ศูนย์คุณธรรม ร่วมกับกรมการศาสนา กองพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และองค์กรภาคีเครือข่าย 132 หน่วยงาน จัดการประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิดหลัก “1 ทศวรรษ สร้างสังคมคุณธรรม : วินัยสร้างคน สะท้อนวินัยชาติ”
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2562 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับกรมการศาสนา กองพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และองค์กรภาคีเครือข่าย 132 หน่วยงาน จัดการประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิดหลัก “1 ทศวรรษ สร้างสังคมคุณธรรม : วินัยสร้างคน สะท้อนวินัยชาติ” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ในงานประชุมสมัชชาฯ วันแรก นอกจากเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอและแนวทางการขับเคลื่อนคุณธรรมของสังคมไทย ยังมีเวทีการประชุมย่อนที่น่าสนใจ หัวข้อ “ชม แชร์ เสริมสร้างคุณธรรมความดีของภาคีเครือข่าย” เป็นการนำเสนอกรณีศึกษา การแสดงพลัง การโชว์ผลงาน รูปแบบอื่นๆ ตามที่เครือข่ายออกแบบร่วมกัน โดยมีการแบ่งเป็นเวทีย่อยตามกลุ่มเครือข่ายทั้งสิ้น 6 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายภาครัฐ การขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายภาครัฐในประเด็น “ต้นแบบองค์กรภาครัฐยุคใหม่ ใส่ใจคุณธรรม” เครือข่ายธุรกิจ ประเด็น”ทิศทางธุรกิจกับการสร้างสรรค์สังคมคุณธรรม” เครือข่ายองค์กรการศึกษา ประเด็น “ต้นแบบเสริมสร้างวินัย ในสถานศึกษา” และนำเสนอกรณีศึกษา เครือข่ายองค์กรสื่อมวลชน ประเด็น “รู้เท่าทันสื่อรับมือข่าวลวง (Fake News) พักก่อนโพสต์” เครือข่ายองค์กรศาสนา ประเด็นศาสนากับกระบวนการสร้างพฤติกรรมด้านวินัย ภายใต้แนวคิด “งามจากภายในด้วยการสร้างวินัยในตัวเอง” และ เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ชุมชน ครอบครับ และเด็กและเยาวชน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านนิทรรศการมีชีวิตในประเด็น “วิถีชีวิตไทย สร้างวินัยคนในชาติ” และนำเสนอผลสำเร็จการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระดับกระทรวง
สำหรับเวทีย่อยเครือข่ายองค์กรสื่อมวลชน ประเด็น “รู้เท่าทันสื่อรับมือข่าวลวง (Fake News) พักก่อนโพสต์” มีการอภิปรายหัวข้อ “วินัยในครอบครัว” โดยนางสาวนิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้จักละครวัยแสบ สาแหรกขาด 2 นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมการกิจการเด็กและเยาวชน และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน
รศ.นพ. สุริยเดว กล่าวถึงสถาบันครอบครัว เป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานแรกในการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ครอบครัวในปัจจุบันมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ทั้งครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวอยู่คนเดียว ครอบครัวข้ามรุ่น ฯลฯ แต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกัน ทั้งบริบท สภาพปัญหา และความต้องการ โดยสถานการณ์ปัญหาของครอบครัวที่พบบ่อย คือการขาดวินัยในตนเองของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว กล่าวได้ว่า ถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองมอบความรัก ความผูกพัน และความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เด็กก็จะได้รับการปลูกฝังคุณธรรม มีพฤติกรรมดี และนำไปสู่การเรียนรู้การมีวินัยในตนเองได้อย่างถูกต้อง แต่หากขาดการอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครองก็จะทำให้เด็กเกิดการหล่อหลอมบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวอีกว่า คุณธรรม สามารถเป็นรูปธรรมได้ ถ้าตอบสนองด้วยพลังด้านบวก เช่น เมื่อเด็กหรือเยาวชนทำสิ่งที่ดีหรือเหมาะสมควรชื่นชนเพราะนั่นคือการให้พลังงานด้านบวก แต่ในอีกทางหนึ่งเมื่อทำผิดพลาด ผู้ปกครองไม่ควรซ้ำเติม แต่ควรให้กำลังใจแทน
“เด็กไม่ใช่ผ้าขาว เด็กทุกคนมีคุณลักษณะที่เฉพาะบุคคล เด็กทุกคนมีหัวใจและคุณค่า ผู้ปกครองต้องยอมรับและเข้าใจในความสามารถและคุณค่า”
ขณะที่ผู้จักละครวัยแสบ สาแหรกขาด 2 กล่าวถึงการทำละคร เราอยากนำเสนอปัญหาสังคมให้ผู้ชมได้เข้าใจมากขึ้นผ่านละครโดยแทรกคำอธิบายหลักวิชาการ เช่น เด็กติดเกม ออทิสติก การแตกแยก และเมื่อได้รับผลตอบรับที่ดีก็รู้สึกยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการกระจายข้อมูลแก่สังคม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการปิดกั้นการรับข้อมูลจากผู้ปกครองเช่นกันและตนเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา
นายอนุกูล รองอธิบดีกรมการกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวถึงสถานการณ์เด็กและเยาวชน เป็นปัญหาที่สังคมมีความห่วงใย เนื่องจากเด็กในปัจจุบันอยู่ในสภาวะแวดล้อม และความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมกดดันให้พ่อแม่ต้องทำงาน ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก หรือเลี้ยงดูในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหายาเสพติด การพนัน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาทะเลาะวิวาท ปัญหาการติดเกม ติดอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
"หลาย ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในที่สุด โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยไม่เกิน 18 ปี จะตกเป็นเหยื่อ หรือจุดเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในฐานะที่เป็นตัวแทนภาครัฐ ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับปัญหาของเด็กและเยาวชนเพราะเยาวชนจะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ภาครัฐพยามแก้ปัญหาต่างๆ แต่ก็มีข้อจำกัด แม้จะพยายามลงทุนเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านสภาเด็กทั่วประเทศ แต่ที่รัฐทำอยู่นั้นจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันแก้ปัญหาให้ตรงจุดผ่านการรณรงค์หรือสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจให้แก่คนรอบตัวเด็ก เนื่องจากคนแวดล้อมเด็กคือปัจจัยกระทบพฤติกรรมเด็กโดยเริ่มต้นในครอบครัวผ่านการสร้างวินัย"
ส่วนการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “รู้เท่าทันสื่อ รับมือข่าวลวง (Fake News) พักก่อนโพสต์ โดย นายเฌอศานต์ ศรีสัจจัง ผู้ดำเนินรายการ รู้เท่ารู้ทัน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ หัวหน้าทีมศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท (ช่อง 9) นายตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการส่วน สำนักงาน กสทช. และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสื่อสร้างสรรค์
นายเฌอศานต์ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัวในการทำงานในฐานะสื่อและผู้ดำเนินรายการรู้เท่ารู้ทัน ว่า ช่วงการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลและเป็นช่วงยุคที่สื่อโซเชียลมีเดีย พบว่า มีข่าวปลอม ข่าวมั่ว ข่าวหลอกเยอะมาก มีข่าวปลอมร้องเรียนมาเกือบทุกวัน จึงพยายามอธิบายข้อเท็จจริงกับสังคม
สอดคล้องกับนายพีรพล ที่เห็นว่า ปัจจุบันมีข้อมูลเท็จ ข่าวหลอก ข่าวลวง ข่าวมั่วเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสร้างได้ง่าย ประกอบกับคนไทยเพิ่งเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้ขาดวิจารณญาณในการวิเคราะห์ โดยกลุ่มที่เป็นเป้าหมายหรือมักจะส่งต่อข้อมูลเท็จนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ คนรุ่นเก่าหรือผู้สูงวัย เป็นวัยที่มีเงิน มีเวลา และมีหวังดีต่อผู้อื่น ลูกหลาน และคนในครอบครัว เมื่อเจอข้อมูลที่คิดว่าเป็นประโยชน์จึงส่งต่อโดยไม่ทันได้พิจารณา จึงถือว่า เป็นวัยที่อ่อนต่อโลกดิจิทัล และอีกกลุ่ม คือ คนรุ่นใหม่ หรือวัยรุ่น เด็ก และเยาวชน เป็นวัยที่เติบโตมาในยุคดิจิตัลทำให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี แต่อ่อนวิจารณญาณ ใจร้อน เนื่องจากค่านิยมการรับและส่งต่อข่าวสารว่าถ้าอัพเดทเร็วถือว่า ทันสมัย
หัวหน้าทีมศูนยชัวร์ก่อนแชร์ กล่าวอีกว่า ที่ทีมงานได้จัดทำรายการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่แชร์ในโลกอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันมีมากกว่าร้อยตอน เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้คนทั่วไปได้เข้ามาตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่าแชร์ข่าวไม่จริง เรื่องมั่ว เรื่องไม่ชัวร์ เรื่องจริงแต่ไม่ควร เช่น เรื่องที่ริดรอนสิทธิ์คนอื่น”
ด้าน นายวสันต์ ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยฯ กล่าวถึงการรู้เท่าทันสื่อคือทักษะชีวิตที่ต้องมีในยุคปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันทุกคนมีสื่อเป็นเครื่องมือในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น Facebook LINE ทำให้เราเป็นทั้งผู้สื่อและผู้รับสื่อได้ในขณะเดียวกัน อีกทั้งระยะเวลาการส่งต่อนั้นสะดวกและรวดเร็ว ทำให้ขาดการพิจารณา แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มี Gate Keeper หรือผู้กรองข่าวสาร เช่น นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่จะเป็นหน่วยคัดกรองข้อมูลก่อนตีพิมพ์ ทำให้ตอนนี้ต้องระวังตัวเองมากขึ้น
นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ในโลกออนไลน์คือ April's Fool Day เนื่องจากเราสามารถสร้าง Fake News ได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้นต้องมีวิจารณญาณและพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเชื่อหรือกระจายข้อมูล โดยเฉพาะการใช้โลกออนไลน์ในการทำร้ายคนอื่น เช่น Social Bullying หรือ Hate Speech ดังนั้นการใช้สื่ออนไลน์ในปัจจุบันจึงต้อมีสติและรู้เท่าทัน
ปิดท้ายด้วย นายตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.มีหน้าที่คอยดูแลสื่อหลัก คือ โทรทัศน์และวิทยุ ดังนั้นในโลกออนไลน์ หน่วยงานที่จะรับผิดชอบในการกระทำผิดในโลกออนไลน์ คือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (TCSD) กสทช.ไม่ใช่หน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านสื่ออนไลน์โดยตรง
"กสทช. มีส่วนร่วมในการสร้างเสริม รณรงค์การใช้สื่ออย่างถูกต้องและมีวิจารณญาณ เรื่องข่าวลวง ข่าวหลอก หรือ Fake News การสร้างข่าวลวงมีหลายปัจจัย เราต้องพิจารณา Fake News ว่าใครมีส่วนได้อะไรหรือเสียอะไรจากข้อมูลนี้บ้าง เราควรส่งต่อข้อมูลนี้ต่อไปหรือไม่"