ระบุวัน ซึ่งพยานปากอื่นที่ไม่ได้เซ็นรับ คงไม่เสียขวัญเพราะถูกย้ายหมดแล้ว ยืนยันว่าการออกมาในครั้งนี้ ไม่ได้ท้าชนใคร เพราะต้องการให้ความจริงปรากฎ เนื่องจากโครงการไบโอเมตริกซ์เป็นสมบัติชาติ และมีมูลค่าถึง 2,000 ล้านบาท”
เป็นคำยืนยันของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี กรณีถูกคนร้ายลอบยิงรถยนต์ เมื่อคืนวันที่ 7 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเกิดจากสมัยตนดำรงตำแหน่ง ผบช.สตม. และสั่งการให้มีการตรวจสอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลแบบลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า (ไบโอเมตริกซ์) พร้อมกับมีหนังสือถึง ผบ.ตร. ขอให้ยกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากเกิดความล่าช้าและส่งงานไม่ทัน (อ้างอิงข่าวจากไทยรัฐออนไลน์)
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนเพื่อประชาชนและสังคม เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณียื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการไบโอเมตริกซ์ดังกล่าว โดยเสนอชื่อให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. เรียก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมนายตำรวจระดับสูงรวม 4 รายเข้าให้ถ้อยคำ เนื่องจากเชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว
นอกจากนี้มีรายงานว่า ในวันที่ 10 ม.ค. 2563 ‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ จะเข้าให้ถ้อยคำแก่คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ในฐานะพยานด้วย (อ่านประกอบ : 10 ม.ค.‘บิ๊กโจ๊ก’มาให้ข้อมูล ป.ป.ช.ปมไบโอเมตริกซ์ สตม. 2.1 พันล.-บี้สอบ ผบ.ตร. ด้วย)
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าโครงการไบโอเมตริกซ์คืออะไร และทำไม พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ต้องออกมามีแอ็คชั่นในเรื่องนี้ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
@ ปี 60 สตช. ทำสัญญากับกิจการร่วมค้า เอ็มที แบ่งระยะเวลาส่งงาน 6 งวด
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลแบบลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า หรือ ‘ไบโอเมตริกซ์’ เป็นหนึ่งในโครงการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยสำนักงานส่งกำลังบำรุง (สกบ.) กับกิจการร่วมค้า เอ็มที (มีบริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด เป็นผู้แทนหลัก) ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อปี 2560 โดยแบ่งระยะงานออกเป็น 6 งวด
ต่อมาประเด็นนี้ถูก ‘บิ๊กโจ๊ก’ ดำเนินการตรวจสอบ ก่อนทำหนังสือพิจารณาใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงโครงการดังกล่าวถึง ‘บิ๊กแป๊ะ’ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. โดยสรุปคือโครงการดังกล่าวมีความล่าช้า และไม่เป็นไปตามแผนในการส่งมอบงาน แต่ สตม. กลับขยายระยะเวลาการดำเนินงานออกไป โดยไม่ปรับเอกชน ขณะเดียวกันยังมีการตั้งคำถามถึงเครื่องมือไบโอเมตริกซ์ว่าอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับงบประมาณ 2.1 พันล้านบาท
(พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล, ภาพจาก the bangkokinsight)
@ทนาย ‘ษิทรา’ เปิด 2 ปมร้อง ป.ป.ช.สอบ
ภายหลัง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ทำหนังสือพิจารณายกเลิกสัญญาโครงการนี้ต่อ สตม. นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ออกมา ‘รับลูก’ ต่อทันทีโดยการยื่นเรื่องร้องเรียนโครงการดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนข้อเท็จจริงใน 2 ประเด็นหลักคือ
1.การส่งมอบครุภัณฑ์ไบโอเมตริกซ์ ที่กำหนดให้เอกชนส่งมอบแก่ สตช. ภายใน 660 วัน แบ่งออกเป็น 6 งวดนั้น พบว่า งวดที่ 1 เลยกำหนดการส่งมอบ 30 วัน งวดที่ 2 เลยกำหนดการส่งมอบ 106 วัน งวดที่ 3 เลยกำหนดการส่งมอบ 177 วัน งวดที่ 4 เลยกำหนดการส่งมอบกว่า 9 เดือน ขณะที่งวดที่ 5 ต้องส่งมอบภายในวันที่ 4 ต.ค. 2561 และงวดที่ 6 ต้องส่งมอบภายในวันที่ 2 พ.ค. 2562 อย่างไรก็ดีนายษิทรา อ้างว่า ในช่วงที่ไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ยังไม่มีการส่งมอบงานงวดที่ 5 และ 6 แต่อย่างใด
2.ประสิทธิภาพในการทำงานของครุภัณฑ์ไบโอเมตริกซ์ นายษิทรา ระบุว่า โครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งในพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้งาน ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร รวมถึงมีการรายงานปัญหาดังกล่าวไปยังบริษัทคู่สัญญา แต่ไม่ได้มีการแก้ไขใด ๆ นอกจากนี้ในการส่งมอบงานบางงวดเอกชนยังไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนดนัด แต่ สตช. เซ็นตรวจรับงานให้ก่อน เพื่อไม่ให้เอกชนเสียเงินค่าปรับวันละ 5 ล้านบาท
(นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. กรณีดังกล่าว, ภาพจากเฟซบุ๊กทนายษิทรา)
โดยเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 นายษิทรา เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. โดยใช้ระยะเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนขอให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. เรียกนายตำรวจระดับสูง 4 รายมาให้ถ้อยคำ ได้แก่พล.ต.อ.จักรทิพย์ พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง (ผบ.สกบ.) โดย 2 คนนี้เกี่ยวข้องในฐานะผู้อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว รวมทั้ง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ในฐานะเป็นผู้ตรวจรับงานโครงการและเป็นผู้ขยายสัญญาให้กับเอกชน โดยเฉพาะ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ซึ่งย้ายมาจากตำรวจภูธรภาค 7 เพื่อมาตรวจรับงาน งวดที่ 6 โดยเฉพาะ
พร้อมกับขอเพิ่มรายชื่อในบัญชีพยานเป็น 13 ปาก จากเดิมมีแค่ ‘บิ๊กโจ๊ก’ โดยทั้ง 13 รายดังกล่าว มีนายตำรวจระดับ นายพลตำรวจ 2 ราย นายพันตำรวจ 10 ราย และชั้นประทวน 1 รายโดยทั้งหมดเป็นตำรวจที่เคยเกี่ยวข้องกับการตรวจรับงานโครงการไบโอเมตริกซ์ แต่พบความไม่ชอบมาพากล จึงไม่ได้เซ็นอนุมัติการตรวจรับ และต่อมาตำรวจทั้ง 13 คนถูกย้าย ไปประจำการในตำแหน่งอื่น
(พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร., ภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์)
@เปิดตัว บ.เอ็มเอสซีฯ หนึ่งในกิจการร่วมค้าฯ คู่สัญญาทำไบโอเมตริกซ์
ในส่วนของคู่สัญญาโครงการนี้ คือ กิจการร่วมค้า เอ็มที มีการระบุว่า บริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด เป็นผู้แทนดำเนินการหลัก
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 พบว่า บริษัทแห่งนี้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2546 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 19 ซ.รามคำแหง 11 ถ.รามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. แจ้งประกอบธุรกิจซื้อและจำหน่ายเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และให้เช่าทรัพย์สิน
ปรากฏชื่อ นายศรายุทธ ณ ศิลา น.ส.ปาริชาติ รุ่งกำจัด น.ส.พิมพ์สุดา พรพิชิตนาวี และนายพงษ์ศักดิ์ ภักดิ์ศรานุวัต เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 638,408,430 บาท รายจ่ายรวม 582,721,756 บาท เสียภาษีเงินได้ 6,717,618 บาท กำไรสุทธิ 23,116,684 บาท
เมื่อตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า บริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 6 สัญญา ระหว่างปี 2553-2557 รวมวงเงิน 65,790,720 บาท
วันเดียวกันสำนักข่าวอิศรา โทรศัพท์ไปยังเบอร์ของบริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ เบื้องต้น เจ้าหน้าที่บริษัทระบุว่า จะแจ้งให้ผู้บริหารรับทราบ และขอเบอร์โทรศัพท์ผู้สื่อข่าวเพื่อให้รอการติดต่อกลับ อย่างไรก็ดีจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไบโอเมตริกซ์ ที่กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง เมื่อรถยนต์ส่วนตัวของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ถูกลอบยิง โดยมีความพยายามโยงว่าเป็นเพราะ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้
อ่านประกอบ :
10 ม.ค.‘บิ๊กโจ๊ก’มาให้ข้อมูล ป.ป.ช.ปมไบโอเมตริกซ์ สตม. 2.1 พันล.-บี้สอบ ผบ.ตร. ด้วย
ป.ป.ช.ยังไม่เรียก‘บิ๊กโจ๊ก’ให้ข้อมูลโครงการไบโอแมทริกซ์ สตม. 2.1 พันล.-สอบคืบ 50%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/